ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้พิจารณาข้อเสนอทางออกประเทศไทย 3 ข้อ คือ (1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (2) นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ทันที และ (3) นายกรัฐมนตรี ยุบสภา เลือกตั้งภายใน 60 วัน โดยมีเนื้อหาดังนี้
เรียน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ด้วยปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญและวิกฤตทางการเมือง ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อภาวะเศรษฐกิจ ทรุดหนักจนเกิดปัญหาปากท้องประชาชน และสิทธิเสรีภาพอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดทุกข์ยาก ทุกข์เข็ญอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และยังปรากฏว่านักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงวุฒิสมาชิกหลายคน อีกทั้งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเองก็ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และสถานภาพของนักการเมือง เพราะสิ่งสำคัญทั้ง 2 ประการนี้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและสถานภาพนักการเมืองในขณะนี้กลายเป็นอุปสรรค ขัดขวางต่อการพลิกฟื้นและนำพาประเทศและประชาชนให้พ้นภาวะวิกฤตเป็นอย่างยิ่ง
ขณะนี้การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญได้มีความพยายามจากทุกฝ่าย รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ได้ถูกกลุ่มที่ยกร่างรัฐธรรมนูญไว้เขียนวางหมากค่ายกลไว้จนไม่อาจแก้ไขได้ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างปกติดังที่นานาประเทศทำกัน โดยเฉพาะวุฒิสมาชิกซึ่งไม่ใช่ผู้แทนปวงชนกับมีอำนาจและอิทธิพลสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างปัญหาต่อนักการเมืองให้อยู่ในสภาวะสุญญากาศไม่มีความเป็นเอกภาพและไม่เป็นตัวแทนของปวงชนอย่างแท้จริง
ไม่เพียงแต่นักเรียน นักศึกษา เยาวชนเท่านั้น แต่ภาคประชาชนทุกส่วนได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยนำเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ แล้วยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งทั้งสามประการนี้จะต้องกระทำโดยเร็วที่สุด
ข้าพเจ้า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้แทนประชาชนต่อเนื่องมาหลายสมัย เคยได้มีโอกาสบริหารกิจการบ้านเมืองมาหลายวาระและในฐานะนักกฎหมายดุษฎีบัณฑิตทางนิติศาสตร์คนหนึ่ง และที่สำคัญคือ ข้าพเจ้าเป็นประชาชนคนไทยที่สมควรรับใช้แผ่นดินเมื่อมีโอกาส ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเองก็ได้กรุณาแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย จึงขอเสนอหนังสือฉบับนี้ต่อท่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยข้าพเจ้าขอเสนอทางออกประเทศไทย 3 ข้อ คือ
ข้อ 1. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2563 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 2560 ทันที
ข้อ 2. ให้นำเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวทันที
ข้อ 3. นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน โดยเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถาวรต่อไป
เพื่อให้เป็นรูปธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง ข้าพเจ้าเห็นสมควรให้มีการได้เสนอให้สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณาเห็นชอบใน 3 ข้อ ดังกล่าว โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2563 ซึ่งจะมีเพียงประมาณ 3 ถึง 5 มาตราเท่านั้น จากนั้นก็จะนำเสนอให้ผู้นำฝ่ายค้านนำขึ้นกราบบังคมทูลทรงพระราชวินิจฉัยประกาศใช้ต่อไป
ข้าพเจ้าทราบดีว่า ข้อเสนอของข้าพเจ้านี้จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน และสนับสนุน อย่างหลากหลาย และกว้างขวาง ซึ่งข้าพเจ้าก็ประสงค์เช่นนั้น และยินดีอย่างยิ่งที่จะให้กรรมการบริหารและสมาชิกของพรรคเพื่อไทยได้ร่วมกันพิจารณา
ซึ่งข้าพเจ้าขอยืนยันว่าหากเราจะได้ใช้สติไตร่ตรองให้ดีแล้วจะพบว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ถูกบันทึกว่า รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ เมื่อได้ใช้ไประยะหนึ่งก็มักจะถูกยกเลิกโดยวิธีฉีกทิ้งด้วยการปฏิวัติรัฐประหารเสมอๆ ดังเช่น เมื่อ คสช. ปฏิวัติก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเช่นกัน แล้ว คสช. ก็ใช้บทบาทที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับเลย เสนอประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 เป็นการชั่วคราวเช่นกัน
แม้ว่าบ้านเมืองขณะนี้วิกฤตยิ่งกว่าก่อนการปฏิวัติเมื่อปี 2557 แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ส่งเสริม ให้มีการปฏิวัติเพื่อฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญนี้อีก แต่การออกใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีเพื่อยกเลิก ฉบับปี 2560 นี้แล้วนำเอาฉบับปี 2540 มาใช้ก่อนเป็นการชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้ง สามารถกระทำได้ทันที
หากจะมีผู้กล่าวอ้างว่าวิธีนี้ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ข้าพเจ้าขอเรียนว่าถูกต้อง เพราะมีแต่บทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความจริงที่ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม กรณีจึงเป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีบทบัญญัติเขียนให้กระทำได้ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำ ซึ่งย่อมต้องถือว่ากระทำได้ เพราะได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้ ไว้ในมาตรา 5 วรรคสองว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ดังนั้น การที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะได้ร่วมกันพิจารณาจนในที่สุดเสนอให้ท่านผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2563 ขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัยประกาศใช้ จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 5 และแน่นอนที่สุดย่อมเป็นวิธีการ ที่ดีกว่าและชอบธรรมกว่าการปฏิวัติแล้วฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญดังที่เมื่อปี 2557 ที่ คสช. ได้กระทำไป แล้วต่อมา คสช. ก็ทูลเกล้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากเช่นกันที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีของ คสช. ที่กระทำไปเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ข้าพเจ้าตระหนักดีและมั่นใจว่า ข้อเสนอของข้าพเจ้าดังกล่าวมานี้ หากได้รับการพิจารณาเห็นชอบเป็นมติของพรรคเพื่อไทยแล้วจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษาและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งท่านมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งตัวแทนของท่านให้มาบริหารประเทศชาติ และในที่สุดแล้วพวกเราทุกคนก็จะช่วยกันนำพาประเทศชาติบ้านเมืองให้พลิกฟื้นฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวง ให้ประเทศไทยกลับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และทุกคนอยู่ดีกินดีได้อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด
โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอให้ท่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้โปรดพิจารณา
(1) นำเสนอเพื่อพิจารณาในที่ประชุมกรรมการบริหารของพรรค เพื่อเห็นชอบแล้ว
(2) นำเสนอพรรคร่วมฝ่ายค้านพิจารณาเห็นชอบ
(3) แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างพรรคฝ่ายค้านที่เห็นชอบกับข้อเสนอ
(4) คณะทำงานร่วมฯ พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ชั่วคราว)
(5) นำเสนอท่านผู้นำฝ่ายค้านพิจารณานำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัยประกาศใช้ต่อไป
อนึ่ง ข้อเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและอื่นๆ ดังกล่าวมานี้ ข้าพเจ้ามิได้ประสงค์หรือลบล้างนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แต่ข้าพเจ้าขอเสนอแนวทางนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อพรรคเพื่อไทยดำเนินการคู่ขนานกันไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วนด้วย
ขอแสดงความนับถือ
(ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง)
ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น