รำลึก 10 ปี 10 เมษายน 2553 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553
นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ รำลึก 10 ปี 10 เมษายน 2553 และเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 2553 โดยมีเนื้อหาดังนี้
คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขอให้ผมเขียนบทความสักบท บอกว่าจะไปใช้ในงานรำลึก 10 ปี 10 เมษายน 2553 ซึ่งคงจัดในรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ ผมอยู่ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษา 2553 แบบจังๆ ยังฝังใจจดจำตลอดมา จึงเชื่อว่าจะแชร์ความทรงจำให้เป็นประโยชน์ต่อการรำลึกเหตุการณ์นี้ได้บ้าง
ก่อนวันที่ 10 เมษา 2553 เล็กน้อย รัฐบาลในขณะนั้นประกาศว่าจะกระชับพื้นที่ที่ราชประสงค์ ส่วนพื้นที่ที่ราชดำเนินนั้นจะให้ใช้เป็นที่ชุมนุมได้
สายๆวันที่ 10 เมษา เริ่มมีข่าวว่ารัฐบาลจะปฏิบัติการกระชับพื้นที่ ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใด ผมกับเพื่อนนั่งรถไฟฟ้าไปราชประสงค์เพื่อสังเกตการณ์ ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลบริเวณนั้นแล้วก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจะไม่มีการกระชับพื้นที่ที่ราชประสงค์ ผมกับเพื่อนจึงกลับมาตั้งวงหารือติดตามสถานการณ์กันต่อ
บ่ายแก่ๆ มีข่าวรัฐบาลประกาศจะขอคืนพื้นที่ที่ราชดำเนิน ผู้ที่อยู่ทางราชดำเนินโทรมาบอกว่าสถานการณ์ที่ราชดำเนินตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ แกนนำส่วนใหญติดอยู่ทางราชประสงค์
ประมาณ 5 โมงเย็น ผมกับเพื่อนตัดสินใจไปที่เวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานเผื่อว่าจะช่วยอะไรได้
เมื่อไปถึงพบผู้ที่อยู่กับเวทีหลายคนมาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่ามีการยิงตรงจุดโน้นบ้าง จุดโน้นบ้าง อยากให้ผมช่วยขึ้นเวทีพูดดึงมวลชนกลับมารวมตัวกันจะได้ไม่เป็นอันตราย ขณะนั้นก็มีเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนไปมา มวลชนกระจัดกระจาย
ก่อนจะขึ้นเวที มีคนชี้ให้ผมดูอาวุธของทหารจำนวนหนึ่งที่กองอยู่ใต้เวที ขอให้ผมประกาศบอกเจ้าหน้าที่ว่าทางผู้ชุมนุมพร้อมจะร่วมมือมอบอาวุธคืนให้ ไม่มีใครประสค์จะใช้อาวุธเหล่านี้
ผมขึ้นเวทีพร้อมพี่ๆน้องๆหลายคนยืนอยู่สองข้าง ขณะนั้นมีเสียงดังปนกันแยกไม่ออกว่าเสียงปืนหรือเสียงอะไรระเบิดตลอดเวลา เฮลิคอปเตอร์โปรยแก๊สน้ำตาบริเวณรอบๆเวที
ผมพยายามพูดให้มวลชนตั้งสติและมารวมตัวกัน ระหว่างนั้นมีโน้ตส่งมาว่ามีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตบ้างแล้ว ผมไม่ได้ประกาศออกไปเพราะเเกรงจะทำให้มวลชนแตกตื่น เห็นว่าตอนนั้นใกล้จะเย็นเข้าทุกที จึงได้พูดผ่านไมค์ถึงคุณอภิสิทธิ์ นายกฯและคุณอนุพงษ์ ผบ.ทบ.ว่าถ้ายังพยายามยึดพื้นที่อยู่อย่างนี้ พอมืดแล้วจะเป็นอันตราย อาจเกิดเหตุแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ขอให้หยุดการยึดคืนพื้นที่ไว้ก่อน วันรุ่งขึ้นค่อยว่ากันใหม่และผมได้บอกด้วยว่าที่เวทีมีอาวุธอยู่ ขอให้ส่งตัวแทนมารับอาวุธไปด้วย
ผมพูดอยู่อีกสักพักจนรู้สึกว่ามวลชนกลับเข้ามาอยู่ด้านหน้าเวที ไม่กระจัดกระจายแล้ว และทราบว่าคุณณัฐวุฒิ กำลังเดินทางจากราชประสงค์แล้วด้วย เมื่อพูดทุกอย่างที่ควรพูดหมดแล้วก็ส่งไมค์ให้โฆษกเวทีทำหน้าที่ต่อ ก่อนลงจากเวทีโดนแก๊สน้ำตาโปรยลงมาจากฮ. ลงมาแล้วจึงต้องไปหาที่ล้างตาอยู่พักใหญ่
ประมาณ 1 ทุ่ม- 2 ทุ่ม ผมได้รับการติดต่อจากตัวแทนนายกฯ ขอให้ช่วยเจรจาหาทางคลี่คลายสถานการณ์ ผมจึงทำหน้าที่เป็นคนกลางระห่วางตัวแทนนายกฯกับคุณณัฐวุฒิในการคลี่คลายสถานการณ์จนตกลงกันได้
