วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“จาตุรนต์” หนุนกระจายอำนาจท้องถิ่น รับมืออนาคต

“จาตุรนต์ ฉายแสง” หนุนกระจายอำนาจ เปิดทางท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) กล่าวในการเสวนา “การกระจายอำนาจกับสังคมไทยในอนาคต” ซึ่งจัดโดยสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นประเทศไทย ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) กรุงเทพมหานคร ว่า ประเทศไทยในอนาคตหลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับ 4 เรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมการรับมือ คือ 1.การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เราก็ยังจนอยู่ 2.เศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่จะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก 3.เศรษฐกิจแบบดิจิทัลอีโคโนมี และ 4.การพัฒนาเป็นเมืองของชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยล่าช้ามากเมื่อเทียบกับการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่การรับมือทั้ง 4 แนวโน้มนี้จะต้องพึ่งพาท้องถิ่นเป็นหลักด้วยการทำให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตัวเองในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ แต่ปรากฎว่าการกระจายอำนาจของไทยในระยะหลังกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย

“เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นประธานกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประมาณปี พ.ศ.2547 ตอนนั้นการกระจายอำนาจไปไกลมาก โดยได้ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคไปเป็นจำนวนมาก แต่ระยะ 6-7 ปีหลังมานี้กลับถอยหลังทุกเรื่อง ดังนั้นถ้าจะรับมือกับแนวโน้ม 4 เรื่องข้างต้นให้ได้ อาจต้องรื้อระบบการกระจายอำนาจกันใหม่”

ปัญหาการกระจายอำนาจทั้งหลายที่พูดถึงกันอยู่นี้ เป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองประเทศไทย โดยเฉพาะ 6-7 ปีมานี้ก็ถือเป็นช่วงที่หนักที่สุด เนื่องจากเกิดการรวมศูนย์อำนาจ รวบอำนาจ ซึ่งส่งเสริมให้มีการกำกับและสั่งการได้โดยตรง ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปอยู่ใต้อำนาจ ตรงข้ามกับหลักการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง และระบบที่รวบอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ ก็สืบเนื่องมาอย่างนี้และยังเป็นอยู่อย่างเข้มข้น ส่งผลให้กระแสความคิดเรื่องการกระจายอำนาจตกต่ำอย่างมาก ดังนั้นจึงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดกระแสการเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้เกิดพลัง หากยังปล่อยไปอย่างนี้เรื่อยๆ เราจะล้าหลังมากในเรื่องการกระจายอำนาจและคนที่เสียประโยชน์มากที่สุดก็คือประชาชน

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีการวางกรอบห้ามไม่ให้หลายคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหาเสียง แม้แต่ ส.ส. ทั้งที่ควรมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งกรอบต่างๆ ที่ออกมานั้นอาจไปทำให้การแข่งขันของผู้สมัครที่จะไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถพูดเรื่องนโยบายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในอดีตจะห้ามเพียงแค่การใช้อำนาจหน้าที่ไปให้คุณให้โทษกับผู้สมัคร แต่ครั้งนี้กรอบต่างๆ อาจกลับกลายเป็นความล้มเหลวของกฎหมายท้องถิ่นและแสดงให้เห็นถึงการไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น