ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะภาคการเมืองและรัฐสภา หัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอนาคตของชาติบ้านเมือง” มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นวิทยากร โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) มองปรากฏการณ์การชุมนุมว่า ไม่ควรมองข้าม และควรนำปรากฎการณ์เป็นตัวกระตุ้นให้แก้ไข และการแก้ไขที่จะดำเนินการได้ในวันนี้ คือ กติกาซึ่งคือรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ชุมนุมเรียกร้องชัดเจน แต่แม้ไม่มีการชุมนุมก็มองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การชุมนุมมาเป็นสิ่งเร้าให้แก้ไขเพิ่มขึ้น
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ทั้งการนำสังคมเข้าและออกสู่ความขัดแย้ง หลายครั้งนำสู่การวิกฤติครั้งใหญ่ แต่หลายครั้งที่ความขัดแย้งแก้ไขด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องดูว่าครั้งนี้จะแก้ถูกหรือแก้ผิด สิ่งที่ต้องตระหนักมาก ๆ คือหลายครั้งมีกลุ่มที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอยากแก้จริง ๆ เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์ที่เป็นทางออกของสังคม 2. แก้เพื่อลดกระแส แต่ไม่จริงใจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พึงระวัง 3.แก้เพื่อสร้างกระแส เพื่อเอาใจมวลชน ถ้าไม่หวังผลสัมฤทธิ์ จะเกิดปัญหา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญในแบบที่หนึ่ง จากนั้นมาคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ โดยการนำบทเรียนมาพิจารณา ด้วยการปิดจุดเสี่ยงคือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็ล้มตั้งแต่ยกแรก และปิดจุดที่สอง คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว
นายสุทิน กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 หลักการ คือ ฟังประชาชน ฟังคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ฯ แล้วนำมาสรุปร่วมกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกจากความขัดแย้ง ก้าวสู่ความปรองดอง คือรัฐธรรมนูญที่ทุกคนยอมรับ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเห็นการไม่ยอมรับกัน การจะยอมรับได้ต้องดูว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนเขียน สาระเนื้อหาที่แบ่งปันอำนาจอย่างชอบธรรม ส่วน ส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน และเป็นครั้งแรกที่จะกำหนดเกณฑ์อายุต่ำสุด 18 ปี ให้เข้ามาเป็น ส.ส.ร.
“พรรคเพื่อไทยจะเป็นหนึ่งในประชาชนที่เสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ ให้ ส.ส.ร.เป็นผู้เขียน เพราะพรรคเพื่อไทยจะไม่เขียนเอง เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ ส่วนเงื่อนเวลาที่เหมาะสม ประมาณการณ์ไว้ว่าเมื่อแก้มาตรา 256 เสร็จ จะทูลเกล้าฯ ได้ภายในกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นมี ส.ส.ร.ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำงาน 120 วันและทำประชามติ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 13 เดือนไม่เกิน 15 เดือน จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนที่กังวลว่ารัฐบาลจะนำส.ส.ร.ไปอ้างเพื่อต่ออายุรัฐบาลนั้น รัฐบาลสามารถอ้างการต่ออายุรัฐบาลได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ คือ จนกว่าจะมี ส.ส.ร. และเมื่อมี ส.ส.ร.แล้ว ต่อให้รัฐบาลจะอยู่ต่อหรือยุบสภาก็ไม่กระทบการทำงานของส.ส.ร.” นายสุทิน กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น