วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลง รัฐเลื่อนซื้อเรือดำน้ำ เพราะทนกระแสต้านไม่ไหว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กองทัพเรือ (ทร.) พิจารณาเลื่อนหรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ออกไปว่า ตอนจะดันซื้อเรือดำน้ำนายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการ แต่พอจะถอยใช้อำนาจนายกฯ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายครอบงำการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ถ้าภาคประชาชนไม่ส่งสัญญาณเตือนแรงๆ นายกฯ จะถอยหรือไม่ ทั้งนี้ ขอตั้งขอสังเกตว่าเหตุที่นายกฯ ถอย เพราะจำนนต่อหลักฐาน หรือเดินฝ่าแรงต้านไม่ไหว ไม่ใช่การถอยแบบมีสำนึก เพราะถ้าสำนึกต้องไม่ใช่แค่เลื่อน หรือชะลอไว้ 1 ปี แต่ต้องเลื่อนให้นานกว่านั้น หรือยุติการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 ไปเลย ถ้าประชาชนไม่ลุกฮือ ป่านนี้คงหวานคอแร้งรัฐบาลไปแล้ว หวังว่าเมื่อไม่ซื้อเรือดำน้ำแล้ว คงไม่หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ประเภทอื่นทดแทน สภาพวิกฤติเศรษฐกิจหนักขนาดนี้ ประชาชนจะไม่ทนอีกต่อไป 

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว. ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ว่า พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นความชอบธรรมที่ทุกฝ่ายปฏิเสธได้ยาก วันนี้บ้านเมืองมีปัญหาไปต่อลำบาก จึงมีความเห็นพ้องร่วมกันในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ รวมทั้งยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ส.ว. ยอมถอยแล้ว หากรัฐบาลมีความจริงใจเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ การแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นแนวทางที่มีทุกฝ่ายเห็นพ้องมากที่สุด ไม่มีประเด็นความขัดแย้ง เชื่อว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. จะเป็นทางออกของประเทศ

นายอนุสรณ์ กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะจัดทำหนังสือยกเลิกการแบนพาราควอตถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า ท่าทีนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยหรือไม่ การยกเลิกการแบนพาราควอต เป็นแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายกรัฐมนตรีมีแนวทางการบริหารความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไร หรือหรี่ตาข้างหนึ่งเล่นปาหี่ สุดท้ายพ่อค้าได้ประโยชน์ ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้เสนอยุทธศาสตร์อาหารปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นคงและหลักประกันสุขภาพทางอาหาร ถ้ารัฐบาลปฏิเสธแนวทางนี้ โดยการยกเลิกการแบนพาราควอต ประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ เพียงบางกลุ่มแล้วผลักประชาชน ผู้บริโภคทั่วโลก ที่หวังพึ่งพิงอาหารปลอดภัยจากประเทศไทย ซึ่งเป็นครัวของโลก ให้เผชิญกับความเสี่ยงโดยรัฐบาลได้ทำลายหลักประกันอาหารปลอดภัยทิ้งไป

ขณะที่ นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอตั้งคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีค่าเสียหายจากการใช้มาตรา 44 ไปสั่งปิดเหมืองทองอัคราว่าในวันนี้ยังคงยืนยันคำพูดที่ว่าจะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวอยู่หรือไม่ ซึ่งทุกคนรอดูท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้ เงินภาษีของพี่น้องประชาชนมีไว้ใช้ในยามวิกฤติหรือพัฒนาประเทศ ไม่ได้มีไว้เสียค่าโง่จากการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาล

"ชลน่าน" สอน "ประยุทธ์" รับผิดชอบความเสียหายคดีเหมืองทอง

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณาสุข เปิดเผยว่า กรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม  ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 111,155,700 บาท ภายหลังจากที่บริษัทคิงส์เกตฯโดย ร้องรัฐบาลไทย กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ  ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 2560 ทั้งหมดนี้คงต้องรอว่าคำวินิจฉัยคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร 

ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพราะใช้คำสั่งของคสช.ไปสั่งปิดเหมืองทอง  ซึ่งกระทำมิได้เพราะผิดข้อตกลงทางการค้า  รวมทั้งทางคิงส์เกต ต่างประเทศเขาไม่ยอมรับ  มาตรา 44 ที่คสช.บังคับใช้  เป็นแค่กฎหมายเฉพาะกิจที่มีผลแค่ในประเทศไทย

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นพลเอกประยุทธ์ ประกาศว่าจะรับผิดชอบเองหากเกิดความเสียหาย  มาถึงเวลานี้กลับปัดความรับผิดชอบ  นำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายในการต่อสู้คดี  อีกทั้งที่ผ่านมามีการจ่ายค่าทนายความไปแล้ว 500-600 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่เปิดเผยกับประชาชนว่าใช้เงินในส่วนไหน

“พลเอกประยุทธ์นำราชอาณาจักรไทย เข้าสู่ข้อพิพาทกับบริษัทคิงส์เกต หากมีคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  ออกมาว่าไทยแพ้  ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องถามว่าพลเอกประยุทธ์ จะให้ราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบแทนความผิดที่ตัวเองก่อหรือไม่  คงต้องถามว่าพลเอกประยุทธ์จะแสดงรับผิดชอบอย่างไร  หรือ คนไทยทั้งประเทศ ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหาย แทนความผิดพลาดที่พลเอกประยุทธ์ก่อขึ้น”นายแพทย์ชลน่าน กล่าว

"เพื่อไทย" จัดเสวนา "ปลูกโอกาส สร้างเมืองสตาร์ทอัพ"

"สุดารัตน์" ชวน "Start Up" ไทยรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคการเติบโต วงเสวนาชี้ รัฐราชการไทยเป็นปัญหา โวย! โควิด-19 มา ผู้ประกอบการรายเล็กเจ๊ง ส่วนเงินเยียวยา 5 แสนล้านลงท้องทุนรายใหญ่


ที่พรรคเพื่อไทย โดยสถาบันสร้างไทย จัดเสวนา "ปลูกโอกาส สร้างเมืองสตาร์ทอัพ" นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการและเปิดประเด็นในการเสวนา 

คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำถึง แนวทางของพรรคเพื่อไทยต่อ Start Up โดย Focus 2 อย่าง คือ เงินกู้ของรัฐ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจและ SMEs หลัง covid -​ 19 ระบาด มีอยู่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง SME, กลุ่มstartup และวิสาหกิจชุมชน ควรจะได้เงินก้อนนี้ และแม้รัฐมีการกระจาย แต่ SME รายใหญ่ได้ประโยชน์ ขณะที่รายเล็กกำลังจะตาย ส่วนที่สองคือ การดูกฎระเบียบและแก้ไขกฎหมายต่างๆที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคการเติบโตธุรกิจใหม่ รวมถึง startup กลุ่ม SMEs วิสาหกิจชุมชนต่างๆด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และการจัดเวทีพูดคุยในลักษณะนี้ รวมถึงการคุยวงเล็บเพื่อลงในรายละเอียดหรือ Detail ต่างๆ จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ SME, ธุรกิจรายเล็ก และ Start Up ของไทยให้เติบโตขึ้น

ส่วนผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

(1) นางสาว ชาริณี กัลยาณมิตร ผู้ก่อตั้ง MOXY ร้านค้าไลฟ์สไตล์ออนไลน์สำหรับผู้หญิง

(2) นายอมฤทธิ์ เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba Coworking Space และ Techsauce Media

(3) นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง Ricult ซึ่งเป็น Start Up AgriTech เพื่อเกษตรกรที่มูลนิธิบิล เกตส์ ให้ทุนกว่า 100 ล้านบาท 

(4) นางสาวช่อขวัญ ช่อผกา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านองค์ความรู้อุตสาหกรรมกัญชาและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน Cannabis Technology      

(5) นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานบริษัท อีทราน จำกัด ซึ่งเป็น Start Up สายยานยนต์ จักรยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด 

