วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563

"หมอชลน่าน” อัดรัฐไม่ฟังเสียงคนจน ไม่จริงใจแก้ปัญหาประชาชนฆ่าตัวตาย

"หมอชลน่าน" อัดรัฐบาลไม่ฟังเสียงคนจน เชื่อ “บิ๊กตู่” เมินเปิดสภาวิสามัญเหตุไม่ให้ความสำคัญ



นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส.ส.จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จากที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล เพื่อสอบถามการใช้งบประมาณ รวมทั้งให้คำแนะนำ นำเงินที่กู้มาไปใช้อย่างก่อประโยชน์สูงสุด สามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้น

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้ความสำคัญกับสภา จึงไม่อยากให้มีการเปิดสภาเพื่อหารือการแก้ปัญหาให้ประชาชน เพราะคงเชื่อว่าไม่มีประโยชน์อะไรต่อรัฐบาล ดังนั้น จึงไม่คิดจะให้ ส.ส.ใช้เวทีสภามาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้หากยังไม่ถึงเวลา จึงส่งสัญญาณผ่านพรรคร่วมรัฐบาลว่าไม่เปิดสภาให้มีการประชุมวิสามัญ

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ทั้งที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชน ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ส.ส.ทุกคนลงพื้นที่รับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างหนักเพื่อมานำเสนอให้รัฐบาลรับทราบ และหาทางแก้ปัญหา ดังนั้นรัฐบาลจึงทิ้งโอกาสที่จะได้สื่อสารกับประชาชน อีกทั้งไม่สนใจที่จะรับฟังเสียงของคนจนทั่วประเทศ เป็นการปิดโอกาสที่จะได้รับรู้ความเดือดร้อนของประชาชนอย่างไม่รับผิดชอบ

“ที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่งเสียงเรียกร้องของประชาชนในทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือ การเยียวยาประชาชนที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีหลายคนที่เดือดร้อนไม่ได้รับเงินเยียวยา จนหลายคนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับไม่เคยพูดถึง ดังนั้นประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาให้กับคนจน” นายแพทย์ชลน่านกล่าว

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลงเตือนรัฐบาล รับมือผลกระทบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พรรคเพื่อไทย เตือน รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องคำนึงถึงผลกระทบ เรียกร้องผ่อนคลายมาตรการเศรษฐกิจ-เร่งเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง



น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรค และนายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรค ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โดย น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยืนยันที่จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน นั้นที่ผ่านมาแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น แต่มาตรการต่างๆ ก็สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทำให้มีคนตกงานและขาดรายได้ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่ผู้เดือดร้อนที่ลงทะเบียนไว้กว่า 27 ล้านคนเศษ มีผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ไม่ถึง 10 ล้านคน จึงมีความชัดเจนว่าการเยียวยายังมีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และไม่ทันต่อการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด หากรัฐบาลยืนยันที่จะแยกการเยียวยาเป็นกลุ่มอาชีพเหมือนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็ขอเรียกร้องให้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ครอบครัวละ 35,000 บาท รวมไปถึงกรณีลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งยังไม่ได้รับเงินชดเชยและเยียวยา ก็ขอให้ดำเนินการจ่ายเงินตามสิทธิให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้


นายวัฒนา กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความรวดเร็ว โดยพรรคเพื่อไทยขอเสนอให้ใช้วิธีการเยียวยาแบบถ้วนหน้าทุกครัวเรือน ครัวเรือนละ 10,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ทุกคนสามารถเอาตัวรอดได้ในช่วงวิกฤติ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการทางเศรษฐกิจ ให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากได้รับประโยชน์ด้วย โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมและความเป็นธรรม


ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การที่ประธานวิปรัฐบาลยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ นั้นพรรคเพื่อไทยมองว่าการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย หากผ่านการพิจารณาจากสภาอย่างรวดเร็ว จะสามารถนำเม็ดเงินไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดได้รวดเร็ว และต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะนำเอาเงินไปใช้ ถ้าเนิ่นช้าออกไป หรือใช้เงินไปแล้ว อาจเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งไม่สามารถเอาคืนได้


“วิกฤติโรคสามารถควบคุมได้ แต่วิกฤติสำคัญขณะนี้คือวิกฤติการใช้มาตรการควบคุมของรัฐ ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนตาย ทั้งปัญหาเรื่องความอดอยาก หรือปัญหาการฆ่าตัวตาย ถ้าไม่ได้รับการเยียวยาคลายความทุกข์ยาก อาจเกิดความคับแค้นใจ และอาจเกิดกรณีปฏิเสธเงื่อนไขมาตรการของรัฐในการควบคุมโรคทุกอย่าง ซึ่งเป็นหายนะที่แท้จริงแล้วโรคจะกลับมาอีกครั้ง เพราะฉะนั้น สภาจึงเป็นทางออก เพื่อป้องกันปัญหารอบด้าน นี่คือความสำคัญของการเปิดประชุมวิสามัญ” นพ.ชลน่าน กล่าว


วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" เตือนรัฐ CPTPP ทำไทยเสียเปรียบ กระทบความมั่นคงทางอาหาร-สาธารณสุข

รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เตือน รัฐบาล “ความตกลง CPTPP” ทำไทยเสียเปรียบหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ-ความมั่นคงทางอาหาร และสาธารณสุข



นางสาวจิราพร สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณาให้ความเห็นชอบการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบก็ไม่ต่างอะไรกับการผลักไทยให้ทำการค้าแบบเก่าท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ซ้ำยังอาจสร้างผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุปกรณ์ทางการแพทย์ และความมั่นคงทางอาหารของไทยในอนาคต ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้เตือนรัฐบาลว่าการเข้าร่วม “ความตกลง CPTPP” จะทำให้ไทยเสียเปรียบ และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ แต่รัฐบาลก็นิ่งเฉยไม่สนใจคำตักเตือน และยิ่งในปัจจุบันวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก หลายประเทศเริ่มตระหนักรู้ถึงการทบทวนนโยบายด้านการค้าให้ทันต่อเหตุการณ์ แต่รัฐบาลไทยกลับทำตรงข้าม และคิดแบบเดิมๆ ในการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่เริ่มหารือกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งอาจถูกมองได้ว่าเป็นการเอื้อผลประโยชน์สำหรับบางกลุ่มและธุรกิจต่างชาติ ซึ่งให้ข้อมูลด้านเดียวโดยอ้างผลการศึกษาเก่าที่เริ่มต้นศึกษามาหลายปี ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แสดงถึงความไม่จริงใจต่อประชาชน

นอกจาก CPTPP จะสร้างผลกระทบให้กับไทยในหลายด้าน เช่น วิถีการทำการเกษตร ระบบสาธารณสุข การเปิดให้นายทุนต่างชาติมีอิทธิพลเหนือกิจการรัฐวิสาหกิจไทย แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ รัฐบาลไม่รู้จักถอดบทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 เช่น ข้อบทด้านการลงทุนใน CPTPP ที่ให้สิทธิต่างชาติฟ้องร้องไทย ผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้ และลดอำนาจหน่วยงานไทยในการบริหารการลงทุน การนำเข้าและส่งออก รวมถึงการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขต่อนักลงทุนต่างชาติเพื่อประโยชน์ของประเทศ ซึ่งในอนาคตหากเกิดวิกฤติโรคระบาดแบบโควิด-19 อีก จะทำให้ไทยไม่สามารถบริหารจัดการสินค้าจำเป็นได้ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศได้ ดังเช่นเมื่อครั้งที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ยอมรับว่าไทยจำเป็นต้องส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ แม้ว่าอยู่ในช่วงขาดแคลน เพราะต้องปฏิบัติตามความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ยังจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของไทยด้วย ดังนั้นการดึงดันเข้า CPTPP โดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบจะทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นในตอนนี้กลายเป็นมหาวิกฤติในอนาคตได้

“วิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกไปแล้วโดยสิ้นเชิง การทำความตกลงทางการค้าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยสอดรับกับสภาวะปัจจุบัน และรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต หากรัฐบาลดึงดันจะเข้าร่วม CPTPP ทั้งๆ ที่ไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบหลายอย่าง นอกจากจะสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้มองไปข้างหน้าแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย”

"อนุสรณ์" สั่งรัฐ เยียวยาถ้วนหน้า หยุดสถิติฆ่าตัวตายรายวัน


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ถือเป็นความก้าวหน้าไปอีกก้าว ของความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ ในการร่วมมือกับแพทย์พยาบาลบุคลากรทางการสาธารณสุข จนทำให้ตลอดช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แม้จะยังไม่มีวัคซีน แต่ถือว่าคนไทยได้สร้างภูมิคุ้มกันด้านการตื่นรู้ มีความเข้าใจในหลักปฏิบัติเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การก้าวไปสู่การแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ในระยะต่อไป มิอาจดูเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง เพราะขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อลด แต่จำนวนคนฆ่าตัวตายจากการล็อกดาวน์กลับพุ่ง จะการ์ดไม่ตกจนไม่เห็นอะไร ไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ เพราะคนจะอดตาย ปัญหาสังคมจะตามมา
.
“ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการ “3 คลาย 4 เข้ม” คือ 1. เลือกธุรกิจที่จะผ่อนคลาย 2. เลือกพื้นที่ที่จะผ่อนคลาย 3. เลือกเส้นทางสัญจรที่ปลอดโรคผ่อนคลาย และ 4 เข้ม คือ 1. เข้มการตรวจควบคุมโรค กักตัว รักษา 2. เข้มการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ 3. เข้มการเยียวยาทางเศรษฐกิจ 4. เข้มการรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งคนในสังคมทราบว่าอย่างน้อยอาจต้องสู้กับโควิด-19 อีกเป็นปี แต่การดำเนินมาตรการที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ใช้เวลาในการแก้ปัญหานานเกินไปและไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง”
.
ในส่วนของการเยียวยาประชาชนนั้นจนถึงขณะนี้มีประชาชนที่เข้าไม่ถึงการเยียวยามากถึง 80% สิ้นเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลบอกว่าจะมีประชาชนผู้ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5 พันบาท 6.4 ล้านคน เฉพาะผู้ลงทะเบียนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน 23.5 ล้านคน ถูกทิ้งให้รอมา 2 เดือน 17.1 ล้านคน จากการที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์ และอีกหลายมาตรการที่สะเปะสะปะ แล้วผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชน ข้อมูลศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าภาคครัวเรือนไทยค่อนข้างเปราะบางต่อการรับมือกับวิกฤติ สะท้อนจาก 33.9% ของครัวเรือนมีทรัพย์สินพอใช้ได้ 1 เดือน ขณะที่ 48.2% ของครัวเรือนมีทรัพย์สินพอใช้ได้ 2 เดือน และ 59.2% ของครัวเรือน หรือ 12.7 ล้านครัวเรือน มีทรัพย์สินทางการเงินน้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน ซึ่งนอกเหนือจากการตรวจสแกนหาผู้ติดเชื้อเพื่อมากักตัว รักษา ควรตรวจสแกนเอกซเรย์เพื่อค้นหาคนเข้าไม่ถึงการเยียวยาด้วย รัฐบาลจะอ้างเหตุในการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายเคอร์ฟิว ก็หาเหตุไป แต่ไม่ควรอ้างเหตุในการไม่เยียวยาประชาชนหรือซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ การเยียวยาถ้วนหน้าอย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างจริงจังเร่งด่วน เพื่อหยุดสถิติคนฆ่าตัวตายรายวัน จากการล็อกดาวน์ประเทศของรัฐบาล ควบคุมโรค ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก ไม่เป็นปัญหา แต่การเยียวยา อย่าการ์ดสูง จนมองไม่เห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน การเยียวยาถ้วนหน้าอย่างมีหลักเกณฑ์ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการเยียวยา หยุดสถิติฆ่าตัวตายรายวัน

"ทวี" เตือนรัฐ ใช้งบฯแก้วิกฤตโควิด ต้องโปร่งใส-ซื่อสัตย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ทำไม "กองทุนพยุงตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 400,000 ล้านบาท" จึงไม่มีกลไกในการป้องกันการทุจริต?

