สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และ มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ (KAS) จัดงานสัมมนา “Social Market Economy- Principles and Experiences from Germany” กล่าวเปิดการสัมมนา โดย Dr. Céline-Agathe Caro , Head of the KAS office in Thailand โดยมี นายจาตรุนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.รุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ Mr. Martin Schebesta KAS Expert on Regulatory Policy, Social Market Economy, and Political Economy [Via Zoom Application] ร่วมเป็นวิทยากร และ ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสื่อมวลชน เป็นผู้ดำเนินรายการ งานจัดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ระหว่างเวลา 14.30 – 17.30 น. ณ โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) กล่าวในงานสัมมนา “Social Market Economy - Principles and Experiences from Germany” ว่า คอนเซ็ปของโซเชียลมาร์เก็ตอีโคโนมี มีความน่าสนใจที่หลายๆ อย่างสอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศไทย ทั้งเรื่องบทบาทของรัฐที่ต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ป้องกันการผูกขาดและการส่งเสริมด้านการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหา อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้จะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก แต่คนในประเทศกลับไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งเราจะต้องมาคิดกันว่าจะลดการผูกขาดและส่งเสริมรายเล็กรายน้อยอย่างไร รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ถูกปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน นอกจากนี้เรื่องรัฐสวัสดิการก็กำลังเป็นเรื่องใหญ่และคนรุ่นใหม่จำนวนมากกำลังพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งการดูแลคนที่ยากจน คนไม่มีรายได้และคนตกงาน ซึ่งกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่มากของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบสวัสดิการของไทยดีและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องรีบหาคำตอบ ไม่เช่นนั้นเราจะฝ่าวิกฤติหลังโควิด-19 ไปอย่างทุลักทุเลและเสียหายอย่างมาก หากยังปรับตัวช้าและไม่จริงจัง ประเทศจะล้าหลังและจะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วช้าไปอีกหลายปี
ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) ระบุว่า เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) เป็นการแสวงหาจุดสมดุลและแก้ไขปัญหาของสองแนวทางหลักในระบบเศรษฐกิจ คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” ที่ไม่ก่อให้การแข่งขันอย่างเสรีหรือแข่งขันแล้วเกิดการผูกขาดความมั่งคั่งและทรัพยากรของทุนขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบ จนรัฐจะต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง กับ “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” ที่จัดสวัสดิการดูแลประชาชน ถึงในระดับจนคนเฉื่อยชาไม่มีผลงานและไม่มีนวัตกรรม เพราะขาดเสรีภาพและแรงจูงใจในการถือครองทรัพย์สิน
เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม จึงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายคือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคม สำหรับคนทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ
1. เสรีภาพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม
2. ความเป็นธรรมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ที่จะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐานคือ ระบบกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป มีความเชื่อถือได้ และที่ชอบด้วยในระบบประชาธิปไตย
โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ ที่สามารถจำแนกออกเป็นหลักในการปฏิบัติของผู้มีหน้าที่ในสังคมดังนี้
• ผู้ประกอบการ: เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่มีหน้าที่ต่อสาธารณชนและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสาธารณชน/สาธารณสมบัติ
• ปัจเจกบุคคล: ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อยู่บนหลักของผลงาน (performance)
• รัฐ: จัดระบบกฏหมายที่เอื้อต่อการแข่งขัน การจัดสวัสดิการและระบบสนับสนุนช่วยเหลือให้ประชาชนดูแลตนเองได้ กระจายอำนาจในการแก้ปัญหาไปยังจุดย่อยที่สุด ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง
ความสำเร็จของการนำแนวทางเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมไปใช้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นทิศทางร่วมกันที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมุ่งสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนของคนในสังคม สำหรับประเทศไทยแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ตัวแบบเศรษฐกิจจากประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมต่อไป