โดยต่างย้ำถึงการต้องพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก Start Up แชะสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคที่ Start Up ไทยไม่เติบโต โดยเฉพาะปัญหาจากกฎเกณฑ์ต่างๆของภาครัฐ ตลอดจนวิสัยทัศน์ผู้มีอำนาจและระบบราชการของรัฐไทย ที่ยุ่งยากและล่าช้าในการดำเนินการ ที่น่าสนใจคือ

นางสาวชาริณี ผู้ก่อตั้ง MOXY กล่าวตอนหนึ่ง โดยเปรียบเทียบการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศต่างๆกับประเทศไทยที่แตกต่างกันมาก โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะลดการลงทุน แต่จะคอย support ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ลองผิดลองถูกและพยายามทำให้เกิดผลกำไร มีกลไกหรือเป็น Partner ให้เลือกทำงานได้ มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆในการสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งการดำเนินการภาครัฐต้องสนับสนุน ไม่เช่นนั้น Start Up จะไปไม่รอด 

โดยในต่างประเทศ ภาครัฐจะถามความเห็นหรือรับฟังผู้ประกอบการเป็นหลัก ในภาษา Start Up คือ ก่อนที่จะทำอะไรต้องถามลูกค้าก่อน ว่าเขาจะไปหรือว่าจะเอาหรือเปล่า ไม่ใช่คิดแค่ว่าทำแล้ว เดี๋ยวลูกค้าจะตามมาเอง ดังนั้น ภาครัฐต้องคุยกับ Start Up ก่อนว่าจะทำอะไรและทำที่ไหน สำหรับไทยนั้น เงินอาจจะมี แต่การกระจายเงินทุนยังคิดกลไกไม่ออกหรือรัฐจะทำเอง ทั้งที่ควรจะให้ Start Up เป็นคนคิดหรือคิดร่วมกัน

นายอมฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba กล่าวว่า โมเดล Start Up ที่เมืองนอกมีเยอะ หลายคนจึงถามว่าทำไมไทยจึงไม่มี พร้อมขยายความว่าที่ต่างประเทศเกิดได้ เพราะรัฐบาลต่างประเทศมองว่า รัฐไม่ได้รู้ดีเท่ากับผู้ประกอบการและปล่อยให้นักลงทุนแข่งขันกัน ภาครัฐอาจไม่ได้หวังกำไรในส่วนนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เสียอะไร เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วย โดยราวปี 2558 การที่ผู้ประกอบการจะทำ E-commerce ขึ้นมาก็กลัวโดนโกง แต่สุดท้ายก็กลัวการ disruption มากกว่า ท่ามกลางการขยายตัวขึ้นของอา ลีบาบา จากประเทศจีน จึงเกิดกลุ่มบริษัทที่ทำ E-commerce หลายกลุ่มขึ้นในหลายประเทศ

นางสาวช่อขวัญ ผู้นำด้านองค์ความรู้อุตสาหกรรมกัญชา กล่าวว่า ธุรกิจด้านนี้ไม่ค่อยมีคนเข้ามาทำ เพราะเคยผิดกฎหมายและยังมีอคติในสังคมอยู่ แม้เม็ดเงินจากธุรกิจกัญชา จะมีมหาศาล แต่ตกอยู่กับทุนขนาดใหญ่ ชาวบ้านธรรมดาเข้าไม่ถึง ขณะที่เมื่อมีวิกฤตโควิด - 19 ทุกอย่างก็ยุติลง และ Start Up ไม่ได้เกิดหรือเติบโตขึ้น พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการหรือการปลูกกัญชาเองโดยของรัฐ จะไม่ให้ผลผลิตที่งอกงาม เพราะไม่มีองค์ความรู้ หรือมีชุดข้อมูลที่ไม่ใกล้เคียงความเป็นจริง  และปัจจุบันมี Start Up ประมาณ 3-4 รายที่เท่านั้น เหลือเป็น "บิ๊ก" หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่วนชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงโอกาส ทั้งข้อมูลและระบบต่างๆภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องดำเนินการเรื่องกัญชากับรัฐเท่านั้น แม้คนมองเห็นว่า การปลูกกัญชาขายจะนำพาออกจากความจนได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคนจนเข้าไม่ถึงการปลูกจากเงื่อนไขต่างๆที่รัฐไทยกำหนดขึ้นมา