แต่ต่อมามีการยิงถล่มปะทะกันอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ผมยังทำหน้าที่ประสานงานให้ 2 ฝ่ายอยู่บ้าง ทางฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมพร้อมร่วมมือกับรัฐบาล พยายามประกาศขอให้มวลชนให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ทางรัฐบาลถามว่าจะให้ทางรัฐบาลทำอย่างไรกับการชุมนุม ผมบอกไปว่าก็ขอให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้บาดเจ็บอยู่ห่างจากที่ชุมนุมไว้ก่อน จะได้ไม่เกิดเหตุแทรกซ้อน
เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 จบลงอย่างน่าสลดใจ เกิดความสูญเสียใหญ่หลวงทั้งชีวิตและเลือดเนื้อของทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมาก
การชุมนุมของประชาชนที่ราชประสงค์ยังดำเนินต่อไปอีกเดือนกว่าๆ เกิดเหตุการณ์ต่างๆมากมายทั้งที่น่าประทับใจและเศร้าใจ จนไปสิ้นสุดลงที่การเข้ากระชับพื้นที่ของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นผลสำเร็จและแกนนำมอบตัวสู้คดีที่ยังไม่จบสิ้นจนถึงทุกวันนี้
ทุกปีที่มีการรำลึกถึง เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ผมมักจะนึกถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษา แล้วก็มองเห็นภาพสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วราวกับว่าเพิ่งผ่านไปหยกๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นสะท้อนความเป็นจริงหลายอย่างของประเทศนี้ เหตุการณ์วันที่ 10 เมษา 2553 ก็ดี เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ก็ดี ไม่ใช่เหตุการณ์แยกอิสระจากเรื่องอื่นๆที่จบแล้วก็จบกันไป แต่เป็นเหมือนบทตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ลุ่มๆดอนๆและล้มลุกคลุกคลาน ต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหารในปี 2557 และการสืบทอดอำนาจของคณะผู้ยึดอำนาจ
นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตแล้วมองมาถึงปัจจุบัน ก็จะยิ่งเห็นความจริงหลากหบายแง่มุมที่ควรค่าแก่การศึกษาหาบทเรียนสำหรับสังคมไทยที่ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้
1.การเคลื่อนไหวในปี 2552-2553 ที่สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภานั้น เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็คือการพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างในเรื่องใครควรเป็นรัฐบาล ด้วยกระบวนการรัฐสภาตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่ต้องการใช้กำลังความรุนแรงโค่นล้มรัฐบาล
2.การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีประชาชนตื่นตัวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีประชาชนที่เข้าร่วมการต่อสู้อย่างสันติด้วยความองอาจกล้าหาญแม้ต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม
3.จากข้อเรียกร้องของการชุมนุมที่ให้มีการยุบสภาและเลือกตั้ง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงพลังประชาชนบนท้องถนนเข้ากับพลังแห่งเสียงสวรรค์ของประชาชนในการเลือกตั้ง ถึงแม้ไม่สามารถทำให้เกิดการยุบสภาตามเวลาที่เรียกร้อง ต้องถูกปราบและถูกเล่นงานด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม แต่กล่าวได้ว่าประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยก็ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งที่มีขึ้นในเวลาต่อมาคือได้เปลี่ยนจากรัฐบาลที่ตั้งในค่ายทหารมาเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนและที่สำคัญคือได้เกิดการเรียนรู้ทางการเมืองครั้งใหญ่ของประชาชน
4.รัฐไทย(ในความหมายที่กว้างกว่ารัฐบาล) ได้ปฏิเสธการหาทางออกด้วยการประนีประนอม แต่ได้เลือกใช้กำลังความรุนแรงและความเหนือกว่าในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมเข้าจัดการความขัดแย้งในครั้งนี้
