วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"วัฒนรักษ์" ชี้ ความเสมอภาคทางสังคม คือทางออกหนุนเศรษฐกิจ


ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเจอกับศึกรอบทิศที่นับวันจะโหมกระหน่ำมาเรื่อย ๆ จะเรียกได้ว่ารัฐบาลโดนทั้งศึกในและศึกนอกก็คงไม่ผิด เพราะไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาตลอด 6 ปีที่รัฐบาลแก้ไม่ได้เสียที พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เดินออกจากห้องประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 จนทำให้การประชุมล่ม ซึ่งเป็นเรื่องผิดปรกติที่ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอให้นับองค์ประชุม และพากันเดินออกไปเกือบหมด นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และอีกศึกหนึ่งที่รัฐบาลเจอคือ ม็อบนิสิตนักศึกษา ออกมาเรียกร้องสิทธิ ความเสมอภาคและอนาคตที่พวกเขาต้องการสร้างเอง ถ้าหากการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ และครม.ยังไม่สามารถสร้างความไว้ใจให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แล้ว ก็ยากที่จะหวังให้รัฐบาลชุดนี้สร้างความไว้ใจให้กับนักลงทุน

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนทุกคนมีภาระค่าใช้จ่ายและประสบกับปัญหาปากท้องทุกวัน จึงขอเสนอให้ประเทศไทยวางยุทธศาสตร์แบบวันต่อวัน แก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาสังคมในมิติต่าง ๆ ดังนี้

1. การใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างโครงการที่ทันสมัยร่วมกับภาคประชาชน เพื่อให้ทุกโครงการสามารถจับต้องได้ นำโครงการมาพัฒนาต่อได้ สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน และโครงการเหล่านั้นจะต้องกระจายงบประมาณโดยตรงให้ถึงกระเป๋าของประชาชน และช่วยเพิ่มมูลค้าสินค้าไทยเพื่อการส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ที่น้อยลง ดังนั้นภาครัฐต้องช่วยลดค่าครองชีพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประชาชนกำลังประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง รัฐควรควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และในส่วนของการศึกษา เด็กไทยควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพและฟรีตลอดระยะเวลา 15 ปี และที่สำคัญคือ “ต้องฟรีจริง” ไม่ใช่ฟรีแค่ชื่อโครงการ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่

3. รัฐบาลควรเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการทำ Travel Bubble (การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสองประเทศที่สามารถจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ได้ดี) ให้สำเร็จร่วมกับหลาย ๆ ประเทศภายใน 14 วัน เพราะก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้เศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันไทยไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเลย นั้นหมายความว่านักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปกว่า 39.7 ล้านคน หรือขาดรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรหาจุดสมดุลระหว่างการเปิดประเทศและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปในเวลาเดียวกัน

4. ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นอย่างมาก จึงไม่ควรเลือกข้างในสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ-จีน เพราะการเลือกข้างผิดก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงไปอีก แต่เราควรเร่งสร้างข้อตกลงการค้า (Trade Deal) ระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการส่งออกไทย

5. ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) อย่างไรก็ตาม แม้เราจะส่งออกสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ ทั้งสัปปะรดกระป๋อง ข้าว น้ำตาล กุ้ง และไก่ เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ชาวไร่ ชาวนายังคงลำบาก รัฐบาลควรผลักดันให้ไทยเป็นครัวโลก (Kitchen of the World) ควบคู่กับการกำกับดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ให้ชาวไร่ ชาวนาโดนเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางหรือจากกลุ่มนายทุน นี้ถือว่าเป็นการสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอีกมิติหนึ่ง

ศึกต่าง ๆ ที่เข้ามาในตอนนี้คงเป็นตัวเร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือ “การปรับทัศนคติตนเองเสียก่อน ให้เข้าใจว่าคนที่เห็นต่างไม่ใช่ศัตรู” ให้รับฟังความคิดเห็นและนำมาแก้ไข จะได้ความเห็นที่หลากหลายขึ้นในการแก้ปัญหา เพราะถ้าหากเศรษฐกิจดีขึ้น ศึกที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลอยู่ในขณะนี้ก็จะลดลง ส่วนเหตุที่เยาวชนออกมาเรียกร้องก็เพราะ เยาวชนเหล่านั้นมองไปข้างหน้าไม่เห็นอนาคต ทุกอย่างดูมืดแปดด้าน ก็คงเป็นตามที่กลุ่มเยาวชนได้ออกมาพูดว่า “เราทุกคนไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ด้วยซ้ำ เราควรทำในสิ่งที่พวกเราอยากทำ” แต่ในเมื่อสิ่งที่พวกเขาอยากทำมันอยู่ในอนาคตมีความมืดมนในทุกมิติเสียแล้ว ใครจะเป็นผู้แก้ไขและรับผิดชอบ ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถเข้าใจถึงความเสมอภาพทางสังคม (Social Equality) และไม่รับฟังความต้องการของประชาชนทุกฝ่าย เราก็คงหมดหวังที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ เพราะทั้งการเมืองและชีวิตประจำวันของเราย่อมเดินควบคู่ไปด้วยกันเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น