นายสรณัญช์ ผู้พัฒนานวัตกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด กล่าวว่า Start Up มีประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศร่วมกับภาครัฐ แต่รัฐไทยติดกับระบบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา Start Up และแผนที่ให้ Start Up พัฒนาและแข่งกันเองอย่างเดียว เป็นเรื่องอันตราย โดยเห็นว่า ควรเอามันสมองของ Start Up ไปช่วยคิดหลายๆอย่างที่เกินกว่าระบบราชการหรือเกินกว่าที่ภาครัฐจะฝันถึงได้ ที่ไม่ใช่แค่ความคิดความอ่านเท่านั้น แต่เอามาช่วยกันสร้างวิสัยทัศน์, Project หรืออะไรบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศโดยใช้เคสหรือกรณีศึกษาของ Start Up จะทำให้ประเทศเดินเร็วขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเปรียบกับการขับเคลื่อนด้วยระบบราชการอย่างปัจจุบัน 














วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"สุดารัตน์" ขวางรัฐ ใช้ภาษีประชาชนสู้คดีปิดเมืองทองอัครา

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

บาทเดียวของภาษีประชาชน ก็ไม่ควรต้องเสียให้กับความผิดพลาดที่เผด็จการก่อไว้

เพื่อไทย เสนอแปรญัตติตัดงบค่าใช้จ่ายเรื่องข้อพิพาทเหมืองทองอัครา

ภาษีประชาชนต้องไม่เสียไปกับความลุอำนาจของเผด็จการ

1 ม.ค.60 ปิด #เหมืองทองอัครา  ด้วยอำนาจเผด็จการ โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 72/2559

18 ก.ย.62 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าหัวหน้าคสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถนำเงินของรัฐที่เก็บจากภาษีอากรของประชาชนมาจ่ายได้ 

ในเมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศชัดเจน จะรับผิดชอบคดีปิดเมืองทองอัคราด้วยตัวเอง ก็อย่าพูดเอาหล่ออย่างเดียว โดยหลอกลวงประชาชนไปวันๆ 

ค่าสู้คดี รัฐจ่ายไปให้แล้ว 389 ล้าน 

ค่าเสียหายที่จะต้องจ่ายตามมา หากแพ้คดีอีกเกือบ 40,000 ล้าน 

ประกาศจะรับผิดชอบเอง 

ก็ช่วยควักเงินจ่ายเองด้วยค่ะ 

โดยกรรมาธิการงบประมาณของพรรคเพื่อไทยจะเสนอตัดงบประมาณส่วนนี้ออกทั้งหมดค่ะ

#บาทเดียวของคนไทย ก็ไม่ขอจ่ายเป็นค่าโง่ให้เผด็จการ

"ทวี" ท้วงรัฐ ถลุงงบสู้คดีเหมืองทองอัครา

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การนำเงินภาษีอากรไปทุ่มกับ “ค่าใช้อำนาจตาม ม.44 คดีเหมืองทองอัครา” ทั้งที่  พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เป็นการเหมาะสมแล้วหรือ ? 

ตามที่รัฐบาลโดย สำนักงบประมาณและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอของบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2564 ต่อสภาผู้แทนราษฏร ใช้ชื่อ “แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบรายจ่ายอื่น จำนวน 111,115,700 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด”  นั้น

ปรากฎคำชี้แจงของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา ว่า กรณีบริษัทอัคราไมนิ่ง จังหวัดพิจิตร ที่ถูกดำเนินคดีเป็นผลมาจากการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ในการสั่งปิดนั้น ในการประกอบการของบริษัทอัคราไมนิ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จะมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้นมีการตรวจสอบพบว่าจากการตรวจเลือดของประชาชนพบสารหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลในขณะนั้นมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ลงพื้นที่และตรวจสอบตามหลักฐานต่างๆ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่ และมีข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้คนในพื้นที่ในการสนับสนุนการทำเหมือง รัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องการที่จะปกป้องประเด็นเรื่องสุขภาพประชาชนในพื้นที่จึงเลือกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการสั่งปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