“ความแข็งแกร่งของคนชั่ว กับความอ่อนแอของคนซื่อสัตย์และกฎหมาย” เป็นหายนะของประเทศและบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชัน

ประเด็นทีมีการวิพากษ์ถกเถียงได้ขยายวงกว้างขณะนี้ กรณี รัฐบาลออกพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้ง กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF) มีเงินตั้งต้น 400,000 ล้านบาท

การซื้อหุ้นกู้หรือตราสารหนี้คือการที่เราซื้อหน่วยลงทุนจากบริษัท(ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์) คาดหวังว่า จะได้ดอกเบี้ยที่มากกว่าฝากเงินกับธนาคาร  ในขณะเดียวกัน บริษัทที่ออกหุ้นกู้ก็ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้จากธนาคาร ถือว่าผู้ซื้อและผู้ขายได้รับประโยชน์ทั้งคู่

ยกตัวอย่างดังนี้ การฝากธนาคารให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี แต่การซื้อหุ้นกู้ฯ บริษัทให้ดอกเบี้ย 3%  การที่บริษัทจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 3% ก็ถูกกว่าจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร 4%

การที่บุคคลคนหนึ่งซื้อหุ้นกู้นั้นก็เสมือนเป็นการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท มิได้แปลว่าซื้อหุ้นของบริษัทนั้น และไม่เกี่ยวกับหุ้นของบริษัทนั้นแต่อย่างใด และสามารถขายหุ้นกู้ให้กับผู้อื่นได้ กรณีนี้เรียกว่าผู้รับซื้อหุ้นกู้ในตลาดรอง เพราะไม่ได้ซื้อหุ้นกู้ที่ออกใหม่โดยตรงจากบริษัท  ผู้รับซื้อต่อนั้นก็จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นตามเงื่อนไขของหุ้นกู้เหมือนกัน

กองทุน BSF สามารถช่วยบริษัทเอกชนที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระได้ แต่บริษัทเอกชนที่ต้องการให้ BSF ช่วยนั้น จะต้องหาเงินมาช่วยตัวเองเพื่อชำระหนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% ก่อน และมีข้อยกเว้นผ่อนคลายได้ที่ขึ้นอยู่กับ ‘คณะกรรมการกำกับกองทุน’ และให้อำนาจรัฐมนตรีคลังไว้มากที่คำวินิจฉัยหรือคำชี้ขาดถือเป็นที่สิ้นสุด

ตามพระราชกำหนดฯ จะมีคณะกรรมการอยู่ 2 คณะ คือ  ‘คณะกรรมการกำกับกองทุน’ มีด้วยกัน 7 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ,ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ ,ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ,ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนด้านตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมาย จำนวนไม่เกิน 3 คน

และ ‘คณะกรรมการลงทุน’  จำนวน 5 คน ประกอบด้วย รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ, ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้แทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนหรือด้านการเงินการธนาคาร จำนวนไม่เกิน 2 คนเป็นกรรมการ

‘คณะกรรมการลงทุน’ มีหน้าที่และอำนาจคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้เพื่อซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีคุณภาพ ระดับอินเวสท์เมนท์เกรด หรือหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป  (เรทติ้งที่ดีที่สุด คือ AAA ที่แทบจะไม่เสี่ยงเลย จากนั้นไล่ลงไป B, C และแย่ที่สุด คือ D ซึ่งหมายถึง Default หรือมีสถานะผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว ยิ่งตัวอักษรซ้ำหลายตัว หรือมีประจุบวก แสดงว่าคุณภาพดีกว่าอักษรตัวเดียวหรือไม่มีประจุ) และเป็นการระดมทุนเพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดการไถ่ถอน โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายในและภายนอกให้ได้ 50% แต่อาจมีการผ่อนผันน้อยกว่าจาก ‘คณะกรรมการกำกับกองทุน’ ได้

ประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านสืบสวนสอบสวนคดีตลาดเงินและตลาดทุน ได้พบแผนประทุษกรรมที่กฏหมายกำหนดให้มี  “ระบบอนุญาต” และ “ระบบของคณะกรรมการ”  และเมื่อพิจารณา พรก กองทุน BSF  เห็นว่ามีจุดอ่อนคือไม่มีกลไกในการป้องกันการทุจริตไว้ โดยสรุป คือ

1. คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะ ไม่มีห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของคณะกรรมการและระบบอนุญาตไว้ จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม จึงให้กำหนดเงื่อนไขให้การบัญญัติกฎหมายให้หลีกเลี่ยงระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ และหากมีความจำเป็น จะต้องบัญญัติเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ เพื่อไม่ให้กรรมการใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม  อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเอง  ของผู้อื่น โดยมิชอบ

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ได้เคยมีการออก พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 หรือ ปรส เช่นกัน แต่ พรก ปรส ได้มีข้อกำหนดห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของคณะกรรมการไว้ อาทิ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเลขาธิการ ปรส ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง, ต้องไม่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ เป็นต้น

ในการขายทรัพย์สิน ปรส ได้ออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินฯ ที่ป้องกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้อย่างรัดกุม คือ ผู้ประมูลและผู้ซื้อต้องมิใช่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คณะกรรมการ ปรส ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ ปรส คณะอนุกรรมการของ ปรส และพนักงานของ ปรส รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับ ปรส ไว้อีกด้วย

แม้ พรก ปรส จะกำหนดเรื่องผลประโยชน์ขัดกันอย่างรัดกุมก็ตามก็ยังเกิดการกล่าวหาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ปรส จำนวนหลายคดีเรื่องการขายสินทรัพย์ของ ปรส ในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานองค์ของรัฐร่วมกันปฏิวัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ที่ศาลฎีกาตัดสินคดีที่ประธานคณะกรรมการและเลขาธิการ ปรส เป็นจำเลย ว่ามีความผิดด้วย

ซึ่งใน พรก กองทุน BSF ไม่มีกำหนดข้อห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะไว้ใน พระราชกำหนดแต่อย่างใดเลย

2. พรก กองทุน BSF การบริหารจัดการเป็นเพียง “ระบบของคณะกรรมการ” ไม่มีองค์กรและเจ้าพนักงานทำงานเต็มเวลาหรือไม่มีเจ้าภาพเฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎหมาย จึงหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ ทั้งที่ กองทุน BSF มีวงเงินมากถึง 400,000 ล้านบาทและตลาดตราสารหนี้มีขนาดประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐทำงานเต็มเวลา เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

ที่ต่างกับ ปรส ที่มีองค์กรและเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลาโดยมีเลขาธิการ ปรส ที่แต่งตั้งจาก ครม ปฏิบัติให้ ปรส เต็มเวลา และการที่กองทุน BSF ไม่ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบไว้ หากมีการกระทำเกิดความเสียหายหรือไม่ชอบเกิดขึ้น การสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทำให้เกิดความเสียหายจะยากและจะอ้างว่าไม่มีกฏหมายกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบไว้และขาดเจตนา

3. พรก. อาจเกิดการเลือกปฏิบัติมีความไม่เสมอภาพ  ที่กำหนดให้ช่วยเหลือบริษัทที่อยู่ในระดับดี ทั้งที่ตลาดตราสานหนี้มีขนาด 3.6 ล้านล้านบาท กองทุนในวงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือประมาณเพียงร้อยละ 10 ของตลาดตราสารหนี้ และหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่า ช่วยผู้ออกตราสารหนี้เอกชนส่วนใหญ่ที่มีฐานะการเงินดี แข็งแกร่งนั้น ที่ภาวะปกติบริษัทเหล่านี้สามารถออกตราสารหนี้ใหม่ หรือหาแหล่งเงินกู้อื่น เพื่อมาชำระตราสารหนี้เดิมได้อยู่แล้ว ยิ่งหากภาครัฐเป็นกำแพงหนุนให้เช่นนี้อีกประโยชน์ยิ่งตกแก่บริษัทใหญ่ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า มูลค่าหลักทรัพย์ของบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้น กองทุน BAF ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคในการช่วยเหลือด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นการสนับสนุนความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยให้สูงมากขึ้นได้

การช่วยเหลือจากรัฐเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเงินก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และส่วนตัวจะไม่มีความสงสัยกับผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการ Corporate Bond Stabilization Fund (BSF) ในเรื่องความไม่โปร่งใสและความซื่อสัตย์เลย แต่การตรากฏหมายหรือพระราชกำหนดต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับปวงชนและต้องมีมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองความเสมอภาคของประชาชน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดจากนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด 19 มีผลกระทบอย่างที่รุนแรงต้องแก้ไขด่วนขณะนี้ คือเรื่องความอยู่รอดของประชาชนมากกว่าความจน การแก้ปัญหาความอยู่รอดนั้นอาจต้องไม่แก้แบบปัญหาความจน เพราะแม้ ‘เงินถึงมือแต่ข้าวยังไม่ถึงปาก’ ที่นำมาถึงการอดตายแล้วจะส่งผลความไม่พอใจที่ขัดแย้งในสังคมที่รุนแรงมากขึ้น จนยากต่อการแก้ไขปัญหาได้

https://www.facebook.com/2631268303555462/posts/3557655844250032/?d=n

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ

"จิรายุ" ห่วงจ่ายเยียวยาไม่ถึงประชาชน อัดรัฐแจกเงิน-ฝนตกไม่ทั่วฟ้า

ฝนตกไม่ทั่วฟ้า! "จิรายุ" โวยแทน ลูกจ้างพนักงานบริษัทเสียทั้งภาษี ทั้งโดนหักประกันสังคม ถึงวันนี้รัฐบาลกลับสร้างเงื่อนไขมากมายเพิ่มความเดือดร้อนให้กับประชาชน ถามข้อมูลมีอยู่แล้ว ทำไมต้องตรวจสอบ ชี้อย่างนี้ใช้เวลากี่เดือนกีปีถึงจะได้เยียวยา เผยเตรียมใช้ กมธ.สอบ เอาเงินกองทุนไปใช้ถูกทางหรือไม่?



นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานกรรมาธิการ กิจการศาลองค์กรอิสระอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนและกองทุน กล่าวว่าตนได้รับการร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง และบริษัทต่างๆ และแรงงานในระบบที่นายจ้างหักเงินเดือน ส่งประกันสังคม แต่บริษัทหยุดกิจการ และถูกพักงานซึ่งมีตัวเลขผู้จ่ายเงินประกันสังคมหลายล้านคนว่ารัฐบาลไม่เหลียวแล ในการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เพราะมีขั้นตอนซับซ้อน โดยได้ร้องทุกข์มายังตนในฐานะประธานกรรมาธิการที่ติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุน ต่างๆโดยระบุว่ารัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนทั่วไปจำนวน 5พันบาทแล้ว แต่ในขณะเดียวกันลูกจ้างผู้ทำงานที่ต้องถูกหักเงินประกันสังคมทุกเดือน เป็นจำนวนเงินต่อเนื่องหลายปีๆละกว่าหมื่นบาท.
     
