วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" ย้ำชัด หลังล็อคดาวน์ ชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ถ้าจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์หลัง 30 เมษายน

4-5 วันมานี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อขึ้นๆลง ยังวางใจไม่ได้  ไม่มีใครรู้ว่าหลัง 30 เมษายน สถานการณ์จะเป็นอย่างไร

รัฐบาลปฏิเสธข่าวที่ว่าจะมีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ผมไม่ได้เสนอให้ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง แต่ก็ลองสมมุติเหตุการณ์ให้ดูแล้วว่าหากจะประกาศ จะต้องเตรียมการอะไบ้างและถ้าไม่เตรียมก็อย่าได้คิดทำ

การคงมาตรการอย่างทุกวันนี้ ก็มีคำถามว่าจะทำไปอีกนานเท่าใด เพราะการปิดสถานที่ปิดกิจการต่างๆจำนวนมากบวกกับการที่ธุรกิจอีกไม่น้อยต้องปิดตัวเองลงไป คนจำนวนมากเดือดร้อนตกงานหรือทำมาหากินไม่ได้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจ

คนทั่วประเทศจึงสนใจว่าเมื่อครบกำหนดวันที่ 30 เมษายน แล้ว จะขยายเวลาการใช้มาตรการล็อคดาวน์ออกไปหรือจะผ่อนคลายการล็อคดาวน์ลง

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ คนทำธุรกิจได้ ทำมาหากินได้ โดยที่ก็ยังป้องกันการแพร่ระบาดได้

ผมเคยเสนอไว้ว่ารัฐบาลควรจะดำเนินมาตรการต่างๆทางด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพและรณรงค์เรื่องการจัดระยะห่าง (Social distancing) โดยตั้งเป้าหมายไว้ให้ชัดเจนว่าเมื่อพ้นวันที่ 30 เมษายน แล้วจะผ่อนคลายให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนสู่สภาพใกล้เคียงกับปรกติให้มากที่สุด

ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร ดูจากสถานการณ์แล้ว ถึงสิ้นเดือนเมษา รัฐบาลอาจจะอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือจะล็อคดาวน์แบบที่ทำอยู่ต่อไปประชาชนก็เดือดร้อนหนักหนาสาหัส จะผ่อนคลายให้ทำมาค้าขายกันได้มากขึ้นก็เกรงว่าการแพร่ระบาดจะหนักขึ้นอีก

จากที่ศึกษาโมเดลของประเทศต่างๆก็จะพบว่ามีวิธีที่ทำให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้โดยไม่ต้องล็อคดาวน์อยู่เหมือนกัน ผมจะลองวาดภาพให้ดูเผื่อจะสนใจกันว่าเราจะพยายามก้าวไปสู่จุดนั้นหรือไม่

ถ้าจะคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ต้องล็อคดาวน์คงต้องทำอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. ใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพและ 2. มีการจัดยะห่างทางสังคม (Social distancing) อย่างจริงจัง

1.มาตรการทางด้านสาธารณสุข
เพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการทางสาธารณสุขที่ใช้ลดผู้ติดเชื้อตั้งแต่การตรวจมากขึ้นหลายเท่า การสอบสวนค้นหาผู้ติดเชื้อ มีระบบการกักตัวที่เข้มงวดและมีการดูแลอย่างดีรองรับในทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ เพิ่มสถานที่อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพที่เพียงพอสำหรับปัญหาที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

2.การจัดระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
จะต้องส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริงด้วยการจัดระบบระเบียบครั้งใหญ่อย่างที่ทำกันในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

2.1ส่งเสริมการทำงานจากบ้าน
2.2การบังคับให้สวมหน้ากากในโอกาสต่างๆ
2.3การจัดสถานที่และจัดระยะห่างในการทำงานในออฟฟิศที่ทำงานและในโรงงาน
2.4ระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถโดยสาร รถไฟฟ้า รถตู้ ที่ไม่ปล่อยให้คนเบียดเสียดกัน เพิ่มรถเมล์ เพิ่มตู้รถไฟฟ้า การจัดที่นั่งที่ยืน มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลทุกตู้ทุกคัน
2.5การจัดที่นั่งให้ห่างกันในร้านอาหาร การทำและการจัดส่งอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
2.6 การจัดที่นั่งในอาคารสถานที่ให้บริการแก่ประชาชนเช่นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใกล้ชิดร่วมกันหลายๆคน
2.7 การจัดระยะห่างระหว่างคนขายกับลูกค้าและลูกค้ากับลูกค้าตลาดสด ตลาดนัด และห้างสรรพสินค้า
2.8 จัดระยะห่างเวลาเข้าคิว
2.9 การจัดบุคลากรดูแลความสะอาดและการจัดระยะห่างในสวนสาธารณะและที่ออกกำลังกลางแจ้ง
2.10การจัดบุคลากรดูแลการจัดระยะห่างในหมู่บ้านและชุมชน

ความจริงที่ยกตัวอย่างมาก็คือการจัดระยะห่างทางสังคมในด้านต่างๆแทบจะทุกเรื่องในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ผมเพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าต้องมีการวางแผนและเตรียมการทั้งในการจัดระเบียบ การจัดหาสถานที่และพาหนะ ที่สำคัญต้องใช้บุคลากรทั่วประเทศจำนวนมากในการกำกับดูแลให้เกิดการปฏิบัติจริง

ถ้าจะผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ก็ต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้และถึงเวลาก็ต้องทำจริงจัง การกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้นเป็นไม่ได้แล้ว เหมือนที่พูดกันว่าชีวิตจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ผมพอจะรวบรวมแนวความคิดให้ได้ว่าถ้าจะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงต้องเตรียมการอะไร ในบทความก่อนหน้านี้ ซึ่งก็บอกไว้ว่าผมไม่แนะนำและถ้าไม่เตรียมการให้ดีก็โปรดอย่าทำ กับที่พูดมาข้างต้นคือถ้าต้องการจะกลับมาทำมาหากินกันได้มากขึ้นโดยป้องกันการแพร่ระบาดได้ด้วย เขาทำกันอย่างไร?

ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรนั้น เข้าใจว่ารัฐบาลคงต้องฟังหลายๆทางและชั่งน้ำหนักหลายๆอย่างประกอบกัน ผมก็คงได้แต่เอาใจช่วยให้สามารถตัดสินใจและทำได้ดีที่สุดละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น