นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
วันนี้เป็นวันแรกของการเริ่มใช้มาตรการ “ปิดกรุงเทพ” และจังหวัดข้างเคียง เพื่อลดอุบัติการณ์ การติดต่อ COVID-19 ด้วยกระบวนการ SOCIAL DISTANCING ให้ได้ผล แต่มาตรการดังกล่าว ไม่ใช่มาตรการเดียว หากแต่ต้องดำเนินควบคู่มาตรการอื่นๆอีกหลายเรื่อง การปิดกรุงเทพฯ 21 วันจึงจะได้ผล
1. ปิดทางเข้าของผู้นำเชื้อรายใหม่ๆ เข้ามาในสังคม คนต่างชาติไม่มีเหตุจำเป็นต้องเข้ามาช่วงนี้ให้ใช้วิธีติดต่อทางอื่น คนไทยผู้ที่กลับจากต่างประเทศ ในที่นี้มิใช่ห้าม แต่ใช้มาตรการที่เหมาะสม คนไทยกลับจากอิตาลี เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าไทยมาก เมื่อจะย่างเข้ามาไทยจะต้องถูกตรวจแยกแยะ กักกัน ติดตามอย่างไร ผู้มีอาการก็แยกเข้ารักษา ไม่มีอาการจะต้องให้ติดตามอย่างไร กลไกของสาธารณสุขมีถึงระดับหมู่บ้าน ทั้งยังมีสมาชิกสังคม จะช่วยแบ่งเบางานให้เจ้าหน้าที่อย่างไร ใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ช่วยอย่างไร กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องเข้ามาช่วยอย่างแม่นยำอย่างไร
2. เร่งติดตามกลุ่มเสี่ยงติดและแพร่เชื้อรายเก่าที่ปะปนในสังคม 3 กลุ่มใหญ่ (นี่ยังไม่รวม กลุ่มนักเรียน นักศึกษากลุ่มใหญ่จากโลกตะวันตกที่กำลังทยอยกลับเข้ามา) คือกลุ่มสนามมวย ไม่ยอมมารายงานตัวอีกหลายร้อยคน กลุ่มทองหล่อ และกลุ่มที่กลับจากมาเลเซีย นี่ภายใน 2 อาทิตย์ ต้องหาตัวให้พบ ขณะนี้ไม่ต้องปิดบังกันแล้ว กิจกรรมหากินและสังคมหยุดหมด ทุกคนต้องเหินห่างกันเพื่อขจัดเชื้อร้ายนี้ ใช้ 3 สัปดาห์นี้ให้คุ้มเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นจะสูญเปล่าและต้องใช้กลไกประชาชนร่วมด้วย
3. การเตรียมการบริการทางการแพทย์ ด้านการตรวจหาผู้ป่วย การบริการรักษาพยาบาล อุปกรณ์ป้องกันโรคของเจ้าหน้าที่ สถานที่ อุปกรณ์แพทย์ช่วยชีวิตในรายอาการหนักโดยเฉพาะ เครื่องช่วยหายใจ ต้องปรับเตรียมให้เพียงพอ เจ้าหน้าที่อาจต้องถูกระดมจัดสรรจากที่อื่น เช่นกรณีอูฮั่น ที่รัฐบาลระดมมาจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลทหาร นักเรียนแพทย์ นักเรียนพยาบาล เหตุการณ์จะเร่งหนักขึ้นในอัตราเร่ง ตั้งแต่สัปดาห์นี้ เป็นต้นไป ถ้าดูจากตัวเลขทางสถิติ
4. สื่อสารให้สังคมเข้าใจ รัฐบาลต้องระดมสมองจากผู้รู้และเรียนรู้ประสบการณ์จากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และที่กำลังเผชิญปัญหา วิเคราะห์ให้ชัด เลือก “ตัดสินใจ” ในสิ่งที่ “คาดว่า” ได้ผลดีที่สุด สื่อสารอย่างชัดเจนว่าจะ “ให้ประชาชนทำอะไร เพราะอะไร” ในทางตรงข้าม ถ้าการสั่งการสับสน สั่งการขัดแย้ง “ประชาชนก็ขาดความเชื่อมั่น” ไม่ให้ความร่วมมือ ตระหนกตกใจ แย่งกันเอาตัวรอด
5. มาตรการเยียวยา ชดเชยได้ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเอกชนรายเล็กและลูกจ้าง การหยุดงานหยุดเศรษฐกิจ ก็หยุดรายได้ไปด้วย จะมีมาตรการใดบ้าง ถ้า 3 สัปดาห์แล้วจบก็พอทำเนา แต่ที่จริงนี่เป็นเพียงบทเบื้องต้น ซึ่งอาจทอดยาวเป็นปี หากการจัดการใน 3 สัปดาห์นี้ ทำได้ไม่ดีพอ
นี่เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กับการเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล ที่จะต้องสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้ประชาชนชาวไทย ร่วมกันระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรทั้งมวลเดินหน้าฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน เป็นบทพิสูจน์ความเป็นผู้นำโดยแท้
COVID-19 : วิกฤติพิสูจน์ผู้นำไทย
ผู้นำที่รับฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญให้ชัด ได้อย่างเข้าใจดี คิดเลือกตัดสินใจให้เป็น เลือกหนทางที่คาดว่าดีที่สุด กล้าสั่งการให้รอบด้านและสื่อสารสร้างความเชื่อมั่นระดมความร่วมมือจากประชาชนอย่างกว้างขวางก็สามารถนำฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น