แต่การเยียวประชาชน ที่ ถูกหักเงิน ไปเข้ากองทุนประกันสังคมที่มีเงินในกองทุนปีๆหนึ่งจำนวนหลาย แสนล้านบาทกลับล่าช้า จนถึงวันนี้ก็ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส บริษัทหยุดกิจการให้พนักงานพักงานทั้งๆที่เป็นเงินของพวกเขาเอง
     
นายจิรายุ กล่าวว่า รัฐบาลเคยพูดถึงเงินก้อนนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมว่าจะดูแลกลุ่มที่ถูกหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคม และมีมติ ครม ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แต่จนถึงวันนี้กลับยังมีขั้นตอนซับซ้อนวุ่นวาย
   
“รัฐบาลน่าจะมีบทเรียนในเรื่องนี้ในการแจกเงิน 5พันบาทไม่ควรสร้างเงื่อนไขขั้นตอนซับซ้อน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องถูกหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพราะคนเหล่านี้นอกจากต้องเสียภาษีส่วนบุคคลจากการทำงานและถูกหักเงินกองทุนประกันสังคมแล้วก็ควรจะได้รับการเยียวยาเนื่องจากมีฐานข้อมูลอยู่แล้วที่สำคัญเป็นเงินของพวกเขาเอง”
     
หากรัฐบาลยังมัวเสียเวลาว่าจะต้องไปตรวจสอบข้อมูลว่าลูกจ้างจ่ายกันกี่เดือนกี่ปี จนจริงไม่จริง ตกงานไม่ตกงาน คนเป็นล้านๆ คนใช้เวลากี่เดือนกี่ปีถึงจะตรวจสอบครบ เงินก็ของพวกเขาเอง ตนเห็นว่าภาวะเช่นนี้ควรจะดำเนินการทันที เหมือนกับแจก5พันเพราะคนที่เริ่มจ่ายประกันสังคมซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่แล้ว
   
ทั้งนี้ตนจะทำหนังสือสอบถามว่ากองทุนเงินประกันสังคม นำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างๆ ผลประกอบการณ์ เป็นยังไง  เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อคณะกรรมาธิการในการพิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุนเงินประกันสังคมต่อไปนายจิรายุกล่าว

“เรืองไกร” ร้องสอบ "ประยุทธ์" ขัดรัฐธรรมนูญ-ผิดจริยธรรม

“เรืองไกร” ชี้ พฤติการณ์ “ประยุทธ์” ส่อ ทุจริตเชิงนโยบาย เตรียมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ



นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือทางถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันนี้ (วันที่ 27 เมษายน 2563) เพื่อขอให้ไต่สวนโดยด่วน และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนก คดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ นายกรัฐมนตรีมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อ่านาจขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ จากกรณีทําจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีประมาณ 20 ราย

นายเรืองไกร กล่าวว่า “ในหนังสือของดนความยาวเกือบ 6 หน้ากระดาษ ได้อ้างถึงคํา แถลงออกรายการวิทยุโทรทัศน์และเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 20 เมษายน 2563 ขอให้มหาเศรษฐีให้ความร่วมมือระดับ ชาติช่วยเหลือรัฐบาลต่อสู่โรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อ ต่าง ๆ จากการตรวจอย่างถี่ถ้วน รอบด้านทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ค่า พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง จริยธรรมของผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองพบว่าเข้าข่ายกระทําความผิดและสมควรได้รับโทษเหมือนกับนักการเมืองในอดีตที่เคยโดน มาแล้ว”

“ในหนังสือค่าร้องถึงประธาน ป.ป.ช. ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกลงนาม ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีเลขที่หนังสือ สถานที่ออกหนังสือ กลุ่มมหาเศรษฐีที่ได้รับจดหมาย ดังกล่าว บางรายก็ได้ตอบสนองต่อค่าขอในจดหมายแล้ว จึงถือได้ว่าการกระทําอาจเข้าข่ายความผิดที่สําเร็จแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯย่อมต้องทราบข้อเท็จจริงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งใน ฐานะผู้ตรา พ.ร.ก.รวม 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งก็อาจจะนําไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ บริษัทของกลุ่มคนดังกล่าวซึ่งสื่อมวลชนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง” นายเรืองไกร กล่าว

นายเรืองไกร กล่าวในตอนท้ายว่า “พฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ขอความร่วมมือ ขอความสนับสนุนช่วยเหลือจากมหาเศรษฐี เข้าข่ายเป็นการกระทําผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่? เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ต้องดําเนินการตามหน้าที่ด้วย การไต่สวนโดยเร็วแล้วส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ หากดําเนินการล่าช้าในลักษณะประวิงเวลาหรือหาเหตุมากล่าวอ้างวินิจฉัยเพื่อตัดตอนคดีไม่ให้ไปถึงศาลยุติธรรม ป.ป.ช.อาจถูกดําเนินการ ตาม รธน.มาตรา 236 ได้”

“ฝากไปถึงรัฐมนตรีในรัฐบาล ถ้าออกมารับประกันว่าการออกจดหมายเปิดผนึกของ นายกฯที่มีไปถึงมหาเศรษฐีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ระวังจะเดือดร้อนไปด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรงมาก ควรปล่อยให้นายกฯแก้ปัญหาไปเอง” นายเรืองไกรกล่าว

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

"อนุดิษฐ์" เตือนรัฐบาล เร่งเยียวยาเกษตรกรก่อนปัญหาบานปลาย


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าตนเองได้รับการสะท้อนปัญหาจากส.ส.ของพรรคจากทุกภาคว่า ขณะนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาต่างๆรอบด้าน เพราะการบริหารงานของรัฐบาลในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำได้  ทำให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มพูนเป็นลำดับเหมือนดินพอกหางหมู ส่งผลให้คุณภาพชีวิตตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

นอกจากนี้ เกษตรกรยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง สลับกับน้ำท่วม เป็นประจำทุกปี ซึ่งการเยียวยาผู้ประสบภัยปีล่าสุดพบว่า รัฐบาลยังค้างจ่ายค่าเยียวยาภัยแล้ง น้ำท่วมกับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อมาประสบปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมจากปัญหาเดิมที่ค้างคาอยู่ จึงส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนเป็นทวีคูณ

“ส.ส.เพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญและช่วยเหลือเกษตรกรโดยด่วนเหมือนกับอาชีพอื่นๆได้หรือไม่?  เพราะการผลิตอาหาร “ป้อนไทยป้อนโลก” ถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง หากเกษตรกรมีหนี้สินรุงรัง ชักหน้าไม่ถึงหลัง จะผลิตอาหารคุณภาพให้พวกเราได้อย่างไร”

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า ส.ส.เพื่อไทยเรียกร้องให้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างรอบด้าน โดยตนเองได้รวบรวมข้อเสนอแนะและมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรจาก ส.ส. ทั้งสิ้น 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) รัฐบาลต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตของเกษตรกร เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าไถพรวน ฯลฯ เพราะปัจจุบันเกษตรกรมีหนี้สินท่วมตัวจนขาดกำลังในการซื้อปัจจัยการผลิตดังกล่าว 2)รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ค้างเกษตรกรอยู่ให้ครบถ้วน และ 3)สนับสนุนเงินดำรงชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรครัวเรือนละ 35,000 บาท โดยด่วน

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเกษตรกรอย่างเท่าเทียมกับธุรกิจอื่นๆ และเร่งช่วยเหลือทุกครอบครัวให้ทันเวลา ก่อนถึงฤดูกาลเพาะปลูก ไม่เช่นนั้นปัญหาจะลุกลามบานปลาย แก้ไขยาก และเกิดผลร้ายกับเกษตรกรและครอบครัวมากขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว

"สุดารัตน์" ร้องเปิดสภาฯ ถกปัญหาประชาชน-เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท

"สุดารัตน์" เรียกร้องเปิดสภาฯถกปัญหาประชาชนและเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน เสนอ 5 ข้อเปิดเมืองให้เศรษฐกิจเดินได้ ยัน! ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ต้องฟังแพทย์ ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง พร้อมนำบุตรธิดา ร่วมทีม "การุณ โหสกุล" แจกข้าวสาร-สอนทำการค้าออนไลน์แก่ชาวดอนเมือง 



คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย และคณะทำงาน มอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ที่หมู่บ้านปิ่นเจริญ 4 เขตดอนเมือง กทม. โดยมีการสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพ ปัญหาตกงาน และเรื่องเงินเยียวยาสถานการณ์โควิด -​ 19 พร้อมไลฟ์สดทางเพจ Facebook ส่วนตัว และได้พาบุตรชายกับบุตรสาว มาแนะนำการทำเพจและขายสินค้าทางออนไลน์แก่ชาวชุมชนด้วย


คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ผู้มีอำนาจควรคิดถึงการเปิดเมืองอย่างปลอดภัยมากกว่าต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่าโควิด -​19 จะยังอยู่กับสังคมไทยและสังคมโลก แต่บริบทความมั่นคงของชาติเปลี่ยนไป ที่ปัจจุบันต้องต่อสู้กับเชื้อโรค ผู้ทำหน้าที่สู้รบคือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่การทหารที่ต้องรบราฆ่าฟันกับศัตรู  ดังนั้น การจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ ต้องฟังแพทย์ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง และมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการให้ธุรกิจดำเนินการได้ พร้อมเสนอ 5 ข้อสำหรับการเปิดเมือง คือ

1. “Reopening แบบมีข้อบังคับด้านสาธารณสุข” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยและไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกลุ่มแรก เมื่อเปิดเมืองต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อในที่สาธารณะและขนส่งสาธารณะสม่ำเสมอ

2. สนับสนุนทุกจังหวัดที่จะเปิดเมืองให้มีความสามารถในการตรวจหาเชื้อและนำตัวผู้ติดเชื้อมาเข้าระบบแยกตัว รวมทั้ง X-Ray พื้นที่สม่ำเสมอ ไม่ให้มีการกลับมาระบาดใหม่


3. ยังต้องเข้มงวดในการป้องกันผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศด้วยมาตรการ State Quarantine 14 วัน อย่างต่อเนื่อง

4. สนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ  เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หากมีการระบาดในรอบใหม่

5. สำหรับประชาชนต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal โดยให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากาก, Social Distancing และรักษาสุขภาพอนามัย ขณะที่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ Work From Home หรือการเรียน On-Line อีกสักระยะ


คุณหญิงสุดารัตน์ ยังยืนยันข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้เปิดประชุมสภาฯ ซึ่งห้องประชุมใหญ่สร้างเสร็จแล้ว สามารถใช้มาตรการ Social distancing ได้ เพื่อจะได้นำปัญหาการเยียวยาและความเดือนร้อนของประชาชนเข้าพิจารณาร่วมกันทุกฝ่าย และพรรคเพื่อไทย กังวลใจกับเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ควรนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับการตัดงบประมาณปี 63-64 ที่ไม่จำเป็นออกมาใช้ จะได้ลดจำนวนเงินที่จะกู้ได้ เพราะจัดงบฯในช่วงที่ไม่มีวิกฤต " แต่เมื่อมีวิกฤติที่เปรียบเหมือนไฟไหม้บ้าน หัวหน้าครอบครัวมีเงินจำนวนหนึ่งสามารถที่จะซื้อรถใหม่ แต่ไฟไหม้บ้านพอดี" จึงต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้เงิน


ส่วนนายการุณ กล่าวว่า เข้าใจสถานการณ์ของชาวดอนเมืองท่ามกลางเคอร์ฟิว ซึ่งหลายคนตกงานและสถานประกอบการต้องปิดกิจการ จึงเกิดโครงการ "ดอนเมืองไม่ทิ้งกัน คนไทยรักกัน" ซึ่งทยอยบริจาคทุกๆชุมชน พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมภาครัฐไม่ทำโครงการลักษณะนี้ทั่วประเทศทั้งที่มีอำนาจเต็ม


ด้านนางพรทิพย์ เขียนนุกูล ประธานชุมชน ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวชุมชนเหลือตัวเองและดีใจที่มีพรรคการเมืองเข้าให้ความช่วยเหลือ เพราะยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเลย ขณะที่ชาวชุมชนที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาส่วนใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ จำนวนมากรอทบทวนสิทธิ์และยื่นอุทธรณ์ โดยหมู่บ้านมีทั้งหมด 451 ครัวเรือน ประชากรราว 15,000 คน ส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขาย ทั้งเสื้อผ้า สิ่งของอุปโภคและอาหารตามที่ต่างๆ รวมถึงในตลาดนัด ขณะที่โซน 2 ของหมู่บ้านกำลังจะมีการทำตลาดนัดออนไลน์ เพื่อให้ค้าขายได้ในช่วงนี้

"วรวัจน์" รับเจ็บปวด ห่วงประชาชนฆ่าตัวตาย-ไม่มีข้าวกิน

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รองประธานคณะคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เปิดเผยว่า ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ว่า


ถึงเวลาวัดใจ ส.ส.

