วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" เตรียมแผนเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ

พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอ ร่าง พรบ. แก้ไขเพิ่มเติม พรก 1.9 ล้านล้านบาท ทั้ง 3 ฉบับ หาก พรก. 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาของสภา ทั้งนี้ เพื่อติดตามตรวจสอบ การใช้เงินตาม พรก. ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว โดยเตรียมรวบรวมรายชื่อ ส.ส ภายหลังเสร็จสิ้นการอภิปราย พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท


แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย รศ.ดร.โภคิน พลกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และ นายวัฒนา เมืองสุข ในฐานะ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันแถลงท่าทีต่อ พรก. 1.9 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า หลังเสร็จสิ้นการอภิปราย พรก. 1.9 ล้านล้านบาทแล้ว ถ้าหากว่า พรก.  1.9 ล้านล้านบาทดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของสภา พรรคเพื่อไทยก็จะยังติดตามตรวจสอบการใช้เงินตาม พรก. ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ โดยสส.พรรคเพื่อไทยจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติม พรก 1.9 ล้านล้านบาท ทั้ง 3 ฉบับ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้เงิน ตาม พรก. 1.9 ล้านล้านบาท มีความโปร่งใส กระจายถึงประชาชนอย่างทั่วถึง และสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาดีขึ้นได้จริง โดยตั้งเป้าการตรวจสอบการใช้เงินไว้ 3 ข้อ คือ 1.ให้ใช้เงินอย่างโปร่งใสที่สุด 2. มีประสิทธิภาพที่สุด และ 3.ทุจริตน้อยที่สุด เพื่อให้มาตรการของรัฐบาลและการใช้เงินตาม พรก 1.9 ล้านล้าน บาท ทั้ง 3 ฉบับ สามารถดูแลพี่น้องประชาชนคัวเล็กตัวน้อย และผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางและขนาดย่อมได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้จริง เพราะขณะนี้ มีผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาร้องทุกข์เข้ามาที่พรรคเพื่อไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยตกงานอีกเป็นจำนวนมาก เพราะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ มีอยู่ประมาณ 3 -4 ล้านราย และกิจการ SMEs เหล่านี้ มีลูกจ้าง 13 ล้านคน หากผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้หลังโควิด ก็อาจทำให้ลูกจ้าง 13 ล้านราย ต้องตกงานหรือได้รับผลกระทบอีกนานเป็นปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน.

"เพื่อไทย" แถลงวัตถุประสงค์ อภิปราย พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย แถลงข่าว แสดงวัตถุประสงค์ของพรรคเพื่อไทย ในการอภิปราย พ.ร.ก. เกี่ยวกับ การใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย


เนื้อหาการแถลงข่าว ระบุว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดร้ายแรงที่คุกคามชีวิตและสุขภาพอนามัยของชาวไทยและชาวโลก เป็นศัตรูของมนุษยชาติที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันต่อสู้อย่างเต็มที่ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ

การะระบาดอย่างรวดเร็วทำให้แต่ละประเทศจำเป็นต้องกำหนดมาตราการต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข การปิดเมือง ปิดน่านฟ้า ปิดธุรกิจ ฯลฯ  เพื่อชะลอการระบาด ให้สามารถตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมบุคลากรตลอดจนสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยได้ทัน อันเป็นเหตุให้การใช้ชีวิตตามปกติของผู้คนได้รับผลกระทบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้มาตรการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้มข้นในระยะแรก จะต้องเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อตอบสนองเป้าหมายด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ โดยไม่มีนัยยะแอปแฝงอื่นๆ เช่น ทางการเมือง และจะต้องให้ได้ดุลยภาพเพื่อนำไปสู่การกลับไปวิถีชีวิตปกติของประชาชนให้เร็วที่สุด ภายใต้มาตรการสาธารณสุขที่เหมาะสม มิเช่นชั้นก็จะเกิดปัญหาที่หนักกว่าและยากจะแก้ไขต่อไป นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน

พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยที่รัฐต้องเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เพราะไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่กล่าวมา เห็นด้วยที่จะต้องรีบฟื้นฟูเศรษฐกิจ และรักษาระบบการเงินและการคลังให้มีเสถียรภาพ แต่จะต้องดำเนินการด้วยความจริงใจ เข้าใจและเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงตลอดจนภาระที่ประชาชนทุกคนและแต่ละกลุ่มกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นฝ่ายค้าน จึงต้องตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาล ในกรณีนี้อย่างเต็มที่ ทั้งในแง่วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และแผนงานต่างๆ ในการรับมือกับโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตั้งแต่รัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน

วิสัยทัศน์ของรัฐบาลต่อกรณี โควิด- 19  ประเทศไทยเคยประสบกับวิกฤตใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดซาร์ (SARS) ไข้หวัดนก และสึนามิ ที่เกิดใน 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้น คือรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้ใช้วิสัยทัศน์ในการทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีความหวัง และมีขวัญกำลังใจที่จะก้าวต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม แต่รัฐบาลในปัจจุบันกลับสร้างความหวาดกลัว สับสน และท้อแท้ให้กับประชาชน ขาดการรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน  ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การขยายเวลาบังคับใช้พรก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน นายกรัฐมนตรีให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเสนอและปรึกษากับผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ควรนำเรื่องนี้ปรึกษากับสภาผู้แทนราษฎร ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม จึงเป็นการแสดงวิสัยทัศน์แบบอำนาจนิยม บนพื้นฐานของรัฐราชการ แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล รัฐบาล คสช และรัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ. ศ. 2561 -2580) กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศว่า ประเทศไทยมีความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศ 4.0 และ ปี 2580 ประเทศไทยจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง นั่นคือ ประชาชนมีรายไดต่อคนต่อปีประมาณ 500,000 บาท และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) ที่มุ่งให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัล แต่ทั้งยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาฯ ที่กล่าวมาย้ำว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ

1) การเมืองเป็นประชาธิปไตยเคารพสิทธิมนุษยชน
2) ระบบราชการ ต้องเล็กลงและมีประสิทธิภาพ
3) กฎหมายที่ล้าหลังไม่จำเป็น ไม่เอื้อต่อการทำมาหากินต้องถูกยกเลิก

แต่ตั้งแต่รัฐบาลคสช. จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน 3 สิ่งที่กล่าวมา แทบไม่ได้รับการแก้ไขเลย เช่นรัฐบาล คสช ภูมิใจที่จะอวดว่า 4 ปี คสช ออกกฎหมายได้ 300 ฉบับ แต่รัฐบาลก่อนหน้านั้น 7 ปีออกได้แค่ 120 ฉบับ ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า ยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลัง ที่เป็นภาระแก่ประชาชนไปกี่ฉบับ แผนพัฒนาฯ ระบุว่า ระบบราชการ ต้องรีบแก้ไขใน 4 ด้าน คือ

เครือข่าย สารสนเทศระหว่างหน่วยงานขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ไม่ได้มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูล ยังเป็นแบบแยกส่วน นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมการเยียวยาถึงล่าช้า สับสน ซ้ำซ้อน ไร้ประสิทธิภาพ
คุณภาพและทัศนคติของบุคลากรภาครัฐโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง บางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการวางยุทธศาสตร์ที่จะนำเทคโนโลยี Digital ไปพัฒนาองค์กร

การบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำ และระบบการให้บริการประชาชนยังไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะระบบราชการเป็นแนวดิ่งรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง มีระเบียบข้างตอน มากไม่ยืดหยุ่นฯลฯ และนี่เป็นปัญหาว่าการดำเนินกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่ต่างกันช่วงโควิด-19  กลับต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น จีนเขาแบ่งออกเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงกลาง และความเสี่ยงสูง ซึ่งจะมีมาตรการที่แตกต่างกันโดยเฉพาะการทำธุรกิจ
กฎระเบียบทั้งหลายไม่เอื้อต่อการเป็นรัฐบาลดิจิทัล การติดต่อราชการยังต้องใช้เอกสารจำนวมาก โควิด-19  เป็นตัวเร่งให้เข้าสู่สภาพดิจิตอลเร็วขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลและระบบราชการต้องเป็นผู้นำ แต่กลับล้าหลังและสร้างต้นทุนมหาศาลให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับย่อย เล็ก กลาง และคนรากหญ้าโดยทั่วไป

จึงไม่อาจคาดหวังได้เลยว่าการใช้เงิน 1.9 ล้านล้านจะมีประสิทธิภาพและกอบกู้เศรษฐกิจได้ ทั้งๆ ที่เป็นเงินจำนวนสูงมากและในที่สุดประชาชนผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ประเด็นของการอภิปราย พรรคเพื่อไทยจะเน้นประเด็นดังต่อไปนี้

การบริหารของรัฐบาลช่วงโควิด-19 (ปลายธันวาคม 2562 -ปัจจุบัน) เพื่อชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จในการ ยับยั้งการระบาดนั้นแท้จริงแล้วมาจากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และอสม ระบบสาธารณสุขที่ดีและเข้มแข็ง รัฐบาลเองกลับทำให้การแก้ไขปัญหาไปซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วกับเลวร้ายลงไปอีก

การบริหารของรัฐบาลก่อนจะเกิดโควิด-19 ล้มเหลวจนก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมหาศาล GDP ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สินค้า เกษตรตกต่ำคนรากหญ้าเดือดร้อนอย่างหนัก ก่อนจะมาถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19

การใช้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ไม่น่าจะประสบความสำเร็จเพราะ ขาดความเข้าใจในปัญหา มุ่งผลทางการเมืองมากกว่าจะแก้ปัญหา ให้มีประสิทธิภาพ การเยียวยาลักลั่น สับสน ไม่ทั่วถึง แผนงานโครงการเยียวยาและฟื้นฟู เป็นแบบกว้างๆไม่เป็นรูปธรรม การอุ้มตราสารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีความประหลาดที่ไปจัดการเอง และยังสามารถเข้าไปซื้อขายตราสารหนี้ที่ไม่ได้ออกใหม่ได้อีกด้วยโดยไม่มีมาตรการตรวจสอบที่รัดกุมแต่อย่างใด จึงน่าจะเอื้อต่อกลุ่มทุนพรรคพวก การให้ Soft Loan แก่ ธุรกิจ SMEs จํานวน 500,000 ล้านบาทก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก เพราะต้องเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว และเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่มีทางปล่อยกู้ได้ถึงจำนวนดังกล่าว มิหนำซ้ำธนาคารแห่งประเทศไทยยังปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ กู้ในอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01%  แต่ปล่อยกู้ได้ถึง 2% และยังรับ ประกันหนี้เสีย 60% - 70% เปอร์เซ็นต์

การใช้เงินเยียวยาฟื้นฟูและรักษาสภาพการเงินและความเชื่อมั่นของประเทศผ่านระบบการเมืองแบบอำนาจนิยม รัฐราชการ ตลอดจนกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าหลังเป็นอุปสรรค รวมกับวิสัยทัศน์สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนของรัฐบาลไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ รัฐบาลจะใช้โควิด-19 เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจ และเป็นแพะรับบาปให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลวเพราะรัฐบาลไร้ฝีมือและประสิทธิภาพ

การตรวจสอบข้อกฎหมายต่างๆ ว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

เสนอวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์และแนวทางของพระเพื่อไทย

4.1 เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ความหวังขวัญกำลังใจ ให้กับประชาชน
4.2 ยุทธศาสตร์หลักที่ต้องรีบดำเนินการเช่นการจัดโซนนิ่งของพื้นที่เสี่ยง โดยแบ่งออกเป็นความเสี่ยงต่ำความเสี่ยงกลางความเสี่ยงสูงเพื่อใช้มาตรการ ทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่เหมาะสม การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทางการเยียวยาและการลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลา การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณสุขให้เกิด ความเชื่อมั่น แก่คนไทยและนักท่องเที่ยว การเน้นให้เกิดกำลังซื้อเพื่อการบริโภค ภายในในระยะนี้ เป็นต้น
4.3 การเร่งรัดให้รัฐบาลยกเลิกพรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและการเคอร์ฟิวเพราะมีความย้อนแย้งทั้งๆ เช่น ไม่ปรากฏว่าผู้ฝ่าฝืน เคอร์ฟิว จำนวนหลายหมื่นราย ติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ทั้งนี้ยังต้องขอให้ประชาชนร่วมมือในส่วนของประชาชนเช่น การสวมหน้ากาก การหมั่นล้างมือ การรักษาระยะห่างของสังคมในพื้นที่ที่จำเป็น รัฐบาลต้องรีบเปิดธุรกิจโดยเร็ว ยิ่งหากกลัวว่าจะมีการระบาดรอบ 2 ยิ่งต้องละเอียดมากขึ้นมิเช่นนั้นจะกู้เงินจากไหนมาเยียวยาประชาชนอีก ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจไม่ทำงาน

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"อนุสรณ์" ติงรัฐต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้อำนาจฟุ่มเฟือย


ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่า นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า การต่อเวลาพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และคงเคอร์ฟิวเอาไว้ เป็นการกระชับอำนาจ ใช้อำนาจฟุ่มเฟือย ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ การแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 มีความผิดพลาด หลงทางหลายแนวทาง หลายเรื่องไม่ควรทำกลับทำ เรื่องควรทำกลับไม่ทำ ทุกวันนี้เลยเถียงว่าจะปรับเคอร์ฟิวอย่างไร? จะขยับเข้าหรือขยับออกไป ประชาชนมากกว่า 50 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ปลอดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ในภาครวมส่วนกลางประเทศ บางวันมีผู้ติดเชื้อ 2-3 ราย บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่รัฐบาลเอาสถิตินี้ มาขังคนไทย

รัฐบาลพยายามทำเพื่อหลบหลังโควิด เพื่อปกปิดการบริหารงานที่ล้มเหลว ลงทุนเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ได้กระชับอำนาจ รวมทั้งมาตรการที่ออกมาสับสน เช่น โรงเรียนเปิดไม่ได้ แต่ห้างเปิดได้ ทั้งที่การไปห้างคนมากกว่า และการให้ประชาชนแสกนข้อมูลก่อนเข้าห้าง เป็นการล้วงล้วงข้อมูลประชาชน เป็นการละเมิดสิทธิประชาชนโดยการเข้าถึงข้อมูลประชาชนหรือไม่ การยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคงประกาศเคอร์ฟิว รัฐบาลต้องเข้าใจว่า เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนัก

"วันนี้เราไม่รู้ว่า การคลายล็อกมีกี่เฟส นักวิชาการออกมาบอกว่า วิกฤติโควิดสร้างความเสียหายหนักกว่าวิกฤติช่วงต้มยำกุ้ง วันนี้รัฐบาลเผชิญมรสุม 1.มรสุมวิกฤติโควิด 2.มรสุมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ3.วิกฤติการเมืองทั้งในและนอกพรรครัฐบาล รัฐบาลต้องสร้างสมดุลสุขภาพ เสรีภาพ และเศรษฐกิจให้ได้ ไม่ใช่เอาทุกปัญหามากลบ หลบหลังโควิด แล้วอธิบายว่า ที่แก้ไม่ได้เพราะโควิด ปัญหาการควบคุมแพร่ระบาดไวรัสโควิด ที่สำเร็จ ไม่ได้สำเร็จเพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิว แต่มาจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชน หากประชาชนกระชับอำนาจฟุ่มเฟือยที่สุด อาจเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ จนรัฐบาลไม่อาจรับมือได้" โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ


"ทนายชุมสาย" ติงรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกินจำเป็น


ทนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอาศัยความตระหนกตกใจของประชาชน เป็นปัจจัยหนุน พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยหลักการ เพื่อป้องกันการก่อความไม่สงบ ความไม่มั่นคงของรัฐ การก่อการร้าย ภัยสงคราม ทั้งที่เรามีพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ แต่รัฐบาลเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาถึงระยะที่ 3 ขอถามว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์ ความมุ่งหมาย หรือเพื่อประโยชน์ของใครหรือไม่ ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นภาคีที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในข้อ 4 ระบุ การที่รัฐบาลเป็นภาคี การประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น เมื่อภัยฉุกเฉินพ้นไป รัฐบาลต้องคืนความเป็นปกติ วิถีการค้าขาย ต้องคืนโดยเร็ว แต่สภาพที่เป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อภาคีเรื่องดังกล่าว 

สำหรับ พ.ร.ก.เงินกู้ ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินแก้ไขสถานการณ์โควิด โดยมาตรา 7 นั้นน่าห่วงใย ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกลั่นกรอง 11คน อย่างมาก การแต่งตั้งข้อราชการ 6 คนไปทำหน้าที่ อาทิ เลขาสภาพัฒน์ ปลัดคลัง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์อีก 5คน ซึ่งเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีความผิดปกติในกระบวนการนี้ จะมีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน ความมั่นใจว่า การกลั่นกรองการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ถึงมือประชาชน เพราะการแจกเงินก่อนหน้านี้ก็มีการลักลั่น เลือกปฏิบัติ และจาก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการฟื้นฟู เยียยาได้หรือไม่ ยังไม่มีความขัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลอาจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค3 ที่ต้องให้ ครม.ต้องเรียกประชุมสภาฯ ซึ่งหลายภาคส่วนก็เรียกร้อง เหตุใดไม่เรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ ทั้งที่พรรคเพื่อไทยก็ได้เรียกร้อง 

ขอตั้งข้อสังเกตว่าการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้ เหมือนเกินความจำเป็น กับการออก พ.ร.ก.เงินกู้1.9 ล้านล้านบาท ที่ให้อำนาจค่อนข้างจะอุ้มธุรกิจเจ้าสัว เป็นข้อกังขาว่ามีการจัดสรรผลประโยชน์ของรัฐบาลหรือไม่อย่างไร และทั้งการออก พ.ร.ก.เงินกู้ กับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อตั้งข้อสันนิษฐานความเชื่อมโยงว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารเงินกู้ และเป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่รัฐบาลต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออายุยืดยาวไป เพื่อเลี้ยงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค กล่อมคนให้กลัว ทั้งที่สถานการณ์เบาบางลงแล้ว เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวทางการเมือง และที่สำคัญคือป้องกันการบริหารเงินกู้ในช่วงสุดท้ายของรัฐบาลหรือไม่?

"สุชาติ" ห่วงรัฐกู้เงินมาแจก สร้างหนี้ประเทศ


ศาสตราจารย์​ สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีต​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ กล่าวว่า​ การบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนี้​ เป็น​ "การกู้เงินมาแจกประชาชนเพื่อให้หยุดทำงาน" เพราะกลัวจะติดเชื้อโรคระบาด​ แม้โรคเบาบางลงไปจะหมดแล้ว​ ซึ่งเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้​ จะใช้ในโครงการที่มีความคลุมเครือมาก จนอาจทำให้ประเทศ​เสียหาย และเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว​ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ​

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเปรียบเสมือน​ครอบ​ครัว​ที่ลูกๆ​ เพิ่งเริ่มทำงาน​ ตั้งใจหารายได้มาใช้หนี้ครอบครัว​ ​ที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงอยู่แล้ว​ และยังมีน้องๆ​ เรียนอยู่ และวันหนึ่ง​มีข่าวว่าเชื้อโรคได้แพร่ระบาดเข้ามาในหมู่บ้าน​ พ่อ​ตกใจมาก​ ได้ออกคำสั่ง​ให้ทุกคนหยุดทำงาน​ หยุดเรียน​ ห้ามออกจากบ้านแล้วพ่อก็ไปกู้เงินมากมาย​ แจกให้ลูกๆ​ใช้จ่าย เพื่อให้หยุดทำงาน​ เพราะกลัวติดเชื้อโรค​

"แต่พอการระบาดเบาบางลง​ พ่อก็ยังไม่ยอม​ให้ไปทำงาน​ ยังใช้เงินกู้มาให้ลูกๆ​ใช้จ่าย​ จนหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้นมากมาย​ จาก​ 42% เป็น​ 50% ของรายได้​ (GDP​)​เมื่อทำเช่นนี้​ ครอบครัว​นี้จะต้องล่มสลายในอนาคต" ศาสตราจารย์สุชาติ​ กล่าว

"นิคม บุญ​วิเศษ" นำเงินเดือน ส.ส. ตั้งโรงทานสู้วิกฤตโควิด

'นิคม บุญวิเศษ' นำเงินเดือน ส.ส. ตั้งโรงทานและปิดภารกิจ 'ติดตามผล' พร้อม 'วอนรัฐ' รับลูกต่อและทำให้ทั่วถึง



นาย นิคม​ บุญ​วิเศษ​ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ได้ร่วมกับพระครูสุธีกิตติวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสมรโกฏิ ซอยเรวดี ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตลอดจน กรรมการบริหารพรรคพลังปวงชนไทย พนักงาน​ และ​ จิตอาสา ฯลฯ ตั้ง 'โรงทาน' แจกอาหารกล่อง  กับ 'ถุงยังชีพ' เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)  ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ. ศ. 2563 จนถึง วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2563  รวมเบ็ดเสร็จไม่นับวันหยุด ทั้งสิ้น 22 วัน และได้ทำข้าวกล่องแจกจ่ายทั้งในวัดและนอกบริเวณวัดไม่น้อยกว่า 1,400 กล่อง ต่อวัน


"อาหารที่ทำ เช่น พะแนงไก่ไก่ ผัดผงกะหรี่ ไก่ผัดน้ำพริกเผา ผัดพริกขิงหมูสามชั้น ผัดพริกหยวกหมูเนื้อแดง และข้าวผัดโบราณกับไข่ต้ม ไข่เจียว ฯลฯ ใช้วัตถุดิบ เครื่องปรุงรสที่มีคุณภาพและคัดสรรอย่างดี นอกจากวัดสมรโกฏิ เรายังได้จัด 'โรงทานเคลื่อนที่' นำข้าวกล่องไปแจกตามชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนวัดค้างคาว ชุมชนวัดสังฆทาน  ชุมชนวัดบางพูดนอก หมู่บ้านเอื้ออาทรบางกร่าง เอื้ออาทรราชพฤกษ์ เอื้ออาทรซอยสามัคคี เอื้ออาทรบางใหญ่ 1 เอื้ออาทรบางใหญ่ซิตี้ เอื้ออาทรวัดกู้ 2  ชุมชนต่างๆในซอยเรวดีและชุมชนสะพานพระราม 5 เป็นต้น"


นาย นิคม บุญวิเศษ ระบุด้วยว่า มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน ข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่ม สมทบมากมาย ส่วนพรรคการเมือง เช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ ฯลฯ ก็ได้ร่วมแจกข้าวสาร อาหารแห้ง ร่วมกัน เช่น วันที่ 10 พฤษภาคม 2563 มีการแจกข้าวสารถุงๆละ 5​ กิโลกรัม​ ไข่ไก่คนละ​ 10​ ฟอง​  รวม 5,000 ฟฟองและปลากระป๋อง ที่ได้รับมอบจาก พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ ประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นต้น


นอกจากนี้ พรรคพลังปวงชนไทย ยังเปิดเผยว่า ได้มีสำรวจและติดตามผลระหว่าง 12-17 พฤษภาคม 2563 และพบว่า ยังมีชาวบ้าน หรือ พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือและอีกเป็นจำนวนมากและที่สำคัญผู้ที่ไปรับแจกข้าวกล่อง ข้าวสารและของอุปโภคบริโภค มีทุกชนชั้น อีกทั้ง ยังมีพี่น้องชาวลาว พม่าและกัมพูชาไปสมทบด้วย


"ผมทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคนไทยคนหนึ่ง ในเบื้องต้นได้นำเงินเดือนที่ได้รับจากภาษีพี่น้องประชาชนมาเป็นทุนประเดิมและได้จัดสรรปันส่วนเพื่อการนี้แทบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนฝูง และผู้ร่วมอุดมการณ์ได้บริจาคเงินสมทบและในฐานะพรรคการเมือง ผมขอยืนยันและให้ความมั่นใจแก่ทุกภาคส่วน ว่าผมมีหลักฐานอ้างอิงและพรรคพลังปวงชนไทยได้ปฏิบัติตาม กฎ หรือ ข้อกำหนดของ กกต. ทุกประการในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พร้อมทั้ง ขอเชิญชวนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภาและรัฐบาลช่วยกันต่อยอดให้ครบถ้วนทั่วถึง โดยเฉพาะในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะประชาชนยังคงเดือดร้อนและจะเป็นอย่างนี้ไปถึงจนปลายปี  2563"


"รัฐบาลมีเงิน มีกลไกล มีความพร้อมสูง แต่ต้องลงไปปฏิบัติงานภาคสนาม ต้องไม่ทึกทักและอย่ามองเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านจากในห้องแอร์ หรือ รอเพียงแค่รับรายงานจากผู้ใกล้ชิด เงินกู้ทุกบาททุกสตางค์ต้องถึงมือพ่อแม่พี่น้องและประชาชน และที่สำคัญขออนุญาตรณรงค์ให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนช่วยกันตรวจสอบและอย่าให้การบริหารจัดการเงิน เพื่อการนี้ตกอยู่ในมือของข้าราชการ หรือ คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เพราะได้ทราบข่าวเป็นการภายในว่ามีการสั่งการให้ทำโครงการรองรับและมีการจัดสรร หรือ แบ่งปันกันเรียบร้อยแล้ว" นาย นิคม บุญวิเศษ กล่าวทิ้งท้ายและสะท้อนความรู้สึกไว้อย่างน่าสนใจ


"วัฒนา" หนุนตั้งพรรคการเมืองใหม่-อยู่เพื่อไทยสอบตกแบบสุดารัตน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดไม่ให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เพราะหากได้ ส.ส. เขตก็จะไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้การเลือกตั้งล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. เขต 136 คน แต่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสอบตกหมด

ดังนั้น การที่มีข่าวนักการเมืองที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยจะรวมกลุ่มกันเพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่เกินความคาดหมาย เพราะหากยังอยู่ที่พรรคเพื่อไทยก็จะพากันสอบตกหมดเหมือนคุณหญิงสุดารัตน์ที่เป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 แต่สอบตก การแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่จึงไม่ได้เกิดจากการทะเลาะกันเหมือนที่สื่อบางฉบับพยายามจะเสี้ยมพวกเราให้ทะเลาะกัน

ผมรู้สึกยินดีเมื่อได้อ่านโพสต์ของพี่อ๋อย (คุณจาตุรนต์ ฉายแสง) ที่ยอมรับว่าจะมีการรวมกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตั้งพรรคการเมืองเป็นทางเลือกให้กับประชาชน เพราะจะเป็นประโยชน์ทำให้บุคลากรที่มีแนวทางประชาธิปไตยได้มีโอกาสเข้าไปในสภาเพื่อทำงานให้กับประชาชนมากขึ้น

สำหรับผมขอแสดงความชัดเจนว่าจะไม่ไปไหน ถึงแม้การอยู่พรรคเพื่อไทยจะต้องสอบตกก็พร้อมเพราะผูกพันกับที่นี่และต่อสู้ในนามของพรรคนี้มาจนติดปาก ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยากจะเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อผมเชียร์ให้รีบไปเพราะอยู่ที่เพื่อไทยไม่มีทางได้เป็นผู้แทน รีบไปช่วยกันตอกเสาเข็มสร้างบ้านใหม่จะดีกว่าไปตอนที่เพื่อนสร้างบ้านเสร็จ ไปได้โดยไม่ต้องเขินเพราะเราแยกกันด้วยความรัก โชคดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"สมคิด" เร่งรัฐแจงแผน ใช้งบฯช่วงโควิด

“สมคิด” เร่งรัฐแจงแผนใช้งบประมาณสู้โควิด หวั่นคนในรัฐบาลทำมาหากินกับเงินกู้1.9ล้านล้านบาท


นาย สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 และ การเยียวยาประชาชน ของรัฐบาลประสบปัญหามาตลอด ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไปอิงระบบราชการทำให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า  เพราะกฎ กติกา ต่างๆมากมายมีมากเกินความจำเป็น  ทำให้ขยับตัวยาก ระบบราชการไม่เหมาะสำหรับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ

 แม้รัฐบาลจะอ้างว่า กฎ กติกา ต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการคอรัปชั่น แต่ในความเป็นจริงพบว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก  ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่ในส่วนของเป็นอันดับที่ปรับตัวลดลงเป็นลำดับที่ 101 หลังจากลำดับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 หน่วยงานตรวจสอบพบว่ามีรัฐบาลนี้มีการคอรัปชั่นสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง เป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น

นาย สมคิดกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วยในการออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาประเทศ แต่เป็นกังวลเรื่องความโปร่งใสในการใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และฟื้นฟูประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมีกระแสข่าวมาว่าฝ่ายรัฐบาลมีการเตรียมโครงการที่จะเข้ามาของบประมาณ รวมทั้งมีการเตรียมการทำมาหากินกับงบประมาณแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องในภาวะเช่นนี้ไม่ควรมีใครไปหาประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชน

“เงิน 1.9 ล้านล้านที่รัฐบาลไปกู้มานั้นฝ่ายค้านจะทำการตรวจสอบว่านำเงินไปใช้ในจุดไหน  ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์จากเงินกู้ทั้งประเทศ เพราะเป็นเงินที่ประชาชนต้องร่วมกันรับผิดชอบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนกรณีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณ เป็นเพียงการตั้งขึ้นมาเพื่อตบตาประชาชนเท่านั้น รัฐต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้เงินให้ประชาชนทราบว่าใช้ไปในโครงการใดบ้าง อย่าโกหกประชาชน” นายสมคิด กล่าว

"ทนายชุมสาย" ติงรัฐขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อรักษาอำนาจ

"ทนายชุมสาย" ฟันธง ต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินฯ ทำเพื่อรักษาอำนาจรัฐบาล จัดระเบียบอำนาจพรรคร่วม บริหารเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน และ ป้องกันม็อบไม่ใช่เพื่อควบคุมโรค


ทนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่มีการประชุมกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อ 21 พค.ที่ผ่านมาและมีมติให้เสนอรัฐบาลต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนั้น ตนมีความเห็นว่า รัฐบาลทำเพื่อต่ออายุการบริหารประเทศ จัดระเบียบอำนาจของพรรคร่วมฯ และกลุ่มการเมืองภายในพรรค พปชร. รวมทั้งโอกาสการได้บริหารเงินกู้ 3 พรก. 1.9 ล้านล้านที่หลายฝ่ายยังมีข้อห่วงใยในการใช้เงิน และการป้องกันการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจากการบริหารงานผิดพลาดในมิติต่างๆ ของนักศึกษาและประชาชน ทั้งนี้ตนเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้กระทำเพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดมีน้อยมาก การคงบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่กว้างขวางไม่สมเหตุสมผล และไม่ได้สัดส่วนกันกับสถานการณ์ของโรค และอาจใช้อำนาจเกินขอบเขต จึงต้องถือว่าการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ กับประชาชนในเวลาที่ไม่มีภัยพิบัติฉุกเฉิน ไม่ยุติธรรมกับประชาชน  แต่อาจทำเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ซึ่งสังเกตุว่า ทั้ง สมช.และ ศบค. มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม

"ทีมแพทย์ของเรามีคุณภาพ ประชาชนมีภูมิคุ้มกันทางสังคม (Social Vaccination)แล้ว ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในทุกมิติยังประเมินไม่ได้และมีแนวโน้มทรุดลงอีก รัฐบาลจะกอดเชื้อโรคบริหารประเทศ และกล่อมประชาชนให้กลัวเพื่อประโยชน์บางอย่าง แต่ปล่อยให้เศรษฐกิจพินาศย่อยยับไม่ได้ " นายชุมสาย กล่าวทิ้งท้าย

"ทวี" เผยท่าทีพรรคฝ่ายค้าน มุ่งตรวจสอบ พ.ร.ก.เงินกู้ ทั้ง 3 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ท่าทีพรรครวมฝ่ายค้านต่อ พ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับ

ความเห็นเบื้องต้นของหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านซึ่งประกอบด้วย นายสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และทีมคณะทำงานประสานงานพรรครวมฯ ที่มี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ประธานประสานงานพรรครวมฝ่ายค้านพร้อมด้วยที่ปรึกษา ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รศ. ชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยและนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาพรรคก้าวไกล ซึ่งมี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขาคณะประสานงานฯ ต่อท่าที่ของฝ่ายค้านที่มีต่อ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ฝ่ายค้านไม่ขัดข้องกับการกู้เงิน เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็น แต่ทักท้วงในด้านการนำไปใช้จ่าย และศักยภาพของรัฐบาลที่เป็นผู้ใช้งบการใช้งบต้องเกิดประโยชน์ ถูกต้อง ครอบคลุม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญเงินที่กู้มาเป็นการก่อหนี้สาธารณะที่คนไทยในปัจจุบันและที่จะเกิดเป็นคนไทยในอนาคตต้องร่วมกันใช้หนี้ที่เกิดจากรัฐบาลกู้ในครั้งนี้ทุกคน

ตัวอย่าง กรณี วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่รัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้นได้โอนหนี้ของเอกชน(56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ) ให้เป็นหนี้สาธารณะ ประมาณหนี้ 1 ล้านล้านบาทเศษซึ่งปัจจุบันผ่านมา 23 ปี ยังมีหนี้สาธารณะส่วนนี้ประมาณ 748,838 ล้านบาท(ณ สิ้น มี.ค.63) ซึ่งคนไทยที่เกิดหลังปี 40 ไม่ได้รู้เรื่องการก่อหนี้ของคนในอดีตเลยแต่ต้องรับภาระชำระหนี้

ดังนั้น ฝ่ายค้านมีประเด็นตั้งข้อสังเกต คือ

1. พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท)

โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
• พ.ร.ก. เงินกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทสามารถแยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่
• ส่วนที่ 1: แก้ไขการระบาดโควิด-19 (45,000 ล้านบาท) : รัฐบาลต้องสามารถตอบคำถามให้ได้ว่า งบการก้อนที่มีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร เงินนอกเหนือจากการรักษาผู้ป่วยที่โฆษก ศบพ บอกว่าใช่คนละ 1 ล้านบาท คือประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำไม่จึงไม่ช่วยเหลือเรื่อการป้องกัน คือกระจายงบประมาณสู่ เครือข่าย อสม. ซึ่งถือเป็นฮีโร่ตัวจริงกับการหยุดการระบาด และควรได้รับการยกย่อง กับการตรวจหาเชื้อโควิดแบบปูพรหมฟรี ตาม รธน 60 ม 47 วรรคท้าย “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ที่ผ่านมาช่วงต้นๆรัฐบาลบกพร่องปล่อยให้ประชาชนเสียค่าตรวจแพง น่าจะไม่ชอบด้วยเหตุผลและรัฐธรรมนูญ

• ส่วนที่ 2: การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ (555,000 ล้านบาท) : เงินเยียวยามีปัญหาในเชิงปฏิบัติ ยิ่งคัดกรองมาก ยิ่งหลุดมาก ไม่ครอบคลุม ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมและโศกนาฏกรรม เนื่องจากประชาชนเป็นคนจ่ายภาษี ควรใช้ระบบถ้วนหน้าในการเยียวยาเป็นหลักการเยียวยาเป็นสิทธิเสมอกันที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอหน้า

• ส่วนที่ 3: งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (400,000 ล้านบาท) : เป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด มีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่าง ๆ ไว้หมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสภา และตามที่รัฐบาลกล่าวถึงทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ ไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ และโอกาสของประเทศ เพราะจะสนับสนุนการจ้างงานภาคการเกษตร ใช้ฝึกอบรม รวมถึงใช้เป็นงบชุมชน เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิม ๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง โดยโครงการต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองและตอบโจทย์เรื่องโควิด ไม่ใช่ใช้จ่ายไปทั่ว

• เนื่องจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ รมว.คลังเป็นผู้รับผิดชอบ โดย*นายกฯลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่ความรับผิดชอบควรเป็นนายกฯซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็น “ระบบของคณะกรรมการ” จำนวน 11 คน เป็นข้าราชการประจำตำแหน่งวิชาการและอำนวยการ 6 ตำแหน่ง คือเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ,ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ,ปลัดกระทรวงการคลัง ,ผู้อานวยการสำนักงบประมาณ ,ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ผู้อำนวยการสานักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจานวนไม่เกิน 5 คน เป็นกรรมการ ซึ่งไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิจะสามารถตั้งใครก็ได้ เห็นว่าทั้ง 11 คนมีอำนาจและหน้าที่ในการวางแผน กำหนดในใช้เงิน 1 ล้านล้าน (ตามมาตรา 8)ที่เป็นภาษีอากรของประชาชน การไม่กำหนดเงื่อนไข ข้อห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ ที่อาจมีการสั่งการโดยผู้มีอิทธิพล เช่นผู้มีบุญคุณ หรือผู้แต่งตั้งกรรมการดังกล่าว เพื่อให้ใช้อำนาจสถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น โดยมิชอบได้ และไม่มีบทกำหนดโทษเฉพาะกรรมการไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการที่กระทำผิดเฉพาะไว้

นอกจากนี้ พรก กำหนดลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกรณีที่สามารถจัดทำงบประมาณในปี 2564 ได้ น่าจะมีประเด็นที่น่าจะไม่ชอบด้วย พรบ วินัยการเงินการคลังของรัฐ ด้วย

2. พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ฝ่ายค้านเห็นความจำเป็นต้องช่วยเหลือ ต้องโปร่งใสและไม่เลือกปฏิบัติ เพราะข้อมูล SME มีประมาณ 3.7 ล้านราย เป็นขนาดเล็กประมาณ 3.3 ล้านราย และขนาดกลางประมาณ 4 แสนราย

