ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พรก.) ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) วงเงินรวมทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท เพื่อเข้าไปซื้อตราสารหนี้บริษัทเอกชนคุณภาพดี ที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564
1. เรื่องนี้ กระผมมีความเห็นว่า ธปท.เป็นนายธนาคารของรัฐ มีหน้าที่เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ต้องรักษาความเป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคธุรกิจเอกชน ไม่มีหน้าที่รับความเสี่ยงลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง ควรให้ดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์
2. รัฐบาลควรให้ บริษัทที่เกี่ยวข้อง ธนาคารพาณิชย์ ร่วมกันศึกษาปัญหาตราสารหนี้ทั้งระบบ แล้วแก้ไขโดยวิธีการทางธุรกิจก่อน เช่น การเพิ่มทุน ให้ได้ราคาตราสารทุนและตราสารหนี้ที่เป็นจริง มีธนาคารพาณิชย์รับซื้อ แล้วมาขายต่อให้ ธปท. ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort)
3. หาก ธปท. เข้าทำการจัดสรรสินเชื่อเอง จะผิดหน้าที่การเป็นธนาคารกลางของประเทศ และแม้มีคณะกรรมการ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อระบบการเงินของประเทศไทย
4. อาจมีบางคนกล่าวว่า วิกฤตการณ์เชื้อโควิด จะทำให้ตลาดตราสารหนี้ล้มละลาย แล้วระบาดต่อไปในตลาดหุ้น เป็นการล้มเป็นระบบ (Systematic Risk) บริษัทเอกชนต่างๆไม่ได้กู้เงินเกินตัวมาก่อนเหตุการณ์ เพียงแต่หาเงินมาไถ่ถอนหนี้ไม่ทัน กับผู้ขายต่างชาติที่กำลังถอนเงินออกไป รัฐบาลจึงควรมารับซื้อหนี้ไว้เอง (ซึ่งในที่สุดรัฐบาลอาจขาดทุน) เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนทั่วโลก
5. เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ โดยให้มีกระบวนการทำตราสารหนี้เหล่านี้ เป็นตราสารที่ดีก่อน มีเงินชำระคืน ราคาเหมาะสม ก็จะมีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนรับซื้อ หรือในกรณีที่มีบริษัทปรับโครงสร้างหนี้แล้ว โดยลดทุนแล้วเพิ่มทุน ก็สามารถออกตราสารหนี้ขายธนาคารพาณิชย์ (ซึ่งเป็นผู้รับความเสี่ยงกำไรขาดทุน) แล้วธนาคารพาณิชย์ก็นำตราสารนั้น มาค้ำประกันการกู้เงินจาก ธปท.ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดย ธปท.ใช้เงิน 400,000 ล้านบาทนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์กู้ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของธปท.
5. ธปท.จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าซื้อตราสารหนี้จากบริษัทเอกชนโดยตรง เพราะผิดหลักการการเป็นธนาคารกลาง การให้ธปท.เข้าซื้อขายตราสารหนี้เอกชนโดยตรง จะเป็นการเปิดช่องให้ธนาคารกลางใช้เงินของรัฐ เอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใส เกิดการคอร์รัปชั่นได้ ซึ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือต่อ ธปท.ในระยะยาว
6. การที่รัฐบาลในประเทศเล็กๆ ตั้งกองทุนซื้อหนี้ หรือซื้อหุ้นนั้นล้วนเป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อประเทศ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็มองเห็น เงินส่วนใหญ่มักใช้ไปเพื่อช่วยพวกพ้องตนเอง เป็นคอร์รัปชั่นแบบหนึ่ง ในที่สุดกองทุนเช่นนี้ ก็ไม่เคยอุ้มตลาดเหล่านี้ได้ “เหมือนเอาช้อนไปรับน้ำตก” วงเงินจำนวน 400,000 ล้านบาทนั้น ไม่พอเพียงที่จะโอมอุ้มตลาดตราสารหนี้ ที่มีมูลค่ากว่า 3.6 ล้านล้านบาทได้ เงินจะหมดไปอย่างรวดเร็ว จะเป็นภาระภาษีในอนาคตต่อประชาชนทั้งประเทศ.... จึงน่าเป็นห่วงมาก..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น