"ชวลิต" เผยทั้งตกใจ และเห็นใจ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกปรับลดงบเข้างบกลางยอด 88,000 ล้านบาท อยู่ในอำนาจ นรม.เท่านั้น
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... ให้ความเห็นต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวสรุปว่า
ในการพิจารณาเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่กรรมาธิการซีกฝ่ายค้านทุกท่าน และฝ่ายรัฐบาลบางท่านอภิปรายเป็นห่วง ไม่เห็นด้วย กับการปรับลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งดูแลงานด้านสุขภาพอนามัยประชาชน และงานด้านการศึกษาของลูกหลานเยาวชนถูกปรับลดงบประมาณไปจำนวนมาก โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดไปกว่า 4,700 ล้านบาท และ กระทรวงศึกษาธิการ ถูกปรับลดไปกว่า 1,300 ล้านบาท โดยทั้งสองยอดดังกล่าวไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของงบกลาง ในยอด 88,000 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยอ้างว่าเพื่อใช้ในกิจกรรมแก้ไขปัญหา ไวรัสโควิด ภัยแล้ง น้ำท่วม และกรณีฉุกเฉินจำเป็นอื่น ๆ
เมื่อรับฟังข้อมูลจากผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และจากการตรวจสอบเอกสารพบว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขถูกปรับลดในโครงการสำคัญ เช่น อาคารผู้ป่วยนอก - อุบัติเหตุ , อาคารผู้ป่วยใน,อาคารคลอด - ผ่าตัด และผู้ป่วยหนัก(ICU) อาคารอุบัติเหตุ,อาคารความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ,หอพักแพทย์,หอพักพยาบาล,อาคารพักอาจารย์แพทย์ รวมทั้งครุภัณฑ์ทางการแพทย์บางรายการ โดยโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวกระจายอยู่ทุกภาค เช่น
ภาคเหนือ ที่จังหวัด พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน แพร่ เชียงราย อุตรดิตถ์ พะเยา ลำปาง นครสวรรค์ เป็นต้น
ภาคอีสาน ที่จังหวัด ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ อุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร บึงกาฬ เป็นต้น
ภาคกลาง ที่จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม ราชบุรี ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
ภาคใต้ ที่จังหวัด พัทลุง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล นราธิวาส เป็นต้น
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ น่าเห็นใจอย่างยิ่งเช่นกัน ที่ถูกปรับลดงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน โรงอาหาร บ้านพักครู ฯลฯ จำนวนมาก กระทบกับการเรียน การสอน สวัสดิภาพ สุขภาพอนามัย
ของนักเรียน และครู อาจารย์อย่างมาก ในจำนวนที่ถูกปรับลดแทบทุกจังหวัดจนไม่สามารถลงรายการในข่าวนี้ได้
ประการสำคัญ การใช้มติ ครม.ประการหนึ่งในหลายประการ มาเป็นเกณฑ์ในการปรับลดงบประมาณ คือ โครงการใดจัดซื้อ จัดจ้างไม่ทันใน 7 เม.ย.63 ให้เป็นเหตุผลในการปรับลดงบประมาณ นั้น
ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริง จะพบว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ปีนี้มาช้า ใช้บังคับ
เมื่อ 26 ก.พ.63 นี่เอง ปกติจะต้องใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 ดังนั้น การที่ส่วนราชการใดจะจัดซื้อ จัดจ้าง ให้ทันใน 7 เม.ย.63 ผู้ดำเนินการได้ทันถึงขั้นต้องเรียกว่า ยอดเซียน หรือ เซียนเหยียบเมฆ
เฉพาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลมีความจริงใจ ให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยประชาชน และการศึกษาของลูก หลานเยาวชน ก็ควรมีนโยบายยืดหยุ่นกับการยกเว้นการปรับลดงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เพราะยังมีงบประมาณจากส่วนราชการอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนสามารถนำมาปรับลดได้อีกจำนวนมาก เช่น งบจัดซื้ออาวุธ งบฝึกอบรม งบอุดหนุน เป็นต้น ซึ่งยังมีซ่อนอยู่จำนวนมาก
กรรมาธิการและ ส.ส.ในซีกฝ่ายค้าน ได้สงวนคำแปรญัตติ เพื่ออภิปรายโน้มน้าวสมาชิกให้เห็นชอบในการคืนงบให้กับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นไปตามแผนงานโครงการที่จะดูแลสุขภาพอนามัยประชาชน และดูแลด้านการศึกษาของของลูกหลานเยาวชนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น