วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
"วัฒนรักษ์" แนะรัฐใช้ 6 ยุทธศาสตร์ พยุงเศรษฐกิจ
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ควรเข้าใจถึงคำว่า “New Normal” อย่างแท้จริงเสียก่อน เพราะ โควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้คนทั่วโลกเข้าสู่ความปกติรูปแบบใหม่ ทั้งด้านธุรกิจ รูปแบบการดำเนินชีวิต การศึกษา และสาธารณสุข รัฐบาลมากหมายทั่วโลกหันมาใช้นโยบายชาตินิยม และลดบทบาทความร่วมมือระหว่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ควรเร่งสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) ให้เป็นระบบที่สามารถใช้ได้ทันที ทั่วไทย และทุกเวลา เพราะภาคเอกชนและภาครัฐจะสามารถทำงานได้คล่องขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณปี 2564 ต้องตั้งอย่างถูกวิธี ตอบโจทย์และไม่ล้าสมัย
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรปรับแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้ตอบสนองจากผลกระทบโควิด-19 ดังนี้
1. Economic Simulation คือ การจำลองสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่แย่ที่สุด เพื่อประเมินสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตและคิดนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคเป็นรายวัน ยกเลิกการใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะล้าสมัยและไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
2. Support SMEs Liquidity คือ การส่งเสริมให้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีสภาพคล่องทางการเงิน เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากภาครัฐเพื่อส่งผ่านต่อไปให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ ให้พวกเขารอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
3. Agile Government คือ รัฐบาลต้องมีระบบการทำงานที่ว่องไว ตอบสนองและทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน รัฐต้องลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่เสียเวลา และพัฒนาให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการโดยใช้ระบบ E-Government
4. Empathic Government รัฐบาลที่เข้าอกเข้าใจความต้องการของประชาชน คือ รัฐบาลเพื่อประชาชนในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องเข้าใจปัญหาที่ประชาชนพบเจอ และเอาใจใส่การวิจัยสภาวะแวดล้อม การรับรู้ พฤติกรรม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปแบบรายวัน เพราะ การที่รัฐเข้าใจ เอาใจใส่ปัญหา และตระหนักถึงความต้องการของประชาชนก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ตรงจุด
5. Lean Government รัฐบาลต้องทำตัวให้เบา มีความเป็นกลาง โดยเฉพาะการจัดสรรและใช้งบประมาณปี 2564 มีความสำคัญมาก ดังนั้น รัฐบาลควรตัดงบที่มีความจำเป็นน้อย และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น งบด้านความมั่นคง และงบการทหาร ที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี และแบ่งสันปันส่วนงบประมาณให้หน่วยงานต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันเป็นสำคัญ
6. Stable Government รัฐบาลควรสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้น โดยการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ เพราะ ถ้าหากยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอก “ความไม่มีเสถียรภาพ” แล้วใครจะกล้ามาลงทุน
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรวิเคราะห์ปัญหา และความต้องการของประชาชนตลอดเวลา บริหารประเทศด้วยยุทธศาสตร์แบบวันต่อวัน ตอบโจทย์สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กล้าตัดสินใจ เอาใจใส่ความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม เข้าใจเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง และเร่งแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะ ถ้าหากยังบริหารราชการแบบเก่า ๆ ไม่ก้าวตามสถานการณ์ ประเทศไทยจะตกขบวนและยากที่จะมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อีก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น