วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทยพลัส" แถลงเตรียมจัดงานสัมมนาออนไลน์

กลุ่มเพื่อไทยพลัสจัดสัมมนาออนไลน์ร่วมกับตัวแทนเยาวชนอาเซียนเรื่องความร่วมมือโลกหลังโควิด-19 


นายจุลพันธุ์  อมรวิวัฒน์ ประธานกลุ่มเพื่อไทยพลัสกล่าวว่าแม้จะมีช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาพวกเราก็ยังมีการประชุมผ่าน Zoom กันมาตลอด แต่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากขึ้นเพราะต้องมีการรักษาระยะห่างทางสังคมในเรื่องของโรคโควิด-19 ตอนนี้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้นบ้างแต่ก็มีปัญหาเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ตามมา เราก็พยายามจะหาทางออกเพื่อให้สังคมได้ปรับตัวสำหรับแนวทางหรือสังคม New Normal ที่จะเกิดขึ้นในสังคมต่อไปหลังจากโรคโควิด-19 ซาลง

วันนี้กลุ่มเพื่อไทยพลัสได้เตรียมการที่จะจัดสัมมนาทางออนไลน์ เรื่องแรกคือความร่วมมือทางอาเซียน หลังโควิด-19 เรื่องที่ 2 คือเรื่องสตาร์ทอัพ ต้องยอมรับว่าเด็กยุคใหม่ในเมืองไทยเข้าสู่กระบวนการดิจิตอล ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของประชาชนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราจะเชิญบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะ ให้เข้ามาร่วมเสวนากับพรรค เพื่อจะนำแนวคิดไปปรับใช้ได้ ครั้งที่ 3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพหลังโควิด-19 สภาวะหลังจากโรคระบาด เชื่อได้ว่าการทำมาหากิน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก็จะเรียนเชิญบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นติวเตอร์มาแนะนำให้ความเห็นกับน้องๆเยาวชนต่อไป

ทั้งนี้การเสวนาออนไลน์จะเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับมีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยสั้นๆ ในวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00น. ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม สิงค์โปร์ และลาว

"เพื่อไทย" แถลงเร่งรัฐยุติ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


"เพื่อไทย" เร่งรัฐ ยุติใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้หมดความจำเป็น อ้างกฎหมายคุมประชาชน หวั่นเปิดช่องทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่ต้องประมูล 


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการต่อพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 1 เดือน ว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และควรนำพ.ร.บ.โรคระบาดมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในไทย ก็ใช้เพียงพ.ร.บ.โรคระบาด แต่เห็นด้วยในตอนแรกที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก แต่หลังจากนั้น การติดเชื้อในประเทศไม่มีแม้แต่รายเดียวเป็นเวลา 34 วันต่อกัน จึงไม่มีความจำเป็น ในการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้จะทำให้เกิดข้อเสียมากขึ้น โดยจะกระทบกับภาคเศรษฐกิจ ที่จะหนักมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลต้องรักษาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การคงพ.ร ก. ฉุกเฉินสร้างความไม่มั่นใจในการค้าการลงทุน อีกทั้งการใช้งบประมาณต้องโปร่งใส ตราบใดที่ยังคงพ.ร.กฉุกเฉินอยู่ การใช้งบต้องเป็นวิธีพิเศษ เกรงว่าจะใช้เป็นข้ออ้างในการหาประโยชน์ ในการใช้งบประมาณได้


ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมาธิการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า การต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นอาจเป็นการเปิดช่องให้ก่อการทุจริตขึ้นมาเยอะ เพราะหลังจากที่มีคณะกรรมาธิการกรั่นกรองขึ้นมา และได้วินิจฉัยข้อขัดแย้งจนนำไปสู่การแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะโดยปกติ การจัดซื้อจัดจ้างโดยงบประมาณที่มีมูลค่าสูง จะต้องเข้าสู่กระบวนการประมูล หรืออีบิดดิ้ง แต่ในระหว่างที่บังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องใช้การจัดซื้อจัดจ้างแบบอีบิดดิ้ง ไม่ว่าจะมูลค่าเท่าใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้อาศัยพ.ร.ก.ฉุกเฉินยกเว้นการประมูล   จากข้อสังเกตจะพบว่าเมื่อขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วแต่ยังไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จทันเดือนมิถุนายน การจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องทอดเวลาไปอีกอย่างน้อย1เดือน จึงได้เห็ยการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก1เดือนเช่นกัน โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ต้องประมูล นี่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัด หากรัฐบาลเห็นว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้สะท้อนไม่เป็นความจริงขอให้ชี้แจงว่าสิ่งที่ได้ทำเป็นการเปิดช่องไปสู่การทุจริจหรือไม่?


ขณะที่ นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ออกมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(ศบค.) ซึ่งขณะนี้ไม่มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในไทย 35 วันแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และรัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 5% ในปี2564 หากรัฐบาลยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ จะไม่สามารถให้เศรษฐกิจโตได้  เหตุแห่งความจำเป็นตามประกาศของรัฐบาลในการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มีอีกต่อไปแล้ว นอกเสียจากเหตุผลทางการเมืองที่ควบคุมประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความเห็น พรรคเพื่อไทย จึงเสนอให้ เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในทันที


วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" ค้านทุบแฟลตคลองจั่น

อดีตผู้สมัคร ส.ส.บางกะปิ เพื่อไทย คัดค้านการทุบแฟลตการเคหะคลองจั่น เพื่อสร้างคอนโดสูง โดยไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

 
นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส และอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ถึงกรณีมีการแชร์เอกสารเรื่องบอร์ดการเคหะแห่งชาติ กำลังเตรียมทำโครงการคอนโดสูง โดยทุบแฟลตการเคหะหลังปัจจุบันว่า
 
จากกระแสข่าว และการแชร์เอกสาร เรื่อง บอร์ดการเคหะแห่งชาติ กำลังพิจารณาทำเมกะโปรเจ็ค เพื่อสร้างคอนโดสูง คร่อมบึงพังพวย โดยจะทุบแฟลตการเคหะคลองจั่นปัจจุบัน และรื้อสนามกีฬาปัจจุบัน เพื่อสร้างคอนโดสูง โดยคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ที่เป็นโควตาการเมือง แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีนั้น
 
ผม ในฐานะ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตบางกะปิ-วังทองหลาง ขอคัดค้าน การสร้างคอนโดสูง ในระแวกแฟลตการเคหะคลองจั่น และทุบอาคารแฟลต เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ก่อน ว่ามีความเห็นถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างไร

