วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลงเร่งเปิดสภา สอบรัฐใช้งบฯโควิด


น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และนายวัฒนา เมืองสุข คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ โดย น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ที่ขอให้รัฐบาลตัดงบประมาณประจำปี 2563 ที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธ งบฝึกศึกษา งบสร้างอาคาร หรืองบซื้อครุภัณฑ์ที่ชะลอการซื้อออกไปได้ แม้รัฐบาลจะเปิดเผยรายละเอียดของการใช้จ่ายงบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ ครม.อนุมัติจำนวน 96,000 ล้านบาทออกมาแล้ว แต่มีหลายรายการที่ยังน่าสงสัยว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและฉุกเฉินกว่าเรื่องโควิด-19หรือไม่? ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขชัดๆ ว่า สรุปแล้วจากงบประมาณปี 63 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลตัดงบออกมาทั้งหมดเพื่อมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องโควิด-19ให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนเท่าไหร่แน่ เพื่อความโปร่งใสและเป็นข้อมูลสำคัญให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เต็มจำนวนหรือไม่? ส่วนกรอบงบประมาณปี 2564 ที่ผ่าน ครม.ไปแล้วนั้น พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รื้อใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นการดำเนินการจัดทำกรอบงบประมาณก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันพัฒนามาจนเป็นสถานการณ์พิเศษไปแล้วในขณะนี้ การใช้กรอบงบประมาณแบบเดิมจึงไม่สมเหตุผล และการตั้งใจจะกู้อย่างเดียวโดยไม่ใช้เงินในกระเป๋าของตัวเองก่อนคงเป็นเรื่องไม่ฉลาดและไม่ถูกต้อง พรรคเพื่อไทยต้องการให้รัฐบาลลดภาระการกู้เงินที่เป็นหนี้สินของคนทั้งประเทศให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น


ด้านนายวัฒนา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอเสนอวิธีการที่ยุติธรรม เป็นประโยชน์สูงสุด และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและทันเวลาคือ 1.รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึงโดยใช้เกณฑ์ครัวเรือนในอัตราครัวเรือนละ 10,000 บาทต่อเดือน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับการเยียวยา

2.อำนวยความสะดวกในการรับเงินอย่างรวดเร็วให้ประชาชน โดยให้ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปขอรับเงินจากธนาคารได้ก่อน จากนั้นรัฐบาลค่อยโอนเงินคืนให้กับธนาคารต่อไป และ3.สำหรับผู้ที่ตกหล่นทางทะเบียนบ้าน เช่น ผู้เช่า หรือมีการโยกย้ายภูมิลำเนา สามารถลงทะเบียนซ่อมเพื่อให้รัฐจ่ายเพิ่มเติมได้ ส่วนผู้ไม่ประสงค์จะรับเงินให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงโดยประชาชนสามารถคลิกเข้าไปดูเพื่อให้เกิดการตรวจสอบทางสังคมได้


นายวัฒนา กล่าวอีกว่า ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น  การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สิ่งที่น่ากังวลมี 2 ประการ คือ 1. ตรวจสอบไม่ได้ และ 2.แต่งตั้งกรรมการแบบผิดฝาผิดตัว โดยเหตุที่จะตรวจสอบการใช้เงินไม่ได้เพราะกรรมการที่แต่งตั้งเข้ามาล้วนเป็นลูกน้องและผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ทั้งนั้น ไม่มีตัวแทนของประชาชนเลย

นอกจากนี้ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขร่วมเป็นกรรมการเลย ทั้งๆ ที่ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19เป็นงานของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่ทำไมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้กลับมีแต่คนในวิชาชีพอื่นที่ป็นลูกน้องพล.อ.ประยุทธ์ แล้วการกระจายทรัพยากรจะมีประสิทธิภาพและทั่วถึงได้อย่างไร?


ขณะที่นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่รัฐบาลให้แต่ละจังหวัดดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นเป็นเรื่องที่ดี  แต่ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้กำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรงกับความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

นายสุทิน กล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและนาย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้พิจารณาเร่งเปิดสมัยประชุมสภาฯ ให้เร็วขึ้น ที่สำคัญ พ.ร.ก เงินกู้ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19มีผลบังคับใช้แล้ว มีมูลค่ามหาศาลเกือบ 2 ล้านล้านบาท หากใช้เงินผิดพลาดหรือมีการทุจริตในการใช้งบประมาณจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ   โดยเฉพาะการที่ รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ให้แบงค์ชาติไปซื้อตราสารหนี้นั้น หากไม่คิดให้รอบคอบ อาจซ้ำรอยเหมือนที่แบงค์ชาติเคยใช้เงินอุ้มสถาบันการเงินผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสมัยวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น