วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" ห่วงรายได้ประชาชน แม้รัฐผ่อนคลายมาตรการ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการพิจารณาพรก.ให้อำนาจกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า


ตั้งแต่เริ่มมีโควิด19 เรื่อยมา ร้านอาหารในจังหวัดฉะเชิงเทราไม่ได้ถูกบังคับให้ขายอาหารแบบซื้อกลับบ้านเพียงอย่างเดียว แต่อนุญาตให้ลูกค้ากินอาหารในร้านได้ แต่ต้องจัดระยะห่างให้เหมาะสม ถึงอย่างนั้นก็ตามร้านอาหารหลายแห่งที่ผมรู้จักก็อยู่ไม่ได้ ต้องหยุดขายชั่วคราว บางร้านประกาศปิดกิจการไปเลยก็มี

ร้านหนึ่งที่ผมไปกินข้าวอยู่บ่อยๆ บอกว่าขาดทุนยับเยิน แต่ก็ต้องกัดฟันทำไป ถ้าปิดก็กลัวว่าลูกค้าจะหายหมด พยักงานก็อาจจะแยกย้ายกลับบ้านกันไปหมด อีกร้านหนึ่งไม่มีห้องแอร์ ทำตามระเบียบได้พอสมควร แต่ลูกค้าลดลงไปมาก ผมถามพนักงานได้ความว่าเขาทำงานกันเพื่อแลกกับที่พักอาศัยและอาหาร 3 มื้อ โดยไม่ได้เงินเดือน

คุยกับร้านอาหารในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ ยิ่งหนักเพราะห้ามลูกค้ากินในร้านอยู่เป็นเดือนๆ พออนุญาตก็ต้องจัดที่นั่งห่างมาก แถมยังมีกติกาที่พิสดารคือมาด้วยกันแท้ๆ บ้านเดียวกันแท้ๆ พอจะกินข้าวต้องนั่งคนละโต๊ะ ลูกค้าก็ไม่อยากเข้าร้าน บางร้านเล่าว่าที่เขากลัวคือถ้าพลาดพลั้งไปก็จะถูกจับ ถูกปรับเป็นแสนและอาจถูกปิดนานถึงสามเดือน เพราะฉะนั้นไม่เปิดให้ลูกค้านั่งในร้านเสียเลยดีกว่า แต่รายได้ก็น้อยลงไปมาก

วันก่อนผมคุยกับร้านทำผม เจ้าของร้านบอกว่าปิดมาเป็นเดือนไม่มีรายได้ แต่ก็ต้องเลี้ยงลูกน้อง พอเปิดได้แต่ห้ามทำเคมี คือห้ามดัด ห้ามย้อมทำสี รายได้เขาหายไปกว่าครึ่ง ก็ขาดทุนทุกวัน เขามีชมรมคุยกันทางไลน์บอกว่าบางจังหวัดหนักมากเพราะบางร้านถูกตำรวจและสห.มาบุกตรวจ ยืนกันหน้าร้านและกรูกันเข้ามาเต็มไปหมด ทั้งลูกค้าและพนักงานก็กลัว ที่กลัวกว่าใครคือเจ้าของร้านเพราะถูกขู่ว่าถ้าผิดระเบียบจะถูกปิดและโดนลงโทษหนัก เขาก็รู้สึกกันว่าการทำมาหากินของพวกเขาได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นอาชญากรกันไปหมดแล้ว

ที่ผมคุยกับร้านอาหารและร้านทำผมที่เล่ามานี้ เป็นการคุยมาในขณะที่บางจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเลยเป็นเดือนๆแล้ว ที่ฟังเขาเล่ามาอีกทีก็มาจากจังหวัดที่ตั้งแต่ตั้งเป็นจังหวัดมายังไม่เคยมีผู้ติดเชื้อโควิด19 กับเขาเลยสักคนเดียว และในหลายวันมานี้ทั้งประเทศก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 1-2 คนหรือบางวันก็ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเลย

เมื่อวานนี้ ผมไปพบเพื่อนในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง พบว่าคนน้อยมาก พอดีเห็นคลิปวีดีโอเล่าถึงสภาพซบเซาของห้างบางแห่ง ก็รู้สึกน่าใจหาย ห้างสรรพสินค้าในเมืองที่ปรกติมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากๆนั้น ยิ่งต้องเจอกับสภาพไม่มีลูกค้ามาเดินแน่นอน

วันที่ 1 มิ.ย.นี้จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์อีกขั้นหนึ่ง ในหลายวันมานี้ หนังสือพิมพ์มักจะพาดหัวว่าร้านเสริมสวยเฮบ้าง ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหารเฮบ้าง ขณะเดียวกันก็มีการเตือนอยู่ตลอดว่าการ์ดอย่าตก ถ้าผ่อนคลายแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาอาจจะต้องกลับมาล็อคดาวน์กันใหม่

ดูประกาศของศบค.ล่าสุดซึ่งกำหนดเงื่อนไขแนวปฏิบัติสำหรับกิจการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งๆที่บอกว่าจะผ่อนคลาย แต่ก็ดูจะเข้มงวดกวดขันค่อนข้างมาก มีมาตรการที่เน้นการป้องกันไม่ให้มีการรวมตัวของคนในห้างร้านต่างๆ ซึ่งก็คือหาทางป้องกันไม่คนเข้าห้างเข้าร้านกันมากๆ

จากที่ได้คุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านเสริมสวยและฟังจากคนโน้นคนนี้ดังที่ผมเล่ามาข้างต้น ผมรู้สึกว่าผู้ที่ออกคำสั่งกันอยู่คงจะไม่ค่อยเข้าใจสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมทุกวันนี้ พวกเขาไม่สนใจไยดีว่าคำสั่งต่างๆและการบังคับใช้กฎหมายกำลังมีปัญหาจนผู้ประกอบการทั้งหลายจะอยู่กันไม่ได้หมดแล้วและสภาพเช่นนี้มีผลทำให้ลูกจ้างคนงานทั้งหลายลำบากเดือดร้อนไปตามๆกันด้วย

เรื่องคนจะไปห้างร้านกันแน่นขนัดอย่างที่ผู้ออกคำสั่งเป็นกังวลนั้นคงจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือต่อไปอาจจะพบว่ากิจการจำนวนมากขึ้นๆจะปิดลงและก็จะมีคนเดือดร้อนมากขึ้นจนเกินกว่าจะเยียวยาแก้ไข

ที่ว่ารีสตาร์ทๆนั้น ถึงเวลาจริงๆ จะรีสตาร์ทกันได้สักกี่รายก็ยังไม่มีใครรู้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น