วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" ท้วงรัฐ ถลุงงบสู้คดีเหมืองทองอัครา

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การนำเงินภาษีอากรไปทุ่มกับ “ค่าใช้อำนาจตาม ม.44 คดีเหมืองทองอัครา” ทั้งที่  พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เป็นการเหมาะสมแล้วหรือ ? 

ตามที่รัฐบาลโดย สำนักงบประมาณและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอของบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2564 ต่อสภาผู้แทนราษฏร ใช้ชื่อ “แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบรายจ่ายอื่น จำนวน 111,115,700 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด”  นั้น

ปรากฎคำชี้แจงของหน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา ว่า กรณีบริษัทอัคราไมนิ่ง จังหวัดพิจิตร ที่ถูกดำเนินคดีเป็นผลมาจากการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ในการสั่งปิดนั้น ในการประกอบการของบริษัทอัคราไมนิ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จะมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้นมีการตรวจสอบพบว่าจากการตรวจเลือดของประชาชนพบสารหนักในร่างกายเกินค่ามาตรฐานเป็นจำนวนมาก รัฐบาลในขณะนั้นมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ลงพื้นที่และตรวจสอบตามหลักฐานต่างๆ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่ และมีข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้คนในพื้นที่ในการสนับสนุนการทำเหมือง รัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องการที่จะปกป้องประเด็นเรื่องสุขภาพประชาชนในพื้นที่จึงเลือกที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการสั่งปิดเหมืองแร่ทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

จากคำชี้แจงดังกล่าว เป็นการยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อจริง “ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าปัญหาที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่เกิดจากเหมืองหรือไม่”  ดังนั้นใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเหมืองอัคราไมนิ่ง ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน และข้อเท็จจริงไม่สามารถสรุปได้ จึงเป็นการใช้อำนาจ ม 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและขัดหลักนิติธรรม ถือเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

จากข้อมูลวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่สภาฯ  พบว่ามีการใช้งบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน 2562 และ 2563 ในการต่อสู้คดีส่วนหนึ่งแล้ว คือ ในปีงบประมาณ 2562 ได้งบประมาณในลักษณะเดียวกันไปจำนวน 60,000,000 บาท และปีงบประมาณ 2563 ได้ไปจำนวน  217,778,100 บาท

ความเห็นส่วนตัวนั้น เรื่องการควบคุมมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกภาพส่วนต้องให้ความสําคัญในการคุ้มครองสิทธิแต่ต้องดำเนินการอยู่บนกฏหมาย หลักนิติธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และในกรณีดังกล่าวประเทศไทยมีกฏหมายปกติอยู่แล้ว คือ ตามพระราชบัญญัติ แร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งอำนาจในการปิดเหมืองนั้นหากมีอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 125 และมาตรา 126 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กำหนดให้อธิบดีสั่งระงับใบอนุญาตได้  จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเผด็จการในการสั่งปิด 

คำสั่ง มาตรา 44 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา จนต่อมาเมื่อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 บริษัท คิงส์เกตฯ ได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ปัจจุบันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคดีอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสำนวนและคาดว่าคำวินิจฉัยที่ออกมานั้นน่าจะอยู่ในปลายปี พ.ศ.2563 หรือในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 จะทราบผลคำตัดสิน

กรณี คดีเหมืองทองอัคราไมนิ่ง เป็นการตอกย้ำว่ามีการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล ที่เรียกว่า “สองมาตราฐาน” เพราะ ในเรื่องประเทศไทยถูกต่างชาติฟ้องร้องเรื่องทำนองเดียวกันเหมือนทองอัคราไม่นิ่ง จำนวนหลายคดี ใน WTO ซึ่ง กมธ วิสามัญฯ งบประมาณปี 64 ได้ตั้งคำถามกับ กระทรวงพาณิชว่า :กระทรวงพาณิช โดย กรมเจรจาการค้ามีหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ มีคดีความเป็นจำนวนมากที่ ประเทศ ไทยถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่นคดี ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ฟ้องร้องประเทศไทย ให้ชดใช้เงินเป็นจำนวนเกือบประมาณ 80,000 ล้านบาท แต่ประเทศไทยกลับมีการใช้ทนายอาสา และทนายคนดังกล่าว เคยทำงาน อยู่ในสำนักงานทนายความของคู่กรณีและต่อมาประเทศไทยแพ้คดีให้กับคู่กรณี เป็นต้น

กระทรวงพาณิชโดย กรมเจรจาการค้าตอบชี้แจงว่า : “คดี ฟิลิป มอริส มีหน่วยงานจำนวนมากเข้ามาสนับสนุนงานทางคดี การจ้างทนายความ เกิดจากการหารือกันของคณะทำงาน” 

ซึ่งทราบว่าหน่วยงานในคดี ฟิลิป มอริสว่า หน่วยงานต้องการให้รัฐบาลจ้างทนายให้ เพื่อสร้างความมั่นใจเพื่อต่อสู้คดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ต้องการทนายขอแรงหรือทนายอาสา แต่รัฐบาลไทยกลับมีใช้ทนายของ  ACWL ซึ่งเป็นทนายอาสาหรือทนายขอแรง ที่ WTO จัดทนายไว้สำหรับช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาจากสำนักกฎหมาย ACWL และมีการตรวจสอบข้อมูลพบว่าทนายความที่มาต่อสู้ให้ไทย เคยทำงานอยู่ที่สำนักงานทนายความ หรือบริษัทกฎหมายที่คู่กรณี (ฟิลิปปินส์) ว่าจ้าง จึงไม่มีหลักประกันเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในคดีดังกล่าวประเทศไทยได้แพ้คดี ถึง 2 ครั้ง 

การใช้เงินภาษีอากรจ่ายจำนวนมากเพื่อ เป็น “ค่าใช้อำนาจมาตรา 44“ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันว่า “จะรับผิดชอบด้วยตัวเอง” เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ต้น(ข่าวจากสื่อมวลชน ระบุจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 62) เห็นว่าเพื่อความชอบธรรมต้องให้ประชาชนและทุกภาคส่วนสามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้อย่างกว้างขวางต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น