ยังอยากจะเป็นผู้แทนของประชาชนหรือเป็นแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายทุน

ในขณะที่ภาพพี่น้องประชาชน ยากจน ตกระกำลำบาก ถึงขนาดมีคนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีตังค์กินข้าว มีเสียงร้องไห้ระงม ดังไปทั้งประเทศ ภาพนี้ ผมยอมรับว่า เจ็บปวด อย่างที่ไม่เคยเห็น สะเทือนใจอย่างมาก..

ยิ่งเห็น การออกพรก.กู้เงิน
ใช้เงิน4แสนล้านช่วยเหลือทุนใหญ่ ไม่ถึง20ราย
ชลอการใช้หนี้ ในราคาเต็ม เพื่อไม่ให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง แต่คนไทยอีกหลายสิบล้านคน เกือบทั้งประเทศ ได้เงินเพียง6แสนล้าน ได้เพียงคนละ5,000บาท ต่อเดือน ใช้จ่าย ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟที่ลดให้ประชาชน
น้อยมาก ..
(ไม่รู้ว่าเวลาอย่างนี้ ยังจะมีใจเอากำไรจากประชาชนเยอะๆได้อย่างไร )

เงินเยียวยานี้ ได้ฟรีมั้ยครับ ไม่ฟรีครับ เพราะสุดท้าย รัฐบาลก็ต้องเก็บเงินก้อนนี้คืน จากภาษี จากประชาชนอยู่ดี

ในส่วนของเงินประกันสังคม กว่า2ล้านล้าน
ย้ำ!! กว่า2ล้านล้านบาท
เงินใคร? เงินประชาชนเอามาฝากไว้
ไม่ใช่หรือ ?
มันคือเงินของผู้ประกอบการเค้าเก็บออมเอาไว้ให้ลูกน้อง เอาไว้ดูแลกัน
ยามเจ็บป่วยไข้ ตกงาน ยามชราลงไป
หรือเงินสมทบประกันสังคมของรัฐบาล
ก็เอามาจากภาษีประชาชนอยู่ดี

วันนี้ รัฐบาลให้เอาเงินประกันสังคม
ไปลงทุน เอาไปซื้อหุ้นทุนใหญ่
ลงทุนแล้วทำให้กองทุนเสียหาย
ยังเอาคืนไม่ได้..

วันนี้ ถึงเวลาประชาชนเดือดร้อน
อยากให้ช่วยเหลือ เพราะเข้าเงื่อนไข ตกงาน รัฐบาลบอกติดขัด ช่วยไม่ได้ เพราะ ติดเอาไปช่วยทุนใหญ่หมดแล้ว
มันใช่หรือ?

ทีออกพรก.เอาเงินไปค้ำหุ้นกู้ให้ทุนใหญ่ บอกจำเป็น
แต่พอประชาชนขอรับเงินคืนตามเงื่อนไขที่มีสิทธิ์ บอก ยังทำไม่ได้

อยากถามว่า แทนที่จะเอาเงินไปค้ำหุ้นกู้
ขอเอากู้เงินทั้งหมด ไปใส่ประกันสังคม เอาเงินคืนประชาชนตามสิทธิ์ของเค้าก่อนดีมั้ย?

ท่านผู้แทนราษฎรครับ
ท่านจะเป็นผู้แทนให้ประชาชน หรือจะเป็นแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครับ

“วัดใจครับ “

วันที่พรก.กู้เงิน เข้าสภา
การตัดสินใจลงคะแนน
ผ่านหรือไม่ผ่านพรก.นี้
จะเป็นคำตอบว่า
ท่านเลือกใคร ระหว่างประชาชนที่เค้าเดินไปลงคะแนนเลือกท่าน หรือ ท่านเลือกจะทำร้ายหัวใจของพี่น้องประชาชน ที่เค้าเคยรักท่าน

ประชาชนอยากรู้คำตอบครับ

ในเวลาที่พี่น้องประชาชน ลำบากยากเข็ญ
ขาดรายได้ เป็นหนี้เป็นสิน จนไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไรเช่นนี้
ผมไม่เชื่อว่า คนที่เป็นผู้แทนราษฏรโดยจิตวิญญาณ จะตัดสินใจช่วยคนอื่น ก่อนพี่น้องประชาชนของตนเอง

พี่น้องประชาชน อยู่จังหวัดไหน ลองถามผู้แทนของท่านดูก็ได้ครับ ว่าท่านส.ส.ของท่าน ในเวลานี้ เวลาที่ท่านต้องการความช่วยเหลืออย่าง มากที่สุดเช่นนี้
ท่านส.ส.ของท่าน
 “เลือกจะช่วยใคร”

#ทำเพื่อประชาชนซักครั้ง จะได้ไหม

"ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ห่วงประชาชนชาวไทย ส่งแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ-แจกเพิ่มทั่วประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดในทุกพื้นที่ของประเทศ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเกี่ยวกับการเฝ้าระวังตนเองจากไวรัสดังกล่าวนอกเหนือจากเรื่องปัญหาปากท้อง จึงได้ส่งมอบความห่วงใยให้กับพี่น้องประชาชนและแฟนคลับด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อไว้ใช้ในการทำความสะอาดและดูแลตัวเอง ซึ่งการแจกจ่ายจะส่งผ่านไปยังกลุ่มแฟนคลับของทั่ง 2 อดีตนายกรัฐมนตรีและพี่น้องประชาชนโดยเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือ 75% บรรจุขวดใส เป็นภาพคู่ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ“คนแดนไกลห่วงใยประชาชน” โดยแหล่งข่าวใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรีระบุว่า ถึงแม้ตัว ดร.ทักษิณ และ น.ส. ยิ่งลักษณ์จะอยู่ไกล แต่อะไรที่จะเป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อสุขภาพที่ดีของพี่น้องคนไทย อดีตนายกรัฐมตรีทั้งสองท่านก็พร้อมที่จะทำ








"สุชาติ" เสนอเปิดเมือง-ยกเลิก ​พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ศ.ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ อดีต​ร​ัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


พี่น้องประชาชน! ร่วมกัน​เรียกร้องให้ยกเลิก​ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" กันนะครับ...

ก่อนโรคระบาดโควิด-19​ ทั่วโลก ประเทศไทยมีปัญหาค่าเงินบาทแข็งเกินไป ทำให้ส่งสินค้าออกได้น้อย เศรษฐกิจจึงเจริญเติบโตต่ำเพียง​ 2-3% นับเป็นประเทศเดียวในอาเซี่ยน​ ที่คนยากจนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน เป็น 6.7 ล้านคนในปี 2562 จาก 4.8 ล้านคนเมื่อปี 2558

เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด19 ตอนต้นปี 2563 และมีการประกาศพระราชกำหนด​ (พรก.) ภาวะ ฉุกเฉิน เมื่อ 26 มีนาคม 2563 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งยากจนอยู่แล้ว ยากจนลงไปอีก เสมือนหนึ่ง “หนีเสือปะจระเข้”

กระผมจึงขอเสนอให้ "ยกเลิก พรก.​ ฉุกเฉิน" ได้แล้ว เนื่องจาก

1. คณะแพทย์​พยาบาลและบุคลากรทางสาธารณสุข มีความสามารถสูงมาก ทำให้การระบาดของโรคต่ำมาก คนติดเชื้อและคนเสียชีวิตน้อย องค์กรระดับโลกจำนวนมากให้ความชื่นชม

2. พี่น้องประชาชนไทยให้ความร่วมมืออย่างมาก ในมาตรการ​ ลดและชะลอโรคระบาดนี้ คือ​ ใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้าน​  ล้างมือ​รักษาความสะอาด​ แยกช้อนแยกจาน​  รักษาระยะห่างของบุคคล  คนสูงอายุคนมีโรคประจำตัว​ให้แยกห่างจากเด็กและหนุ่มสาว  อยู่บ้านให้มากที่สุด ที่ต้องเร่งคือ การตรวจหาผู้ติดเชื้อ แล้วแยกออกมารักษา

3. ดังนั้นรัฐบาลจึงควรสร้างความสมดุลระหว่างการลดการระบาดของโรคโควิด กับความอดอยากของประชาชน

4. คนไทยส่วนใหญ่นั้นยากจน​ หาเข้ากินค่ำ เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลนั้นช้า ไม่เพียงพอ และไม่ครอบคลุม คนส่วนใหญ่จึงทนความหิวไม่ไหว มีคนฆ่าตัวตาย​ เพราะคำสั่งให้หยุดทำงานมากกว่าการตายด้วยโรคโควิดแล้ว

5. ควรให้ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ร้านทำผม เปิดได้แล้ว เพื่อให้ประชาชนทำมาหากิน โดยทำตามหลักเกณฑ์สาธารณสุขของรัฐบาล

6. เว้นแต่สถานที่​ ที่มีการชุมนุมของประชาชนจำนวน​มากๆ​ สามารถใช้มาตรการควบคุมดูแลโดยผู้ว่าราชการจังหวัด  หากจังหวัดใดมีคนป่วยน้อย 2-3​ คน ก็ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.​ เข้าดูแล​เป็นจุดๆ​ ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งจังหวัด การเปิดเมืองให้ใช้หลัก 6 ประการ ตามองค์การอนามัยโลก (WHO)

7. ดังนั้นจึงควร​ "ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน" ได้แล้ว เราจะได้ “ไม่จมลึก แต่ฟื้นเร็ว”

ศ.ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​
อดีตรมว.คลัง​ อดีต​ร​มว.ศึกษา
26 เมษายน​ 2563

“หมอทศพร” แนะรัฐทุ่มงบตรวจหาเชื้อทุกกลุ่มเสี่ยง

“หมอทศพร” แนะรัฐทุ่มงบตรวจหาเชื้อทุกกลุ่มเสี่ยง อัดรัฐไม่ควรมองมุมการเมืองควรเน้นปกป้องชีวิตประชาชน


นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์โควิด พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-2019 ในประเทศไทย ว่า ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการตรวจหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยงยังน้อยมาก หากเทียบกับหลายๆประเทศ ทั้งนี้รายงานจากกระทรวงสาธารณะสุข  พบว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมีการตรวจหาเชื้อจากประชาชนเพียง 70,000-80,000 คนเท่านั้น ตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้น ทั้งๆที่ควรมีการตรวจมากกว่านี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ละเลยการป้องกันชีวิตของประชาชน

คณะทำงานของรัฐบาลออกมาโจมตีฝ่ายการเมืองว่าที่ออกมาให้ข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่าเป็นการมุ่งให้ร้ายโจมตีรัฐบาล อยากเรียนว่าในมุมมองพรรคเพื่อไทย ไม่เคยมองในมุมการเมือง แต่เป็นการให้ความคิดเห็นในมุมของแพทย์ เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน  นอกจากนี้รายงานของสาธารณะสุขในต่างประเทศ พบว่าคนที่ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการพบมากกว่าคนที่ติดเชื้อแล้วแสดงอาการ ดังนั้นโอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อในอนาคตนั้นมีได้มาก หากรัฐไม่ทำอะไรเลย

