วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"สมพงษ์" นำเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศน์ อนาคตประเทศไทยหลังโควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงารนว่า พรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนาผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ออนไลน์ หัวข้อ "อนาคตประเทศไทย หลังโควิด-19 : วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และก้าวย่างของไทย" นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และมี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ


นายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร วีดิโอคอนเฟอเรนซ์ออนไลน์ ว่า

• ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ต้องพิจารณาในสองประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน คือ

“ความสมดุลด้านระบาดวิทยา กับ เรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ”

ประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง  ไม่ใช่ประเทศที่หยุดการระบาดได้อยู่หมัดบนซากปรักหักพัง และไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยการระบาดรุนแรงจนยืดเยื้อ  กระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับเป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้การระบาดอยู่ในภาวะควบคุมได้ พร้อมกับประคองเศรษฐกิจ ให้ยืนอยู่ได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

• สำหรับประเทศไทย เราจัดอยู่ในประเทศควบคุมการระบาดได้ดี แต่การออกมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น มากเกินความจำเป็น  และมีผลกระทบสูงต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
พรรคเพื่อไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นต่อเรื่องนี้  และได้มีการเรียกร้องให้เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้คนได้ใช้ชีวิตการงานเพื่อเลี้ยงปากท้องของตนและครอบครัว ก่อนสถานการณ์เศรษฐกิจจะล้มละลายจนยากเกินเยียวยา

• ณ วันนี้ เรามีคำถามที่ใหญ่กว่านั้น คือ หลังจากเรื่องนี้คลี่คลายลง ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า นับจากวันนี้

“ไทยมองเห็นโอกาสอะไร และมีแผนจะคว้าโอกาสนั้นอย่างไร?”

• ในประเด็นนี้ ผมมองเห็นโอกาสของไทย ที่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเอง  ทำให้เกิดศูนย์กลาง 4 ด้าน เป็นโอกาสที่จะต้องไขว่คว้าให้ได้ ในยามที่นานาประเทศต่างกำลังฟื้นฟูภาวะทางสังคม เศรษฐกิจจากบาดแผลของโควิด-19 และหาลู่ทางทำธุรกิจแนวใหม่ที่แตกต่างจากการทำธุรกิจแบบเดิมๆ

1. "ศูนย์กลางการท่องเที่ยวปลอดภัย"
ไทยเป็นประเทศที่สามารถคุมการระบาดได้ดี อันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอื่นกำลังมีปัญหา และเต็มไปด้วยความกังวล หวาดกลัว  การท่องเที่ยวในประเทศเราสามารถเริ่มได้เร็ว และไทยสามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้เร็วกว่าประเทศอื่น ภายใต้มาตรการป้องกันที่รัดกุมและผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสของไทยในการสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยเน้นความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นใจ และใช้จุดเด่นในเรื่องการป้องกันทางสาธารณสุขเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว

2. "ศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุข"
การรับมือโควิด-19 ได้แสดงถึงศักยภาพด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งด้านระบาดวิทยา ที่ทำให้อัตราการแพร่ระบาดต่อประชากรต่ำ และด้านการรักษาที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ป่วยต่ำมาก ไทยมีต้นทุนภาคอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม สปา การใช้สมุนไพรและธรรมชาติบำบัด เป็นที่ยอมรับและมีมาตรฐานสูง และยังมีภาคเอกชนด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งมาก เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โอกาสในการพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์และสาธารณสุขที่เชื่อมโยงไปกับการพัฒนาสุขภาพและการท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มาก

3. "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและผู้ผลิตสินค้ากลางน้ำแหล่งใหม่"
ช่วงก่อนสงครามการค้า ห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติส่วนใหญ่ มักจะเกี่ยวพันกับประเทศจีน สงครามการค้าเป็นความพยายามที่จะสร้างอีกหนึ่งห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ทางการค้าโดยไม่ผ่านจีน หากไม่มีเรื่องโควิด-19 มีความเป็นไปได้สูงที่โลกจะมี 2 ห่วงโซ่ใหญ่ๆ คือ ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก แต่หลังจากโควิด-19 การที่เศรษฐกิจโลกมีเงื่อนไขผูกมัดกันมาก การผลิตผูกพันกันสูง ทำให้ความเสียหายกระจายในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่โลกจะปรับตัวในการสร้าง “ผู้ผลิตกลางน้ำ” รายเล็กๆ ขึ้น  โดยลดการพึ่งพิงการผลิตจากชาติใหญ่

ผมมองตรงนี้เป็นโอกาส ไทยมีศักยภาพในการเป็นซัพพลายเออร์ ให้กับโลกยุคใหม่ เพราะเรามีค่าแรงที่ไม่แพง มีวัตถุดิบมหาศาล มีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมที่ดี จังหวะที่ทั้งโลกต่างเข็ดขยาดกับการผูกขาดการผลิตในรูปแบบเดิม จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะช่วงชิงโอกาสนี้มา

4. “ศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก”
อุตสาหกรรมหนึ่งที่อยู่รอดจากวิกฤติโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เพราะมนุษย์จำเป็นต้องบริโภค และยิ่งจะเลือกบริโภคมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติการณ์นี้ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการผลิตอาหารป้อนโลก แต่ยังทำได้ไม่ดีนักเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งตรงนี้หากพัฒนาได้จะเป็นการสร้างมูลค่าการผลิตแบบก้าวกระโดด จากสินค้าการเกษตรพื้นฐาน กลายเป็นสินค้าการเกษตรคุณภาพ ราคาสูงที่เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งกำลังจะเป็นแนวโน้มของโลกข้างหน้า

• ทั้ง 4 โอกาสข้างต้นที่ผมนำเสนอมา…จะเกิดขึ้นได้  ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ แต่ในทางตรงข้าม จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันหากรัฐบาลไม่กระตือรือร้น สร้างสรรค์ และยังคงวนในกับดักเก่าที่ทำงานและบริหารแบบเดิมไปเรื่อยๆ

รัฐบาลนี้ได้กู้เงินจำนวนมหาศาล แต่ผมมองไม่เห็นทิศทางการวางอนาคตให้ประเทศสักเท่าใด นอกจากความกังวลใจที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความห่วงใยว่า  จะมีการนำทรัพยากรและเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ไปหาประโยชน์ทางการเมืองและหาประโยชน์ส่วนตนของพวกพ้อง
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่กำลังเฝ้าติดตามดู และอยากเห็นการใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมียุทธศาสตร์

ผมอยากฝากให้รัฐบาลมองสถานการณ์หลังโควิด-19 ให้เห็นถึงโอกาส และใช้งบประมาณเหล่านี้  เป็นเครื่องมือไปสร้างอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งโอกาสให้ประเทศ

• รัฐบาลต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า…เงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงลูกหลานเป็นลูกหนี้ต่อไปอีกยาวนาน แต่รัฐบาลเป็นคนเอาเงินไปใช้…ฉะนั้นเงินกู้จากสถานการณ์นี้จึงจำเป็นต้องถูกนำไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อฐานเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้

• ทั้งนี้เพราะ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ที่ทำให้คนไทยตกเป็นหนี้ก้อนมหาศาล รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวอย่างเต็มที่  แต่กลไกการตรวจสอบและกำกับการใช้จ่ายเงิน กลับมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ …อันเป็นระบบที่หละหลวมและอาจเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใส ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่ง

• ในส่วนของเงินเยียวยาที่จัดสรรให้ประชาชนเดือนละ 5,000 บาท เป็นจำนวน 3 เดือน ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในการปฏิบัติ เงินช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก ล่าช้า ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ไม่ทันการ จนเป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่   ต้องประสบกับภาวะอดอยาก หิวโหย แร้นแค้นโดยไม่จำเป็น กระบวนการที่ขาดการเตรียมความพร้อม กลับส่งผลให้คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรจำนวนมาก  สูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรม และมีคนฆ่าตัวตายรายวัน อันเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนจากปัญหาการจัดการนี้

• ที่สำคัญ ในส่วนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูฯ ได้เปิดช่องให้มีการใช้วงเงินตามอำเภอใจ  จนเป็นเหตุให้เกิดเป็นการใช้เงินแบบเบี้ยหัวแตก สูญเปล่า หรืออาจมีการใช้เพื่อผลทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาลและเอื้อกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ส่วน พ.ร.ก.ช่วยเหลือวิสาหกิจฯ หากไม่มีหลักการที่รัดกุมอาจเปิดช่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเกิดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่าใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย จนก่อให้เกิดปัญหาคอรัปชั่น และเกิดความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

• ทั้งหมดคือความจำเป็นสำคัญ ที่ตัวแทนของประชาชน ผู้มีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้ เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลใช้เงินตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

• ทุกท่านครับ การเสวนาในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยหลังโควิด-19 : วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์และก้าวย่างของไทย” ที่พรรคเพื่อทไยจัดขึ้นในวันนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์สำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทย เพื่อตอบคำถามว่าโอกาสของไทยหลังโควิด-19 คืออะไร และมียุทธศาสตร์อย่างไรในการไขว่คว้าโอกาสเหล่านั้น

• วันนี้เราได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ / คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ / ดร.โภคิน พลกุล / คุณวัฒนา เมืองสุข / และคุณอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด มานำเสนอมุมมองในมิติที่หลากหลาย และร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกสำหรับก้าวย่างต่อไปของไทยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น