จากคำชี้แจงดังกล่าว เป็นการยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อจริง “ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่”  ดังนั้นใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองอัคราไมนิ่ง ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน และข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ จึงเป็นการใช้อำนาจ ม 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและขัดหลักนิติธรรม ถือเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

จากข้อมูลวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สภาฯ  พบว่ามีการใช้งบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน 2562 และ 2563 ในการต่อสู้คดีส่วนหนึ่งแล้ว คือ ในปีงบประมาณ 2562 ได้งบประมาณในลักษณะเดียวกันไปจำนวน 60,000,000 บาท และปีงบประมาณ 2563 ได้ไปจำนวน  217,778,100 บาท

ความเห็นส่วนตัวนั้น เรื่องการควบคุมมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกภาพส่วนต้องให้ความสําคัญในการคุ้มครองสิทธิแต่ต้องดำเนินการอยู่บนกฏหมาย หลักนิติธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และในกรณีดังกล่าวประเทศไทยมีกฏหมายปกติอยู่แล้ว คือ ตามพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งอำนาจในการปิดเหมืองนั้นหากมีอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 125 และมาตรา 126 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กำหนดให้อธิบดีสั่งระงับใบอนุญาตได้  จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเผด็จการในการสั่งปิด 

คำสั่ง มาตรา 44 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา จนต่อมาเมื่อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ปัจจุบันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคดีอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสำนวนและคาดว่าคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นน่าจะอยู่ในปลายปี พ.ศ.2563 หรือในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 จะทราบผลคำตัดสิน

กรณี คดีเหมืองทองอัคราไมนิ่ง เป็นการตอกย้ำว่ามีการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล ที่เรียกว่า “สองมาตราฐาน” เพราะ ในเรื่องประเทศไทยถูกต่างชาติฟ้องร้องเรื่องทำนองเดียวกันเหมือนทองอัคราไม่นิ่ง จำนวนหลายคดี ใน WTO ซึ่ง กมธ วิสามัญฯ งบประมาณปี 64 ได้ตั้งคำถามกับ กระทรวงพาณิชว่า :กระทรวงพาณิช โดย กรมเจรจาการค้ามีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ มีคดีความเป็นจำนวนมากที่ ประเทศ ไทยถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่นคดี ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ฟ้องร้องประเทศไทย ให้ชดใช้เงินเป็นจำนวนเกือบประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยกลับมีการใช้ทนายอาสา และทนายคนดังกล่าว เคยทำงาน อยู่ในสำนักงานทนายความของคู่กรณีและต่อมาประเทศไทยแพ้คดีให้กับคู่กรณี เป็นต้น

กระทรวงพาณิชโดย กรมเจรจาการค้าตอบชี้แจงว่า : “คดี ฟิลิป มอริส มีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาสนับสนุนงานทางคดี การจ้างทนายความ เกิดจากการหารือกันของคณะทำงาน” 

ซึ่งทราบว่าหน่วยงานในคดี ฟิลิป มอริสว่า หน่วยงานต้องการให้รัฐบาลจ้างทนายให้ เพื่อสร้างความมั่นใจเพื่อต่อสู้คดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ต้องการทนายขอแรงหรือทนายอาสา แต่รัฐบาลไทยกลับมีใช้ทนายของ  ACWL ซึ่งเป็นทนายอาสาหรือทนายขอแรง ที่ WTO จัดทนายไว้สำหรับช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาจากสำนักกฎหมาย ACWL และมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทนายความที่มาต่อสู้ให้ไทย เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความ หรือบริษัทกฎหมายที่คู่กรณี (ฟิลิปปินส์) ว่าจ้าง จึงไม่มีหลักประกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในคดีดังกล่าวประเทศไทยได้แพ้คดี ถึง 2 ครั้ง 