นายแพทย์ ทศพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการตรวจหาเชื้อเพื่อรักษาชีวิตของประชาชน รัฐต้องดำเนินการตรวจ ไม่จำเป็นต้องปูพรมตรวจก็ได้เพียงตรวจคนที่ใกล้ชิดคนที่ติดเชื้อและอยู่ในกระบวนการรักษา  อาทิ คนในครอบครัว  เพื่อนบ้าน รวมไปถึงคนสูงอายุ อย่าไปมุ่งตรวจคนที่มีอาการหรือไปมุ่งที่คนเคยไปสถานที่เสี่ยงเท่านั้น นอกจากนี้รัฐต้องรายงานให้ครบถ้วน ทั้งการตรวจหา การรักษา ไม่ใช่รายงานอย่างที่เป็นอยู่ เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไร

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนบางส่วนที่ต้องอยู่ศูนย์กักกันเชื้อตามสถานที่ต่างๆในหลายจังหวัด  ยังคงน่ากังวลทั้งนี้มีหลายคนที่จากไม่ติดเชื้อกลับกลายเป็นว่ามาติดเชื้อภายในศูนย์กักกัน ดังนั้นรัฐต้องมีมาตรการที่ดีกว่านี้ ในการกักกันเพื่อดูอาการ อาทิ โรงเรียน หรือ โรงแรมที่มีอยู่ ใช้เป็นศูนย์กักกันแล้วให้นอนเพียงห้องล่ะ 1 คน เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย จะเสียงบประมาณเท่าไหร่รัฐก็ต้องยอม เพราะคือเงินภาษีของประชาชน ดังนั้นควรนำมาใช้ในการปกป้องชีวิตประชาชน ที่ผ่านมารัฐไม่จริงใจในการปกป้องประชาชน  มาตรการรัฐบาลที่ออกมาจึงสอบตกทุกเรื่อง” นายแพทย์ทศพรกล่าว

“จักรพล” แนะรัฐผ่อนมาตรการ เปิดทางดำเนินธุรกิจ

“จักรพล” แนะรัฐผ่อนมาตรการเปิดทางดำเนินธุรกิจ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินพ่นพิษทำประชาชนยอมแพ้ฆ่าตัวตายรายวัน  


นายจักรพล  ตั้งสุทธิธรรม  ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย  เปิดเผยถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่อาจจะต่ออายุพระราชการกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19  ถือเป็นการมองในมุมของการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อร้าย ที่รัฐมองว่าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อจำกัดพื้นที่ของประชาชนได้ผล

แต่ในอีกด้านคือภาพรวมเศรษฐกิจไทย กระทบอย่างต่อเนื่อง เจ้าของกิจการก็ประสบปัญหา หลังจากหยุดกิจการมานานกว่า 1 เดือน เงินทุนที่เก็บสะสมไว้เริ่มหมดไป แม้จะเปิดให้ดำเนินธุรกิจได้ ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็ไร้เงินทุนมาต่อยอด หรือเปิดมาอาจจะไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ เพราะยังไม่มั่นใจในเรื่องของป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส  สุดท้ายต้องปิดกิจการอย่างถาวรต่อไป

นายจักรพล กล่าวด้วยว่า ด้วยการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ยาวนานส่ง ผลให้แรงงานในภาคบริการ ตกงานเป็นหลายล้านคน  หลายคนประสบปัญหาเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้ ต้องเข้าแถวรอรับบริจาคอาหารและสิ่งของอื่นๆจากผู้ใจบุญ เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ นอกจากนี้การรอเงินเยียวยาจากรัฐบาลก็ไม่ได้ หลายคนไม่มีทางออกเลือกฆ่าตัวตาย ถึงวันนี้ มีรายงานว่าประชาชนที่ฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจมากกว่า 20 รายหรือครึ่งหนึ่งของการตายจากไวรัสโควิด รัฐต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วหากยังไม่แก้เชื่อว่าตัวเลขคนฆ่าตัวตายจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน

“ พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยในการป้องกันประชาชน แม้รัฐจะมีมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้น แต่รัฐต้องผ่อนปรนมาตรการเพื่อเปิดช่องหายใจในการทำมาหากินให้กับประชาชนด้วย การเปิดพื้นที่เศรษฐกิจให้ประชาชนทำมาหากิน โดยมีมาตรการรองรับในการให้บริการของผู้ประกอบการ  อยากให้รัฐมองทุกด้าน อย่ามองเพียงความมั่นคงด้านเดียวไม่เช่นนั้น ต่อให้รัฐทุ่มงบประมาณเท่าไหร่ก็ไร้ผล เพราะทำงานไม่เป็น ไม่รอบครอบ และไม่มีประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาคือประชาชนที่ต้องรับกรรมจากผลการทำงานของรัฐบาล”นายจักรพล กล่าว

"จาตุรนต์" แนะรัฐเร่งเปิดสภา ถกปัญหาโควิด

"จาตุรนต์" ชี้การเปิดสภาในช่วงวิกฤตเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ รัฐบาลจะให้งบมหาศาลต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล! วิกฤตมีหลายด้านขาดการบูรณาการ การเปิดสภาให้อภิปรายจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหาและทางออกร่วมกัน เสนอนายกฯเปิดไฟเขียวพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมและรัฐบาลควรเป็นฝ่ายขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปเสียเอง แนะรัฐบาลตัดสินใจเรื่องการเปิดเศรษฐกิจแบบมีมาตรการรองรับ วางแผนและชี้แจงให้ทุกฝ่ายรับรู้แนวทางปฏิบัติไปพร้อมๆกันทางทีวีพูล



นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวถึงกล่าววกรณีที่พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อกันเสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญขึ้นและมีข้อโต้แย้งจากทางสมาชิกวุฒิสภาว่าขณะนี้มีความจำเป็นที่สุดที่จะต้องเปิดให้มีการประชุมรัฐสภาขึ้น สว.อาจไม่เห็นความสำคัญเพราะปรกติก็คอยทำหน้าที่ยกมือเป็นฝักถั่วสนับสนุนนายกฯตามใบสั่งเท่านั้น มองไม่เห็นบทบาทของรัฐสภาที่จะต้องคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

รัฐบาลไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้สำหรับสถานการณ์วิกฤตนี้ในขณะที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเยียวยาประชาชนและภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่งบประมาณทางด้านสาธารณสุขก็ยังขาดแคลน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรีบพิจารณาร่างพรบ.โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อให้สามารถใช้งบประมาณของปี 2563 ได้โดยเร็ว ต่อจากนั้นก็สามารถพิจารณาพรก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังซึ่งเป็นการใช้เงินและงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ขณะนี้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากรัฐสภาใดๆเลย ทั้งๆที่ยังมีข้อห่วงใยอยู่ว่าเป็นแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่และจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาหรือไม่

เหตุผลที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งที่ทำให้ต้องเปิดสภาขึ้นก็คือขณะนี้วิกฤตจากโควิด-19 กำลังส่งกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนในหลายด้าน แม้ว่าด้านสาธารณสุขทำได้ดี แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลและสังคมอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบในด้านอื่นๆนั้นรุนแรงหนักหนามากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้ผู้ที่สมัครขอรับเงินเยียวยากว่า 20 ล้านคนและเกษตรกรอีก 17 ล้านคนยังไม่ได้รับการเยียวยา ธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพอีกหลายสาขายังไม่ได้รับการดูแลและการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการณ์

และเนื่องจาการดำเนินการในการรับมือกับการแพร่ระบาดทำอยู่อย่างแยกส่วน ขาดการบูรณาการ การชี้แจงให้ข้อมูลแก่ประชาชนก็มักเน้นแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ทำให้ทั้งรัฐบาลเองและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาและผู้ปฏิบัติไม่มองเห็นปัญหาในภาพรวม ขณะนี้มีการเตรียมการด้านการศึกษาอย่างไร ผู้ที่เปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบหนักกว่าคนทั่วไปทั้งเด็กเล็ก คนชรา ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายอยู่ในสภาพอย่างไรและปัญหาอีกสารพัด ไม่มีการนำเสนอให้สังคมได้เห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

นายจาตุรนต์กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาเหล่านี้หากมีการเปิดประชุมสภาแล้วรัฐบาลเสนอขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ก็จะได้เสียงสะท้อนปัญหาและข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นปัญหาในภาพรวม จะทำให้การแก้ปัญหาตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น

ที่ผ่านมาในอดีต แม้กระทั่งในเร็วๆ เวลามีปัญหาใหญ่ๆที่ประชาชนเดือดร้อนกันมากๆ การเปิดให้มีการอภิปรายในสภาสามารถช่วยทำให้รัฐบาลรับรู้และแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นมาตลอด สถานการณ์ในขณะนี้ยิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์โดยเฉพาะจะทำให้สังคมโดยรวมสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศได้มากขึ้นด้วย  หากรัฐบาลทำงานทุกอย่างอย่างโปร่งใสก็ไม่มีเหตุผลที่จะหวาดกลัวการประชุมสภาหรือหวาดกลัวเสียงสะท้อนจากประชาชน

"สิ่งที่นายกฯควรทำในขณะนี้คือการเปิดไฟเขียวให้สส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมสนับสนุนให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญและรัฐบาลควรเป็นฝ่ายเสนอขอเปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนราษฎร" นายจาตุรนต์กล่าว

สำหรับเรื่องที่มีกระแสเรียกร้องและคาดการณ์กันว่าจะมีการคลายล็อคเปิดให้เศรษฐกิจเดินได้หลังครบกำหนด 30 เมษายนนี้นั้น นายจาตุรนต์ให้ความเห็นว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อที่เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรนำมาอภิปรายกันในสภา ขณะนี้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ดี แต่ก็มีค่าใช้จายทางเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายด้วยการต้องหยุดงานไม่มีรายได้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนถึงขั้นไม่มีจะกิน ฆ่าตัวตายไปแล้วก็มาก มีข้อเสนอทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขเองที่เห็นว่าควรเปิดให้เศรษฐกิจโดยมีมาตรการที่เข้มงวดรองรับ แต่รัฐบาลยังขาดควาามชัดเจนว่าจะตัดสินใจอย่างไร ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ลักลั่นและมีการคาดการณ์เตรียมการที่ต่างๆกันไป

"ที่สำคัญรัฐบาลควรตัดสินใจและมีแผนอย่างเป็นขั้นตอน ควรทำความเข้าใจถึงมาตรการและเงื่อนไขในการเปิดกิจการและทำกิจกรรมต่างๆว่าจะต้องมีแนวปฏิบัติอย่างไร แล้วจัดให้มีการชี้แจงของผู้รับปิดชอบด้านต่างๆทางทีวีพูลเลย ไม่ควรปล่อยให้มีการปล่อยข่าวหรือข้อมูลออกมาจากที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง จนไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง หากปล่อยให้ทุกอย่างสับสนอยู่แบบนี้นอกจากจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการบางส่วนรู้ข้อมูลวงในก็เตรียมพร้อมได้ก่อน ผู้ไม่ได้ข้อมูลก็ไม่กล้าเตรียมการ ถึงเวลาเปิดก็เปิดไม่ได้ และที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อเปิดแล้วอาจไม่มีมาตรการทางด้านสาธารณสุขและมาตรการการจัดระยะห่างทางสังคมที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ปัญหาวนไปเวียนมาหาทางออกไม่เจอ ในขณะที่ประชาชนนับสิบๆล้านก็เดือดร้อนมากขึ้นทุกที” นายจาตุรนต์กล่าวในที่สุด

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563

"นิยม" แนะรัฐฟังเสียงคนทุกกลุ่ม เตือนต้องรอบด้าน-หยุดเน้นแต่มหาเศรษฐี

“นิยม” เชื่อหลังวิกฤติภาคเกษตรสร้างรายได้มหาศาล แนะรัฐบาลรับฟังปัญหาทุกกลุ่มอย่ามุ่งแค่กลุ่มมหาเศรษฐี



นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกหนังสือเปิดผนึก ถึงกลุ่มนักธุรกิจมหาเศรษฐี 20 อันดับแรกของประเทศไทยนั้น เพื่อขอความคิดเห็นและความร่วมมือ ในการแก้ปัญหาวิกฤติประเทศ เห็นด้วยกับหลักการนี้ถือว่า พลเอกประยุทธ์เปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มคนอื่นๆ เพื่อรับรู้ความคิดเห็นและปัญหารอบด้าน

ทั้งนี้จะดีกว่านี้ หากรัฐบาลจะสอบถามปัญหาในทุกกลุ่ม เพื่อทราบถึงปัญหาอย่างแท้จริง ทั้งคนชั้นกลาง และ คนยากจนทุกๆภาคส่วน กลุ่มอาชีพต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร  ภาคอุตสาหกรรม การค้าและภาคบริการ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาได้ทั่วถึง เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการ ในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทั้งในช่วงที่มีวิกฤตและหลังวิกฤต รวมทั้งแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนกลับมาส่งผลมาถึง คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม

นายนิยม กล่าวด้วยว่า การรับรู้ข้อมูลของทุกกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเทศ จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ประเทศไทยมีความหลากหลายทางอาชีพที่พึ่งพากัน ภาคเกษตรกรรม ภาคปศุสัตว์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคธุรกิจค้าขายบริการ ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในทุกกลุ่ม อย่าให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รัฐบาลต้องมีมาตรการในการดูแลและฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ หลังจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรมากขึ้น เพราะภาคเกษตรจะเป็นเครื่องจักรสำคัญ ในการสร้างรายได้เข้าประเทศ รัฐต้องจริงจังและจริงใจ และแก้ปัญหาภาคเกษตรกร อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากเกษตรกรมีรายได้จะเป็นการช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้กับประเทศได้มหาศาล” นายนิยมกล่าว

"วัฒนา" แนะไทยพลิกวิกฤตโควิด หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


วิกฤตโควิด-19 คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลประยุทธ์ เพราะทำให้เศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกพังพินาศต้องถอยกลับมานับหนึ่งเหมือนกันหมด เศรษฐกิจไทยที่แย่กว่าชาติอื่นจะมีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่ เหมือนกับแข่งบอลที่ตามอยู่ 5-0 แต่มีเหตุทำให้ต้องยกเลิกได้กลับมาเริ่มแข่งใหม่ที่ 0-0 นั่นคือความได้เปรียบที่โควิดประทานให้

นอกจากนี้พฤติกรรมของมนุษย์ภายหลังโควิด-19 ที่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขลักษณะจะทำให้การเริ่มต้นของไทยได้เปรียบชาติอื่น เริ่มจากสภาพแวดล้อมที่ไวรัสไม่ชอบ ความเข้มแข็งของการสาธารณสุขโดยเฉพาะโครงการ 30 บาทที่กลายเป็นต้นแบบของโลก ไม่นับรวมอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวไทยที่มีชื่อเสียงทั่วโลกยอมรับ

อดีตประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกทักษิณแนะนำผมว่า ไทยควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ทางด้านสาธารณสุข เสริมสร้างสมรรถนะคนไทย คัดกรองคนเข้าประเทศ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากความตายที่มองไม่เห็น (Random Death Free Country) จะทำให้การลงทุน และการท่องเที่ยวกลับมาอย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้นไทยจะกลายเป็นสวรรค์ของพวกกลัวตายทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่ร่อแร่มีโอกาสฟื้นตัว

แต่ถ้าเจอผู้นำอีกแบบโอกาสจะกลายเป็นวิกฤตแทน เช่น การจ่ายเงินเยียวยา ถ้ารัฐบาลจ่ายให้กับทุกครอบครัวๆ ละ 10,000 บาท/เดือน ให้หัวหน้าครอบครัวเอาบัตรและทะเบียนบ้านไปรับเงินที่ธนาคารก่อนแล้วรัฐบาลค่อยโอนเงินไปคืนให้ธนาคาร อันจะทำให้คนไทยมีเงินใช้ทันทีส่วนธนาคารก็มีงานทำและได้ดอกเบี้ย จะเกิดการจับจ่ายใช้จ่ายกระตุ้นการบริโภคภายในแบบที่เรียกว่าวินวิน ส่วนเงินที่จ่ายให้ประชาชนแม้ต้องกู้มาก็ไม่มีใครว่ามีแต่จะได้รับคำยกย่อง ที่เคยทำเศรษฐกิจพังมาคนก็จะลืมและให้อภัย

แต่บางรัฐบาลกลับทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤตแทน สร้างเงื่อนไขการจ่ายเงินยุ่งยากแบบรัฐราชการ จ่ายเงินล่าช้าและไม่ทั่วถึงจนคนต้องฆ่าตัวตายทั้งที่เป็นเงินของประชาชน แทนที่จะได้คำชมก็เลยได้คำสาปแช่งจากทุกสารทิศ ตรงกับคำกล่าวที่ว่าถ้าโอกาสไปตกอยู่ในมือคนโง่จะกลายเป็นวิกฤตแบบที่เห็น

วัฒนา เมืองสุข
25 เมษายน 2563

"เผ่าภูมิ" เตือนรัฐหยุดแช่แข็งประเทศ เทียบเศรษฐกิจยุคโควิดเหมือนตกเหว 3 ระยะ

"เผ่าภูมิ" เปรียบเศรษฐกิจยุคโควิดเหมือน "ตกเหว 3 ระยะ" เตือนรัฐหยุดทำก้นเหวให้ลึกเกิน ด้วยการ "แช่แข็งประเทศ" เกินจำเป็น



ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวคิดจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังคงใช้มาตรการแช่แข็งประเทศหรือปิดเมืองต่อไปว่า

ตนไม่เห็นด้วย การปิดเมืองเสมือนการผลักให้เศรษฐกิจตกเหว ซึ่ง “ความลึกก้นเหวขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของการปิดเมือง” ทั้งนี้สามารถแบ่งการตกเหวและแนวทางการรับมือ แบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 : “ตกเหว” หรือระยะปัจจุบัน เป็นภาวะที่ธุรกิจเล็กใหญ่ รวมถึงแรงงานได้รับแรงกระแทก จากการหยุดผลิต หยุดจ้างงานในวงกว้าง ในช่วงนี้เป็นปัญหาที่ด้าน “อุปทาน” มาตรการในช่วงนี้ก็ต้องเป็นเพื่อลดความเสียหายของภาคอุปทาน คือป้องกันการล้มตายของธุรกิจ การตกงานจำนวนมหาศาลของแรงงาน และการลามถึงระบบการเงิน เหมือนการส่งเชือกช่วยคนที่กำลังหล่นลงเหว เพื่อทำให้ธุรกิจล้มน้อยที่สุด คนตกงานน้อยที่สุด การกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นกำลังซื้อยังไม่ใช่ในระยะนี้ นี่ยังไม่ใช่เวลาของ “ภาคอุปสงค์” แต่ต้องเป็นการรองรับ “ภาคอุปทาน” ให้อยู่รอด และประชาชนไม่อดตาย

ระยะที่ 2 : “ก้นเหว” หรือจุดต่ำสุด ตราบใดที่ยังปิดเมืองอยู่ ก็ยังไม่ถึงก้นเหว “ยิ่งปิดนาน ก้นเหวยิ่งลึก” ธุรกิจและแรงงานในธุรกิจ ก็จะหล่นจากที่สูงแรงขึ้น ก็จะตายเกลื่อนมากขึ้น และการฟื้นตัวจะยิ่งยากเป็นทวีคูณ ตรงนี้คือหัวใจ ในปัจจุบัน “มาตรการเข้มงวดทางสาธารณสุข” น่าจะเข้ามาแทนที่ “มาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจ” ได้แล้ว ทั้งนี้ลักษณะของการฟื้นตัว จะขึ้นอยู่กับว่าก้นเหวมันลึกขนาดไหน เราปิดเมืองนานขนาดไหน และสภาพที่ก้นเหวล้มตายกันมากขนาดไหน หากก้นเหวไม่ลึก การฟื้นตัวจะเร็วเป็นฟื้นแบบตัว V หากเหวลึก มาตรการต่างๆ รองรับไม่ไหว จะฟื้นแบบตัว U ซึ่งใช้เวลานาน หรือถ้าธุรกิจตายเกลื่อน ลามถึงระบบการเงิน ก็แย่เลย อาจไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย หรือเป็นแบบตัว L

ระยะที่ 3 : “ปีนขึ้นจากเหว” หรือระยะฟื้นตัว ระยะนี้ “ภาคอุปสงค์” จะกลับมาเป็นหัวหอกในการฟื้นตัว เรื่องของกำลังซื้อ จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงนี้ มาตรการต่างๆ จะต้องเป็นในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ ให้คนมาจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยว ให้คนกลับมาทำมาหากิน ภาคธุรกิจจึงจะมีอุปสงค์มารองรับอุปทานที่เริ่มฟื้นตัว “แต่รัฐบาลพึงระลึกเสมอว่าการกระตุ้นภาคอุปสงค์จะไร้ค่า หากภาคอุปทานตายกันหมด ในระยะที่ 1-2”

จะเห็นว่า หัวใจมันอยู่ที่ "ความลึกของเหว" และมาตรการที่รองรับระหว่างการตกเหว หากเหวลึกมาก ปิดเมืองนาน มาตรการต่างๆไม่มีทางรับไหว ซึ่งตรงนี้อันตราย จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า "อย่าทำก้นเหวให้ลึกเกิน ด้วยการแช่แข็งประเทศไปเรื่อยๆ เกินความจำเป็นเลย"

"ทวี" ห่วงประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์ อัดรัฐ-ทำไมต้องให้ลงทะเบียนเยียวยา?


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

Big Data นับแสนล้านบาทมีไว้ทำอะไร!!
...ทำไมต้องให้ประชาชนลงทะเบียนเยียวยา?

โควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียและความเดือดร้อนให้กับชีวิตมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอหน้า ซึ่งมาตรการรัฐที่กำหนดให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่มุ่งใช้มาตรการสาธารณสุขเพื่อป้องกันและขจัดโควิดให้ได้ผลนั้น แต่ ‘ในดีมีร้าย’ มาตรการดังกล่าวได้สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้ประชาชน “อย่างไม่เท่าเทียม” กัน คือ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงาน ผู้ยากไร้หาเช้ากินค่ำ และผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ มากกว่า ข้าราชการ และผู้มีฐานะร่ำรวยหรือเศรษฐี ผลกระทบที่เป็นความเดือดร้อน จะสอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ประเทศไทยถูกจัดลำดับว่ามีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสุดขั้ว หรือมากที่สุดในโลก ที่เรียกว่า “รวยเพียงจุดแต่จนกระจาย” การหยุดระบบสังคม เศรษฐกิจ และปฏิสัมพันธ์ หรือ Lockdown ทุกอย่างอย่างกะทันหันสร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตของผู้ใช้แรงงานในทุกสาขาอาชีพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากต้องหยุดชะงักหมด ผู้คนกำลังจะขาดอาหาร และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตต้องรีบช่วยเหลือโดยด่วนที่สุด

มาตรการที่รัฐคิดค้นมาเรื่องการเยียวยาประชาชนกำลังก่อให้เกิดข้อกังขาแก่สังคมมากมาย คือการเปิดให้ผู้ที่รับผลกระทบจาก โควิด-19 ลงทะเบียนเพื่อ “รับเงินเยียวยา 5,000 บาท” ซึ่งมี คำถามพื้นฐานแรก คือ


ทำไมรัฐยังต้องให้ประชาชนมาลงทะเบียนเยียวยา?