"เพื่อไทย" ติวเข้ม 61 ส.ส.อภิปรายงบปี 64

พรรคเพื่อไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจัดโครงการติวเข้ม เสริมทักษะ ส.ส.คุณภาพที่จะอภิปรายงบประมาณปี พ.ศ.2564 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา บรรยายให้ 61 ส.ส.ขุนพลของพรรค โดยพรรคได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งจากภาครัฐ เอกชนและบุคลากรภายในพรรค โดยแบ่งหมวดหมู่การอภิปรายเป็นด้านๆ


ทั้งนี้ การอภิปรายครั้งนี้ถูกจับตามองว่าเป็นการจัดทำงบซ้ำซ้อน เราจะไม่เปิดช่องให้มีการทุจริต ในอดีตเราได้ยินนโยบายรัฐบาลในอดีตว่า “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กลับเปลี่ยนสนามการค้าเป็นสนามงบประมาณ เพราะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง งบประมาณ 64 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท อาจเป็นการจัดทำงบประมาณแบบทิ้งทวน และหลังงบปี 64 อาจจะยุบสภาฯ พรรคเพื่อไทยจึงยิ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน


วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"ทวี" นำประชุมฝ่ายค้าน ห่วงคดีหมู่อาร์ม-สอบงบรัฐ


คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชุมที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย โดยมีพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติเป็นประธาน พร้อมแกนนำจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมประชุมด้วย 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมห่วงกรณี ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือ #หมู่อาร์ม ที่ได้ออกมาให้ข้อมูล ให้เบาะแสที่คาดว่าอาจจะเกิดการทุจริตในหน่วยงานที่สังกัด แต่กลับถูกกองทัพดำเนินคดี โดยมองว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นการขัดขวาง หรือ การกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องรัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชน และข้าราชการหน่วยงานรัฐช่วยกันขจัดและป้องกันการทุจริต ซึ่งจะทำให้บุคคลที่ต้องการเปิดเผยการทุจริตรู้สึกหวาดกลัว ดังนั้น พรรคประชาชาติและพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงได้เสนอให้แก้ พรบ ธรรมนูญศาลทหารเพื่อให้ทหารที่ถูกกล่าวว่ากระทำผิดต้องถูกดำเนินคดียังศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับข้าราชการตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ในเรื่องเขตอำนาจของศาลทหารด้วย เพราะขณะนี้ศาลทหารมีอำนาจไปรุกล้ำพลเรือน แม้แต่คดีทุจริตคอรัปชั่น ปปช ยังส่งฟ้องต่อศาลทหารต่างกับข้าราชการอื่นที่ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมทั้งห่วงเรื่องกระบวนการในการพิจารณาคดีของศาลทหารด้วย จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหลักฐาน ความถูกต้อง และให้ความเป็นธรรม


ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านกังวลว่าหมู่อาร์ม จะไม่ได้รับสิทธิตามที่ได้รับ โดยเฉพาะการขอใช้สิทธิประกันตัว ที่คาดว่าจะมีการคัดค้าน แต่มองว่าคดีนี้ไม่ถือเป็นการก่ออาชญากรรม ซึ่งการขอประกันตัวเป็นสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับ และหมู่อาร์มไม่ควรได้รับการคุมขัง เพราะถือเป็นบุคคลตัวอย่างที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องการทุจริต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาทหารบก พร้อมทั้งจะติดตามการทำหน้าที่ของศาลทหาร เพราะที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาคดีของศาลทหารมักไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายคดี


นอกจากนี้ ที่ประชุม จะติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ ที่รัฐบาลจะนำไปฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าว แต่ในสัดส่วนของกรรมาธิการพบว่ามีฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก จึงมองว่า จะทำให้การตรวจสอบรัฐบาลทำได้ยาก พร้อมทั้งห่วงเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่า งบประมาณส่วนใหญ่มีหลายโครงการที่จะไปอุ้มคนรวย แต่ไม่มีโครงการที่จะนำไปเยียวยาการสร้างรายได้ โดยเฉพาะการแก้หนี้ครัวเรือน หรือหนี้ กยศ. รวมถึงจะมีการนำงบประมาณไปใช้จ่าย อุ้มนายทุน กับข้าราชการ จึงฝากให้ประชาชนช่วยกันติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลอย่างเข้มงวด










วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สุดประทับใจ! "พานทองแท้" แสดงความยินดีครบรอบวันเกิด "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดย ระบุว่า


สุขสันต์วันเกิดครับอาปู วันเกิดปีนี้ โอ๊คขอให้อามีความสุขมากๆ สุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตในทุกๆ วันอย่างมีความสุข และมีพลังใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่อามุ่งหวังตั้งใจได้สำเร็จ

โอ๊คต้องกราบขอบพระคุณอาปู สำหรับคำแนะนำ และกำลังใจที่อามีให้โอ๊คตลอดเวลาที่ผ่านมา
โอ๊คขอเป็นกำลังใจให้อาปูเช่นกัน และหวังว่าจะได้พบกับอาปูเร็วๆ นี้ครับ

หลานโอ๊ค

“ยิ่งลักษณ์” ขอคนไทยเข้มแข็ง ขอบคุณทุกกำลังใจ-อวยพรครบรอบวันเกิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


เป็นอีกปีหนึ่งที่ดิฉันขอส่งความขอบคุณสำหรับทุกคำอวยพรในวันเกิดปีนี้ ที่ส่งผ่านมาจากหลายช่องทางมาให้กับดิฉัน บางท่านก็นัดกันเป่าเค้กอวยพรวันเกิดและส่งคำอวยพรเป็นวิดีโอมาให้ แม้ว่าปีนี้สถานการณ์จะทำให้วิถีชีวิตเราต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่เรียกว่า New Normal ทุกคนต้องปรับตัวสู่มาตรฐานแบบใหม่ แต่สำหรับดิฉันไม่ว่าจะความหมายใด ทุกท่านยังคงอยู่ในใจของดิฉันเสมอค่ะ

ขอให้ทุกคำอวยพร ทุกความปรารถนาดีที่ทุกท่านตั้งใจมอบให้กับดิฉัน ส่งผลย้อนกลับไปสร้างสิ่งดี ๆให้กับแฟนคลับ และพี่น้องประชาชนทุกคนด้วยนะคะ

ขอให้เราผ่านพ้นจากสถานการณ์โควิด-19 และพิษจากเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงกันมา ดิฉันก็ขอให้ทุกคนมีกำลังใจที่ดี มีหัวใจที่เข้มแข็ง เพื่อที่ฟันฝ่าต่ออุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้ด้วยดี เราจะเป็นกำลังใจให้กันและกันเหมือนเดิม ตลอดไปค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