นายอาจอง บิณศิรวานิช - นักธุรกิจผู้ขานรับแนวคิด “เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม” (Social Market Economy) ตอบโจทย์สู้ความเหลื่อมล้ำ- ต้านการผูกขาด ในฐานะผู้มาร่วมงาน ระบุว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 คือภาพสะท้อนที่เด่นชัดที่สุดของความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่กลุ่มทุนใหญ่สามารถอยู่ในระบบได้นาน ดังนั้นจากความเหลื่อมล้ำที่มี จนเกิดเป็นวิกฤตของประเทศ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเข้ามาแทรกแซง เหตุที่รัฐจะต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง เป็นเพราะการแข่งขันอย่างไม่เสรี หรือการผูกขาดให้กับกลุ่มทุนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันและการพัฒนา และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมนี้นำมาสู่ปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทรัพย์สินของประชาชน ยกตัวอย่างธุรกิจการบริการ เช่น มหาวิทยาลัย หรือในส่วนธุรกิจการผลิตสินค้า เช่น การผลิตสุรา, การผลิตเบียร์ ที่มีการตั้งเงื่อนไขให้ไว้สูงลิ่ว จนยากที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่จะเข้าสู่ตลาดแข่งขัน และยิ่งกลับเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหน้าเดิมๆ เจ้าเดิมๆ
• การจัดตั้งมหาวิทยาลัย ที่มีเงื่อนไขต้องมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ เท่ากับการ “ผูกขาดมหาวิทยาลัย” ให้กับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เดิมไม่เพียงกี่เจ้า ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศเข้ามาเปิด (ร่วมมือ) ให้บริการความรู้ไม่ได้ จนไม่เกิดการแข่งขันหรือพัฒนาคุณภาพ ที่มีผลในการนำพาการสร้างรายได้จากต่างประเทศอย่างมหาศาล และผลของธุรกิจที่จะเกิดตามมาอีกมากมาย เช่น หอพัก ร้านอาหาร ซึ่งเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง แข็งแรง ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
• การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บั่นดี และ ยิน ข้อกำหนดคือต้องขนาดกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน เท่ากับการ ”ผูกขาดเหล้า” ให้กับผู้ผลิตหน้าเดิม ถ้าผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่จะเข้ามาผลิตวิสกี้ให้ได้ตามเกณฑ์นี้ การพัฒนาวิสกี้คุณภาพดีๆออกมาแข่งขัน เพื่อใช้สร้างรายได้ภายในประเทศ หรือส่งออกนั้น ก็แทบจะไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย
• หรือข้อกำหนดในการผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี เท่ากับการ “ผูกขาดเบียร์” มีเบียร์ไทยให้เลือกไม่กี่เจ้า คุณภาพก็แบบที่เห็น ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น กฎหมายการผลิตเบียร์ ในประเทศญี่ปุ่น เคยตั้งไว้สูงเหมือนประเทศไทย จะขอใบอนุญาติผลิตเบียร์นั้นต้องผลิตปีละ 2 ล้านลิตร ต่อมาภายหลัง มีการแก้กฎหมาย ให้เกณฑ์จากที่ต้อง 2 ล้านลิตร เหลือเพียง 60,000 ลิตร ทำให้ผู้ประกอบการใหม่ขออนุญาตผลิตเบียร์ในปีถัดมามากกว่า 200 โรง
สร้างบรรยากาศการแข่งขันอย่างเป็นธรรม จนเกิดการพัฒนาสินค้าต่างๆออกมาให้ผู้คนได้เลือก ผู้คนยินดีเดินทางข้ามจังหวัดไปดื่มเบียร์ท้องถิ่นที่หาได้เฉพาะโรงเท่านั้น และในปัจจุบันบันหลายยี่ห้อก็มีจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ โดยข้อดีของการปลดล็อค กฎหมายครั้งนี้ที่รัฐเอื้อการแข่งขันที่เป็นธรรม คือเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถประกอบกิจการได้ ผู้ผลิตหลายแห่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ สร้างงานให้ท้องถิ่น เป็นการยกระดับสภาพชีวิตของสาธารณชน
จะเห็นได้ว่าหากนำ Social Market Economy มาปรับใช้ จะช่วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐจัดระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม สำหรับคนทุกกลุ่มในประเทศ เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาดความมั่งคั่งของกลุ่มทุน จะกระตุ้นส่งเสริมการแข่งขันในผู้ประกอบการระดับเล็กและกลาง หากยิ่งผู้ประกอบนี้มีมากเท่าไร ความแข็งแกร่งของ Social Market Economy จะมีมากขึ้นเท่านั้น เช่น ประเทศเยอรมัน หลังจากวิกฤต WWII ประเทศเยอรมันสามารถนำตนเองมาสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ระดับแนวหน้าของโลกในปัจจุบันนี้
นายณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวถึง ความท้าท้ายทางกฎหมายของไทย หากนำประเทศสู่เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม - Social Market Economy ว่า ที่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าอุปสรรคที่แท้จริงอยู่ที่ตัวบทกฎหมายเพียงเท่านั้นหรือไม่? นั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า Social Market Economy เป็นระบบเศรษฐกิจแบบระบบตลาดเสรี ซึ่งมีภาคเอกชนแข่งขันกันอยู่ในระบบที่ใช้กลไกของตลาด โดยมีรัฐบาลเป็นผู้กำกับที่เข้มแข็ง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นๆดำเนินไปตามกฎตามเกณฑ์ ที่ไม่มีใครเอาเปรียบใคร โดยรัฐต้องพยายามสร้างจุดเริ่มต้นอย่างเท่าเทียมกันให้กับพลเมืองทุกคน ผ่านนโยบายการศึกษา การสาธารณูปโภค และนโยบายสังคมอื่นๆ และเมื่อใดที่พลเมืองคนใดตกหล่นออกจากระบบ ด้วยเหตุใดๆก็ตาม รัฐจะต้องเข้าไปช่วย โอบอุ้ม คุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือ จนทำให้คนๆนั้นกลับมายืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคม และเพื่อให้ระบบตลาดเสรีดำเนินต่อไปได้ โดยระบบนี้เป็นระบบที่ประเทศเยอรมันตะวันตกนำมาใช้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อบูรณะ และฟื้นฟูประเทศ ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรี คอนราด อเดนาวร์ (1949 – 1963) ที่มี ลุดวิก แอร์ฮาร์ด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และยังคงใช้เรื่อยมาจนทุกวันนี้