ทั้งที่รัฐมีข้อมูลประชาชนทุกมิติอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่แล้ว และหากพิจารณางบประมาณย้อนหลังในปี พ.ศ. 2558 – 2563 ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ฯเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้าง ICT รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท จนโฆษณาตัวเองว่าเป็นรัฐบาลดิจิทัล “ไทยแลนด์ 4.0 ” สามารถใช้งานระบบนี้ในการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชน สามารถเห็นข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์

ถ้าข้อมูลที่รัฐกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “เราจะไม่ทิ้งกัน” เป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป ข้อมูลเหล่านี้มีอยู่กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ อยู่แล้ว เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย , กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก (รถรับจ้าง รถโดยสาร), กรมส่งเสริมการเกษตร (ทะเบียนเกษตรกร), สำนักงาน ส.ป.ส.ช. (ผู้ใช้สิทธิรักษาโรคต่าง ๆ), กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (ทะเบียนหมอนวดแผนไทย) กระบวนการยุติธรรม และทุก ๆ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ เรียกได้ว่าหน่วยงานเหล่านี้มีข้อมูลอาชีพของประชาชนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ การนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมา Cross-check ระหว่างกันก็ไม่ใช่เรื่องยาก ข้อมูลมันมีอยู่แล้ว ไม่ว่าข้อมูลแบบ Structure Data หรือ Un-Structure Data เพียงแค่รัฐบาล 4.0 มอบหมายให้ข้าราชการประจำใช้โปรแกรมในการวิเคราะห์และประมวลผล ก็จะทราบแล้วว่าผู้ที่ควรได้รับการเยียวยาจากโควิดเป็นใครบ้าง ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาในการตรวจสอบการใช้ระบบใหม่เลย

แทนที่รัฐจะเอาเวลาและทรัพยากรไปช่วยบรรเทาความทุกข์ยากให้ประชาชน รัฐกลับเพิ่มความเดือดร้อนให้ประชาชนที่อยู่ชนบทห่างไกล คนที่ไม่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ไม่เข้าใจกระบวนการลงทะเบียน รวมไปถึงคนขายของที่เดือดร้อนแต่ไม่มีปัญญาลงทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องมานั่งทุกข์ใจ เสียเวลาทำมาหากิน ศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการลงทะเบียนโดยไม่จำเป็นอีก


คำถามที่ตามมา คือ ระบบ ‘บิ๊กดาต้า’ อยู่ที่ไหน? ทำไมรัฐไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์?

สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในเรื่องแรงงาน ในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ รวมถึงเรื่องในทรัพย์สินเป็นสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบังคับใช้ พรก ฉุกเฉิน ที่มีมาตราการจำกัดสิทธิดังกล่าวเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและเยียวยาให้ประชาชนที่เป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฏหมาย และเป็น สิทธิประชาชนทุกคนจะติดตามเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้

การให้ประชาชนต้องลงทะเบียนเท่ากับรัฐต้องการให้ ”ประชาชนต้องร้องขอสิทธิก่อน รัฐถึงจะให้สิทธินั้น” เห็นว่าเป็นไม่ถูกต้องเพราะเงินงบประมาณเป็นภาษีอากรของประชาชน ส่วนหนึ่งใช้เป็นเงินเดือนค่าตอบแทนให้ผู้เป็นรัฐบาลและเจ้าหน้าที่นำไปใช้ด้วย ถือว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนเป็น ‘หนี้’ ประชาชน การที่รัฐสร้างกลไกในการคัดกรองสิทธิของประชาชน จึงถือได้ว่าเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้

กรณีผู้ที่ลงทะเบียนมากกว่า 27 ล้านคน และรัฐบาลกำหนดโควตาในรอบแรกเพียง 3 ล้านคน ขยายเป็น 9 ล้านคน และในที่สุดเป็น 14 ล้านคนก็ดี แต่ยังมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ผ่านการตรวจและไม่ได้รับการเยียวยาอีกกว่า 13 ล้านคน รวมถึงผู้มีสิทธิแต่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกหลายล้านคนจะต้องถูกตัดสินออกไป เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีคนไทยคนใดไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่ายากดีมีจนได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้นการช่วยเหลือควรมีความเท่าเทียมกันและแบบทั่วหน้าเสมอกันทุกคนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเช่นตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปได้รับทุกคน หรืออาจเพิ่มการช่วยเหลือทุกครอบครัวตามหลักฐานทางทะเบียนสำมะโนครัวอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถดำรงชีพได้เป็นเวลา 3-6 เดือน ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย

การช่วยเหลือเยียวยาในต่างประเทศเช่น ฮ่องกงที่ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 10,000 ฮ่องกงดอลลาร์แก่ประชาชนทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี หรือประเทศมาเลเซียจะช่วยเหลือประชาชนชาวมาเลเซียทุกคน ครอบคลุมทุกกลุ่มกระจายเต็มพื้นที่ โดยไม่ต้องให้ประชาชนลงทะเบียนแต่อย่างใด รายละเอียดตามไฟล์แนบ

https://drive.google.com/file/d/1wCXKkoqSMldEfgvTRaJftZN7u7xcY69j/view?fbclid=IwAR3mGvnDGK6TRQFSW3mHiMZxRdLlVBJRxLlEKVLJFszwabizzNX7QfdVDRU

บทเรียนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ประสบความสำเร็จคือหลักการรัฐสวัสดิการ ที่ว่า สวัสดิการเป็น “สิทธิ” ของประชาชน รัฐต้องจัดให้ “สิทธิที่เสมอกัน” ไม่ว่าบุคคลนั้น ๆ ยากดีมีจนอย่างไร ต้องได้รับ “สิทธิ” อันพึงมี มิใช่เพียงแค่ “หน้าที่” ของรัฐในการสงเคราะห์คนอนาถา ผมจึงขอสนับสนุนให้รัฐช่วยเหลือความเดือดร้อนหรือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมทุกคน และทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาคกัน


วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

"ภูมิธรรม" เร่งเปิดประชุมสภาฯ ฟังเสียงฝ่ายค้าน-ฝ่าวิกฤตโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


จากการประชุมของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ข้อสรุปสำคัญประการหนึ่ง คือการเร่งให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ
.
ความเร่งด่วนของการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้นสำคัญอย่างไร
.
1.ความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รัฐบาลยังทำได้ไม่ครบถ้วน ไม่ทั่วถึง และ ไม่ทันการณ์ นั่นเพราะ...
"รัฐบาลยังไม่เคยรับฟังหรือได้ยินเสียงของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่เดือดร้อน".
.
การเร่งรัดให้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ จึงเป็นช่องทางสำคัญที่รัฐบาลจะได้รับฟังข้อมูลความเดือดร้อนผ่าน สส ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในทุกพื้นที่. เพื่อจะช่วยเร่งรัดให้ความช่วยเหลือได้ครบถ้วน ทั่วถึง และ รวดเร็ว
.
ความเดือดร้อนของประชาชนเจียนตาย จึงไม่ควรรีรอ หากควรเร่งเพิ่มทุกช่องทาง ที่จะรับรู้ปัญหาอย่างชัดเจนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข เยียวยาโดยเร็ว.....ลมหายใจของพี่น้องประชนส่วนใหญ่วันนี้รวยรินเต็มทีแล้ว
.
2.พ.ร.ก. กู้เงิน จำนวนมหาศาลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐบาลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกู้เงินอนาคตของประชาชน มาใช้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนการใช้ที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน รอบคอบ และโปร่งใส ซึ่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวนี้ รัฐบาลจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาอยู่แล้ว จึงย่อมเป็นผลดีกว่าอย่างแน่นอน หากรัฐบาลเร่งจะนำ พ.ร.ก. กู้เงิน ทั้งหมดเข้าสู่การประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อจะได้รับฟังข้อเสนอแนะ ท้วงติง ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำงบประมาณก้อนใหญ่นี้ไปใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มทุกระดับอย่าง รอบคอบและมีประสิทธิภาพที่สุด. ทั้งนี้รัฐบาลก็ต้องได้รับการตรวจสอบการใช้งบประมาณ พ.ร.ก.เงินกู้ อย่างจริงจังจากฝ่ายค้านและทุกภาคส่วนของสังคม.
.
การเร่งเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ จึงเป็นแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งในกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลและฝ่ายค้านจะร่วมมือนำพาประเทศชาติผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
.
ผมไม่อยากเห็นรัฐบาลประกาศชัยชนะต่อไวรัสโควิด-19 ในขณะที่พี่น้องประชาชนกำลังจะอดตาย
.
ภูมิธรรม เวชยชัย
ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
24 เมษายน 2563

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

"ประชาชาติ" เยี่ยมศูนย์กักตัว โรงเรียนปอเนาะ ดรุณศาสน์ฯ ปัตตานี

ส.ส.พรรคประชาชาติ เยี่ยมศูนย์กักตัวที่ ร.ร.ดรุณศาสน์ฯ ปัตตานี ปอเนาะแห่งแรกที่ใช้เป็นศูนย์กักตัว แนะปอเนาะช่วยกันรับ เพราะมีผู้จะเดินทางกลับจากมาเลเซียอีกจำนวนมาก 



วันนี้ (23 เมาายน 2563) เวลา 11.00 น. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ประกอบด้วยนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ เยี่ยมศูนย์กักตัว หรือศูนย์สังเกตอาการ ที่โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย


นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ กล่าวว่า ในฐานะ ส.ส.ปัตตานีเขต 4 อำเภอยะรัง, มายอ และทุ่งยางแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดมากกว่าพื้นที่อื่นๆในจังหวัดปัตตานี  ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนสถานที่กักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยง จึงได้เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา ที่อำเภอสายบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือปอเนาะแห่งแรกที่ได้ใช้เป็นศูนย์กักตัว รองรับการเดินทางกลับประเทศของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ทยอยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย จากที่ได้ไปเยี่ยมศูนย์กักตัวในอำเภอต่างๆ เมื่อเทียบกับศูนย์กักตัวที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนี้แล้ว เห็นว่ามีสถานที่กว้างขวางและมีความพร้อมที่จะรองรับผู้มีความเสี่ยงได้มากถึง 300 คน และน่าภาคภูมิใจที่สถาบันศาสนามีส่วนร่วม ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีโรงเรียนปอเนาะอื่นๆสมัครใจให้ใช้เป็นสถานที่กักตัวด้วย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เพราะศูนย์กักตัวคือสถานที่ที่เฝ้าสังเกตอาการเท่านั้น ผมมั่นใจว่าที่นี่มีความปลอดภัย และขอสื่อสารไปยังประชาชนในบริเวณใกล้เคียงว่าขอให้สบายใจได้ ว่าเชื้อโรคจะไม่แพร่ระบาด ออกไปสู่ชุมชนข้างนอก เพราะที่ศูนย์กักตัวทุกแห่งไม่มีผู้ป่วย แต่เป็นสถานที่สังเกตอาการเท่านั้น หากมีผู้ป่วยจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที


นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการป้องกันการแพร่เชื้อจากพี่น้องที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซียที่ดีที่สุด คือการกักตัว 14 วัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะหาสถานที่กักตัวให้เพียงพอได้นั้นยากลำบาก การที่โรงเรียนปอเนาะเปิดเป็นศูนย์กักตัว โดยเฉพาะโรงเรียนดรุณศาสน์แห่งนี้เป็นแห่งแรกนั้น มีผู้กักตัวมากถึง 82 คน และรองรับได้สูงสุด 300 คน เป็นจำนวนที่ผมรู้สึกอึ้ง แสดงถึงความพร้อมสูงมาก เพราะเท่าที่ได้ไปเยี่ยมศูนย์กักตัวหลายจุดในจังหวัดนราธิวาสนั้น ส่วนมากรับได้ประมาณ 15-20 คน แต่การทำความเข้าใจกับผู้บริหารและชุมชนใกล้เคียงนั้นสำคัญมาก เราอย่ามองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ติดเชื้อ ต้องชื่นชมเขามากกว่าที่กักตัว 14 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

นายกมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่ติดค้างอยู่ในมาเลเซียก็เข้าใจว่าต้องการเดินทางกลับ แต่ติดขัดกับเงื่อนไขบางอย่างของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการขอเอกสารต่างๆ และการคุมเข้มของมาเลเซีย เรากำลังสะท้อนให้ฝ่ายรัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่


นายนิมุคตาร์ วาบา ผู้บริหารโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา กล่าวว่า โรงเรียนของเราตั้งอยู่ห่างจากชุมชน และต้องทำความเข้าใจกับชุมชนด้วยว่าผู้ที่ถูกกักตัวนั้นไม่ใช่ผู้ป่วย ตามหลักการศาสนาอิสลามแล้วเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น มนุษย์ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน และการกักตัวตามมาตรการของสาธารณสุขนั้นก็สอดรับกับหลักการศาสนาอิสลาม ดังพระวจนะ (ฮะดิษ) ของนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) เมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดของอหิตกโรคในสมัยท่านนบีนั้น ท่านบอกว่าคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า และต้องแยกผู้ป่วยออกไปรักษา ดังนั้นเมื่อพี่น้องของเราเดินทางกลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ควรให้โอกาสได้พักพิง หากโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆที่สถานที่เอื้ออำนวย คือไม่มีบาบอ (ครูสอนศาสนา) อาศัยอยู่ หากมีความพร้อมก็ควรให้ใช้สถานที่ เพราะยังมีพี่น้องที่จะเดินทางกลับจากมาเลเซียอีกเป็นจำนวนมาก เราต้องช่วยกัน


นายสมปอง มั่นคง ปลัดเทศบาลเมืองตะลุบัน ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน กล่าวว่า ศูนย์กักตัวที่โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา ทยอยรับผู้คนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 63 ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถูกกักตัว 82 คน กลับบ้านได้แล้ว 16 คน ยอมรับว่าผู้ถูกกักตัวมีความเครียด เพราะเดินทางกลับมาแล้วก็อยากเจอครอบครัว แต่สถานที่แห่งนี้กว้างขวาง สามารถผ่อนคลายได้ ไม่แออัด และสนับสนุนอาหารให้วันละ 3 มื้อ มีนักจิตวิทยาสร้างความผ่อนคลาย และญาติสามารถมาเยี่ยมในระยะห่างได้

#พรรคประชาชาติ
#PrachachatParty
#โควิด19

"ทวี" ถามรัฐ ทำไมกองทุนพยุงตราสารหนี้ ไม่มีกลไกป้องกันทุจริต?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ทำไม "กองทุนพยุงตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 400,000 ล้านบาท" จึงไม่มีกลไกในการป้องกันการทุจริต?

“ความแข็งแกร่งของคนชั่ว กับความอ่อนแอของคนซื่อสัตย์และกฎหมาย” เป็นหายนะของประเทศและบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชัน

ประเด็นทีมีการวิพากษ์ถกเถียงได้ขยายวงกว้างขณะนี้ กรณี รัฐบาลออกพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้ง กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF) มีเงินตั้งต้น 400,000 ล้านบาท

การซื้อหุ้นกู้หุ้นกู้หรือตราสารหนี้ต่าง ๆ (ในบทความนี้ ขอเรียกรวม ๆ ว่าหุ้นกู้) คือการที่เราซื้อหน่วยลงทุนจากบริษัท แปลว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทนั้น แล้วคาดหวังว่า จะได้ดอกเบี้ยที่มากกว่าฝากสะสมทรัพย์กับธนาคาร ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้จากธนาคาร ถือว่าผู้ซื้อและผู้ขายได้รับประโยชน์ทั้งคู่

ยกตัวอย่างดังนี้ การฝากสะสมทรัพย์ให้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี แต่การซื้อหุ้นกู้ ให้ดอกเบี้ย 3% เป็นต้น ในขณะที่บริษัทจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 3% ก็ถูกกว่าจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร 4%

การที่บุคคลคนหนึ่งซื้อหุ้นกู้นั้นก็เสมือนเป็นการปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัท มิได้แปลว่าซื้อหุ้นของบริษัทนั้น และไม่เกี่ยวกับหุ้นของบริษัทนั้นแต่อย่างใด

ผู้ซื้อหุ้นกู้สามารถขายหุ้นกู้ให้กับผู้รับซื้ออีกคนหนึ่งได้ กรณีนี้เรียกว่าผู้รับซื้อหุ้นกู้ในตลาดรองเพราะไม่ได้ซื้อหุ้นกู้ที่ออกใหม่โดยตรงจากบริษัท ผู้รับซื้อต่อนั้นก็จะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นตามเงื่อนไขของหุ้นกู้

กองทุน BSF สามารถช่วยบริษัทเอกชนที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระที่บริษัทจะออกให้ เพื่อนำเงินมาคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ ทั้งยังสามารถซื้อหุ้นกู้ในตลาดรองได้อีกด้วย แต่บริษัทเอกชนที่ต้องการให้ BSF ช่วยนั้น จะต้องหาเงินมาช่วยตัวเองเพื่อชำระหนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% ก่อนแต่อาจมีการผ่อนผันจาก ‘คณะกรรมการกำกับกองทุน’ จำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนด้านตลาดตราสารหนี้ หรือด้านกฎหมาย จำนวนไม่เกินสามคน

และให้มี ‘คณะกรรมการลงทุน’ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้แทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนหรือด้านการเงินการธนาคาร จำนวนไม่เกินสองคนเป็นกรรมการ

คณะกรรมการลงทุนมีหน้าที่และอำนาจคัดเลือกตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือหุ้นกู้เพื่อซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีคุณภาพ ระดับอินเวสท์เมนท์เกรด หรือหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป (เรทติ้งที่ดีที่สุด คือ AAA ที่แทบจะไม่เสี่ยงเลย จากนั้นไล่ลงไป B, C และแย่ที่สุด คือ D ซึ่งหมายถึง Default หรือมีสถานะผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว ยิ่งตัวอักษรซ้ำหลายตัว หรือมีประจุบวก แสดงว่าคุณภาพดีกว่าอักษรตัวเดียวหรือไม่มีประจุ) และเป็นการระดมทุนเพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดการไถ่ถอน โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายในและภายนอกให้ได้เป็นส่วนใหญ่ก่อน

ประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านสืบสวนสอบสวนคดีตลาดเงินและตลาดทุน ได้พบแผนประทุษกรรมที่ใช้โอกาสทางกฎหมายที่เรียกว่า “ระบบอนุญาต” และ “ระบบของคณะกรรมการ” ที่มีลักษณะเหมือน พรก กองทุน BSF ที่มีจุดอ่อนคือไม่มีกลไกในการป้องกันการทุจริตไว้ โดยสรุป คือ

1. ไม่มีห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของคณะกรรมการและระบบอนุญาตไว้ จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม จึงให้กำหนดเงื่อนไขให้การบัญญัติกฎหมายให้หลีกเลี่ยงระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ และหากมีความจำเป็น จะต้องบัญญัติเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ เพื่อไม่ให้กรรมการใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น โดยมิชอบ

ท่านธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ในเฟสบุ๊กซึ่งเป็นข้อมูลมีประโยชน์ไว้หลายตอนล่าสุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563
📎https://www.facebook.com/183758988324581/posts/3266991630001286
ท่านได้ยกตัวอย่าง พรก ปฏิรูปสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 หรือ ปรส ที่ป้องกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ สรุปย่อในส่วนคณะกรรมการ คือ

คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเลขาธิการ ปรส ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง, ต้องไม่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ เป็นต้น

ในการขายทรัพย์สิน ปรส ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายทรัพย์สินฯ ที่ป้องกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ว่าผู้ประมูลและผู้ซื้อต้องมิใช่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คณะกรรมการ ปรส ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ ปรส คณะอนุกรรมการของ ปรส และพนักงานของ ปรส รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับ ปรส

และ ท่านธีระชัยฯ ได้ยกตัวอย่างว่า แม้ พรก ปรส จะกำหนดเรื่องผลประโยชน์ขัดกันอย่างรัดกุมก็ตามก็ยังเกิดการกล่าวหาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ปรส เป็นเจ้าพนักงานองค์ของรัฐร่วมกันปฏิวัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ต้องขอบคุณในข้อมูลที่ดีครับ

แต่กรณี คณะกรรมการ กองทุน BSF ไม่มีการกำหนดข้อห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์แต่อย่างใดเลย

2. พรก. กองทุน BSF มีเพียง “ระบบของคณะกรรมการ” ไม่มีองค์กรทำงานเต็มเวลาหรือเป็นเจ้าภาพเฉพาะ เป็นกฎหมาย หาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ ทั้งที่ กองทุน BSF มีวงเงินมากถึง 400,000 ล้านบาทและตลาดตราสารหนี้มีขนาดประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐทำงานเต็มเวลา เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

ที่ต่างกับ พรก ปรส 2540 ซึ่งได้จัดตั้งเป็นองค์กรและเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลาโดยมีเลขาธิการ ปรส ที่แต่งตั้งและถอดถอนโดยคณะรัฐมนตรีว่าต้องสามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาให้แก่องค์กร ปรส แต่ กองทุน BSF ไม่ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบองค์กรถือว่าจะหาผู้รับผิดชอบหลักไว้ และหากมีการกระทำไม่ชอบเกิดขึ้นจะเป็นช่องว่างทางกฏหมายอ้างขาดเจตนา และไม่มีกฏหมายกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบไว้ได้

3. พรก. อาจเกิดความไม่เสมอภาพและสิทธิเสรีภาพ ให้ช่วยเหลือบริษัทที่อยู่ในระดับดี ทั้งที่ตลาดตราสานหนี้มีขนาด 3.6 ล้านล้านบาท กองทุนในวงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือประมาณเพียงร้อยละ 10 ของตลาดตราสารหนี้ การกำหนดว่า ผู้ออกตราสารหนี้เอกชนส่วนใหญ่มีฐานะแข็งแกร่ง สามารถออกตราสารหนี้ใหม่ หรือหาแหล่งเงินกู้อื่น เช่น เงินกู้ธนาคาร เพื่อมาชำระตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนดได้ในภาวะปกติหากภาครัฐทำเช่นนี้ประโยชน์ก็น่าจะตกแก่ผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรับเงิน เพราะได้เงินคืนครบถ้วนพร้อมดอกเบี้ย หรือผู้ที่ต้องการขายหุ้นกู้ในตลาดรอง

กล่าวโดยสรุป ในทางนโยบายแล้ว การช่วยบริษัทส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเงินก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมองย้อนกลับไปในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า มูลค่าหลักทรัพย์ของกลุ่มคนบางกลุ่มกลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมถึงอีกหลายบริษัทที่ผู้ถือหุ้นใหญ่มีนามสกุลเดียวกันกับคนในคณะรัฐบาล ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า นโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลได้สนับสนุนความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยให้สูงมากขึ้น

แม้ส่วนตัวจะไม่มีความสงสัยกับผู้ที่จะเป็นคณะกรรมการ BSF ในเรื่องความไม่โปร่งใสและความซื้อสัตย์ก็ตาม แต่พระราชกำหนดก็จำเป็นต้องมีมาตรฐานขั้นต่ำที่จะคุ้มครองประชาชนอย่างเคร่งครัด และปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องความอยู่รอดของประชาชนมากกว่าความจน การแก้ปัญหาความอยู่รอดนั้นอาจต้องไม่แก้แบบปัญหาความจน เพราะแม้ ‘เงินถึงมือแต่ข้าวยังไม่ถึงปาก’ ที่นำมาถึงการอดตายแล้วจะส่งผลความไม่พอใจที่ขัดแย้งในสังคมที่รุนแรงมากขึ้น จนยากต่อการแก้ไขปัญหาได้

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