การใช้เงินภาษีอากรจ่ายจำนวนมากเพื่อ เป็น “ค่าใช้อำนาจมาตรา 44“ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ต้น(ข่าวจากสื่อมวลชน ระบุจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 62) เห็นว่าเพื่อความชอบธรรมต้องให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้อย่างกว้างขวางต่อไป

"ยุทธพงศ์" เร่ง "ประวิตร" เปิดหนังสือซื้อเรือดำน้ำ ถาม "จีทูจี" จริง ทำไมโอนบัญชีเข้าเอกชน?

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลักฐานหลังจากอ้างว่ามีการทำหนังสือสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากพบว่าการทำหนังสือสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำลำแรก เมื่อเดือน พ.ค.60 ทั้ง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือขณะนั้น ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย และบริษัทเอกชนของจีน ในฐานะตัวแทนฝ่ายจีน ต่างก็ไม่มีหนังสือรับมอบอำนาจจากรัฐ (Fulls Power) ทั้ง 2 ฝ่าย และยังพบว่าการโอนจ่ายค่างวดเรือดำน้ำลำแรก เป็นการโอนไปบริษัทเอกชนของจีน ไม่ได้โอนไปที่กระทรวงการคลังหรือกระทรวงกลาโหมของจีน หากมีการทำสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐจริง อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ด้วย เนื่องจากเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่รัฐสภายังไม่เคยตั้งเห็น แต่การจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก และยังพบว่ารายงานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน หน้า 17 ระบุความเห็นด้วยว่า สัญญาการซื้อขายรัฐต่อรัฐไม่มีข้อผูกมัด สามารถเลื่อนจัดซื้อเรือดำน้ำได้พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามยื้อเวลา เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการเลื่อนวาระพิจารณาเรื่องเรือดำน้ำหลายครั้ง









วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-คอนราดฯ เสวนา: Challenges and Trends in Public policy in 2020

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้การสนับสนุนและความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านต่างๆ จัดประชุมวิชาการ “Challenges and Trends in Public policy in 2020”  โดยมีนักวิชาการ อาทิ ดร.บุญเลิศ ว่องวิบูลย์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ , นายพลนชชา จักรเพ็ชร ฯลฯ และผู้แทนภาคเอกชนที่สนใจ เข้าร่วมงานเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ 

ทั้งนี้ Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย กล่าวระหว่างการเปิดงานเสวนาว่า การจัดทำนโยบายและการดำรงอยู่ของพรรคการเมือง อุดมการณ์ของพรรคการเมืองจะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึงนโยบายสาธารณะของพรรคการเมืองโดยชี้ว่า ที่ผ่านพรรคการเมืองลดความสำคัญของนโยบาย เมื่อมีรัฐบาลก็มีลักษณะการใช้นโยบายต่อจากรัฐบาลที่ผ่านมามากกว่าการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองหรือรัฐบาลใหม่ ประเทศไทย เมื่อต้องประสบกับการระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่พบลักษณะการนำเสนอนโยบายที่ทำให้เห็นว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะที่ต้องการนโยบายหรือยุทธศาสตร์ การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้สถานการณ์วันนี้ มีคำถามสำคัญว่าเราจะพึ่งเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร เพราะเศรษฐกิจระหว่างประเทศเสียหายไปอย่างมาก และภายในประเทศจะเอากำลังมาจากไหน ซึ่งหลังจากนี้ไปควรจะต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้มากขึ้น

ขณะที่ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความท้าทายและแนวโน้มนโยบายสาธารณะในประเทศไทย ระบุว่าหลัง รัฐประหาร 2557 นโยบายสาธารณะหลายๆ ด้านไม่ได้รับการให้ความสำคัญ ทำให้เสียโอกาสไปขนานใหญ่ ระบบของส่งมวลชนของไทยยังมีปัญหาหลายด้านและเกิดช่องว่างการบริการ ซึ่งรัฐบาลในอนาคตจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะการทำให้การบริการครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม
























วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" แถลงยืนยัน แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.เป็นไปได้จริง

เพื่อไทยออกแถลงยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.เป็นไปได้จริงเพื่อยกร่างฉบับใหม่ให้ประชาชนลงประชามติเป็นทางออกที่ดีที่สุดการแตะหมวด 1 และ 2 อาจถูกกล่าวหาดำเนินคดีล้มล้างการปกครอง ด้าน ปชป.จะแก้ไขเพียงอำนาจเลือกนายกฯ ของ สว.อย่างเดียว

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยเผยแพร่แถลงการณ์ท่าทีของพรรคต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเป็นที่ถกเถียงว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ลงชื่อในญัตติขอแก้ไขประเด็นของสมาชิกวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญหลายมาตราทั้งอำนาจและการมีอยู่ของ สว.

โดยแถลงการณ์ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหามากมายแทบทุกหมวดและยังโยงใยเกี่ยวข้องกันในหลายหมวดหลายมาตรา ซึ่งตัวแทนพรรคการเมืองในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขรับธรรมนูญก็เห็นพ้องต้องกันหมด แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งหรือหลายประเด็น ไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมุ่งสืบทอดอำนาจระบอบเผด็จการอำนาจนิยมกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนได้

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการสร้างกลไกให้ประชาชนเป็นผู้ร่างและให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ การให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด







วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"เพื่อไทย" ย้ำจุดยืน ปิดสวิตช์รัฐธรรมนูญเผด็จการ

นายภาควัต ศรีสุรพล สส.พรรคเพื่อไทย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ผมขอยืนยันครับ เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตราที่มีปัญหา รวมทั้งที่มาของ ส.ว. 250 คน พรรคเพื่อไทยมีมติร่วมกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรายืนหยัดเรื่องนี้ ทั้งไม่เห็นด้วยและคัดค้านตั้งแต่เริ่มมีร่างรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และพี่น้องประชาชนไม่มีส่วนร่วม 

เจตนารมณ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ การคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และส่งกลับไปให้ ประชาชนเป็นผู้ออกแบบใหม่ทั้งหมด จึงได้นำมาซึ่งการยื่นแก้มาตรา 256 คือแก้ไขวิธีการแก้ที่ยุ่งยาก โดยมีจุดมุ่งหมายคือการเลือกตั้ง สสร.

เมื่อมี สสร.ที่เป็นผู้แทนจากประชาชนแล้ว ก็จะมาร่วมกันออกแบบรัฐธรรมนูญครับ  มาตราไหนมีปัญหาก็ลงรายละเอียดไปแก้ไขรายมาตรา เมื่อร่างเสร็จแล้วก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมาให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ได้ลงประชามติอีกครั้ง ว่าจะโหวตรับหรือไม่รับ โดยในระหว่างการรณรงค์ประชาชนจะมีอิสระในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่

ฉันทามติของพี่น้องประชาชนจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้ทั้งหมด

ส่วนประเด็นเรื่อง ปิดสวิทช์ส.ว. ส่วนตัวผมก็เห็นตรงกับพี่น้องส่วนใหญ่ ว่าเราควรปิด แต่จะปิดได้ก็ต้องแก้ทั้งฉบับด้วย หากจะดึงดันปิดสวิทช์ ส.ว. ทันที เราทำไม่ได้เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ดังนั้นหากไม่มี ส.ว.เราก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จครับ

เหมือนเรากำลังจะเข้าบ้าน แต่ไม่มีกุญแจ วันนี้กุญแจดอกเดียวเท่านั้น ที่เป็นใจความของเรื่องทั้งหมด และยุติปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมือง คือ การตั้ง สสร.ให้สำเร็จ 

และผมเองก็อยากเห็น ท่าน ส.ว. จับมือกับ ส.ส. โดยใช้รัฐสภาแห่งนี้ เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้ได้ "รัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อประชาชน" อย่างแท้จริงครับ