"วัฒนรักษ์" แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช หรือ ผู้กองมาร์ค กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 เริ่มจางลง แต่ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 กำลังจะกลับมา ทั้ง ๆ ที่ประชาชนพึงมีสิทธิ์ได้รับอากาศสะอาด ปราศจากมลพิษ แต่ค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ฝุ่นประเภทนี้มีขนาดเล็กทำให้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นับจนถึงตอนนี้ ก็เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที หรือแผนดังกล่าวคือจะเป็นแค่การวาง “แพลนนิ่ง” เพราะ “นิ่ง” จนประชาชนยังไม่เห็นถึงการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม หากรัฐบาลสามารถนำข้อมูลการดำเนินงานดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลไทยเพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้และตรวจสอบความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการดังกล่าวแบบวันต่อวันได้ ก็จะเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษทุกคันซึ่งถือเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 และต้องดำเนินการตรวจตราอย่างเคร่งครัด สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน และจะต้องไม่อนุญาตให้โรงงานนั้นเปิดทำการจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ พัฒนาแอปพลิเคชันตรวจเช็คคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม และต้องดำเนินนโยบายผลักดันให้พลเมืองเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้รัฐต้องมีนโยบายลดภาษีการต่อทะเบียนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) เป็นร้อยละ 0 สร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศให้ทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายใน 3 ปี  มีช่องจราจรพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเฉพาะบริเวณที่มีการจราจรติดขัด ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะฟรีในวันที่มีฝุ่นควันเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล ในช่วงนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝน มักเห็นสำนักงานเขตออกมาตัดต้นไม้เนื่องจากเกรงว่าลมที่พัดแรงในหน้าฝนจะพัดกิ่งก้านของต้นไม้ไปโดนสายไฟ บ่อยครั้งการตัดต้นไม้จนแทบจะไม่เหลือใบปราศจากหลักรุกขศาสตร์ทำให้ต้นไม้ตายและไม่สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อีก รัฐบาลควรดำเนินโครงการนำสายไฟลงดินอย่างเร่งด่วน และสนับสนุนให้ประชาชนปลูกต้นไม้โดยมีแรงจูงใจเป็นนโยบายลดหย่อนภาษี ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ ถ้าหากเรามีอากาศที่บริสุทธิ์ด้วย คุณภาพชีวิตของคนไทยก็จะดียิ่งขึ้น สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ มี “ความจริงใจ” อย่างที่ท่านได้กล่าวไว้ ก็ควรนำงบประมาณอันมีที่มาจากเงินภาษีของประชาชนมาแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 แน่นอนว่าย่อมคุ้มค่ากว่าการนำเงินของประชาชนไปซื้อเรือดำน้ำ รถถัง และเครื่องบินรบ

"สุชาติ" แนะรัฐใช้มาตรการ​ "คิวอี" ฟื้นเศรษฐ​กิจ

ศาสตราจารย์​ ดร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรมว​คลัง​: แนะ​ให้รัฐบาลเร่งฟื้นเศรษฐ​กิจให้เติบโตสูง​ โดยใช้มาตรการ​ คิวอี​ (QE)​ คือให้ธนาคารชาติ​ ซื้อพันธบัตร​รัฐบาล​ออกจากตลาดเงิน​ให้มากพอ​ จะทำให้รายได้ภายในประเทศ​ และรายได้ส่งออกจะสูงขึ้น​ ทำให้ประเทศและประชาชนมีฐานะดีรวดเร็วขึ้น​


ศ.สุชาติ​ฯ​ กล่าวว่า​ ภาวะโรคระบาดโควิค-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง ประชาชนต้องหยุดค้าขาย หยุดเดินทาง มีผลให้เกิดการตกงานและเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นจำนวนมากทั่วโลก

รายได้สำคัญของประเทศไทยจากการส่งออกและท่องเที่ยวได้ลดลงมากมาย รัฐบาลก็ได้ให้ประชาชนไทยหยุดงาน​ หยุดกิจการ​ และได้กู้เงินจำนวนมาก​ มาแจกประชาชนเพื่อให้ดำเนินชีวิตไปได้ในระยะสั้น

เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด เริ่มเบาบางลงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนได้กลับมาทำงาน​ มีรายได้ที่แท้จริงของตนเอง ภายใต้ภาวะความปกติใหม่ (New Normal) คือการรักษาระยะห่าง​ และรักษาความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น

การทำให้ประเทศกลับมาเจริญเติบโตสูงขึ้นโดยเร็ว จึงควรเป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลจะต้องทำก่อน ซึ่งหากทำได้ ปัญหาอื่นๆ​ ก็จะแก้ได้ไขได้ง่ายขึ้นมาก

สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนใช้มาตรการ QE​ (Quantitative Easing) คือเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนเอง​ เป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนมากขึ้น​ ทำให้ประชาชนสามารถค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า​ได้มากขึ้น​ มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดทุนและตลาดทรัพย์สินมีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดการขาดความเชื่อมั่น

รัฐบาลไทยก็ต้องเร่งให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องเติบโตในอัตราการสูง เพื่อสร้างรายได้และฐานะของประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น

มาตรการ QE​ เป็นมาตรการสำคัญที่ใช้กันทั่วโลก โดยรัฐบาลให้ธนาคารชาติเข้า​ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารชาติ​ (ที่ออกมาขายก่อนหน้านี้)​ ออกจากตลาดเงินในจำนวนมากพอ

จากนั้น​ รัฐบาลควรใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน ​(Exchange​ rate targeting policy)​ แทนการใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ​(Inflation targeting policy)

การใช้มาตรการคิวอี​ และนโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน จะทำให้​ (1) ​ปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น​ ประชาชนจะสามารถค้าขายกันมากขึ้น แต่ละคนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น​ (2)​ ค่าเงินบาทจะอ่อนลง​เมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ (เงินบาทควรเป็น 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ)​ ซึ่งทำให้รายได้ส่งออกในรูปเงินบาทมากขึ้น​ (แม้ขายในปริมาณเท่าเดิม) ประเทศและประชาชนจะมีฐานะดีขึ้น​รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นด้วย  ปัญหาอื่นๆ​ ของประเทศก็จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น

 รัฐบาลไทยเคยใช้มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ทำให้ในช่วงปี 2530 ถึง 2538 ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตสูง​เฉลี่ย 10% เป็นเวลาถึง​ 9 ปี​ ซึ่งในตอนนั้น​ เรียกว่า​นโยบายตระกร้าเงิน​ (Basket of Currencies).. ศ.สุชาติ​ กล่าว

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"กลุ่มแคร์" ประกาศเจตนารมณ์ คิด-เคลื่อน-ไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานจาก วอยซ์ สเปซ ว่า กลุ่มแคร์ ที่เป็นสมาชิกเริ่มต้น อาทิ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค นางวีรพร นิติประภา น.ส.ลักขณา ปันวิชัย นายศุภวุฒิ  สายเชื้อ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช น.ส.รัสรินทร์  ชินโชติธีรานันท์ นายภูมิธรรม เวชชยชัย และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ร่วมเปิดตัวกลุ่มอย่างเป็นทางการ 


