ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมวคลัง: แนะให้รัฐบาลเร่งฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตสูง โดยใช้มาตรการ คิวอี (QE) คือให้ธนาคารชาติ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลออกจากตลาดเงินให้มากพอ จะทำให้รายได้ภายในประเทศ และรายได้ส่งออกจะสูงขึ้น ทำให้ประเทศและประชาชนมีฐานะดีรวดเร็วขึ้น
ศ.สุชาติฯ กล่าวว่า ภาวะโรคระบาดโควิค-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักลง ประชาชนต้องหยุดค้าขาย หยุดเดินทาง มีผลให้เกิดการตกงานและเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นจำนวนมากทั่วโลก
รายได้สำคัญของประเทศไทยจากการส่งออกและท่องเที่ยวได้ลดลงมากมาย รัฐบาลก็ได้ให้ประชาชนไทยหยุดงาน หยุดกิจการ และได้กู้เงินจำนวนมาก มาแจกประชาชนเพื่อให้ดำเนินชีวิตไปได้ในระยะสั้น
เมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด เริ่มเบาบางลงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนได้กลับมาทำงาน มีรายได้ที่แท้จริงของตนเอง ภายใต้ภาวะความปกติใหม่ (New Normal) คือการรักษาระยะห่าง และรักษาความสะอาดปลอดภัยมากขึ้น
การทำให้ประเทศกลับมาเจริญเติบโตสูงขึ้นโดยเร็ว จึงควรเป็นสิ่งแรกๆ ที่รัฐบาลจะต้องทำก่อน ซึ่งหากทำได้ ปัญหาอื่นๆ ก็จะแก้ได้ไขได้ง่ายขึ้นมาก
สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนใช้มาตรการ QE (Quantitative Easing) คือเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของตนเอง เป็นจำนวนมาก เพื่อให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนมากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าได้มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดทุนและตลาดทรัพย์สินมีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่ก่อให้เกิดการขาดความเชื่อมั่น
รัฐบาลไทยก็ต้องเร่งให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยเร็ว และต้องเติบโตในอัตราการสูง เพื่อสร้างรายได้และฐานะของประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น
มาตรการ QE เป็นมาตรการสำคัญที่ใช้กันทั่วโลก โดยรัฐบาลให้ธนาคารชาติเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารชาติ (ที่ออกมาขายก่อนหน้านี้) ออกจากตลาดเงินในจำนวนมากพอ
จากนั้น รัฐบาลควรใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate targeting policy) แทนการใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting policy)
การใช้มาตรการคิวอี และนโยบายกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน จะทำให้ (1) ปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ประชาชนจะสามารถค้าขายกันมากขึ้น แต่ละคนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น (2) ค่าเงินบาทจะอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ (เงินบาทควรเป็น 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) ซึ่งทำให้รายได้ส่งออกในรูปเงินบาทมากขึ้น (แม้ขายในปริมาณเท่าเดิม) ประเทศและประชาชนจะมีฐานะดีขึ้นรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ปัญหาอื่นๆ ของประเทศก็จะแก้ไขได้ง่ายขึ้น
รัฐบาลไทยเคยใช้มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ทำให้ในช่วงปี 2530 ถึง 2538 ระบบเศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตสูงเฉลี่ย 10% เป็นเวลาถึง 9 ปี ซึ่งในตอนนั้น เรียกว่านโยบายตระกร้าเงิน (Basket of Currencies).. ศ.สุชาติ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น