ฝ่ายค้านมีข้อพิจารณา ที่เห็นว่าอาจเป็นช่องทางเอื้อประโยชน์ให้ให้พวกพ้อง คือ

• ดุลยพินิจของการปล่อยกู้ อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ ที่มีแนวโน้มปล่อยให้ลูกค้าเดิมที่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องการความเสี่ยงเพิ่ม และไม่ต้องมีขั้นตอนวุ่นวาย ไม่ต้องประเมินหลักทรัพย์ จึงส่งผลให้ลูกค้าที่แข็งแรง (ซึ่งมีแนวโน้มเป็นขนาดกลางขึ้นไป) ได้ประโยชน์จากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ SMEs ที่ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ยังคงเข้าไม่ถึงสินเชื่อเหมือนเดิม
• มีช่องทางที่เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบ
• โดยธรรมชาติธนาคารพาณิชย์ต้องมุ่ง 'กำไร' และไม่มีความจำเป็นที่ต้องช่วยสนับสนุนธุรกิจเล็ก ๆ ของของประชาชน ถ้าทำก็ทำเพียงให้เห็นเป็นพิธีเท่านั้น
• นโยบาย Soft Loan ดีที่หลักการ แต่ธรรมชาติและกลไกมันไปคนละทางและ ธปท. ต้องเรียนรู้และอยู่อยู่กับความเป็นจริงและ ทุกวันนี้ที่มีธนาคารพาณิชย์เอา Soft Loan ปล่อยอยู่บ้าง ก็เป็นไปเพื่อสร้างภาพเท่านั้น
• จำนวนเงินที่ SMEs จะกู้ได้ ดูๆแล้วมันเหมือนกับจะไม่ช่วยอะไรได้สักเท่าไหร่ เพราะมีการกำหนดเอาไว้ว่าให้กู้แต่ละรายไม่เกินร้อยละ 20 ของหนี้สินที่เหลืออยู่ จึงทำให้ SMEs ที่ชำระหนี้ไปเกือบหมดก็กู้ได้น้อยตามสัดส่วน

3. พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

ฝ่ายค้านเห็นว่ามีความจำเป็นต้องในการักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจฯ แต่มีข้อพิจารณาในเรื่องการเอื้อประโยชน์และความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ คือ
• ธนาคารชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารของรัฐบาล และเป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่ลงไปจัดสรรสินเชื่อเอง ซึ่งอาจขาดทุนเป็นภาระภาษีของประชาชน
• ทำให้ธนาคารชาติขาดความเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ
• มี ‘คณะกรรมการ’ 2 คณะ ไม่มีห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของคณะกรรมการและระบบอนุญาตไว้ จึงเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ (ขัดหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสาม) ที่กฎหมายหรือ พรก ให้หลีกเลี่ยงระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการ และหากมีความจำเป็น จะต้องบัญญัติเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ เพื่อไม่ให้กรรมการใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น โดยมิชอบ และไม่มีบทกำหนดโทษคณะกรรมการกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นการเฉพาะไว้ (ต่างกับ พรก ปรส ในปี 40 ที่กำหนดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ชัดเจน)
• รัฐมนตรีคลังมีอำนาจล้น ตาม “มาตรา 5 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชกาหนดนี้ ให้รัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด และให้ผู้เกี่ยวข้อง ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น” รมว คลังมีอำนาจสูงสุด เสมือนเป็นศาลฎีกาหรือศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เองเพียงคนเดียว ไม่ต้องมีองค์คณะ 3 คน หรือ 9 คน เหมือนศาลฎีกาหรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด
• ควรทำตามขั้นตอนเดิม คือให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณารับซื้อตราสารหนี้เอกชนตามความเสี่ยง จากนั้นธนาคารพาณิชย์สามารถนำตราสารหนี้เหล่านี้ มาค้ำประกันเพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องจากธนาคารชาติ
• หากบริษัทใดผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้รับความเสี่ยง ธนาคารชาติเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของระบบตลาดการเงิน ตามหน้าที่ที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นระบบปกติ ซึ่งจะดีกว่าธนาคารชาติเข้าไปทำการจัดสรรสินเชื่อเอง แม้มีคณะกรรมการ ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย อาจเกิดปัญหาคอรัปชัน และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

ขอนำคลิปการแถลงข่าวของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ตามแนบ

https://www.facebook.com/110443097111966/videos/952914631812886/?vh=e&d=n

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
ประธานคณะทำงานประสานงานพรรครวมฝ่ายค้านและเลขาธิการพรรคประชาชาติ

"จาตุรนต์" เผยแนวทางตั้งพรรคใหม่ มุ่งประชาธิปไตย-เป็นอิสระ


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ กับสื่อมวลชน โดยระบุว่า ขอชี้แจงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ในนามส่วนตัว ดังนี้ ตนได้ออกจากพรรคเพื่อไทย มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อมาอยู่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ต่อมาพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ตนไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงยังทำงานการเมืองต่อได้

นายจาตรุนต์ กล่าวต่อว่า หลังจากการเลือกตั้ง ตนไม่ได้กลับไปพรรคเพื่อไทย และได้ใช้เวลาทั้งหมด ในฐานะนักการเมืองที่ไม่มีสังกัดพรรค ในการพูดคุยกับนักการเมือง นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ รวมถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาบ้านเมือง ปรับความคิด ซึ่งบางทีก็ใช้ความรู้เหล่านี้ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเรื่อยมา จนกระทั่ง มีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางหลักๆของพรรคที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต ก็ยังคงอยู่บนแนวทางหลัก คือแนวทางประชาธิปไตย พัฒนาบ้านเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้านต่างๆ อาศัยบุคคลและประสบการณ์ต่างๆจากในอดีต ประสานกับคนรุ่นใหม่เพื่อนำมาต่อยอดเป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในอนาคต

นายจาตุรนต์ ยืนยันว่า พรรคการเมืองดังกล่าว ที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ไม่ใช่พรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย และเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ใช่พรรคไทยรักษาชาติ 2 ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแกปัญหาให้เพื่อไทย อันเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่การรวมกันของกลุ่มคนเดือนตุลา ไม่ใช่การรียูเนียน แต่จะเป็นรวมคนที่หลากหลาย ที่จะร่วมกันสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน

เมื่อถามว่า มีการพูดคุย เพื่อร่วมงานหรือตั้งพรรค กับ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงค์ลี น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุรเดช หรือ นายภูมิธรรม เวชชยชัย ที่มีกระแสข่าวว่าจะตั้งพรรคการเมือง ในแนวทางเดียวกันหรือไม่ นายจาตรุนต์กล่าวว่า ตนกับทั้ง 3 เป็นเพื่อนกันมานาน เคยร่วมงานการเมืองด้วยกันมาหลายสิบปี แต่ไม่ได้มีการพูดคุยเพื่อจะตั้งพรรคการเมืองร่วมกัน เราเป็นอิสระต่อกัน แต่ยังเดินบนวิถีทางประชาธิปไตยร่วมกัน ซึ่งถ้าหากในอนาคต หากจะมีโอกาสร่วมงานทางการเมืองกัน ก็มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับการร่วมงานกับทุกพรรค และทุกกลุ่มการเมือง ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

สำหรับกรณีก่อนหน้านี้ ที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ที่ออกมายอมรับในกรณีการพูดคุยเพื่อตั้งพรรคการเมือง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก็มีการพูดคุย พบปะ กันเป็นประจำปกติ ในเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง เช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่ไม่ได้คุยถึงเรื่องแผนการทำพรรคการเมืองที่ชัดเจน

"สุรชาติ" ติงรัฐขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบเศรษฐกิจ-หวังคุมอำนาจ


นายสุรชาติ เทียนทอง  อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร  ในฐานะรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า  จากมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับเดือดร้อน ไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้ แม้รัฐบาลจะคลายล็อค แต่ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นเดิม เพราะรัฐบาลสร้างความกลัวให้กับประชาชน ออกมาขู่ประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่หมดไป  การทำงานของรัฐบาลเพื่อเป้าหมายในการขยายความหวาดกลัวให้มากขึ้น โดยมีเป้าประสงค์คือ หวังคุมอำนาจกดหัวประชาชนไปอีกนาน

จากสถานการณ์ในปัจจุบันประชาชนกลัวอดตายมากกว่ากลัวไวรัสโควิด-19  เพราะหากอยู่เฉยไม่ให้ทำอะไรเลย ก็ไม่มีรายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จุนเจือครอบครัว  เด็กเล็กไม่มีนมกินเพราะแม่ไม่มีเงินซื้อนม ผู้มีอำนาจไม่เคยลงไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐมากแค่ไหน  ในขณะเดียวกันการเยียวยาก็ไม่ทั่วถึง คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะได้รับการเยียวยา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะสุดท้ายผลที่ออกมาคือคนไม่เดือดร้อนได้รับการเยียวยา การแต่คนที่เดือดร้อนจริงๆกลับไม่ได้รับการเยียว การทำงานของรัฐบาลสร้างความเหลื่อมล้ำในหมู่ประชาชน   ทั้งๆที่การเยียวยาประชาชนต้องไม่มีเงื่อนไข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการเยียวยา และเพียงพอต่อการดำรงชีพ

  นายสุรชาติ กล่าวด้วยว่า การขยายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลทำลายระบบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขายอาหารริมทางเดินในช่วงเวลากลางคืน พ่อค้าแม่ค้า ไม่สามารถขายสินค้าได้ รัฐกำลังทำลายวัฒนธรรมและทำลายวิถีชีวิตของประชาชน แนะนำว่าเมื่อรัฐดูแลประชาชนได้ไม่ดีพอ  ก็ควรปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ หรือ ออกมาตรการและวิธีปฎิบัติตนให้กับประชาชน ในช่วงที่ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ รัฐไม่ควรจำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำมาหากินของประชาชน ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถทำมาหากินเพื่อดำรงชีพได้ ดีกว่ามารอความช่วยจากรัฐบาลที่ไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม  ”นายสุรชาติ กล่าว

"เยาวเรศ" ห่วงประชาชน-แนะรัฐผ่อนคลายโควิดต้องรอบคอบ


นางเยาวเรศ ชินวัตร พร้อมด้วย นายกวีวงศ์ อยู่วิจิตร อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ ลงพื้นที่แจกจ่ายอาหารและของใช้จำเป็นในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ได้แก่ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 1,500 ชิ้น, Face Shield 132 ชิ้น, ข้าวเหนียวหมูทอด 250 ห่อ , และข้าวเหนียวไก่ทอด 250 ห่อ ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนกลางนา,รุ่งสว่าง , ร่มประดู่ , พูนสวัสดิ์ ,โปษยานนท์ , ร่วมพัฒนา และชุมชนร่วมใจประเสริฐ ทั้งนี้ ทีมแจกจ่ายสิ่งของได้จัดระบบให้ชุมชนส่งตัวแทนมารับของชุมชนละ 2-3 คน เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดและปฏิบัติตามหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ทั้งนี้ นางเยาวเรศ กล่าวว่า “แม้สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยจะเบาบางลง และมีการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ประชาชนยังคงต้องใช้ชีวิตประจำวันด้วยความระมัดระวังต่อไป ทั้งการใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือเป็นประจำ เพราะพบว่าในหลายประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการกลับมีผู้ติดเชื้อซ้ำอีก ตนจึงหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนคลายที่คิดอย่างรอบคอบไม่ให้ซ้ำรอยต่างประเทศ ขณะเดียวกันควรเร่งหาทางออกให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างปลอดภัย เพื่อให้เครื่องจักรเศรษฐกิจของประเทศกลับมาหมุนเคลื่อนโดยเร็วที่สุด”

"สุดารัตน์" เผย ยังไม่มีรายละเอียด พ.ร.ก.เงินกู้ ก่อนเข้าสภาพุธนี้

ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ระบุ พ.ร.ก.เงินกู้ ที่จะเข้าสภาพุธนี้ ไม่มีรายละเอียดของการใช้เงินกู้ เหมือนให้สภาอนุมัติเช็คเปล่า สภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่สภาตรายาง หวั่นใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ส่อทุจริต / มองต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะห่วงมั่นคงตนเอง เชื่อกระทบประชาชนทำมาหากิน 


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ระบุว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องกำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่องหลักคือ
1) เร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่ให้ปิดเมือง
ปิดกิจการ
2) เร่งช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย SMEs ก่อนธุรกิจเหล่านี้จะหมดลมหายใจ
3) เร่งปลด Lock เปิดเมือง เปิดกิจการอย่างปลอดภัย โดยให้มีข้อกำหนดทางสาธารณสุขที่ชัดเจน

 “ยิ่งปลดLockช้า เศรษฐกิจยิ่งสาหัส”

เราต้องช่างน้ำหนัก ในการออกมาตรการในการควบคุมโรคให้เหมาะสม กับความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะในขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ลดลงอย่างมาก มาต่อเนื่อง จึงถึงเวลาที่จะปลดล็อค เปิดให้โอกาสประชาชนกลับมาทำมาหากินได้

ถึงวันนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกต่อไปอีก เว้นแต่จะนำเรื่องCOVID มาเป็นข้ออ้างโดยรัฐบาล อาจห่วงความมั่นคงของตัวเองมากเกินไปจึงใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือ จะเห็นได้จากการปิดกั้นการแสดงออกในโอกาสครบรอบ6 ปีรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับโรคติดต่อ วิธีการเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหม่และความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการประชุมหารือ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาและจะมีการพูดคุยในช่วงเสาร์อาทิตย์ถึงแนวทางการอภิปราย พระราชบัญญัติกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท พร้อมจะนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไปพูดคุยในสภาผู้แทนราษฎร หลังรัฐบาลสั่งปิดกิจการ จนประชาชนได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะมีประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการกู้เงินที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ที่สำคัญคือเรื่องการขออนุมัติโดยใช้พ.ร.ก.เงินกู้ กลับไม่มีรายละเอียดของโครงการอย่างชัดเจน แล้วสภาฯจะสามารถพิจารณาได้อย่างไร? อย่าคิดว่าสภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาตรายางเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้น การออกพ.ร.ก.ในลักษณะเช่นนี้ พรรคเพื่อไทย จึงไม่เชื่อใจ ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความสามารถในการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันยังกังวลว่า การที่พระราชกำหนดเงินกู้ไม่มีความชัดเจนจึงมีความเสี่ยงที่ส่อว่าจะเกิดการทุจริตได้