โดย น.ส.ลักขณา เป็นตัวแทนอ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ว่า ไม่มีครั้งใดที่โลกจะเรียกร้องประชากรของมันมากเท่ากับวันนี้ วันที่โลกทั้งใบต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดไนน์ทีน ซึ่งส่งผลกระทบที่ลึกร้าวยาวนาน อัตคัตสาหัส แผ่ขยายเป็นวงกว้างกว่าทุกครั้งที่มนุษยชาติเคยเผชิญ และซ้ำร้ายยังเกิดในห้วงเวลาที่ประเทศไทยตกต่ำ อ่อนแอในแทบทุกมิติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ คำถามใหญ่ในสังคมไทยวันนี้ คือประเทศไทยเราจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรกัน เพราะวันนี้ ประเทศไทยเหมือนตกอยู่ในกับดักที่ไร้ทางออก ทุกปัญหาโยงใยกันไปหมดทั้งการเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา การเกษตร สุขภาพ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ทั้งหมดทั้งปวงล้วนส่งผลกระทบต่อความหวังของประชาชน แล้วเราจะฟื้นคืนความหวังให้กลับมาได้อย่างไร เราทราบดีว่า การตอบคำถามใหญ่เช่นนี้ ไม่ง่ายเลย แต่เราเชื่อว่า หัวใจสำคัญ ในการตอบคำถามใหญ่นี้ อยู่ที่คำเล็กๆ 3 คำคือ คิด-เคลื่อน-ไทย

คิด คือการรุกระดมทุกมันสมอง ผนึกทุก ”ความคิด” มาช่วยกันหาทางออกของปัญหาต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์. เคลื่อน คือสร้างเครือข่ายให้ทุกคน ในทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมกัน “เคลื่อน” และขับดันให้เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และศิลปวัฒนธรรม สามารถฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ไทย ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ก็จะกลับมาเป็นประเทศที่ทุกผู้คนมีความหวัง มีสิทธิและศักดิ์ศรี มีเสรีภาพในการแสดงออก ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง กลุ่ม C-A-R-E ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์นี้

แคร์ คือกลุ่มคนจากหลากหลายวงการ หลากหลายสาขาวิชาชีพ หลากหลายประสบการณ์และหลากหลายวัย ที่ “ห่วงใย” ต่ออนาคตของประเทศนี้ เราจะระดมคลังสมอง ขยายเครือข่าย เปิดพื้นที่สร้างความร่วมมือใหม่ให้ทุกคนมาร่วมกัน “คิด-เคลื่อน-ไทย” เพื่อสร้างความเป็นไปได้นับล้านๆ ในการขับเคลื่อนประเทศอันเต็มไปด้วยศักยภาพของเรา ให้สามารถกลับไปหยัดยืนสง่างาม มีศักดิ์ศรี เคียงข้างอารยะประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าคุณ C-A-R-E ให้เรามา คิด-เคลื่อน-ไทย ไปด้วยกัน


ด้าน นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า เราเริ่มต้นจากการเห็นปัญหาของประเทศ แล้วรวมตัวคนจากคนหลายๆคนเข้ามา ขณะนี้เรามีสมาชิกอยู่ 30-40 ท่านแล้ว เราเริ่มต้นจากความคิดที่เป็นบวก เริ่มต้นจากความสร้างสรรค์ มากกว่าการทำลาย เน้นหาคำตอบ และหาทางออกให้กับประเทศ ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เพ้อฝัน และต้องสานฝันให้เป็นจริง เมื่อครั้งเราเป็นรัฐบาล เราถูกสบประมาท และดูถูกเรื่องการเอาเงินงบประมาณมาจากไหน แต่เราก็ทำสำเร็จมาแล้ว เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค 






"วัฒนรักษ์" เตือนรัฐ ใช้งบ พ.ร.ก.กู้เงิน ให้ตรงจุด-ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีการปิดประเทศ (Lock Down) และการห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค จึงได้มีการปิดสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น ทะเล ป่า อุทยานต่างๆ  เป็นการชั่วคราว ทำให้ธรรมชาติได้มีโอกาสพักหายใจ ทำให้มลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลง ในส่วนของประเทศไทยพบว่า ปริมาณความหนาแน่นของไนโตรเจนไดออกไซด์ มีปริมาณที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ประเทศเราได้โอกาสในการพัฒนาเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมากเพราะพอปลดล็อก เพียงไม่กี่วันเท่านั้นก็ได้มีการตั้งวงเหล้าริมหาด ซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีการควบคุมทั้งในส่วนของปริมาณและการดูแลจัดการกับนักท่องเที่ยวตามอุทยานต่างๆ อย่างเข้มงวดและรัดกุม จึงทำให้ปริมาณขยะและการทำลายธรรมชาติเริ่มกลับมาใหม่อีกครั้ง

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ กล่าวว่า แนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้บรรลุผล สามารถแบ่งได้ดังนี้

1. การป้องกันคุ้มครองทรัพยากรที่สามารถเกิดใหม่ได้เอง เพื่อไม่ให้สภาวะสิ่งแวดล้อมเสียสมดุล รัฐ ควรประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และมีนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง  เพราะหากเราทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และโรคโควิด-19

2. จัดการเร่งซ่อมแซมทรัพยากรที่ลดลงตามความเหมาะสม และเร่งฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมเพื่อให้กลับ มาสู่สภาพปกติโดยเร็ว เช่น ป่าต้นน้ำ ป่าเสื่อมโทรม ป่าชายเลน และทำไร่เลื่อนลอย เป็นต้น

3. การบังคับใช้กฎระเบียบที่มีอยู่อย่างจริงจัง และรณรงค์ให้ประชาชนอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาดและเหมาะสม เช่น จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าอุทยาน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ในการควบคุมดูแลและหากพบว่ามีการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ควรจะให้มีการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นสูงสุด

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ควรจะดำเนินการอย่าง เร่งด่วนและต่อเนื่องเพราะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว ก็ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับ ประชาชน เพราะการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ หากธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และสิ่งแวดล้อมงดงาม จะสามารถ เพิ่มปริมาณ ของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้รายได้ต่อหัวของคนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และในประเทศไทยเรานั้นมีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก (World Heritage Site) ประกอบกับประเทศไทยเรามีชื่อเสียงในเรื่องของอาหารการกินริมถนน เป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network) เพื่อเมืองไทยของเราจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยเงินเพิ่มขึ้นมาเที่ยวเมื่องไทยมากขึ้น โดยผลประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่ประชาชน ดังนั้น ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้เสนอแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงควรจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะตอนนี้มีงบ พ.ร.ก.กู้เงิน แล้ว

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"อนุสรณ์" แนะ "ประยุทธ์" ตอบให้ชัด จัดเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่?


