พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 อาจเป็นบ่อเกิดการ “แทรกแซงความเป็นธรรม”
ข้อความตอนหนึ่งของจดหมายลาตาย ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของท่านผู้พิพากษาคณากร ตุลาคม ก่อนตัดสินใจใช้อาวุธยิงเข้าหัวใจที่บ้านพักส่วนตัวใน อ.ดอยสะเก็ต จ.เชียงใหม่ คือ
“...ในอดีตที่เราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย สสร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา ท่านคงสงสัยว่าขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นเพราะอะไรหรือ สสร.รู้ว่าการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค...”
รธน ปี 60 เปิดโอกาสให้มีการ “แทรกแซงคำพิพากษา” ขึ้นได้ เพราะตัดถ้อยคำที่บัญญัติไว้ใน รธน ปี 40 ในส่วน ศาลยุติธรรม ตามมาตรา 249 วรรคสอง สาม สี่ และ ห้า ที่ป้องกันการแทรกแซงผลคำพิพากษาจากผู้บังคับบัญชาและเหตุอื่น ได้ถูกตัดทิ้งไปไม่มีบัญญัติไว้ใน รธน ปี 60 กล่าวคือ ใน รธน ปี 40 มาตรา 249 บัญญัติว่า
วรรคแรก ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
วรรคสอง การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
วรรคสาม การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
วรรคสี่ การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
วรรคห้า การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา
การตัดทิ้งสาระสำคัญของวรรคที่สองถึงวรรคที่ห้า ของมาตรา 249 ดังกล่าวออกไป จึงให้คำกล่าวที่ว่า รธน ปี 60 เกิดจากเป้าประสงค์หลักเพื่อสืบทอดอำนาจของ “นักปฏิวัติรัฐประหาร” มีน้ำหนักยิ่งขึ้น อีกทั้งเนื้อหาที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในภาพรวมของ รธน ปี 60 ก็ด้อยค่าต่ำกว่า รธน ปี 40 ที่ร่างขึ้นโดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร” ที่ถูกขนานนามว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
การสละชีวิตของผู้พิพากษาคณากร ขอแสดงความเสียใจกับภรรยา บุตรและครอบครัว แต่ท่านคณากรฯได้ผดุงความยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง แม้วาระสุดท้าย "จดหมายลาตาย” ของท่านได้ประกาศให้สังคมรู้ว่าคุณค่าและประโยชน์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ร่างโดยประชาชนว่า “เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด” เพราะเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้แทรกแซงความยุติธรรมจากคำพิพากษายังมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น