วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
"เผ่าภูมิ" แนะรัฐเร่งแก้วิกฤตไวรัสโควิด-19 กระทบห่วงโซ่การผลิต
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึง แนวทางลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ว่า
นี่เป็นความเสียหายระดับแสนล้าน ซึ่งตัวเลขนี้เป็น “ผลกระทบระลอกแรก” เป็นรายได้ที่ประเทศควรจะได้รับ แต่หายไป แต่ยังไม่รวมถึง “ระลอกสอง” ซึ่งมันจะลามไปถึงห่วงโซ่การผลิต และการตกงานของแรงงานภาคท่องเที่ยว ส่งผลตรงต่อกำลังซื้อ ส่งผลต่อไปถึง “ธุรกิจนอกภาคท่องเที่ยว” ด้วย
โรคระบาด เป็น “ปัญหาระยะสั้น” ที่รุนแรง แต่ไม่ใช่ปัญหายืดเยื้อเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหาจึงควรเป็น “การหยุดเลือด” ที่รวดเร็ว
ผมมองการหยุดเลือดนี้เป็น 2 ขา
ขาที่ 1 คือ ทำให้เอกชนภาคท่องเที่ยวประคองตัวให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลออกมาก็พอสมควร เช่น การพักชำระหนี้ ปรับลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน
ขาที่ 2 คือ การป้องกัน “การเลิกจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งการตกงานเกิดขึ้นแล้ว รวดเร็ว กระทันหัน และกระจายไปในวงกว้างแล้ว เรื่องนี้อันตราย เพราะมันลามไปถึงกำลังซื้อ และลามต่อไปสู่นอกภาคการท่องเที่ยวด้วย
ซึ่งขาที่ 2 นี้ผมมองว่ารัฐบาลยังไม่ได้ทำ
มาตรการที่ได้ผลในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเดนมาร์ก ได้แก่ “สินเชื่อดอกเบี้ยติดลบ” ในช่วงวิกฤติ
ผมมองไปที่ “สินเชื่อดอกเบี้ยติดลบเพื่อประคองการจ้างงานภาคการท่องเที่ยว” ดอกเบี้ยติดลบ -0.5% ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีสายป่านสั้น แต่ธุรกิจในระยะยาวยังดีอยู่ มีแรงจูงใจที่จะชะลอการเลิกจ้างงานออกไป เพราะการระบาดนี้เป็นเรื่องชั่วคราว
สินเชื่อนี้ควรใช้เพื่อการจ้างงานเท่านั้น เพื่อหยุดเลือดไม่ให้ตกงานเพิ่ม ให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปก่อนกลับสู่สถานการณ์ปกติ โดยรัฐบาลสนับสนุนส่วนต่างดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น (ซึ่งไม่มาก)
รัฐบาลต้องอย่าปล่อยให้คนตกงานมากกว่านี้ เพราะมันเกี่ยวกับกำลังซื้อ ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจประเทศ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น