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาระบุ การจัดเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัญหาด้านงบประมาณ เพราะถูกโยกงบฯมาใช้แก้ปัญหาโควิด-19 ว่า ไม่เห็นประโยชน์ที่นายวิษณุ จะหาข้ออ้างหลบหลังโควิดเพื่อช่วยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม บอกว่า จะพิจารณาเอง ขึ้นอยู่กับกฎหมายและความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.ยังไม่ไว้หน้ารัฐบาลเลย ประกาศมีงบ 800 ล้าน พร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทันที รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนถึงหลักการกระจายอำนาจการปกครองให้ท้องถิ่นได้บริหารตนเองเพื่อประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง การที่รัฐบาลยื้อการเลือกตั้งท้องถิ่น เท่ากับแช่แข็งท้องถิ่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ จงใจใช้ท้องถิ่นให้เป็นเพียงแขนขามหาดไทยเหมือนตอนรัฐประหาร ทั้งที่สถานการณ์โควิดท้องถิ่นมีบทบาทสูงในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะช่วยเปิดรูระบายทางการเมือง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

“พล.อ.ประยุทธ์ ควรพูดให้ชัดจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่? เพราะกระทบการบริหารงาน งบประมาณ การกระจายอำนาจ ความพยายามแช่แข็ง ยื้อเลือกตั้งท้องถิ่น ทำประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส” นายอนุสรณ์ กล่าว

"สุดารัตน์" นำเพื่อไทย แถลงเร่งรัฐแก้ภัยแล้ง-กระทบลำไย


คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.ภาคเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดูแลสถานการณ์ภัยแล้ง หลังจากติดตามสถานการณ์ยังพบว่ามีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อเกษตรและประชาชนเป็นวงกว้าง แต่ยังไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคเหนือขณะมีเพียง 7,830 ล้านลูกบาศก์เมตร จาก 24,825 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 32 ของความจุเขื่อนทั้งหมด แต่มีน้ำที่ใช้ได้เพียง 1,084 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบกับฝนตกน้อย ซึ่งถือว่าสถานการณ์มีความวิกฤติ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งให้ทำฝนเทียม เพราะทุกวันนี้ความชื้นอยู่ในเกณฑ์ที่ทำฝนเทียมได้ และขอให้นำ C130 มาช่วยทำฝนเทียมด้วย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้งยังส่งกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรที่ปลูกลำไย เพราะขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลลำไย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจว่าเกษตรกรจะเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลได้อย่างไร แม้ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานหลักที่จะมาดูแลเยียวยา

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" เตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ ในสัปดาห์นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน ดร.สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงการเตรียมการยื่นร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทต่อสภาผู้แทนราษฎร


คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยอยากเห็นการใช้เงินกู้ก้อนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ และมีทิศทางที่ชัดเจนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงอยากให้มีการตรวจสอบและข้อเสนอแนะต่างๆ โดยจะเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ เข้าสู่ที่ประชุมสภาในสัปดาห์นี้ ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีมีความจริงใจขอให้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 นั้นคณะกรรมาธิการ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยพบปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ งบประมาณกระทรวงสาธารณสุขและงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ กลับถูกตัด แต่งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหมหลายตัวที่ควรตัดกลับไม่ตัด ซึ่งในวันพุธที่ 17 มิถุนายนนี้ ดร.สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จะมีการแถลงกรณีนี้ที่สภาอีกครั้ง


รศ.ดร.โภคิน กล่าวว่า ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ เสร็จแล้ว โดยมี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่จะดำเนินการปรับปรุง คือ 1. คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อให้มีผู้สังเกตการณ์ 4 คน เป็นฝ่ายรัฐบาล 2 คน และฝ่ายค้าน 2 คน แต่จะไม่มีอำนาจอนุมัติงบประมาณ แต่สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อรับรู้รับทราบและท้วงติงต่างๆ ได้ เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส 2. มีการรายงานการใช้จ่ายเงินกู้ต่อสภาทุก 3 เดือน และ 3. ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินกู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อช่วยในการตรวจสอบการใช้เงินกู้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด


ขณะที่ ดร.สุทิน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังพบปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายประกันสังคม โดยจะมีการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่จะขอรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกันตนก่อนว่าอยากให้พรรคดำเนินการแก้ไขในส่วนไหน โดยจะมีการจัดเสวนารับฟังความเห็นผู้ประกันตนทั่วประเทศขึ้นในสัปดาห์หน้าที่พรรคเพื่อไทย

พรรคฝ่ายค้าน เร่งรัฐจัดเลือกตั้งท้องถิ่น-ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


ที่สำนักงานพรรคประชาชาติ ซอยสรงประภา 30 พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน ประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในประเด็นต่างๆ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชน แถลงภายหลังการประชุมว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านประเมินสถานการณ์ผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชน จากการแก้ปัญหาของรัฐบาลตลอดจนปัญหาต่างๆ มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ 1.อาจจะมีการทุจริตหรือไม่มีธรรมาภิบาลของรัฐบาลในเรื่องของงบประมาณจากเงินกู้ในพ.ร.ก. 3 ฉบับ และการโอนงบจากหน่วยงานต่างๆมาเป็นงบกลางที่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน 2.การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความด้อยประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลไม่มีท่าทีว่าจะให้มีการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเขียนกฎหมายที่ซ่อนเผด็จการในการเลือกตั้งไว้ และ 3.การใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลใช้ความมั่นคงของรัฐบาลอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน อยู่เหนือการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยความหวาดระแวง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ​


“ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการโอนงบประมาณจากส่วนต่างๆ มาเป็นงบกลางทุกปี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้น จึงอยากฝากให้มีการแก้ระเบียบเรื่องการใช้งบกลาง” พ.ต.อ.ทวี กล่าว ​

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า วันนี้ท้องถิ่นมีความสำคัญ ยกตัวอย่างช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อสม.คือส่วนหนึ่งของท้องถิ่นที่ได้มีความสำคัญในการช่วยแก้ปัญหา ดังนั้น กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นถือเป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลกลับไม่คืนอำนาจส่วนนี้ให้เสียที ​

ด้าน นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 4 จ.ลำปาง ในวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย.นี้ ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านขอสนับสนุนพรรคเสรีรวมไทยที่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งด้วย ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อประชาชน ขอให้ประชาชนที่เคยสนับสนุนพรรคฝ่านค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคใดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ขอให้ท่านสนับสนุนพรรคเสรีรวมไทย เพื่อที่พรรคฝ่ายค้านจะได้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ​

ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และตรวจสอบการใช้เงินแต่ละโครงการจากพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 เพราะเกรงว่าจะมีโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่อยากให้มีการนำเงินภาษีไปใช้เอื้อประโยชน์เพื่อการเลือกตั้งในอนาคต ​

