วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
“เพื่อไทย” เตือนรัฐบาล เหลือ 2 ทางออกสุดท้าย
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรามักเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชอบพูดว่า ประเทศไทยต้อง “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” แต่หลังจากที่เราได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ร่างงบประมาณฉบับดังกล่าว จะสามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่าง “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” เพราะการยึดโจทย์เดิม ๆ ไม่ได้ปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และยังใช้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่า ๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ในทางกลับกันสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือ งบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19 และควรเป็นงบประมาณเพื่อคนไทยทุกคน งบประมาณที่เขียนมาแบบนี้ทำให้คนไทยอดคิดไม่ได้ว่าจะมีการเอื้อผลประโยชน์แก่กลุ่มใดหรือไม่
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะต้องเป็นรัฐบาลที่หาเงินเป็น และใช้เงินเป็น ไม่ใช่รัฐบาลที่เก่งแต่กู้ และเพื่อให้งบประมาณในปีต่อ ๆ เป็นไปตามเทรนด์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ควรเข้าใจ 5 เทรนด์ใหญ่ที่จะทรงอิทธิพลในปี 2030 (5 Mega Trends) มีดังนี้
1. สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ พฤติกรรมของผู้สูงอายุในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้สูงอายุจะไม่อยู่บ้านเลี้ยงหลาน และมีสุขภาพที่ดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมธุรกิจที่ผลิตสินค้าและการบริการซึ่งตอบโจทย์ผู้สูงอายุยุคใหม่
2. ความเป็นเมือง (Urbanization) คือ การที่เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ได้ และสามารถเชื่อมต่อกับสังคมได้ รัฐบาลควรสนับสนุนการทำงานที่บ้าน (Work From Home) และมีนโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่ให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือนโยบายเรียนที่บ้าน (Learn From Home) เฉพาะเด็กโต ส่งเสริมการเรียนจากที่บ้านให้มีคุณภาพและเข้าถึงเด็กทุกคน และนโยบายซื้อที่บ้าน (Buy From Home) โดยยกเลิกภาษีขายสินค้าออนไลน์เฉพาะคนไทยเป็นเวลา 1 ปี
3. การเติบโตของคนชั้นกลาง (Rise of Middle Income Class) คือ การที่กลุ่มชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลควรสนับสนุนนโยบายท่องเที่ยวเพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจจะแย่จนถึงจุดที่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ
4. นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ (Disruptive Technologies) หากตลาดผลิตภัณฑ์เดิมไม่มีการปรับตัว ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจนั้นถึงขั้นปิดกิจการ รัฐบาลควรส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI หรือ Artificial Intelligence) เกษตรกรรมยุค 4.0 การทำธุรกรรมทางการเงินไม่ง้อธนาคาร (Financial Technology) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
5. โลกที่หมุนบนแกนของความยั่งยืนและความรับผิดชอบทางสังคม (Sustainability and Social Responsibility) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ และการขาดแคลนทรัพยากร รัฐบาลควรปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมให้ประชาชน สนับสนุนให้รัฐบาลโปร่งใสและตรวจสอบได้ (Open Data) ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน
คงถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจว่าอยากให้ประวัติศาสตร์บันทึกถึงตัวเองว่าอย่างไร เพราะนักวิชาการจำนวนมากได้ออกมาพูดแล้วว่าร่างงบประมาณปี 64 ไม่ตอบโจทย์กับวิกฤตเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน และ พล.อ.ประยุทธ์ คงเหลือแค่ 2 ทางออก ทางออกที่ 1 คือ ปรับครม.ใหม่ทั้งชุด เลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านนั้น ๆ มาทำงาน เพื่อให้งานที่ออกมามีประสิทธิผลสูงสุด หรือทางออกที่ 2 คือ ยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น