"เผ่าภูมิ" ห่วงเศรษฐกิจไทยถดถอย คนตกงานพุ่ง


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า IMF ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ -6.7% "กระทบจากโควิดมากสุดในภูมิภาค และติดลบเป็นอันดับต้นๆของโลก" คำถามที่เกิดขึ้นต่อ คือ ไทยคุมเชื้อเร็วกว่าคนอื่น ทำไมเศรษฐกิจจึงทรุดหนักกว่า เรื่องนี้มี 3 เหตุผล

1) เหตุผลเชยๆ ที่ใครๆก็พูดกัน ซึ่งจริง แต่ไม่ทั้งหมด คือไทยมีเศรษฐกิจที่เปิดต่อเศรษฐกิจโลกสูง พึ่งพิงส่งออก และภาคบริการสูง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด

2) ข้อนี้สำคัญกว่า นั่นคือ มาตรการที่ผิดพลาด โดยในช่วงแรกของการระบาด และให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีสามสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ 1) ป้องกันธุรกิจล้ม 2) หยุดเลือดการตกงาน และ 3) ป้องกันความเสียหายไหลสู่สถาบันการเงิน รัฐบาลเลือกทำในส่วนที่ 1,3 แต่ละเลยในส่วนที่ 2 โดยปล่อยให้มีการตกงานตามยถากรรมจำนวนมหาศาล ปล่อยให้นายจ้างเลิกจ้างได้ตามใจชอบ ซึ่งตรงนี้สำคัญและอันตราย

มาตรการที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ คือ รัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง โดยมีข้อแม้ว่านายจ้างต้องคงการจ้างงานไว้ หรือแม้กระทั่งสินเชื่อสำหรับพยุงการจ้างงานโดยเฉพาะ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ แต่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ทำ การดำรงการจ้างงานสามารถเอาไปผูกเป็นเงื่อนไขได้ในเกือบทุกมาตรการที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจ ก็ไม่ทำอีก เมื่อไม่มีมาตรการหยุดเลือดการตกงาน การว่างงานจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่มหึมา เหมือนน้ำที่ทะลักแล้วหยุดไม่อยู่ ผลต่อเศรษฐกิจจึงสูง ดิ่งลึกกว่าประเทศอื่น การแก้ไขจึงต้องหันไปใช้งบประมาณเยียวยามากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะรัฐไม่เลือกที่จะป้องกัน แต่เน้นมาเยียวยาทีหลัง

3) การแช่แข็งเศรษฐกิจประเทศ ทำเกินความจำเป็นไปมาก พึงระลึกว่า รัฐบาลที่น่าชื่นชมไม่ใช่รัฐที่หยุดการระบาดด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มหาศาล และไม่ใช่รัฐที่ไม่ยอมแลกต้นทุนอะไรเลยในการควบคุมโรค แต่ผู้ที่ชนะในศึกนี้ คือ รัฐที่สมดุล คุมการระบาดอยู่ในระดับที่รับไหวและประคองเศรษฐกิจให้พอยืนอยู่ได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีน

ทั้งหมดตอบคำถามที่ว่า ทำไมไทยโควิค คลี่คลายเร็ว แต่สร้างรอยแผลฉกรรจ์กว่าประเทศอื่นๆ

เลยเป็นเรื่องที่ "น่าเสียดายและน่าเศร้า" ที่ความเสียสละของประชาชน และความทุ่มเทของแพทย์ ถูกหักล้างหมดสิ้นด้วยมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" ชี้ 6 ปีรัฐประหาร ประเทศล้มเหลว


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวในวาระครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ว่า 6 ปี ที่ผ่านไป คนไทยไม่ได้อะไรจากคสช.นอกจากมรดกบาปที่คสช.ทิ้งไว้เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร คือ

1.เศรษฐกิจ เหลว
2.ปรองดอง เละ
3.ปฎิรูป ลวง

แต่สิ่งที่นายพล 3 ป.ได้รับจากการรัฐประหารนั้นมากมาย

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ กำลังจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเต็มตัว หวังยึดพรรคไว้สืบทอดอำนาจให้ยาวนานที่สุด

2.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รองบูรพาพยัคฆ์ ได้เป็น รมว.มหาดไทยคุมฝ่ายปกครอง อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ถูกมองว่าบั่นทอนความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นเพียงแขนขากลไกสนับสนุนมหาดไทย

3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากผบ.ทบ. ยึดอำนาจมาเป็นนายกฯ เอง อยู่ยาวมาถึงปีที่ 6 และเตรียมที่จะอยู่ยาวต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สมัย หากโชคดีกว่านั้นหวังจะได้เป็นนายกฯตลอดกาล คุมทั้งทหาร-ตำรวจ-หน่วยงานด้านความมั่นคง คุมทุกอย่างเพื่อความมั่นคงของตัวเอง

สิ่งที่นายพล 3 ป.ประกาศว่าจะทำหลังการรัฐประหารยึดอำนาจ ผ่านไป 6 ปี ยังไม่มีอะไรที่ทำได้ แต่สิ่งที่คนไทยได้รับ คือ ประชาธิปไตยเสี้ยวใบ แบบถอยหลังลงเหว ได้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่คนร่างไม่กล้าให้ใครตรวจสอบ เป็น รธน.ฉบับอภิชนเป็นใหญ่ หรือฉบับปล้นอำนาจประชาชน ได้ สว.ลากตั้งมาทำหน้าที่ตั้งนายกฯ ได้รัฐบาลผสมพรรคเล็กพรรคน้อยยั้วเยี้ยมากที่สุด ได้ ส.ส.งูเห่า ย้ายพรรคง่าย ใครโหวตสวนมติพรรคก็อยู่ต่อไปได้ แต่หากถูกขับก็สามารถย้ายไปพรรคอื่น ฯลฯ

“ประชาชนตั้งคำถาม 6 ปี ของ 3ป. อาศัยสถานการณ์ สร้างประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องมาโดยตลอด จากวิกฤตเศรษกิจ สังคม การเมือง จนถึงวิกฤตโควิด เอาความทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นเครื่องมือสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองแล้วทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง” นายอนุสรณ์ กล่าว

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"ยิ่งลักษณ์" แนะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ปรับวิถีชีวิตช่วงโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


วันนี้ขออนุญาตมาแชร์ต่อนะคะ ว่าช่วงการเก็บตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากโควิด-19 นอกจากทำให้สุขภาพร่างกายของเราแข็งแรงแล้ว การเติมความรู้และคิดหาสิ่งใหม่ ๆ ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญว่าต่อไปเราจะใช้ชีวิตอย่างไรกับโรคที่มาทำให้ชีวิตของคนทั้งโลกต้องเหน็ดเหนื่อยกับการป้องกันและหาทางแก้ไข ดิฉันจึงได้มีโอกาสหาคอร์สเรียนตามคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งตอนนี้มีคนพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับมหาวิทยาลัยดัง ๆ หลายที่แล้วให้เราลงทะเบียนเรียนผ่านออนไลน์ ถ้าบางคนขยันก็สามารถต่อถึงระดับปริญญาได้ โดยไม่ต้องเดินทาง ดิฉันว่าวิธีนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เราได้หาความรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรที่เราสนใจในสิ่งที่อยากรู้ ดิฉันก็เริ่มเข้าไปศึกษาผ่านทางออนไลน์ไปหลายคอร์สเลยค่ะ สนุก ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้วันเวลาผ่านไปอย่างมีคุณภาพและเป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะโลกของการเรียนรู้ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่จำกัด อายุ เพศ แม้กระทั่งเวลา หรือ สถานที่ และปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีมากมายที่รวบรวมแหล่งข้อมูลความรู้ ที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้นและวันนี้ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นแล้ว

ดิฉันได้ใช้เวลานั่งคิดและศึกษาว่า หลังจากนี้แต่ละอุตสาหกรรมหรือธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป Health care เรื่องสุขลักษณะและสุขภาพที่ดี ที่เมื่อก่อนเราให้ความสำคัญแต่ไม่ใช่อย่างแรกวันนี้จะกลับมาเป็นสำคัญอันดับต้น ๆ ที่มีความสำคัญอย่างมาก จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านรวมทั้งดิฉันจะต้องค้นหาต่อไปและปรับตัวกับมัน อย่าลืมใช้เวลาช่วงนี้ที่เรามีเวลามีสมาธิจะได้คิดว่าต่อจากนี้เราจะปรับตัวต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร บางธุรกิจอาจถึงกับต้องเปลี่ยนแนวทางเลยค่ะ อยากให้ท่านคิดว่าบนวิกฤตนั้นก็ย่อมมีโอกาส เพราะโลกกำลังเปลี่ยนไป เพียงแต่เราต้องปรับตัวเองให้ทันโลกและต่อวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็จะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างราบรื่นค่ะ

"ทวี" เผยจุดยืน พรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่อ พ.ร.ก. 3 ฉบับ

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงท่าทีและจุดยืนของฝ่ายค้านในสภาต่อ พ.ร.ก. 3 ฉบับ ได้แก่


1) พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท)
2) พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
3) พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

โดยระบุว่า "เป็นพระราชกำหนดที่ให้อำนาจของคณะกรรมเข้ามาดูแล  แทนที่จะเป็นอำนาจของประชาชน  รัฐบาลนี้ก็ให้มาอยู่ในอุ้งมือของคณะกรรมการชุดหนึ่ง  เช่น พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ให้มีคณะกรรมการ 11 คน ซึ่งก็จะเป็นตำแหน่งทางอำนวยการ เช่น ปลัดสำนักนายก เช่น เลขาสภาพัฒน์ คือเป็นตำแหน่งอำนวยการ ตำแหน่งวิชาการ และอีก 5 คน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และไม่มีการกำหนดระยะเวลา และไม่มีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามใด ๆ"


"ต้องยอมรับว่าคนทั้ง 11 คนนี้ มาใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตรงนี้อยากจะให้ทางสื่อมวลชน ลองช่วยถามท่านนายกฯ ดูว่า  5 คนที่ท่านนายกฯ แต่งตั้งมานี้ เขาเป็นใคร  ทำไมเขาจึงเอาอำนาจของประชาชน อำนาจของสภาฯ อำนาจของเงินภาษีอากรของประชาชน ทั้งประเทศ 1 ล้านล้าน เอาไปใช้ได้โดยไม่มีการเขียนเงื่อนไขหรือไม่เขียนวิธีการใด ๆ เลย และที่สำคัญเป็นการดูถูกคณะรัฐมนตรีทุกคน เพราะเอาอำนาจของรัฐมนตรีทุกคนเนี่ย ไม่มีสิทธิ์ใช้เงินเลย ให้มาอยู่ในอุ้งมือคนกลุ่มนี้หมด"

"แม้แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนห้ามไว้ว่า ถ้าคุณจะมีลูกของคณะกรรมการ คุณจะต้องไปเขียนเงื่อนไขหรือกำหนดความผิด....ในอดีตสมัยคดี ปรส. คณะกรรมการแม้แต่ญาติพี่น้องตนเอง ยังไม่สามารถไปประมูลได้เลย เพราะเกี่ยวข้องเกี่ยวพัน แต่ในพระราชกำหนดฉบับนี้ ไม่ได้มีการเขียนไว้เลย นี่คือคณะกรรมการ 11 คนแรกที่เอาอำนาจของสภา 500 คน ไปอยู่ในอุ้งมือของคนเพียง 11 คน" พันตำรวจเอกทวี กล่าว


วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" รำลึกพฤษภาทมิฬ หนุนพรรคฝ่ายค้านปรับตัว-รัฐบาลกำลังอ่อนแอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


รำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬผ่านไปแล้วเป็นเวลาถึง 28 ปี นึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้วยังเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เอง อาจเป็นเพราะมีงานรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นกันอยู่เป็นประจำและมีการวิเคราะห์ศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นอยู่บ่อยๆ

ความจริงการต่อสู้ของประชาชนหลังการรัฐประหารของรสช.ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นการต่อสู้ที่มีความหมายอย่างมากเพราะนอกจากทำให้หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการแล้วยังทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 14 ปี กว่าจะมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2549

กล่าวได้ว่าช่วงเวลา 14 ปี จากปี 2535 - 2549 เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดที่ประเทศไทยอยู่กันอย่างเป็นประชาธิปไตยพอสมควรและปลอดจากการรัฐประหาร

