“วัฒนรักษ์ ” เตือน “ประยุทธ์” ส.ส. ไม่เหมือน สนช. ระวังสภาล่ม หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 จริงๆ แล้ว ไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่เป็นปัญหาที่กลับมาเล่นงานสุขภาพคนกรุงเทพอย่างหนัก ในทุกช่วงหน้าหนาว ยิ่งในช่วงเช้าลมสงบ ความชื้นสูง เกิดการผกผันกลับของอุณภูมิ ทำให้ปริมาณของฝุ่นพิษมีมากขึ้น เกินมาตรฐาน เกือบครึ่งจังหวัด ซึ่งในหลายเขตมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาเดิมๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนเมืองมาอย่างชัดเจนเกินกว่า 3 ปี ซึ่งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทุกสมัย ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จากการที่คน กทม. ต้องสูดดมฝุ่นพิษในอากาศที่จะมีมากในช่วงทุกหน้าหนาว เป็นคำถามที่คน กทม. ต้องการถาม และรอคำตอบมานานมากว่า ประชาชนต้องรอให้หมดหน้าหนาวก่อน และรอให้ฝุ่นหายไปเอง อย่างนั้นหรือ? แล้วการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา ประชาชนจะต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษเองนั้น ตนถือว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบ และหากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ก็ควรให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทน
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า ทำไมปริมาณฝุ่นพิษถึงเพิ่มขึ้นทุกปี จนมีประชาชนจำนวนมากบ่นลงในโซเชียลมีเดีย ว่าอากาศในกทม.ตอนนี้ไม่ไหวแล้วจริงๆ ในความเป็นจริงแล้ววิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ มีมากมาย แต่เหตุใดรัฐบาลจึง ยังไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งถ้าหากรัฐบาลได้พยายามแก้ไขจริงตามที่พูด ประชาชนคงไม่ต้องสูดดมฝุ่นพิษมายาวนานถึง 3 ปี และการที่กทม.นานๆ ออกมาล้างถนนสักครั้งนั้นถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ผิดจุด ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นผู้ว่ากทม. เรามีนโยบายมากมายที่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษได้และสามารถทำได้ทันที ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะได้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คอยทำตามนโยบาย ซึ่งจากการที่รัฐบาลได้แพ้โหวตในรัฐสภามาแล้วถึง 4 ครั้ง หากยังไม่รีบแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ รัฐบาลอาจต้องแพ้โหวตอีกครั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะ ปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ตราบใดที่เรายังต้องหายใจทุกวินาที สูดอากาศที่เป็นพิษเข้าไปตลอดเวลา ซึ่ง ส.ส.ทุกคนควรจะร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาสุขภาพให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น