วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"เผ่าภูมิ" ห่วงเศรษฐกิจไทยถดถอย คนตกงานพุ่ง


ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า IMF ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ -6.7% "กระทบจากโควิดมากสุดในภูมิภาค และติดลบเป็นอันดับต้นๆของโลก" คำถามที่เกิดขึ้นต่อ คือ ไทยคุมเชื้อเร็วกว่าคนอื่น ทำไมเศรษฐกิจจึงทรุดหนักกว่า เรื่องนี้มี 3 เหตุผล

1) เหตุผลเชยๆ ที่ใครๆก็พูดกัน ซึ่งจริง แต่ไม่ทั้งหมด คือไทยมีเศรษฐกิจที่เปิดต่อเศรษฐกิจโลกสูง พึ่งพิงส่งออก และภาคบริการสูง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด

2) ข้อนี้สำคัญกว่า นั่นคือ มาตรการที่ผิดพลาด โดยในช่วงแรกของการระบาด และให้หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีสามสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ 1) ป้องกันธุรกิจล้ม 2) หยุดเลือดการตกงาน และ 3) ป้องกันความเสียหายไหลสู่สถาบันการเงิน รัฐบาลเลือกทำในส่วนที่ 1,3 แต่ละเลยในส่วนที่ 2 โดยปล่อยให้มีการตกงานตามยถากรรมจำนวนมหาศาล ปล่อยให้นายจ้างเลิกจ้างได้ตามใจชอบ ซึ่งตรงนี้สำคัญและอันตราย

มาตรการที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอ คือ รัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง โดยมีข้อแม้ว่านายจ้างต้องคงการจ้างงานไว้ หรือแม้กระทั่งสินเชื่อสำหรับพยุงการจ้างงานโดยเฉพาะ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ แต่รัฐบาลเลือกที่จะไม่ทำ การดำรงการจ้างงานสามารถเอาไปผูกเป็นเงื่อนไขได้ในเกือบทุกมาตรการที่ช่วยเหลือภาคธุรกิจ ก็ไม่ทำอีก เมื่อไม่มีมาตรการหยุดเลือดการตกงาน การว่างงานจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่มหึมา เหมือนน้ำที่ทะลักแล้วหยุดไม่อยู่ ผลต่อเศรษฐกิจจึงสูง ดิ่งลึกกว่าประเทศอื่น การแก้ไขจึงต้องหันไปใช้งบประมาณเยียวยามากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะรัฐไม่เลือกที่จะป้องกัน แต่เน้นมาเยียวยาทีหลัง

3) การแช่แข็งเศรษฐกิจประเทศ ทำเกินความจำเป็นไปมาก พึงระลึกว่า รัฐบาลที่น่าชื่นชมไม่ใช่รัฐที่หยุดการระบาดด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มหาศาล และไม่ใช่รัฐที่ไม่ยอมแลกต้นทุนอะไรเลยในการควบคุมโรค แต่ผู้ที่ชนะในศึกนี้ คือ รัฐที่สมดุล คุมการระบาดอยู่ในระดับที่รับไหวและประคองเศรษฐกิจให้พอยืนอยู่ได้ในวันที่โลกยังไม่มีวัคซีน

ทั้งหมดตอบคำถามที่ว่า ทำไมไทยโควิค คลี่คลายเร็ว แต่สร้างรอยแผลฉกรรจ์กว่าประเทศอื่นๆ

เลยเป็นเรื่องที่ "น่าเสียดายและน่าเศร้า" ที่ความเสียสละของประชาชน และความทุ่มเทของแพทย์ ถูกหักล้างหมดสิ้นด้วยมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น