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่าหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจการปกครองให้ท้องถิ่นได้บริหารตนเองเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ช่วงที่ผ่านมาเรากลับว่างเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 ต่อมายุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งเขียนในบทเฉพาะกาลว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น จะทำได้เมื่อไหร่ให้เป็นอำนาจของคสช. และหากไม่มีคสช.แล้วให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งไม่มีขอบเขตจำกัดไว้เลยว่าจะต้องเลือกตั้งเมื่อไหร่ ส่วนตัวคิดว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้บกพร่องอย่างยิ่ง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจรัฐ ส่วนเหตุผลที่บอกไม่มีงบประมาณเป็นเหตุผลที่รับฟังไม่ได้เลย ​

“ถ้าเราคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหาเราสามารถหาได้ ขณะเดียวกันเราต้องยึดหลักให้ท้องถิ่นปกครองดูแลตัวเองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การทอดเวลาออกไปไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตามไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม การปล่อยเวลาให้ล่าช้าออกไปไม่ได้เป็นประโยชน์ของประเทศ และระบอบประชาธิปไตย” นายชูศักดิ์ กล่าว​

ด้าน นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายเกินความจำเป็น โดยอ้างว่าควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งอ้างไม่ขึ้นแล้ว เพราะไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิก ซึ่งการที่รัฐบาลคงไว้เพราะไม่ต้องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ต้องการรวมอำนาจไว้ที่พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว นายกฯมีความสุขกับการใช้กฎหมายแบบเผด็จการ ทำให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลยาก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญซึ่งต้องใช้กฎหมายปกติ จึงอยากให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน​

เปิดใจ “จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” จาก #ให้ท็อปดูแลเธอ สู่ #betterChiangmai กลั่นประสบการณ์คนรุ่นใหม่ เพื่อ เชียงใหม่ที่ดีกว่า

 

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างหนัก ทั้งในมุมของภัยคุกคามด้านสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน และลุกลามไปเป็นภัยทางเศรษฐกิจ

เรียกได้ว่า จังหวัดเชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ต้องเงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด

พ่อค้าแม่ค้าประชาชนทุกระดับได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด

เมื่อประกอบกับปัญหาดั้งเดิมที่ค้างคารอการแก้ไข มายาวนาน อย่าง ไฟป่า-หมอกควัน ยิ่งทำให้สถานการณ์เชียงใหม่วันนี้ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


“จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นักการเมืองหนุ่ม ที่มองเห็นความสำคัญของปัญหาและผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนคนเชียงใหม่ ได้บอกกับเราว่า เขากำลังรวบรวมสถานการณ์ของปัญหา เพื่อเร่งหาหนทางแก้ไข เพื่อให้เชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองที่น่าอยู่ และกลับมาเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

เขาได้ริเริ่มจัดทำโครงการ #725thเพื่ออนาคตที่ดีกว่า #betterChiangmai โดยอธิบายเป้าประสงค์ของตัวเองว่าต้องการจะให้ภาพจำแห่งความสุขของเมืองเชียงใหม่ ในวัยเด็กของเขาและอีกหลายๆ คน เป็นเชียงใหม่ที่มีแต่ความสุข และความสบายใจ กลับมาพร้อมรอยยิ้มของคนเชียงใหม่อีกครั้ง ในวาระครบรอบ 725 ปีจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2564


“จักรพล ตั้งสุทธิธรรม” หรือ ท็อป เจ้าของแฮชแท็ก #ให้ท็อปดูแลเธอ ที่คุ้นเคยของประชาชนคนในพื้นที่ เปิดโอกาสคุยกับ #TV24 ถึงประสบการณ์ชีวิต มิติการเมือง ตลอดจนถึงมุมมองในการใช้ชีวิตและมุมคิดที่เขาจะนำประสบการณ์ชีวิตมาใช้ในการทำงาน เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน





วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แนะรัฐ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในช่วงนี้นักการเมืองแต่ละพรรคได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชน และได้รับฟัง เสียงบ่นถึงปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและยังไม่เห็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ชัดเจนสำหรับการที่จะนำมาเพื่อแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ฯ กล่าวอีกว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าผลกระทบของโรคโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้อาจหดตัวลงร้อยละ 3 ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศนั้นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาภายในประเทศของตนเองก่อน ประเทศไทยก็เช่นกัน ดังที่หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยนั้นพึ่งรายได้จากต่างประเทศมากเกินไป ทั้งในเรื่องของการส่งออก และการท่องเที่ยว  ดังนั้นรัฐบาลจึงควรที่จะเร่งเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เช่น

1.ควรอัดฉีดเงินในระบบสาธารณสุขให้เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 และเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณผ่านระบบออนไลน์ได้แบบตามเวลาจริง

2.สร้างงานที่มีรายได้สูง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

3.ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจต่างๆ (จากธนาคารภาครัฐถึงประชาชนโดยตรง) เพื่อเพิ่มกระแสการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก, ขนาดกลางและลูกจ้าง

4.รัฐควรมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายชัดเจนและตรงจุด เพราะการแจกเงินอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป ดังนั้นจึงควรที่จะตรวจสอบและวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

ดังนั้นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 เพื่อที่จะให้ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

"จาตุรนต์" ติงรัฐ แก้เศรษฐกิจล้มเหลว


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯรัฐมนตรี กล่าวถึงสภาพทางเศรษฐกิจหลังรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆและสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลมีคะแนนนิยมตกต่ำลงพร้อมกับการมีเสียงเรียกร้องให้นายกฯยุบสภาว่าการผ่อนคลายมาตรการต่างๆเป็นสิ่งที่ดี แม้จะช้าไปแต่ก็ช่วยให้ธุรกิจหลายอย่างกลับมาเปิดกันได้ มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและคนทำมาหากินกันได้มากขึ้น

ในขณะที่มีเสียงกำชับอยู่ตลอดเวลาว่าการ์ดอย่าตกซึ่งก็เป็นการเตือนที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ขาดไปคือการดูแลเอาใจใส่ว่าธุรกิจต่างๆและคนทำมาค้าขายรายเล็กรายน้อยประสบปัญหาอุปสรรคอย่างไร ที่เปิดอยู่แล้วจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนและที่กลับมาเปิดจะเปิดได้จริงหรือไม่?