การรัฐประหารของรสช.ในปี 2534 กับการรัฐประหารของคมช.ในปี 2549 มีผลต่อเนื่องตามมาที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้น่าศึกษาว่าหลังจากที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยติดต่อกันมาถึง 14 ปี มีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้บ้านเมืองถอยหลังอย่างมากในหลายแง่มุม

คณะรสช.หมดบทบาทลงไปในเวลาสั้นๆจากแรงต่อต้านของหลายฝ่ายทั้งประชาชน ภาคประชาสังคม นักศึกษา สื่อมวลชนและพรรคการเมือง รวมทั้งชนชั้นนำด้วยกันเอง นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยขึ้นระดับหนึ่งก่อนที่จะเกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนในเวลาต่อมา

ระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมๆกับการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งขึ้นด้วย แต่ต่อมาพลังประชาชนแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ชนชั้นนำที่เคยแตกแยกกันมากกลับผนึกกำลังกันได้มากขึ้นๆ คนชั้นกลางที่เคยเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยย้ายข้างไปเป็นจำนวนมาก

การรัฐประหารในปี 2549 ไม่ได้ถูกสกัดกั้นขัดขวางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่กลับพัฒนาไปสู่การยื้ออำนาจกันระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่หลายปีก่อนที่จะถอยหลังไปสู่ความเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้นในการรัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้เกิดระบอบการปกครองที่ล้าหลังยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ขณะที่ชนชั้นนำผนึกกันเป็นปึกแผ่น มีกฎกติกาที่ร้อยรัดกันไว้อย่างเข้มแข็งมั่นคงกว่าสมัยก่อนๆ ส่วนพลังประชาชนก็ยังคงแตกเป็นฝักเป็นฝ่ายและพรรคการเมืองถูกทำลายให้อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ

หรือว่าการเปลี่ยนแปลงในเดือนพฤษภาคม 2535 และพัฒนาการหลังจากนั้นเกิดขึ้นได้เนื่องจากความแตกแยกอ่อนแอของชนชั้นนำไทยเป็นการชั่วคราวทำให้ชนชั้นนำต้องอยู่ในสภาพจำยอม ตกกระไดพลอยโจน พอตั้งหลักได้ก็กลับมายึดทุกอย่างคืนไป

หรือว่าพลังทางสังคมทั้งภาคเอกชนและประชาชนยังไม่มีความเชื่อที่แท้จริงต่อหลักการประชาธิปไตยเหมือนกับตอนที่หลายฝ่ายไชโยโห่ร้องที่ได้คนนอกเป็นนายกฯอีกครั้งหลังจากการเสียเลือดเสียเนื้อในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ต่อต้านคัดค้านคนนอกเป็นนายกฯผ่านไปหยกๆ

มองย้อนกลับไปในอดีตแล้วเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ยังมีเรื่องที่น่าศึกษาทำความเข้าใจสังคมไทยไม่น้อย ในแง่มุมที่มีทั้งน่าหดหู่และทำให้เกิดกำลังใจ

ที่น่าหดหู่เพราะวันนี้บ้านเมืองดูจะถอยหลังไปกว่าเมื่อปี 2534-2535 ด้วยซ้ำ

แต่เมื่อดูพัฒนาการทางการเมืองในระยะใกล้มากๆคือในเร็วๆนี้เปรียบเทียบกับในอดีต ก็จะเห็นด้านที่ทำให้เกิดกำลังใจอยู่เหมือนกัน ขณะนี้พลังฝ่ายประชาชนดูจะลดความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายลงไปบ้าง พลังใหม่ๆเกิดขึ้นและกำลังเติบโตเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ชนชั้นนำก็ดูจะลดความเป็นเอกภาพลงไปมากและหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็กำลังเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของพรรคการเมือง แม้พรรคฝ่ายค้านยังต้องการการปรับตัวและต้องผ่านการทดสอบอีกพอสมควร แต่ก็มีประชาชนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ส่วนพรรคการเมืองที่สนับสนุนผู้มีอำนาจก็กำลังอ่อนแอลงมาก พรรคที่เป็นแกนของรัฐบาลที่พยายามทำตัวให้แตกต่างจากพรรคการเมืองในสมัยรสช.ก็กำลังขัดแย้งภายในและดูเหมือนกำลังจะเปลี่ยนแปลงถอยหลังไปสู่การเป็นพรรคการเมืองแบบพรรคสามัคคีธรรมในสมัยรสช.เข้าไปทุกที

จะว่าไป การรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปีนี้ ยังมีเรื่องให้ศึกษาค้นคว้ากันต่อ

ที่จะต้อง "ตามหาความจริง” เกี่ยวกับการสังหารประชาชนที่เคยมีความพยายามกันมาแล้วและยังไม่พบความจริงก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาความจริงกันต่อไป

ส่วนการศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันก็มีทั้งด้านที่เป็นปริศนาและน่าหดหู่ ขณะเดียวกันก็มีด้านที่ทำให้เกิดกำลังใจในอันที่จะช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิไตยมากขึ้น

"ทวี" เร่งรัฐหาทางออกวิกฤตการบินไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้



รัฐบาลควรให้ “รองวิษณุ-หม่อมเต่า” รับฟังความเห็น ’อดีตผู้บริหารการบินไทย’ ก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดชะตากรรมของการบินไทย !!!

ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติการบินไทยในเร็ว ๆ นี้ ขอเสนอว่าควรมอบให้ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีแรงงาน เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบรับฟังความคิดเห็นของอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดีการบินไทย อดีตเจ้าหน้าที่บริหาร และอดีตคณะกรรมการหรือบอร์ดการบินไทย ทั้งนี้เพราะ ดร.วิษณุฯ  และ ม.ร.ว. จัตุมงคลฯ ต่างเคยเป็นบอร์ดการบินไทยมาก่อนย่อมรู้เรื่องของการบินไทยในระดับที่ดีพอสมควร

ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก สืบเนื่องจากนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรีของประเทศส่วนใหญ่ในโลก ประสบการณ์ ทรรศนะ ความคิดเห็น และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการบินไทยย่อมมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงไม่ใช่เพียงเป็น “ผู้หวังดี” เท่านั้น แต่ยังเป็น “ผู้รู้ดี” เกี่ยวกับการบินไทยที่ขับเคลื่อนนำการบินไทยเดินทางเป็นสายการบินชั้นนำของโลก หากดูผลงานด้านการบริหารงาน จากงบการเงินที่ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรองเสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นเวลา  30 ปี มีผลกำไรถึง 21 ปี และประสบการขาดทุน 9 ปี ในระยะหลัง ๆ นี้

หากย้อนไปตั้งแต่นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบุคคลที่เป็น อดีตกรรมการผู้จัดการมีประมาณ 8 คน อดีตเจ้าหน้าที่บริหารประมาณ 100 คนและอดีตคณะกรรมการฯ บอร์ดประมาณ 181 คน (ตั้งแต่ปี 33 จนถึงปัจจุบัน) ที่ส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ มีสุขภาพแข็งแรงดี ซึ่งเชื่อว่าทุกท่านยังมีความหวังดี ความรักและความห่วงใยต้องให้การบินไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

สิ่งที่การบินไทยถูกตั้งข้อสงสัย ว่าทำให้การบินไทยขาดทุน ในประเด็นประสิทธิภาพในการบริหาร เช่น

- โครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนของพนักงานการบินไทยซึ่ง จากรายงานประจำปีการบินไทยได้ปรากฏในเรื่องค่าตอบแทนของพนักงาน เจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการฯ ในภาพรวม และการเสียภาษีเงินได้ไว้ คือรายงานประจำ ปี 2558 (หน้า 69), ปี 2559 (หน้า 66), ปี 2560 (หน้า 76), ปี 2561 (หน้า 81) และ ปี 2562 (หน้า 86) ได้ระบุข้อความเหมือนกันติดต่อเป็นเวลา 5 ปี ว่า

“บริษัทฯ อยู่ระหว่างการที่จะปรับปรุงโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนของพนักงานในภาพรวม โดยการจัดทำโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนภายใต้เงื่อนไขที่พนักงานรับภาระภาษีเงินได้เอง รวมทั้งพิจารณาจัดทำโครงสร้างค่าตอบแทนของกลุ่มนักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน ตามแนวปฏิบัติของสายการบินชั้นนำในปัจจุบัน เพื่อจูงใจให้เกิดผลิตภาพและสนับสนุนให้พนักงานปฏิบัติงานตามที่องค์กรคาดหวังไปพร้อมกันด้วย”

แสดงให้เห็นว่า 5 ปียังไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนซึ่งมีข้อความซ้ำจากปี 58 ถึง ปี 62  ทำไมถึงไม่ทำ หรือทำไมจึงล่าช้ามาก และหากตรวจดูค่าตอบแทนของบุคลากรรวม คือ

ปี 58 มีพนักงาน จำนวน 22,864 คน ค่าตอบแทนเป็นเงิน 37,444 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของ กรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ฯ จำนวน 20 คน ค่าตอบแทน 91.95 ล้านบาท และของคณะกรรมการการบริหารหรือบอร์ดการบินไทย จำนวน 18 คน ค่าตอบแทน 14.94 ล้านบาท

ปี 59 มีพนักงานจำนวน 21,998 คน ค่าตอบแทนเป็นเงิน 32,772 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของ กรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ฯ จำนวน 15 คน ค่าตอบแทน 76.60 ล้านบาท และของคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดการบินไทย จำนวน 15 คน ค่าตอบแทน 15.34 ล้านบาท

ปี 60 มีพนักงานจำนวน 22,370 คน ค่าตอบแทนเป็นเงิน 33,120 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของกรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ฯ จำนวน 16 คน ค่าตอบแทน 70.22 ล้านบาทและของคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดการบินไทย จำนวน 19 คน ค่าตอบแทน 14.41 ล้านบาท

ปี 61 มีพนักงานจำนวน  22,054 คน ค่าตอบแทนเป็นเงิน 33,865 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของกรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ฯ  จำนวน 15 คน  ค่าตอบแทน 61.07 ล้านบาท และของคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดการบินไทย จำนวน 15 คน ค่าตอบแทน 14.50 ล้านบาท

ปี 62 มีพนักงานจำนวน 21,367 คน ค่าตอบแทนเป็นเงิน 34,886 ล้านบาท  ซึ่งในส่วนของกรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ฯ จำนวน 11 คน  ค่าตอบแทน 65.54 ล้านบาท และของคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดการบินไทย จำนวน 19 คน ค่าตอบแทน 13.38 ล้านบาท

ถือว่าปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานค่อนข้างมาก และมีค่าตอบแทนของกรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่บริหาร กับคณะกรรมการหรือบอร์ดค่อนข้างสูง ซึ่งบอร์ดส่วนใหญ่มีเงินเดือนประจำในส่วนราชการต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศอยู่แล้ว

และตามรายงานฯระบุว่า “พนักงานการบินไทยไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เอง” จึงมีคำถามว่า ทำไมการบินไทยจึงต้องเสียภาษีแทนให้ด้วย? ซึ่งภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีเงินได้เกิน 5 ล้านบาทต่อปี เท่ากับอัตราร้อยละ 35 ซึ่งเจ้าหน้าที่บริหารส่วนใหญ่มีเงินได้เกิน

- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและโฆษณา 10,637 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.63 ของรายได้ ที่การบริหารงานในอดีตมี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและโฆษณา ก่อนปี 2549 มีประมาณ 3,000 ล้านบาท มีรายได้ 160,000 ล้านบาท แต่มาเพิ่มในปี 2560-2562 ค่าโฆษณาประมาณ 11,000 ล้านบาท แต่รายได้คงที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท หากปรับปรุงส่วนนี้ให้เหมือนในอดีต ก็จะสามารถลดการขาดทุนได้

- ค่าใช้จ่ายที่มีนัยสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบิน ได้แก่ ค่าเสื่อมราคา ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าซ่อมแซม  ช่วงปี 2544-2546 เฉลี่ยปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท ช่วงปี 2558-2562 เฉลี่ยปีละ 4.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 ถือว่าสูงขึ้นมาก ค่าใช้จ่ายชุดนี้สูงขึ้นทุกปี ต้นทุนเครื่องบินปี 2558 มีจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท ปี 2559 มีจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ปี 2560 จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ปี 2561 จำนวน 5.4 หมื่นล้านบาท และปี 2562  จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาทแต่กลับมีรายได้ต่อปีคงที่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เป็นเพราะเหตุใด ? และฝูงบินของบริษัทฯ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 103 ลำ ได้ก่อให้เกิดรายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

- ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นค่าใช้จ่ายหลักในธุรกิจการบิน คิดเป็นต้นทุนที่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายดำเนินการ ผลกำไรขาดทุนจึงขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนน้ำมันให้สัมพันธ์กับราคาขายตั๋ว ดังที่ปรากฏในงบการเงินจะเห็นว่าค่าน้ำมันลดลงต่อเนื่องคือ ปี 56 ค่าน้ำมันเป็นเงิน 80,525 ล้านบาท ปี 57 ค่าน้ำมันเป็นเงิน 79,231 ล้านบาท ปี 58 ค่าน้ำมันเป็นเงิน 63,243 ล้านบาท และส่วนปี 59 ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันลดลงประมาณ 18,000 ล้านบาท เหลือเพียง 45,336 ล้านบาท ทำให้การบินไทยพลิกกลับมามีกำไร 47 ล้านบาทในปีเดียวกัน จากการตรวจสอบข้อมูลราคาน้ำมันตลาดโลกย้อนหลังในปี 59 ราคาน้ามันดิบดูไบต่ำมากเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 29.66 ดอนล่าสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ในขณะย้อนหลัง ปี 56 ราคาน้ํามันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ107.33 ดอนล่าสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นต้น

- ค่าใช้จ่ายที่สังคมมีความสงสัยในความโปร่งใส ที่มีบุคคลทั้งในและนอกองค์กรมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างเกือบทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องบิน เครื่องยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วัตถุดิบต่าง ๆ เช่นไวน์, เหล้าอาหาร ที่ใช้เสริฟในเที่ยวบิน รวมถึงการใช้สิทธิต่าง ๆ ของการบินไทยที่มีขั้นตอนระบบที่ซับซ้อนและอื่น ๆ อีก รวมทั้งที่การบินไทยไปลงทุนในบริษัทย่อย อีก 5 บริษัท ที่ประสบการขาดทุนตลอด คือ บจก.ไทยสมายล์แอร์เวย์ เป็นต้น

หลังรับฟังความคิดเห็นอดีตผู้มีประสบการณ์แล้วเชื่อว่า รัฐบาลจะได้รับแนวทางในการแก้วิกฤติการบินไทยที่ดี และเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะข้อเสนอที่เกิดจากการใช้สติปัญญาและความรู้ของ ’ผู้รู้ดี‘ ไม่ใช่ ’หวังดี’ เพียงอย่างเดียว

การที่รัฐบาลตัดสินใจนำการบินไทยเข้าฟื้นฟูกิจการตาม พรบ. ล้มละลาย ในศาลล้มละลายกลางก็เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อต้องการให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่เติบโต ยืนด้วยตนเอง สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศและประชาชน

ฐานะที่เคยทำการวิจัยเรื่อง การใช้ความรู้ทางบัญชี ภาษีอากร และการเงิน กับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเคยสอบสวนทำคดีเกี่ยวกับบริษัทและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ใช้ช่องทางการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย มีประเด็นที่ควรคำนึงบางประการ คือ

1 . เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลดำเนินการนัดไต่สวนเป็นการด่วน โดยแจ้งกำหนดวันนัด ไต่สวนให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ทราบ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ มีสิทธิคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และคัดค้านผู้ทำแผนตามที่ผู้ ร้องเสนอได้ และเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้พิจารณาจะเกิดสภาวะการพักชำระหนี้ตามมาตรา 90/12 คือ เจ้าหนี้ต่างๆ จะต้องถูกบังคับโดยกฏหมายให้งดดำเนินการในการจะบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตา มกฏหมายส่วนแพ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหนี้มีช่วงระยะเวลาในการที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างหรือหาวิธีการใน การชำระหนี้ ถือเป็นช่วงสุญญากาศที่ต้องพึงระวังไม่ให้ใครหาผลประโยชน์ระหว่างนี้

2) ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่มีใบอนุญาต จะมีความรู้เพียงด้านการเงิน และกฎหมาย แต่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในธุรกิจการบินโดยตรง จึงทำให้ต้องว่าจ้างผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เข้ามาเพิ่ม ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก ซ้ำซ้อน ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมักมีการจ้างในอัตราที่สูงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกของตนเองมากกว่าประโยชน์ของบริษัทฯ 

3) การที่ผู้ทำแผนฯ มีอำนาจเบ็ดเสร็จแทนกรรมการและผู้ถือหุ้น อาจมีการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างข้อกล่าวหาให้แก่บุคคลในองค์กรหรือฝ่ายที่ถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามได้  นอกจากนั้นช่วงเวลาบริหารแผนยังขยายได้จาก 5 ปี เป็น 7 ปี ทำให้อำนาจของกรรมการและผู้ถือหุ้นขาดหายไปไม่น้อยกว่า 7 ปี นับตั้งแต่เริ่มเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

4) การสร้างหนี้เทียม เป็นการสร้างหนี้โดยไม่มีหนี้อยู่จริง แต่มีการสร้างหลักฐานการเป็นหนี้ ใช้จำนวนหนี้โหวตมติเพื่อให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ หากมีการชำระหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง ก็เสมือนเป็นการโยกย้ายเงินก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และบางครั้งอาจมีการร่วมมือรู้เห็นเป็นใจกับสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนสูงก่อน แล้วค่อยร่วมกันนำบริษัทฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

5) หากมีการขายทรัพย์สิน อาจมีการแทรกแซง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกของผู้ทำแผนฯ หรือผู้มีอิทธิพล  ในกรณีการบินไทยหากฟื้นฟูไม่สำเร็จและมีเหตุต้องล้มละลาย ผลเสีย คือ ภาษีของประชาชนที่กระทรวงการคลังนำมาลงทุนจะมีมูลค่าเหลือศูนย์ เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้คืนทั้งหมด พนักงานตกงาน ประเทศสูญเสียสายการบินแห่งชาติ และอื่น ๆ

ท้ายสุด มีคำถามว่า ”การเป็นรัฐวิสาหกิจ” ของการบินไทยจะสามารถแก้ปัญหาการขาดทุนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและความไม่โปร่งใส การแสวงหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการบินไทยได้หรือ? การที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน และตัวแทนที่กระทรวงการคลังหรือรัฐบาลส่งมานั่งในคณะกรรมการและแต่งตั้งเป็นดีดีนั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตัวจริงหรือเป็นผู้ที่ใช้เงินของตัวเองลงทุน บ่อยครั้งการตัดสินใจของคนเหล่านี้ไม่ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่เงินของตัวเอง ถึงอย่างไรรัฐบาลและกระทรวงการคลังยังเข้าอุ้มอยู่ดี เพราะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งรัฐถือหุ้นในกองทุนวายุภักษ์และธนาคารออมสินที่ถือหุ้นการบินไทยด้วยจึงเป็นเสียงข้างมากอยู่ และหวังว่าผู้ที่มีความรู้จะใช้ศักยภาพและสติปัญญาช่วยชี้แนวทางเพื่อนำการบินไทย ‘ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส’ ฟันฝ่าปัญหาให้เป็นสายการบินแห่งชาติอย่างสง่างามและยั่งยืนต่อไป

https://m.facebook.com/TaweeSodsongOfficial/posts/3622281461120803

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ

"ชวลิต" ติงรัฐ ไม่พร้อมจัดเรียนออนไลน์

"ชวลิต" แนะ ศธ.ทบทวนการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองครวญ แค่อาหารกลางวันยังต้องไปฝากท้องที่โรงเรียน


นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อนโยบายการเรียนออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการสรุปว่า

หัวใจสำคัญสูงสุด คือ ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง ที่พอแก้ไขได้

อย่าลืมว่า 5 - 6 ปี ที่ผ่านมาก่อนมีไวรัสโควิด -  19 ระบาด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องได้ ส่งผลให้ตัวเลขคนจนพุ่งพรวด เห็นได้จากมีผู้ไปจดทะเบียนคนจน กว่า 14 ล้านคน

หลังโควิดมา ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ได้เกิดความบกพร่องในการบูรณาการแผนงานปิดเมือง และการปิดกิจการบางประเภท ระหว่างเมืองกับชนบท ส่งผลให้เกิดคนจนเฉียบพลัน ตัวเลขคนที่เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจขอเงินเยียวยาพุ่งพรวดไปถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ ประชาสัมพันธ์เอง

ดังนั้น จากสภาพการณ์ความยากจนของผู้ปกครองภายใต้การบริหารของรัฐบาลนี้ก่อนโควิดมา และมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากพิษโควิดซ้ำอีก ต้องยอมรับความจริงว่า

ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ย่ำแย่ ไม่พร้อมในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียน ลำพังผู้ปกครองจะประคับประคองชีวิตให้ครอบครัวพออยู่ พอกิน ยังลำบาก ดังนั้น นโยบายการเรียนออนไลน์จึงเสมือนกับการผลักภาระให้ผู้ปกครองรับภาระมากขึ้นโดยปริยาย

อยากจะเรียนว่า หลายครอบครัวจำนวนมาก หวังให้ลูกฝากท้องไว้กับโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน

ดังนั้น สิ่งที่สังคมควรฉุกคิด ช่วยกันพิจารณาว่า ทำอย่างไรเปิดเทอมที่จะถึงนี้ โครงการอาหารกลางวันถึงจะมีคุณภาพ เด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารครบหมู่ การเรียนถึงจะมีคุณภาพ
             
ผู้ที่มีฐานะพอจะแบ่งปันให้ลูก หลานของเราได้มีอาหารกินอิ่มท้องในช่วงโรงเรียนเปิด โปรดช่วยกันหาแนวทางไว้ด้วย โดยเฉพาะศิษย์เก่าแต่ละโรงเรียน เมื่อมีความพร้อม ควรจะกลับมาดูแลรุ่นน้อง ๆ ได้บ้าง อย่างไร หรือไม่?
            
ส่วนการเรียน การสอน ขอให้กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดตามปกติ โดยควรกระจายอำนาจให้โรงเรียนพิจารณาโดยความเห็นชอบของ สคบ.จังหวัด พิจารณาเปิดสถานศึกษาตามความเหมาะสม หากเปิดการเรียนออนไลน์ เปิดบ้าง ไม่เปิดบ้าง ตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งมากขึ้น ๆ 
            
จึงขอได้โปรดทบทวนนโยบายการเรียนออนไลน์ เพราะ ผู้ปกครองในชนบทจำนวนมากยังไม่พร้อมครับ

"นพดล" เร่งรัฐแก้ปัญหา เยาวชนไม่พร้อมเรียนออนไลน์


นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จากการเรียนออนไลน์พบว่ามีปัญหาความไม่พร้อมหลายเรื่อง ทั้งผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายซื้อมือถือ เสียค่าเน็ต ระบบอินเทอร์เน็ตล่ม เป็นต้น ตนเห็นว่า

1. การเรียนออนไลน์แม้มีประโยชน์ แต่ควรเป็นการเรียนเสริมการเรียนในห้องเรียน เนื่องจากการสื่อสารสองทางหรือการปฏิสัมพันธ์แบบผู้เรียนเจอครูในห้องจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า เช่นการตั้งคำถาม การกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ โดยเฉพาะเด็กเล็กชั้นอนุบาลและประถมศึกษานั้น การเรียนออนไลน์ไม่ได้ผลดีเหมือนผู้เรียนที่อายุมาก

2. ความไม่พร้อมของระบบอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ และเครื่องมืออุปกรณ์ยังไม่พร้อม เด็กจากครอบครัวยากจนจะพร้อมน้อยกว่า  สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงมีคำถามว่ารัฐบาลทำงานเกือบ 1 ปีได้เตรียมการและทำอะไรไปบ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านนี้

3. กระทรวงศึกษาฯและหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษาควรตั้งเป้าคืนห้องเรียนปลอดภัยให้นักเรียนโดยเร็วที่สุด  โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อเลย เพราะเด็กควรได้ไปโรงเรียนเพื่อพัฒนาการทางด้านอื่นๆ เช่นร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาด้วย ยิ่งเปิดเทอมช้ายิ่งกระทบการเรียนรู้.               

"หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ไทยยิ่งจำเป็นต้องเตรียมคนให้มีทักษะและสมรรถนะพร้อมเผชิญความผันผวนของโลกในศตวรรษที่ 21 การศึกษาและการสร้างสมรรถนะให้คนไทยจึงเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จ ช้าไม่ได้แล้ว ผู้บริหารต้องรู้และลำดับความเร่งด่วนของปัญหาใหญ่ๆด้านการศึกษาและมีความสามารถในการทำงานให้เสร็จ เพื่อตามโลกให้ทัน" นายนพดล ปัทมะ กล่าว

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"วรวัจน์" แนะรัฐผ่อนคลายมาตรการ ย้ำเปิดโรงเรียน-ไม่ใช่เรียนออนไลน์

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


"เปิดโรงเรียนไม่ใช่เรียนออนไลน์"

ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ทำเอาผู้ปกครอง หัวหมุนไปทั้งประเทศนั้น
อยากจะบอกว่า

ไวรัสโควิดนั้น มาจากต่างประเทศ อันที่จริงกลุ่มเสี่ยงมีไม่ถึง 1% ของประชากรของประเทศไทย และ วันนี้ในการปฏิบัติงานของจังหวัดนั้น สาธารณสุขจังหวัด อสม.ชุมชน ทำการติดตามกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสกับชาวต่างประเทศหรือคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือในกลุ่มชายแดนได้เป็นอย่างดีเพราะฉะนั้นอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ เอาใจใส่เป็นพิเศษเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่เป็นจุดเสี่ยงเท่านั้นก็พอโดยให้คณะทำงานของจังหวัดทำงานประสานกับคณะกรรมการโรงเรียนก็เชื่อมั่นได้ว่าจะ สามารถควบคุม สร้าง ความมั่นใจและมีความปลอดภัยได้ เป็นอย่างดี

ในจำนวน 37,000โรงเรียนนั้น น่าจะมีข้อกังวลในระดับ1,000โรงเรียน ไม่ใช่ทั้งหมด จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการผ่อนคลายและดำเนินการจัดให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ห่างไกลจากไวรัสโควิดได้แล้วครับ

"สมพงษ์" นำเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศน์ อนาคตประเทศไทยหลังโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงารนว่า พรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนาผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ออนไลน์ หัวข้อ "อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 : วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และก้าวย่างของไทย" นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และมี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ


นายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร วีดิโอคอนเฟอเรนซ์ออนไลน์ ว่า

• ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องพิจารณาในสองประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน คือ

“ความสมดุลด้านระบาดวิทยา กับ เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ”

ประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง  ไม่ใช่ประเทศที่หยุดการระบาดได้อยู่หมัดบนซากปรักหักพัง และไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยการระบาดรุนแรงจนยืดเยื้อ  กระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับเป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้การระบาดอยู่ในภาวะควบคุมได้ พร้อมกับประคองเศรษฐกิจ ให้ยืนอยู่ได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

• สำหรับประเทศไทย เราจัดอยู่ในประเทศควบคุมการระบาดได้ดี แต่การออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น มากเกินความจำเป็น  และมีผลกระทบสูงต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
พรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นต่อเรื่องนี้  และได้มีการเรียกร้องให้เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้คนได้ใช้ชีวิตการงานเพื่อเลี้ยงปากท้องของตนและครอบครัว ก่อนสถานการณ์เศรษฐกิจจะล้มละลายจนยากเกินเยียวยา

• ณ วันนี้ เรามีคำถามที่ใหญ่กว่านั้น คือ หลังจากเรื่องนี้คลี่คลายลง ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า นับจากวันนี้

“ไทยมองเห็นโอกาสอะไร และมีแผนจะคว้าโอกาสนั้นอย่างไร?”

• ในประเด็นนี้ ผมมองเห็นโอกาสของไทย ที่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเอง  ทำให้เกิดศูนย์กลาง 4 ด้าน เป็นโอกาสที่จะต้องไขว่คว้าให้ได้ ในยามที่นานาประเทศต่างกำลังฟื้นฟูภาวะทางสังคม เศรษฐกิจจากบาดแผลของโควิด-19 และหาลู่ทางทำธุรกิจแนวใหม่ที่แตกต่างจากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ

1. "ศูนย์กลางการท่องเที่ยวปลอดภัย"
ไทยเป็นประเทศที่สามารถคุมการระบาดได้ดี อันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอื่นกำลังมีปัญหา และเต็มไปด้วยความกังวล หวาดกลัว  การท่องเที่ยวในประเทศเราสามารถเริ่มได้เร็ว และไทยสามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ภายใต้มาตรการป้องกันที่รัดกุมและผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสของไทยในการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยเน้นความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นใจ และใช้จุดเด่นในเรื่องการป้องกันทางสาธารณสุขเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว

2. "ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข"
การรับมือโควิด-19 ได้แสดงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งด้านระบาดวิทยา ที่ทำให้อัตราการแพร่ระบาดต่อประชากรต่ำ และด้านการรักษาที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ป่วยต่ำมาก ไทยมีต้นทุนภาคอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม สปา การใช้สมุนไพรและธรรมชาติบำบัด เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานสูง และยังมีภาคเอกชนด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งมาก เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โอกาสในการพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขที่เชื่อมโยงไปกับการพัฒนาสุขภาพและการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มาก

3. "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสินค้ากลางน้ำแหล่งใหม่"
ช่วงก่อนสงครามการค้า ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติส่วนใหญ่ มักจะเกี่ยวพันกับประเทศจีน สงครามการค้าเป็นความพยายามที่จะสร้างอีกหนึ่งห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ทางการค้าโดยไม่ผ่านจีน หากไม่มีเรื่องโควิด-19 มีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะมี 2 ห่วงโซ่ใหญ่ๆ คือ ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก แต่หลังจากโควิด-19 การที่เศรษฐกิจโลกมีเงื่อนไขผูกมัดกันมาก การผลิตผูกพันกันสูง ทำให้ความเสียหายกระจายในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่โลกจะปรับตัวในการสร้าง “ผู้ผลิตกลางน้ำ” รายเล็กๆ ขึ้น  โดยลดการพึ่งพิงการผลิตจากชาติใหญ่

ผมมองตรงนี้เป็นโอกาส ไทยมีศักยภาพในการเป็นซัพพลายเออร์ ให้กับโลกยุคใหม่ เพราะเรามีค่าแรงที่ไม่แพง มีวัตถุดิบมหาศาล มีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมที่ดี จังหวะที่ทั้งโลกต่างเข็ดขยาดกับการผูกขาดการผลิตในรูปแบบเดิม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะช่วงชิงโอกาสนี้มา

4. “ศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก”
อุตสาหกรรมหนึ่งที่อยู่รอดจากวิกฤติโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เพราะมนุษย์จำเป็นต้องบริโภค และยิ่งจะเลือกบริโภคมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติการณ์นี้ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการผลิตอาหารป้อนโลก แต่ยังทำได้ไม่ดีนักเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งตรงนี้หากพัฒนาได้จะเป็นการสร้างมูลค่าการผลิตแบบก้าวกระโดด จากสินค้าการเกษตรพื้นฐาน กลายเป็นสินค้าการเกษตรคุณภาพ ราคาสูงที่เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งกำลังจะเป็นแนวโน้มของโลกข้างหน้า

• ทั้ง 4 โอกาสข้างต้นที่ผมนำเสนอมา…จะเกิดขึ้นได้  ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ แต่ในทางตรงข้าม จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันหากรัฐบาลไม่กระตือรือร้น สร้างสรรค์ และยังคงวนในกับดักเก่าที่ทำงานและบริหารแบบเดิมไปเรื่อยๆ

รัฐบาลนี้ได้กู้เงินจำนวนมหาศาล แต่ผมมองไม่เห็นทิศทางการวางอนาคตให้ประเทศสักเท่าใด นอกจากความกังวลใจที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความห่วงใยว่า  จะมีการนำทรัพยากรและเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ไปหาประโยชน์ทางการเมืองและหาประโยชน์ส่วนตนของพวกพ้อง
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่กำลังเฝ้าติดตามดู และอยากเห็นการใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมียุทธศาสตร์

ผมอยากฝากให้รัฐบาลมองสถานการณ์หลังโควิด-19 ให้เห็นถึงโอกาส และใช้งบประมาณเหล่านี้  เป็นเครื่องมือไปสร้างอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งโอกาสให้ประเทศ

• รัฐบาลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า…เงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงลูกหลานเป็นลูกหนี้ต่อไปอีกยาวนาน แต่รัฐบาลเป็นคนเอาเงินไปใช้…ฉะนั้นเงินกู้จากสถานการณ์นี้จึงจำเป็นต้องถูกนำไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อฐานเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้

• ทั้งนี้เพราะ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ที่ทำให้คนไทยตกเป็นหนี้ก้อนมหาศาล รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างเต็มที่  แต่กลไกการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายเงิน กลับมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ …อันเป็นระบบที่หละหลวมและอาจเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่ง

• ในส่วนของเงินเยียวยาที่จัดสรรให้ประชาชนเดือนละ 5,000 บาท เป็นจำนวน 3 เดือน ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในการปฏิบัติ เงินช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก ล่าช้า ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ไม่ทันการ จนเป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่   ต้องประสบกับภาวะอดอยาก หิวโหย แร้นแค้นโดยไม่จำเป็น กระบวนการที่ขาดการเตรียมความพร้อม กลับส่งผลให้คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรจำนวนมาก  สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรม และมีคนฆ่าตัวตายรายวัน อันเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนจากปัญหาการจัดการนี้

• ที่สำคัญ ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูฯ ได้เปิดช่องให้มีการใช้วงเงินตามอำเภอใจ  จนเป็นเหตุให้เกิดเป็นการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตก สูญเปล่า หรืออาจมีการใช้เพื่อผลทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลและเอื้อกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ส่วน พ.ร.ก.ช่วยเหลือวิสาหกิจฯ หากไม่มีหลักการที่รัดกุมอาจเปิดช่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่าใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย จนก่อให้เกิดปัญหาคอรัปชั่น และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

• ทั้งหมดคือความจำเป็นสำคัญ ที่ตัวแทนของประชาชน ผู้มีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้ เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลใช้เงินตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

• ทุกท่านครับ การเสวนาในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยหลังโควิด-19 : วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และก้าวย่างของไทย” ที่พรรคเพื่อทไยจัดขึ้นในวันนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์สำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทย เพื่อตอบคำถามว่าโอกาสของไทยหลังโควิด-19 คืออะไร และมียุทธศาสตร์อย่างไรในการไขว่คว้าโอกาสเหล่านั้น

• วันนี้เราได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ / คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ / ดร.โภคิน พลกุล / คุณวัฒนา เมืองสุข / และคุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด มานำเสนอมุมมองในมิติที่หลากหลาย และร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกสำหรับก้าวย่างต่อไปของไทยครับ

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"ยุทธพงศ์" เผย "เพื่อไทย มหาสารคาม" ร้องสอบทุจริต4โครงการรัฐ-วงเงิน190ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจาก นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ  ส.ส.มหาสารคาม ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม เขต-3 และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม เขต-5 และประธาน วิปฯพรรคร่วมฝ่ายค้าน , นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ส.ส.มหาสารคาม เขต-2 , นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ส.ส.มหาสารคาม เขต-4 และ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม เขต-1 ได้เดินทางไปยื่นหนังสือฯ ด่วนที่สุด เลขที่ 2858 ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม (นายเกียรติศักดิ์ จันทรา) เรื่องขอให้ตรวจสอบการล็อกสเปก (กีดกันการแข่งขันราคาฯ) การประกวดราคาในระบบ E-Bidding ของโครงการจ้างก่อสร้างโครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง(ขยายถนน จาก 2.-เลน ไปเป็น 4.-เลน) จำนวน 4 โครงการ, งบประมาณทั้งสิ้น 190 ล้านบาท , โดยเป็นงบประมาณปี 2563 ของจังหวัดมหาสารคาม (งบมหาดไทย)
   
ตามที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้มอบอำนาจให้กรมทางหลวงโดยนายไวพจน์ สำราญดี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงจังหวัดมหาสารคามปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการถนนจำนวน 4.-โครงการ  ดังนี้ คือ
1)โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทาง สาย 2381 (นาเชือก-โพธิ์ทอง) ระยะทาง : 2.50 กม. วงเงินฯ : 50.-ลบ. , วงเงินทำสัญญา 49.985 ลบ. , ลดตำ่กว่าราคากลาง 15,000.-บาท
2)โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2045 (หนองคูโคก-วาปีปทุม ) ระยะทาง : 2.-กม. , วงเงินฯ 40.-ลบ. , วงเงินทำสัญญา 39.985 ลบ. , ลดต่ำกว่าราคากลาง 15,000.-บาท
3)โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2040 (วาปีปทุม-พยัคฆภูมิพิสัย ) ระยะทาง 2.50 กม. , วงเงินทำสัญญา 49.985 ลบ. , ลดตำ่กว่าราคากลาง 15,000.-บาท
4)โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2040 (มหาสารคาม-วาปีปทุม ) ระยะทาง 2.50 กม.  , วงเงินทำสัญญา 49.970 ลบ. , ลดตำ่กว่าราคากลาง 30,000.-บาท
   
ทั้งนี้ปรากฏว่าการประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์(E-Bidding) ทั้ง 4.-โครงการฯ ได้ผู้รับจ้างรายเดียวทั้งหมดคือ หจก.บรบือพรเทพ และลดราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อยคือโครงการละ 15,000 บาท และพบว่าในประกาศประกวดราคาของ 4 โครงการ มีการใช้ข้อกำหนด ต่างๆ


ดังนั้น ส.ส. จังหวัดมหาสารคามทั้ง 5 จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือฯให้ท่านผู้ว่าการจังหวัดมหาสารคามได้ตรวจสอบความโปร่งใสและป้องกันการกระทำความผิดตาม พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน


และ ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค. 2563)  ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม ทั้งจังหวัด จะได้ยื่นเรื่อง ตรวจสอบทุจริตก่อสร้างถนนฯ ดังกล่าว ให้ ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย และ อธิบดีกรมทางหลวง ได้ตรวจสอบต่อไป