เมื่อมองย้อนมาที่กฎหมายไทยที่ส่วนใหญ่เปิดช่องให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย ใช้ดุลพินิจเสียเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจากกรณีล่าสุด การควบรวมกิจการของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งมีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่คอยกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย โดย “คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” มีอำนาจและหน้าที่ที่สำคัญ คือ เสนอแนะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ประกาศกำหนดส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายของธุรกิจใดเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าผู้ประกอบธุรกิจนั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พิจารณาเรื่องร้องเรียนในกรณีบุคคลใดอ้างว่าได้มีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บหรือนำสินค้าไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ หรือตรวจวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาด การรวมธุรกิจ และการจำกัดการแข่งขันทางการค้า พิจารณาดำเนินคดีอาญาตามที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ในกรณีได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมีลักษณะผูกขาดทางการค้า
ซึ่งจากอำนาจ และหน้าที่ดังกล่าว ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กรรมการเสียงข้างมากได้มีมติลงความเห็นว่า “การควบรวมกิจการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม”
เมื่อฟังแล้ว มติดังกล่าวเป็นอะไรที่ขัดแย้งกับความตั้งใจแต่แรกเริ่มเดิมที ที่ต้องการจัดให้มีร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ว่า “เพื่อให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบอันจะเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ซึ่งที่สุดแล้วความท้าทาย อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมาย แต่จะอยู่ที่ตัวผู้บังคับใช้กฎหมายต่างหาก" การที่สมดุลระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือระหว่างผู้กำกับ กับผู้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หายไป เมื่อนักธุรกิจก้าวจากการเป็นผู้สนับสนุนนักการเมือง ไปเป็นนักการเมืองเสียเอง ส่งผลทำให้ธุรกิจเอกชน และอำนาจรัฐ รวมเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน Social Market Economy จริงๆ ในประเทศไทยจึงประสบความสำเร็จได้ยาก แต่ถึงอย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายมาเพื่อควบคุมกลไกทางตลาดได้ในระดับนึง ความจริงใจในการแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลจึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ Social Market Economy ในประเทศไทยเจริญเติบโต โดยสร้างความเป็นธรรมในการค้า การลงทุน เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีของภาคเอกชน ที่มีรัฐบาลเป็นกรรมการ ที่คอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งรัฐบาลยังมีหน้าที่คอยตรวจสอบข้อกำหนด และตัวบทกฎหมายที่เป็นปัญหา และที่ล้าหลังเกินไป มาปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อประเด็น และปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
โดยจุดแรกที่จะต้องเริ่มปรับแก้อย่างเร่งด่วนก็คือ การใช้อำนาจของผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยต้องพยายามทำให้การใช้อำนาจในทางมิชอบของผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นทำได้ยากขึ้น โดยปิดประตูในเรื่องการใช้ดุลพินิจ และเพิ่มจำนวนของเสียงข้างมากในคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจในการลงมติสำคัญ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างจริงแท้จริงในระบบการแข่งขัน ที่มีคณะกรรมการคอยตรวจสอบ ถ่วงดุล อย่างเข้มงวด แต่ในบางครั้ง ตัวบทกฎหมายที่ล้าหลัง หรือบังคับใช้มานานแล้ว ก็ควรมีการนำมาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย อาทิเช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายแรงงาน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน เป็นต้น
ทางด้าน คุณพิราภรณ์ บุญเรือง เลขานุการ คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้ร่วมงานเสวนา ระบุว่า “Social Market Economy คือการเปิดเสรีการค้า การเข้าเป็นคู่สัญญา โอกาสในการเข้าถึงตลาด รวมถึงเสถียรภาพทางการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะไม่มีประสิทธิภาพเลย หากเราอยู่ในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะหากไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้ ประชาชนจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าการค้านั้นจะเสรีและเป็นธรรมหรือไม่? รัฐอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อควบคุมกลไกราคาตลาด เมื่อประชาชนไม่สามารถแข่งขันได้สุดท้ายก็จะเข้าสู่ระบบทุนผูกขาด ประเทศไทยมีศักยภาพมากในด้านการเกษตร และคุณภาพชีวิตเกษตรกรจะดีกว่านี้ หากมีการพัฒนาด้านประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นว่าการทำการค้ากับประเทศไทย จะเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ และปัญหาทางการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศคู่ค้า และสิ่งที่ดิฉันอยากจะบอก คือต่างชาติอาจจะไม่ได้อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเพราะห่วงคนไทย แต่ทุกประเทศอยากทำการค้ากับประเทศที่ทุกองค์กรมีความยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเขา”