วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" ชี้ พรก.ฉุกเฉิน เป็นวาระเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เมื่อ พรก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาโรคติดต่ออันตราย ไวรัส COVID-19

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้ในการแก้ปัญหาโรคระบาด ทั้งที่มีอำนาจในการบริหารสถานการณ์ภายใต้ พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่บัญญัติขึ้นเพื่อการป้องกันและการควบคุมโรคติดต่ออยู่แล้ว

สาระสำคัญของกฎหมาย 2 ฉบับนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในเชิงปรัชญา กลไกและความเชี่ยวชาญของผู้ใช้อำนาจบริหาร โดย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มี “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” จำนวน 30 คน ส่วน พรก. ฉุกเฉิน มี “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน” จำนวน 19 คน

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แม้มีตำแหน่งที่ซ้ำกัน 5 ตำแหน่ง ส่วนอีก 25 ตำแหน่งที่ไม่ซ้ำจะมีหน้าที่ในการป้องกัน รักษาและขจัดโรคติดต่อเป็นส่วนใหญ่ อาทิ รมว. สาธารณสุข, ปลัดกระทรวงสาธารณะสุข, อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, อธิบดีกรมอนามัย, ผู้แทนแพทยสภา, ผู้แทนสภาการพยาบาล, ผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นกรรมการและเลขานุการ

ขณะที่องค์ประกอบหลักของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จะเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ และหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นส่วนใหญ่

พรก.ฉุกเฉิน มีจุดกำเนิดเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี พ.ศ.2548 ภายหลักเหตุการณ์วางระเบิดเมืองยะลาเป็นเหตุให้ไฟฟ้าดับทั้งตัวเมืองติดต่อเป็นเวลานาน จึงได้กำหนด พรก. ฉุกเฉิน ขึ้นใช้บังคับต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ส่วน พรบ. โรคติดต่อนั้น เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีรับพันธะกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำหนดเรื่องการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด มีจุดเด่นในการกระจายอำนาจให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีทั้งนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ที่อยู่กับปัญหาและมีหน้าที่โดยตรงเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดด้วย

ดังนั้น การป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด ปรัชญา ที่มา และการดำเนินการ อีกทั้งความรู้ที่ใช้ จะเป็นเรื่องการสาธารณสุข การแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าเป็นส่วนใหญ่ จึงแตกต่างกับ พรก. ฉุกเฉิน อย่างสิ้นเชิง

แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน อาจมีข้อดีที่ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าสถานการณ์ที่สังคมไทยและโลกเผชิญอยู่เป็นภัยพิบัติจากโรคติดต่ออันตรายรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่พลเมืองต้องร่วมมือ ร่วมใจกันแก้ไขปัญหานี้ในทุกมิติ โดยยึดหลักว่า

“ความอยู่รอดของมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าสิ่งใด”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น