จากเสียงสะท้อนของภาคเอกชนจะพบว่าระหว่างที่มีมาตรการเข้มงวดนั้น ธุรกิจต่างๆได้รับการดูแลน้อยเกินไปทั้งจากการใช้มาตรการที่เข้มงวดเกินจำเป็นและการที่รัฐไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถจ้างพนักงานคนงานต่อไปได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทำให้คนงานแยกย้ายกันไปหมด จะกลับมาเปิดกิจการใหม่ก็หาคนทำงานไม่ได้ คนงานที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็กลับไปแล้วและยังไม่รู้ว่าจะกลับมาหรือไม่และเมื่อใด นอกจากนี้ก็มีปัญหาอื่นๆอีกมากเช่นต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในอัตราสูง ขาดเงินหมุนเวียน เป็นหนี้มากขึ้นๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่มีการสำรวจและหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง

นอกจากนั้นยังมีปัญหาจากการที่ระบบการผลิตของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบรุนแรงก็ทำให้ระบบซัพพลายของไทยเสียหายไปด้วยและเมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังซบเซาถดถอย การส่งออกของไทยก็ประสบปัญหาหนัก

ที่น่าเป็นห่วงมากคือถึงแม้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆเต็มที่แล้ว แต่ธุรกิจที่จะยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้อีกเป็นเวลานานก็คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งในหลายปีมานี้ทำรายได้เข้าประเทศสูงมาก เมื่อขาดส่วนนี้ไปจะมีผลทำให้คนนับล้านๆคนไม่มีรายได้

จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีแผนงานรองรับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสเช่นนี้ เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เงินเยียวยาสำหรับคน กว่า 14 ล้านคนก็จะถูกใช้หมดไป ส่วนที่ช่วยเหลือภาคเกษตรอาจจะอยู่ได้นานกว่าหน่อย แต่โดยรวมก็ไม่เพียงพอสำหรับแก้ความเดือดร้อนอยู่แล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปอีกหลายเดือนเป็นอย่างน้อยจะมีคนนับสิบล้านที่ตกงานและไม่มีงานทำ

สภาพเช่นนี้ จะทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะใช้งบประมาณเยียวยาเพิ่มขึ้นอีก แต่เงินเยียวยา 5 แสนกว่าล้านที่รัฐบาลอาศัยอำนาจตามพรก.ให้อำนาจกู้เงินก็เหลือน้อยมาก ส่วนงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านก็ไม่มีทิศทางในการใช้ และกำลังจะสะเปะสะปะรวมทั้งหลายส่วนจะตอบสนองการสร้างฐานเสียงของพรรคการเมืองผ่านกระทรวงต่างๆด้วยวิธีเก่าๆ ซ้ำยังอาจถูกแจกจ่ายให้สส.เพื่อหักเปอร์เซ็นต์หาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเป็นล่ำเป็นสันตามที่เป็นข่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลอาศัยระบบและบุคลากรทางสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล แต่ผู้นำรัฐบาลขาดวิสัยทัศน์และความรู้ความเข้าใจที่จะมองปัญหาแบบองค์รวม จึงมุ่งแต่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการลงทุน การทำมาหากิน การศึกษา ความอดอยากยากจน ความเหลื่อมล้ำที่มากยิ่งขึ้นหรือแม้แต่การที่ประชาชนได้รับการดูแลในด้านสุขภาพโดยทั่วไปน้อยลงกว่าปรกติมาก มิติต่างๆที่คนสำคัญๆในรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯมองไม่เห็นนี้ก็คือคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆของประชาชนและระบบโครงสร้างของประเทศที่อ่อนแอลงนั่นเอง

เมื่อรัฐบาลไม่เคยพูดให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาด้านอื่นๆอย่างสมดุล พอมีการจัดอันดับประเทศไทยในการรับมือกับโควิด-19 โดยมองปัจจัยหลายด้านประกอบกัน แล้วไทยอยู่ในกลุ่มท้ายๆ สังคมไทยก็ปรับความรู้สึกไม่ทันไปตามๆกัน

นายจาตุรนต์กล่าวต่อไปว่านับวันประชาชนจะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นและคนส่วนใหญ่ก็จะสรุปได้ว่ารัฐบาลนี้ล้มเหลวไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ยิ่งมีการแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ในพรรคแกนนำและในรัฐบาลอย่างโจ่งแจ้งไม่อายใครด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่คะแนนนิยมของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์จะตกต่ำอย่างรวดเร็วและมีเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาดังขึ้นเรื่อยๆ

การที่รัฐบาลอยู่ในสภาพง่อนแง่นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลไม่อาจยกเลิกพรก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมประชาชนไว้ไม่ให้ต่อต้านคัดค้านรัฐบาล แต่การใช้พรก.ฉุกเฉินก็กำลังกลายเป็นดาบสองคมเพราะถึงแม้เป็นเครื่องมือค้ำจุนรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนยิ่งเดือดร้อนซึ่งก็จะทำให้คะแนนนิยมต่อรัฐบาลยิ่งตกต่ำลงไปอีก นายจาตุรนต์กล่าวในที่สุด

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"ทนายชุมสาย" ชี้ รธน.'60 ต้นเหตุทำฝ่ายการเมืองระส่ำ

ทนายชุมสาย ระบุ เห็นผลแล้ว รธน. 60 ต้นเหตุทำฝ่ายการเมืองระส่ำ อ่อนแอ ขาดเอกภาพ สร้างขึ้นเพื่อสนองอำนาจ วอนพรรครัฐบาลและ สว.จับมือฝ่ายค้านเร่งแก้ไขเป็นวาระด่วน 


นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้นักการเมืองและพรรคการเมืองในภาพรวม มีความอ่อนแอ และขาดความเป็นเอกภาพ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ที่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ก่อให้เกิดปัญหาในมิติต่างๆ เช่น ปัญหาที่เกิดกับพรรคการเมือง ปัญหาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและวีธีคำนวณ สส. ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรอิสระต่างๆ ที่มาและอำนาจของ สว.ซึ่งทุกพรรคการเมืองได้รับผลกระทบ และ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนได้เต็มที่ ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ที่เคยมีสมาชิกกล่าวว่ารัฐธรรมนูญได้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา  ดังนั้นเพื่อให้ประเทศชาติ พ้นจากกับดักรัฐธรรมนูญฉบับ สืบทอดอำนาจ ตนเห็นผู้นำรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่เป็นปัญหา โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ขึ้นมายกร่างใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น และเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนภายในประเทศ และในระดับระหว่างประเทศกลับคืนมา ก่อนที่ประเทศไทย จะตกขบวนในเวทีการแข่งขันโลกในทุกๆด้าน

"ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องยอมรับความจริง ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นความมุ่งหมายของผู้ไม่มีทัศนะประชาธิปไตย เอื้อทุนใหญ่ผูกขาดและพรรคพวก เป็นปัญหาตั้งแต่ในชั้นทำประชามติที่มีการปิดกั้น จับกุมผู้เห็นต่าง เป็นปัญหามาตลอด ส่งผลให้เกิดความยุ่งเหยิง ในปัจจุบัน และเชื่อว่าวันนี้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลและ สว. บางส่วนต้องการแก้ไข" นายชุมสายกล่าว

"ทวี" แนะรัฐรับผิดชอบซ้อม-อุ้ม-หาย "วันเฉลิม"

