คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิด กิจการและบริการต่างๆโดยระบุว่า หากรัฐบาลออกมาตรการล่าช้า จะดึงให้ภาคธุรกิจ ล้มตามกันทั้งระบบ ดังนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องคือ มาตรการเยียวยา โดยเฉพาะเริ่มจากการตัดงบประมาณปี 2563 3.3ล้านล้านบาท ในส่วนที่ไม่จำเป็น เร่งด่วน ประมาณ 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์
จะทำให้ได้งบในส่วนดังกล่าวประมาณ 3 แสนล้าน ถึง 5 แสนล้านบาท เพื่อมาเยียวยาประชาชน ประมาณ 20 ล้านคน หรือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยจะใช้เงินราว 3แสนล้านบาท และในส่วนของภาคการเกษตร ซึ่งประสบปัญหามาตั้งแต่ภัยแล้ง กว่าครึ่งปีที่ประสบความยากลำบาก และต้องมาเผชิญครับโรคระบาด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านครัวเรือน ควรเยียวยาครัวเรือนละ 3หมื่น5พันบาท จะใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นรัฐบาลอย่าอ้างว่าไม่มีงบประมาณ หากไม่ทดลองตัดงบประมาณปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมามีแต่คำพูดแต่ยังไม่ทดลองตัดจริง
"เงินอย่าเพิ่งกู้ตั้งแต่บาทแรก และอยากฟังคำตอบจากนายกรัฐมนตรีว่า เงินของปี 2563 สามารถตัดได้เท่าใด มีอุปสรรคหรือไม่? การกู้เงิน จะต้องนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือ SME และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในชุมชน ในชนบทให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ใหม่" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ระบุด้วยว่า รัฐบาลจะต้องวางแผนเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากินและใช้ชีวิตได้ และไม่เห็นความจำเป็นของการต่ออายุพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ควรเตรียมการ ReOpening เพื่อให้คนกลับมาทำมาหากินได้ในบางอาชีพ ในบางธุรกิจ อย่างมีเงื่อนไข มีข้อจำกัด ทางสาธารณสุข ดังนั้นควรเร่งออกข้อบังคับเพื่อให้ภาคธุรกิจ ภาคบริการได้รับทราบ ว่าหากจะเปิดกิจการได้ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดใดบ้าง ซึ่งทั้งหมดสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ จากนั้นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเพื่อให้ประชาชนให้ความร่วมมือ และหากธุรกิจใดไม่ให้ความร่วมมือ ก็สามารถสั่งปิดหรือปรับได้ตามความเหมาะสม
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง 20 กลุ่มมหาเศรษฐี ของไทย เพื่อเทียบเชิญเข้าร่วมทีมไทยแลนด์ โดยตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ซึ่งสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์แล้วอย่างกว้างขวาง เพราะอาจนำไปสู่ข้อครหา ว่าเอื้อประโยชน์หรือไม่? เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ไปตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นการช่วยเจ้าสัวไปก่อนแล้วหรือไม่?
"เป็นการช่วยที่ไม่ยืดเยื้อเหมือนกับการช่วยเหลือคนจน ช่วยคนรวยช่วยได้เร็ว เพราะฉะนั้นการที่มาขอความร่วมมือจากเจ้าสัว ท้ายที่สุดจะมีอะไรแลกเปลี่ยนหรือไม่? อย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต ว่าเจ้าสัวบางรายก็ได้ช่วยเหลือไปแล้ว ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นควรตั้งกองทุน มาอุ้มตราสารหนี้อีก 4 แสนล้านบาท จะกลายเป็นข้อครหาและข้อสงสัย ในปัจจุบันจนถึงอนาคต"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น