วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

"จาตุรนต์" ติงรัฐ แก้เศรษฐกิจล้มเหลว


นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯรัฐมนตรี กล่าวถึงสภาพทางเศรษฐกิจหลังรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆและสถานการณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลมีคะแนนนิยมตกต่ำลงพร้อมกับการมีเสียงเรียกร้องให้นายกฯยุบสภาว่าการผ่อนคลายมาตรการต่างๆเป็นสิ่งที่ดี แม้จะช้าไปแต่ก็ช่วยให้ธุรกิจหลายอย่างกลับมาเปิดกันได้ มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นและคนทำมาหากินกันได้มากขึ้น

ในขณะที่มีเสียงกำชับอยู่ตลอดเวลาว่าการ์ดอย่าตกซึ่งก็เป็นการเตือนที่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ขาดไปคือการดูแลเอาใจใส่ว่าธุรกิจต่างๆและคนทำมาค้าขายรายเล็กรายน้อยประสบปัญหาอุปสรรคอย่างไร ที่เปิดอยู่แล้วจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนและที่กลับมาเปิดจะเปิดได้จริงหรือไม่?

จากเสียงสะท้อนของภาคเอกชนจะพบว่าระหว่างที่มีมาตรการเข้มงวดนั้น ธุรกิจต่างๆได้รับการดูแลน้อยเกินไปทั้งจากการใช้มาตรการที่เข้มงวดเกินจำเป็นและการที่รัฐไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถจ้างพนักงานคนงานต่อไปได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทำให้คนงานแยกย้ายกันไปหมด จะกลับมาเปิดกิจการใหม่ก็หาคนทำงานไม่ได้ คนงานที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็กลับไปแล้วและยังไม่รู้ว่าจะกลับมาหรือไม่และเมื่อใด นอกจากนี้ก็มีปัญหาอื่นๆอีกมากเช่นต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในอัตราสูง ขาดเงินหมุนเวียน เป็นหนี้มากขึ้นๆ ปัญหาเหล่านี้ไม่มีการสำรวจและหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง

นอกจากนั้นยังมีปัญหาจากการที่ระบบการผลิตของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบรุนแรงก็ทำให้ระบบซัพพลายของไทยเสียหายไปด้วยและเมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังซบเซาถดถอย การส่งออกของไทยก็ประสบปัญหาหนัก

ที่น่าเป็นห่วงมากคือถึงแม้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆเต็มที่แล้ว แต่ธุรกิจที่จะยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้อีกเป็นเวลานานก็คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งในหลายปีมานี้ทำรายได้เข้าประเทศสูงมาก เมื่อขาดส่วนนี้ไปจะมีผลทำให้คนนับล้านๆคนไม่มีรายได้

จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีแผนงานรองรับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสเช่นนี้ เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เงินเยียวยาสำหรับคน กว่า 14 ล้านคนก็จะถูกใช้หมดไป ส่วนที่ช่วยเหลือภาคเกษตรอาจจะอยู่ได้นานกว่าหน่อย แต่โดยรวมก็ไม่เพียงพอสำหรับแก้ความเดือดร้อนอยู่แล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปอีกหลายเดือนเป็นอย่างน้อยจะมีคนนับสิบล้านที่ตกงานและไม่มีงานทำ

สภาพเช่นนี้ จะทำให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะใช้งบประมาณเยียวยาเพิ่มขึ้นอีก แต่เงินเยียวยา 5 แสนกว่าล้านที่รัฐบาลอาศัยอำนาจตามพรก.ให้อำนาจกู้เงินก็เหลือน้อยมาก ส่วนงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านก็ไม่มีทิศทางในการใช้ และกำลังจะสะเปะสะปะรวมทั้งหลายส่วนจะตอบสนองการสร้างฐานเสียงของพรรคการเมืองผ่านกระทรวงต่างๆด้วยวิธีเก่าๆ ซ้ำยังอาจถูกแจกจ่ายให้สส.เพื่อหักเปอร์เซ็นต์หาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเป็นล่ำเป็นสันตามที่เป็นข่าว

ที่ผ่านมารัฐบาลอาศัยระบบและบุคลากรทางสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล แต่ผู้นำรัฐบาลขาดวิสัยทัศน์และความรู้ความเข้าใจที่จะมองปัญหาแบบองค์รวม จึงมุ่งแต่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้สนใจมิติทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการลงทุน การทำมาหากิน การศึกษา ความอดอยากยากจน ความเหลื่อมล้ำที่มากยิ่งขึ้นหรือแม้แต่การที่ประชาชนได้รับการดูแลในด้านสุขภาพโดยทั่วไปน้อยลงกว่าปรกติมาก มิติต่างๆที่คนสำคัญๆในรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯมองไม่เห็นนี้ก็คือคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆของประชาชนและระบบโครงสร้างของประเทศที่อ่อนแอลงนั่นเอง

เมื่อรัฐบาลไม่เคยพูดให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาด้านอื่นๆอย่างสมดุล พอมีการจัดอันดับประเทศไทยในการรับมือกับโควิด-19 โดยมองปัจจัยหลายด้านประกอบกัน แล้วไทยอยู่ในกลุ่มท้ายๆ สังคมไทยก็ปรับความรู้สึกไม่ทันไปตามๆกัน

นายจาตุรนต์กล่าวต่อไปว่านับวันประชาชนจะเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นและคนส่วนใหญ่ก็จะสรุปได้ว่ารัฐบาลนี้ล้มเหลวไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ยิ่งมีการแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ในพรรคแกนนำและในรัฐบาลอย่างโจ่งแจ้งไม่อายใครด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าแปลกใจเลยที่คะแนนนิยมของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์จะตกต่ำอย่างรวดเร็วและมีเสียงเรียกร้องให้ยุบสภาดังขึ้นเรื่อยๆ

การที่รัฐบาลอยู่ในสภาพง่อนแง่นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลไม่อาจยกเลิกพรก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมประชาชนไว้ไม่ให้ต่อต้านคัดค้านรัฐบาล แต่การใช้พรก.ฉุกเฉินก็กำลังกลายเป็นดาบสองคมเพราะถึงแม้เป็นเครื่องมือค้ำจุนรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนยิ่งเดือดร้อนซึ่งก็จะทำให้คะแนนนิยมต่อรัฐบาลยิ่งตกต่ำลงไปอีก นายจาตุรนต์กล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น