วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สภาเอสเอ็มอี แนะรัฐตั้งกองทุน ช่วยผู้ประกอบการเดือดร้อน-ปิดกิจการ

สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย โดยนายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย รวมถึงนายศุภชัย แก้วศิริ รองประธานอาวุโสสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เน้นย้ำว่าที่ผ่านมาสภาเอสเอ็มอี ได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVD-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก 

ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาโดยไม่อิงกับกฎหมายในสถานการณ์ปกติ ซึ่งสภาเอสเอ็มอีได้นำเสนอแนวทางและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ผ่านช่องทางต่างๆ ไว้และยังไม่ได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยภาครัฐ ดังนี้

มาตรการระยะสั้น

1.นำเงินประกันสังคมที่ผู้ประกอบการและลูกจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนออกมาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยอาจกำหนดเป็นสัดส่วนจากประวัติการจ่ายเงินเข้ากองทุน

2.พิจารณายืดหยุ่นเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธนาคารเดิมที่มีประวัติการชำระปกติ กลุ่มที่เป็น NPL และ/หรือปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่ต้องการขอสินเชื่อรายใหม่ บนพื้นฐานที่ว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ โดยมีผู้ประกอบการกว่า 300,000 ราย จาก 468,000 ราย ที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจาก พ.รก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย 500,000 ล้านบาท

3.กำหนดให้มีการแบ่งสัดส่วนวงเงินของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากฯ 400,000 ล้านบาท ลงไปที่วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้าตัวแรก เพื่อนำไปดำเนินธุรกิจ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก

4.ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงด้านการตลาดระหว่างจังหวัดทั้งการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้า "ไทยเที่ยวไทย ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ"

ระยะถัดไป (ภายใน 3 เดือน)

1.เสนอให้มีการออก พ.ร.ก.สภาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สภาเอสเอ็มอี) เพื่อเป็นองค์การที่เป็นศูนย์รวมและตัวแทนของ SMEs ภาคเอกชนที่กฎหมายรับรอง ข้ามาดำเนินการบริหารกองทุน SMEs ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุน และแก้ไขปัญหาที่เป็น Pain Point ของ SMEs ตามโมเดล SMEs Smart province ที่สภาเอสเอ็มอีพัฒนาขึ้น ทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การตลาด และองค์ความรู้และนวัตกรรม

2. เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบกองทุน SMEs ที่บริหารโดยภาคเอกชน โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน เพื่อดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้กับ MEร กลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 1) กลุ่ม SMEs 2) กลุ่มวิสาหกิจ และ 3) กลุ่ม Startup

นายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะนายกสมาคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทยจีน มองว่า รัฐต้องหาแนวทางออกกฎหมาย จัดตั้งกองทุน SMEs โดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรวมตัวกันได้ เปิดทางให้ประชาชนสามารถค้าขายได้อย่างคล่องตัว แต่ทั้งหมดยังติดขัดเพราะ กลไกของรัฐพยายามขยายอำนาจรัฐให้กว้างขวางขึ้น เป็นรูปแบบของรัฐอำนาจนิยม และลดอำนาจของประชาชน การออกกฎหมาย ขึ้นมาดูแลผู้ประกอบการ จึงกลายเป็นอุปสรรคสำหรับการทำมาหากิน มากกว่าจะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถทำมาค้าขายได้อย่างคล่องตัว

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างไทย อภิปรายโดยหยิบยกประสบการณ์ จากการลงพื้นที่ พบปะผู้คน ซึ่งพบว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงต้นทุนการประกอบธุรกิจหรือสายป่าน มีความแตกต่างกัน ธุรกิจที่ถูกสั่งปิดก่อนหน้า ในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องปิดตัว เช่นที่ โบ๊เบ๊ สำเพ็ง คลองถม ประตูน้ำ รวมถึงตลาดอีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวมถึงในพื้นที่ท่องเที่ยว จำนวนมากต้องปิดกิจการ สำหรับการช่วยเหลือ รวมถึงมาตรการของรัฐ ไม่ลงถึงผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน และเมื่อผู้ประกอบการ ได้รับความเดือดร้อนก็กระทบเป็นลูกโซ่ถึงแรงงานถึงครอบครัวที่อยู่ในระบบ หลายสิบล้านคน

ขณะมาตรฐานของภาครัฐ ก็ยากที่จะเข้าถึงไม่สามารถช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยได้จริง กระบวนการต้องผ่านการลงทะเบียนซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ค้ารายย่อย ผู้ค้ารายเล็ก โดยไม่ฟังคนตัวเล็กและบริหารจัดการไม่เป็น วันนี้จึงไม่มีเวลาที่จะรออีกต่อไป ดังนั้นจึงขอให้เชื่อในความสามารถของประชาชนซึ่งมั่นใจว่าหากมีสภา SMEs เกิดขึ้นสภา Start Up เกิดขึ้นสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการใช้เงินกู้และทันต่อลมหายใจที่กำลังจะหมดลง และควรเร่งตั้งกองทุนขึ้นมาดูแล และปล่อยเงินให้เร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น