วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา “เอสเอ็มอีจะอยู่รอดอย่างไรหลังโควิด-19”

พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา “เอสเอ็มอีจะอยู่รอดอย่างไรหลังโควิด-19” เผยรัฐยังไร้แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ห่วงกระทบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


20 กรกฎาคม 2563 พรรคเพื่อไทย จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “เอสเอ็มอีจะอยู่รอดอย่างไรหลังโควิด-19” เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวว่า เอสเอ็มอีคือฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เอสเอ็มอีกำลังจะตาย ซึ่งถ้าปล่อยให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศล้มลงก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงาน ซึ่งเอสเอ็มอีมีการจ้างงานมากที่สุดและมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทุกจังหวัด ทั้งนี้เราได้มีการผลักดันเรื่องกฎหมายของสภาเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ก็จะผลักดันให้มีการตั้งคณะทำงานติดตามเรื่องเงินกู้ของรัฐบาล รวมถึงการจะเชิญคณะกรรมาธิการมาร่วมรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการด้วย ซึ่งขอให้สภาเอสเอ็มอีและพี่น้องประชาชนร่วมกันส่งเสียงสะท้อนให้การใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง

รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลบอกว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอี อยากถามว่าวันนี้ท่านรับฟังปัญหาจากใคร ใครเป็นตัวแทนสะท้อนถึงความต้องการและปัญหาต่างๆเหล่านั้น แล้วท่านจะทราบความต้องการของเอสเอ็มอีอย่างแท้จริงได้อย่างไร เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นมามากมายในวันนี้ เกิดจากกฎหมายที่ออกโดย คสช. ที่ส่งผลกระทบมายังปัจจุบัน ได้สร้างภาระให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมหาศาล จะยกเลิกก็กระทำได้ยาก นี่คือปัญหาสังคมไทยที่เกิดจากอำนาจนิยมหรือรัฐราชการ แล้วเราจะช่วยกันผลักดันให้สังคมก้าวข้ามผ่านสถานการณ์เหล่านี้ไปได้อย่างไร ภายใต้ความยากลำบากนี้ สิ่งแรกที่อยากขอเสนอคือ เราต้องมีกติกาใหม่ที่เป็นธรรม คือรัฐธรรมนูญที่เป็นโรดแมปหรือทิศทางที่เราจะเดินไปร่วมกัน มีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อจัดการธุรกิจขนาดเล็กให้รวมตัวกันได้ โดยการสร้างมาตรฐานให้ดูแลกันเองได้ และสามารถสะท้อนเสียงความต้องการของตนไปถึงรัฐบาล

ขณะที่ นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ได้สะท้อนปัญหาของเอสเอ็มอีว่า นายกรัฐมนตรีเคยประกาศเรื่องเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ แต่ที่ผ่านมาทุกคนเห็นว่าผู้ประกอบการในส่วนนี้กำลังจะตายไปเรื่อยๆ เพราะรัฐมองไม่เห็นปัญหา หรือไม่รู้ข้อมูลจริงๆ ของเอสเอ็มอี โดยกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลผู้ประกอบการ ซึ่งเคยพิจารณาส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ดำเนินการเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาก็ถูกตีตก ส่วนมาตรการของรัฐที่ออกมาเพื่อจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นผู้ประกอบการก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และการอนุมัติเงินทุนในส่วนดังกล่าวจนถึงขณะนี้สามารถทำได้เพียง 2 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาลไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจเป็นเพราะเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดไว้ ที่กลับกลายเป็นปัญหาทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น