พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ทางออกในการแก้ปัญหา จชต ปัญหาอาจจะอยู่ที่ “ภาวะผู้นำ”
4 มกราคม 2563 ครบ 16 ปี เหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เหตุการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ข้อมูลจากสำนักข่าว The Reporters ได้ใช้ข้อมูลของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปว่า
“ฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ พบสถิติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ถึง 31 ธันวาคม 2562 มีเหตุความรุนแรง 20,512 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,085 คน บาดเจ็บ 13,233 คน รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 20,318 คน
โดยในปี 2562 มีเหตุการณืเกิดขึ้น 441 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 180 คน ผู้บาดเจ็บ 243 คน ถือว่ามีจำนวนลดลงจากปี 2561 ที่มีเหตุการณ์ 544 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 218 คน บาดเจ็บ 265 คน ซึ่งตั้งแต่ ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ระดับความรุนแรงลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมน่าจะดีขึ้น ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 แต่กลับสวนทางกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพของประชาชนที่กลับลดลง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบด้วยว่า 16 ปีที่ผ่านมา รัฐทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท หากเทียบกับจำนวนความสูญเสียทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกว่า 2 หมื่นคน กับจำนวนงบประมาณแล้วยังสวนทางกัน ยิ่งในช่วง 6 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้งบประมาณ 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท จึงต้องทบทวนการใช้งบประมาณทั้งทางความมั่นคง และการพัฒนา ว่าตอบสนองการสร้างสันติภาพหรือไม่ ในขณะที่ประชาชนยังคาดหวังกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นทางออกการแก้ปัญหาที่แท้จริง ทั้งการพุดคุยกับกลุ่มผู้คิดต่าง การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และการพัฒนาทางการเมือง”
จากภาพรวมของเหตุการณ์ที่มีผู้สูญเสียจำนวนไม่น้อยจึงเป็นเรื่องที่ต้องแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทุกท่าน ทุกฝ่ายและน่าจะถือว่าเป็นการสูญเสียมากที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในรอบ 40 ปีโดยส่วนตัวได้เรียกร้องให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นวาระของชาติ ที่ไม่มีการผูกขาดความรับผิดชอบต้องไม่แบ่งว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง หรือแบ่งเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และควรนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อได้ศึกษาและร่วมแก้ไขด้วย
นอกจากนี้เครือข่ายนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นอกพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเรียกว่า “เครือข่ายวิชาการ PEACE SURVEY” ได้มีความห่วงใยรวมตัวกันสำรวจความคิดเห็นประชาชน อย่างต่อเนื่องนับแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา การสำรวจประชามติดำเนินการเป็นครั้งที่ 5 เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ผลการศึกษาบนฐานระเบียบวิธีทางวิชาการดังกล่าวพบว่าจากการสำรวจประชาชนใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอในสงขลา ประชากรตัวอย่าง 1,637 ตัวอย่าง ประชาชนที่ตอบคำถามมีความเห็นว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับค่อนข้างต่ำมากโดยได้คะแนนเฉลี่ยแค่ 4.2 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์กลาง
ความเป็นจริงตลอดเวลา 16 ปี การแก้ปัญหา จชต ฝ่ายทหารโดย กองทัพบก และ กอ.รมน เป็นผู้ผูกขาดความผู้รับผิดชอบการแก้ปัญหา จชต มาโดยตลอด มีกำลังผสมได้แก่ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนติดอาวุธ ที่เรียกว่า “ฝ่ายความมั่นคง” อยู่ภายใต้ กอ.รมน และมีกฎหมายพิเศษ ได้แก่ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และกฎหมาย กอ.รมน และทางปฏิวัติมี ผบ.ทบ.และแม่ทัพภาค 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ทั้งรัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องขึ้นบังคับบัญชาทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของทหารทั้งสิ้น เรียกว่า “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้นมาแก้ปัญหา