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้กล่าวในเวทีเสวนา "ตามหาวันเฉลิม" เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 บางตอนถึง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือเรียกสั้นๆว่า กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ว่า  ผมกับคุณชัยธวัช (เลขาธิการพรรคก้าวไกล ) และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นด้วยว่าต้องผลักดันในเกิดเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ในหลักการทั่วไปของกฏหมายที่มีโทษทางอาญา คือ กฏหมายต้องทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรม , กฎหมายต้องสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคน ,กฎหมายต้องคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และการประทุษร้ายต่อเสียชีวิตและร่างกายของบุคคลด้วยวิธีการนอกกฎหมายจะทำไม่ได้เด็ดขาด

ในเรื่อง กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ส่วนตัวได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อปี พ.ศ. 2552 ถึงต้นปี 2554 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่กำกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่ภายหลังประเทศไทยรับอนุสัญญาเรื่องการต่อต้านการทรมาน เมื่อปี 2550 กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯเป็นหน่วยดำเนินการศึกษาที่ ผมเป็นประธานการประชุมรับฟังรายงานคืบหน้าเป็นประจำโดยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้วิจัย ได้เชิญหลายฝ่ายเข้ามาประชุมระดมสมองความคิดเห็นจากทุกฝ่าย มีแนวคิดเป็น 2 ทาง คือการพยายามเอาเรื่องนี้ไปใส่ในกฎหมายอาญาและวิอาญาที่ขาดหายไป คืออัตราโทษมันจะต่ำไป   และไม่มีเรื่องการเยียวยา กับอีกแนวคิด คือร่างพระราชบัญญัติเฉพาะต่อมาปี 2554 ผมได้ย้ายไปเป็นเลขา ศอ.บต. เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

อยากจะเรียนคำพูดที่เป็นอมตะว่า  “ชนชั้นใด เป็นผู้เขียนกฎหมาย กฎหมายก็มุ่งจะรับใช้ชนชั้นนั้น”  แม้กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย จะเป็นเรื่อบังคับให้ต้องมีเพราะประเทศไทยเข้า เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯจากข้อมูลพบว่ากฏหมายร่างเสร็จ ตั้งแต่ ปี 2557 เสนอ ครม ส่งไปกฤษฎีกา และส่งกลับมา ครม จากนั้นได้ส่งให้สภานิติบัญญัติ หรือ สนช กฏหมายฉบับนี้ได้ตีไปตีมาวิ่งไปกลับเพื่อให้ยืนยันถ้อยคำอยู่ตลอดเพื่อประวิงเวลา ประมาณ  7 ครั้ง ในขณะที่ในช่วง สนช. นั้น มีกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติถูกตราขึ้นใหม่ ประมาณ 412 ฉบับ ยังไม่นับรวมคำสั่ง ประกาศ คสช. และหัวหน้า คสช อีกประมาณ 500 ฉบับ
ซึ่งกฎหมายมากส่งพิจารณา ให้รัฐบาลและ สนช ภายหลัง ร่าง พรบ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ

ท้ายสุด พลเอกประยุทธ์ ฯนายกรัฐมนตรี มีมติ ครม. ให้ถอนร่าง ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เอามาเริ่มต้นใหม่ แสดงถึงการขาดความจริงใจและไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิด เห็นว่า กฏหมายสามารถรับใช้อำนาจเผด็จการได้นั้นเอง  เพราะเผด็จการมีมุมมองเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน

พรรคฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันว่าจะเสนอกฎหมายและสนับสนุนภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ นักสิทธิมนุษยชนที่ผลักดันให้เกิดกฏหมาย ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ด้วย

มีประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยน ในเรื่องกฏหมาย รัฐบาลไทยหรือคนในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่มีวิธีคิดอยู่ในกรอบที่เรียกว่า Crime control model คือเจ้าหน้าที่จะมองว่ามุ่งที่จะควบคุม ปราบปราม อาชญากรรมเป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะมีแนวคิดที่เรียกว่า due process model ก็คือว่า ต้องเน้นหนักถึงความเป็นธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การให้ความสำคัญของกระบวนการและขั้นตอนที่ชอบโปร่งใสไม่ไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความจริมทั้ง 2 รูปแบบต้องการค้นหาความจริงเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายเหมือนกัน ที่ต่างกันคือ วิธีแรกถ้าอย่างไรเอาความจริงให้เกิด แม้จะทรมานก็ได้เพื่อความจริง สมัยก่อนจึงเห็นว่าใครจับผู้ต้องหาได้ จะเป็นฮีโร่ ในเบื้องหลังของฮีโร่ก็ไม่สนใจ

 จะเห็นว่าทั้ง 2 รูปแบบ นี้เราจะมีจุดยึดเหมือนกัน ก็คือ  “กฎหมาย” ทีนี้เรื่องกฎหมายผมถือว่าเป็นรากเหง้าที่สำคัญของความยุติธรรม อย่างที่บอกว่ากฎหมายลักษณะที่กล่าวมาแล้วข้าต้น กฏหมายต้องมุ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนมากที่สุด ก็คือประชาธิปไตย  แล้วในมุมของประชาธิปไตยเขาบอกว่า ”อาชญากรรมจะต้องเป็นภยันตรายต่อสังคม”  ไม่ใช่  “ภยันตรายต่อชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่ง หรืออารมณ์ของคนใดคนหนึ่ง” อันนี้อยากให้เข้าใจ  ทีนี่พอเราจึงเห็นว่า ถ้ากฎหมายออกโดยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผู้มีอำนาจไม่ใช่กฏหมายที่ดี อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 เขียนไว้ดีมาก ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครอง’ แต่ข้อความในวรรค 2  ‘ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอ’ ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า มาตรา 279 สุดท้ายของรัฐธรรมนูญ บรรดาประกาศคำสั่งหรือการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ผมบอก 500 เนี่ยยังมีอยู่ และยังให้เป็นอยู่ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เริ่มต้นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ขัดหลักการประชาธิปไตยแล้ว เพราะคำสั่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช ล้วนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิมนุษย์ชน ที่ค้างอยู่ มันยังใช้ได้

 ขอเสนอมุมมองในมิติของการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผมชอบนิยามหนึ่งในทางอาชญาวิทยา คำว่า “อาชญากร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ที่กระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเท่านั้น แต่ให้รวมถึง ผู้ร่างกฎหมาย ผู้บงการให้ร่างกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

  วันนี้เราน่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องมาปฏิรูป ยกเลิกกฏหมาย หรือทำกฎหมายใหม่เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เลย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนหวงแหนเป็นเจ้าของกฏหมายให้ได้ ทำอย่างไร จะให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยให้ได้ เป็นกฏหมายให้เกิดความยุติธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมาย ผู้กระทำผิดเอาตัวมาลงโทษ ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล