คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย และคณะทำงาน มอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ที่หมู่บ้านปิ่นเจริญ 4 เขตดอนเมือง กทม. โดยมีการสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพ ปัญหาตกงาน และเรื่องเงินเยียวยาสถานการณ์โควิด - 19 พร้อมไลฟ์สดทางเพจ Facebook ส่วนตัว และได้พาบุตรชายกับบุตรสาว มาแนะนำการทำเพจและขายสินค้าทางออนไลน์แก่ชาวชุมชนด้วย
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ผู้มีอำนาจควรคิดถึงการเปิดเมืองอย่างปลอดภัยมากกว่าต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่าโควิด -19 จะยังอยู่กับสังคมไทยและสังคมโลก แต่บริบทความมั่นคงของชาติเปลี่ยนไป ที่ปัจจุบันต้องต่อสู้กับเชื้อโรค ผู้ทำหน้าที่สู้รบคือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่การทหารที่ต้องรบราฆ่าฟันกับศัตรู ดังนั้น การจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ ต้องฟังแพทย์ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง และมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการให้ธุรกิจดำเนินการได้ พร้อมเสนอ 5 ข้อสำหรับการเปิดเมือง คือ
1. “Reopening แบบมีข้อบังคับด้านสาธารณสุข” อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยและไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกลุ่มแรก เมื่อเปิดเมืองต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อในที่สาธารณะและขนส่งสาธารณะสม่ำเสมอ
2. สนับสนุนทุกจังหวัดที่จะเปิดเมืองให้มีความสามารถในการตรวจหาเชื้อและนำตัวผู้ติดเชื้อมาเข้าระบบแยกตัว รวมทั้ง X-Ray พื้นที่สม่ำเสมอ ไม่ให้มีการกลับมาระบาดใหม่
3. ยังต้องเข้มงวดในการป้องกันผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศด้วยมาตรการ State Quarantine 14 วัน อย่างต่อเนื่อง
4. สนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หากมีการระบาดในรอบใหม่
5. สำหรับประชาชนต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal โดยให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากาก, Social Distancing และรักษาสุขภาพอนามัย ขณะที่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ Work From Home หรือการเรียน On-Line อีกสักระยะ
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังยืนยันข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้เปิดประชุมสภาฯ ซึ่งห้องประชุมใหญ่สร้างเสร็จแล้ว สามารถใช้มาตรการ Social distancing ได้ เพื่อจะได้นำปัญหาการเยียวยาและความเดือนร้อนของประชาชนเข้าพิจารณาร่วมกันทุกฝ่าย และพรรคเพื่อไทย กังวลใจกับเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ควรนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับการตัดงบประมาณปี 63-64 ที่ไม่จำเป็นออกมาใช้ จะได้ลดจำนวนเงินที่จะกู้ได้ เพราะจัดงบฯในช่วงที่ไม่มีวิกฤต " แต่เมื่อมีวิกฤติที่เปรียบเหมือนไฟไหม้บ้าน หัวหน้าครอบครัวมีเงินจำนวนหนึ่งสามารถที่จะซื้อรถใหม่ แต่ไฟไหม้บ้านพอดี" จึงต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้เงิน
ส่วนนายการุณ กล่าวว่า เข้าใจสถานการณ์ของชาวดอนเมืองท่ามกลางเคอร์ฟิว ซึ่งหลายคนตกงานและสถานประกอบการต้องปิดกิจการ จึงเกิดโครงการ "ดอนเมืองไม่ทิ้งกัน คนไทยรักกัน" ซึ่งทยอยบริจาคทุกๆชุมชน พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมภาครัฐไม่ทำโครงการลักษณะนี้ทั่วประเทศทั้งที่มีอำนาจเต็ม
ด้านนางพรทิพย์ เขียนนุกูล ประธานชุมชน ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวชุมชนเหลือตัวเองและดีใจที่มีพรรคการเมืองเข้าให้ความช่วยเหลือ เพราะยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเลย ขณะที่ชาวชุมชนที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาส่วนใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ จำนวนมากรอทบทวนสิทธิ์และยื่นอุทธรณ์ โดยหมู่บ้านมีทั้งหมด 451 ครัวเรือน ประชากรราว 15,000 คน ส่วนใหญ่ทำอาชีพค้าขาย ทั้งเสื้อผ้า สิ่งของอุปโภคและอาหารตามที่ต่างๆ รวมถึงในตลาดนัด ขณะที่โซน 2 ของหมู่บ้านกำลังจะมีการทำตลาดนัดออนไลน์ เพื่อให้ค้าขายได้ในช่วงนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น