5.เฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10 เมษา เพียงเหตุการณ์เดียว รัฐบาลซึ่งควรจะหาทางหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความเสียหายได้อย่างง่ายดายกลับดำรงจุดมุ่งหมายในการยึดพื้นที่ในเวลากลางคืนทั้งที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ จนเกิดความสูญเสียใหญ่หลวง แต่รัฐบาลก็ได้รับการโอบอุ้มจากองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลจนสามารถอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางการเมืองและกฎหมาย
6.มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง 99 ราย บาดเจ็บอีกเป็นพันๆคน ไม่ปรากฏว่าประชาชนผู้เสียชีวิตรายใดเป็นฝ่ายใช้อาวุธ มีแต่ผลการชันสูตรศพพิสูจน์ว่ากระสุนมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ มีหลักฐานการจงใจสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง แต่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เลยไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการบงการหรือเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด
7.การกล่าวหาและพยายายามดำเนินคดีนายกรัฐมนตรีและผู้รับผิดชอบระดับสูงในฐานะผู้สั่งการให้ปราบประชาชนทั้งผ่านช่องทางปปช.และการฟ้องต่อศาลไม่เป็นผลทั้งสองทาง แสดงให้เห็นช่องโหว่ของระบบยุติธรรมที่เป็นปัญหาร้ายแรง
มีการร้องต่อปปช. แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์และทำรัฐประหารในเวลาต่อมา ได้เข้าแทรกแซงการแต่งตั้งและการทำหน้าที่ของปปช. ต่อมาปปช.ยุติการดำเนินคดีอดีตนายกฯและผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบจัดการกับการชุมนุม
ศาลเห็นว่าการจะเอาผิดบุคคลซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้เป็นอำนาจของปปช. ผู้เสียหายจะฟ้องต่อศาลเองไม่ได้
เท่ากับว่าระบบกฎหมายของประเทศไทยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ถูกปราบถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรณีนี้สามารถฟ้องร้องให้เกิดความเป็นธรรมได้เลยเนื่องจากประชาชนผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้สั่งการได้ ส่วนปปช.ก็ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางจากการแทรกแซงของคณะรัฐประหารไปแล้ว
จากข้อสังเกต 7 ข้อดังกล่าวคงเป็นเพียงบางส่วนของบทเรียนที่ถอดออกมาได้จากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ผมเชื่อว่านักวิชาการและพี่น้องประชาชนที่ต่อสู้ในเหตุการณ์นี้มาและมีประสบการณ์โดยตรงมากว่าผมอีกจำนวนมากคงจะมีบทเรียนและข้อสรุปที่มีคุณค่าอีกมากมายที่จะแลกเปลี่ยนกันในการรำลึก 10 ปี เหตุการณ์ 10 เมษา ในวันนี้
เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ยังอยู่ในความทรงจำของพวกเราทุกคน ทั้งความเจ็บปวดต่อการสูญเสียของครอบครัวผู้สูญเสียและบาดเจ็บจำนวนมากทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ และบาดแผลตราบาปที่ผู้มีอำนาจของรัฐที่ได้เลือกใช้วิธีการปราบด้วยความรุนแรงและการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะเดียวกันเมื่อระลึกถึงเหตุการณ์อันเป็นบทตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ก็มีทั้งความทรงจำประทับใจในการต่อสู้อย่างองอาจกล้าหาญของประชาชนและการตื่นตัวเรียนรู้กับการสะสมประสบการณ์ของพลังประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้
ศึกษาหาบทเรียนจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ทวงคืนความยุติธรรมที่หายไป ใช้ประสบการณ์และบทเรียนที่มีค่าให้เป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น