หากพิจารณาบุคคลผู้รับผิดชอบ คือ ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ผบ.ทบ จะพบว่าเป็นบุคคลที่สังคม เรียกว่า “3 ป.” นั้นเอง ประกอบด้วย
“ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น ผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2547-2548 เป็น รมว.กระทรวงกลาโหม ปี 2551-2554 เป็น รมว.กระทรวงกลาโหม ปี 2557-2562
“ป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยปี 2549 เป็น รอง ผบ.ทบ. (พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ) และเป็น ผบ.ทบ ปี 2550-2553 (โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ เป็นรอง ผบ ทบ) และเป็น รมว มหาดไทย ปี 2557-ปัจจุบัน
“พล.อ.ประยุทธ์ “เป็น ผบ.ทบ.ปี 2553-2557 และเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2557 -ปัจจุบัน
นโยบายการแก้ปัญหาของที่เรียกกันว่า “การทหารนำการเมือง” ไม่ใช่ “การเมืองนำการทหาร” การแก้ปัญหาวิธีนี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในบางครั้ง อาจจะมองประชาชนเป็นศัตรูหรือข้าศึกได้
ความสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้เกิดขึ้นที่สูงและสูงที่สุด คือ ปี 2549 มีผู้เสียชีวิต 579 ศพ และในปี พ.ศ. 2550 มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดมากถึง 842 ศพ และจากรายงานของ The Reporters ระบุว่า
“ตั้งแต่ ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ระดับความรุนแรงลดลงมาอย่างต่อเนื่อง” จากข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่าปี 2556 เริ่มลดลงมีผู้เสียชีวิตจำนวน 256 ศพ และลดลงเลื่อยมาตามลำดับ แต่ยังมีความรุนแรงและสร้างความหวาดระแวงและไม่เชื่อมั่นกับประชาชนไม่ลดน้อยลงเลย
นโยบายการแก้ปัญหา จชต มีบางช่วงที่พยายามเปลี่ยนแปลงจนมีผลทางการปฏิบัติ คือ ในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย ปลายปี 2554-2557 (ก่อนรัฐประหาร) การแก้ปัญหา จชต มีนโยบายแยกเป็น 2 ขา คือแยกด้านพัฒนาและการอำนายความยุติธรรมให้ ศอ.บต ดูแล และแยกด้านความมั่นคงการแก้ปัญหาความไม่สงบ ให้ กอ.รมน ที่ ผบ.ทบ และแม่ทัพภาค 4 เป็นผู้รับผิดชอบ เน้นการประสานงานของงาน2 ด้านในระดับนโยบาย ซึ่งนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ส่งเสริมให้มีการพูดคุยสันติภาพ และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 มีลงนามในเอกสารความร่วมมือเพื่อแสวงหาสันติภาพ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐโดยเลขาธิการ สมช.กับผู้เห็นต่างเกิดขึ้น
เป้าหมายของการพูดคุยเพื่อนำเอาการหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพูดคุย รัฐเปิดพื้นที่กว้างให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยของบุคคลทุกคน ทุกวัฒนธรรมและทุกศาสนาในการสร้างความเข้าใจ ลดความหวาดระแวง ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม การเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับในช่วยปลายปี 2554-2557 ได้มีรัฐบาลโดย ศอ.บต นโยบายเรื่องความยุติธรรม และการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ย้อนไปถึงปี 2547 เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายขึ้นด้วย
นโยบายการพูดคุยสันติภาพในปี พ.ศ.2556 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. ที่รับรู้ตลอด ไม่ได้เห็นแย้งแต่อย่างใด และหลังจากได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในการปกครองในปี 2557 ก็ยังใช้นโยบายการพูดคุยต่อจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนนโยบายและการปฏิบัติให้ขึ้นตรงต่อ กอ.รมน เป็นผู้นำสูงสุดที่เรียกกันว่า “การทหารนำการเมืองและความยุติธรรม” แทน
ในทุกปีในวันที่ 4 มกราคม หลายฝ่ายก็จะมีการพูดคุยหารือกันเพื่อจะหาทางออกในการแก้ไขปัญหา จชต แต่ทุกปีไม่เคยพูดถึง ผู้นำว่ามี “ภาวะผู้นำ” ในการแก้ปัญหาเลย ทั้งที่ความจริงปัจจัยแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาคือ “ภาวะผู้นำ” ว่าเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมและรักประชาชนเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่ ?
ดังนั้น น่าจะมีประเด็นใหม่ๆที่ควรพูดคือ “ภาวะผู้นำ” ที่ผูกขาดอำนาจ จะต้องทบทวนร่วมกับนโยบายและกฎหมายในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียที !!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น