ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค ว่า ที่ประชุมตกลงกันว่าจะทำจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ดำเนินการเปิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อร่วมมือกันหาทางออก เพื่อให้เสียงของประชาชนได้รับการสะท้อนและเกิดประโยชน์ และทำจดหมายถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันลงชื่อขอเปิดวิสามัญ เพราะสภาต้องทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวกลางให้กับทุกฝ่าย ทั้งหมดจะดำเนินการในสัปดาห์หน้าและจะรวบรวมเสียงให้ได้ และทำจดหมายถึงวุฒิสภาด้วย
"การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลต้องคำนึงความโปร่งใสและการใช้จ่ายอย่างมียุทธศาสตร์ เราต้องใช้เงินทั้งหมดให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด เรามีข้อเสนอการปรับเกลี่ยงบประมาณ 2563 และ 2564 ที่ต้องสร้างอนาคตให้กับประชาชน วันที่ 30 พ.ค.จะเป็นวันสุดท้ายของการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเห็นว่าเมื่อครบกำหนดตามเวลาแล้ว ไม่ควรจะต่อเวลาการใช้พระราชกำหนดอีกต่อไป แต่ควรใช้กฎหมายอื่นเข้ามาดำเนินการ ฝ่ายค้านจะดำเนินการหารือร่วมกันเพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในระยะยาวต่อไป" นายภูมิธรรม กล่าว
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก ในภาวะเช่นนี้ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ไม่ควรแบ่งฝ่ายกัน แต่ควรร่วมมือกัน เพื่อให้ประชาชนผ่านปัญหานี้ไปได้ การเปิดสภาสมัยวิสามัญนั้นฝ่ายค้านมีความตั้งใจจะแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างทางออกให้กับประชาชน
"ไม่อยากให้รัฐบาลใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกดดันประชาชนจนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า อยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการใช้พระราชกำหนดเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติ เพราะเชื่อว่าตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาประชาชนมีประสบการณ์แล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรร่วมมือกันกับฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ อย่าเอาเรื่องการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่สามของฝ่ายค้านที่ต้องการให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพราะปัญหาของประชาชนรอไม่ได้ แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล สาเหตุที่ต้องมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญเพราะเราต้องยอมรับว่าประเทศไทยฝนตกไม่ทั่วฟ้า ประชาชนกว่าครึ่งประเทศถูกทิ้งด้วยนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินปัญหาที่ต่ำไปของรัฐบาล อีกทั้งยังมีการทำงานที่ช้าเกินไปและเกิดความสับสนจนประชาชนทะเลาะกันเอง
"ความล่าช้าของประชาชนอย่าว่าแต่ 7 ชั่วโมง เพราะเพียงแค่ 7 นาที สำหรับบางคนก็รอไม่ได้ งบประมาณที่จะนำมาแก้ไขปัญหาจะต้องมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสและทำให้ตรงจุด เพื่อให้ประชาชนตั้งหลักและสู้ต่อไป ด้วยเหตุนี้สภาควรมีการประชุมวิสามัญเพื่อให้เกิดการเสนอและท้วงติงรัฐบาล สภาเราจะทำอะไรได้บ้างนั้นเมื่อมีการประชุมแล้วเราจะได้มีการอภิปรายและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบงบประมาณการแก้ไขปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ หากเหตุผลเหล่านี้มีน้ำหนักเพียงพอเราก็จะทำงานเต็มที่" นายพิธา กล่าว
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อขอเปิดสภาสมัยวิสามัญมีความจำเป็นต้องใช้เสียงตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงถึงหนึ่งในสาม หรือประมาณ 246 เสียง โดยขณะนี้ ฝ่ายค้านมีเสียง 213 เสียง จึงต้องขอ ส.ส.และ ส.ว.อีก 33 เสียง โดยขั้นตอนขณะนี้คาดว่าภายในสัปดาห์นี้เฉพาะในส่วนของฝ่ายค้านจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ส่วนอีก 33 เสียงหรือมากกว่านั้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือ ทั้งนี้ การขอเปิดสภาสมัยวิสามัญก่อนหน้านี้ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปัญหาตรงที่ยังมีการแพร่ระบาด แต่เวลานี้ห้องประชุมสภาสุรยันมีความพร้อมที่จะเว้นระยะห่างทางสังคมได้ จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ
"เราทำจดหมายไปถึงนายกฯ หวังว่านายกฯจะเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน เพราะพระราชกำหนดเงินกู้กว่า 1 ล้านล้านบาทจะเป็นภาระของประเทศในอนาคต และทราบมาว่าวิปรัฐบาลกำลังจะมีการประจึงเรียกร้องให้วิปรัฐบาลนำข้อเสนอของฝ่ายค้านไปพิจารณาในที่ประชุมของวิปรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ดีที่สุด คือ นายกฯเสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเอง เพราะการดำเนินการของฝ่ายค้านกว่าจะดำเนินการได้เสร็จก็น่าจะเปิดสภาวิสามัญได้ช่วงต้นเดือนพ.ค. แต่ไม่ว่าจะเปิดสภาสมัยวิสามัญด้วยวิธีการใด ก็ยังดีกว่ารอไปถึงสมัยสามัญที่จะเริ่มในวันที่ 22 พ.ค." น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ 24 ม.ย. เวลา 10.0น. ตัวแทน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยน.อ.อนุดิษฐ์, นพ.ชลน่าน, นายนิคม ฯลฯ ไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องขอให้ดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น