พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ส.ส.การเสียบบัตรแทนกัน คือการโกงประชาชนที่ถูกจับได้
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2563 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) ได้เผยผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอรัปชั่นในภาครัฐของหลายประเทศทั่วโลกประจำปี 2562 (CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2019) โดยสำหรับประเทศไทยพบอยู่ในอันดับที่ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ได้ 36 คะแนนจากเต็ม 100 ถือว่าเป็นความล้มเหลวด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐในการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีตลอด 5 ปีเศษติดต่อกันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้
ภาพลักษณ์การคอรัปชั่นของฝ่ายรัฐบาล ยิ่งฉาวโฉ่ เมื่อมี ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล คือจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมารับสารภาพว่าได้มีการเสียบบัตรแทนกันขึ้นในการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิด และขาดความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง เพราะการเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเมื่อปี พ.ศ.2556 ว่า
เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ ส.ส. ได้ปฏิญาณตนไว้ และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนมีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนน ส.ส. ในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย
ประสบการณ์ส่วนตัวเห็นว่า ในเรื่อง “หน้าที่ความรับผิดชอบ” นั้นมีความสำคัญยิ่งในทุกอาชีพ หรือในความเป็นมนุษย์ หากมีผู้การละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่รับผิดชอบต้องถือว่าเป็นการโกงและคอรัปชั่นด้วย ซึ่งการโกงและคอรัปชั่นนั้น มรว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยนิยามไว้สั้นๆ ว่า “การโกงคือคอรัปชั่นที่จับได้ ส่วนคอรัปชั่นคือการโกงที่จับไม่ได้ ” ซึ่งผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบแล้วละเลยไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบก็คือการรอวันเวลาแห่งความพินาศติดตามมา นั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น