นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
[ อย่าให้การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงเกมซื้อเวลาเพื่ออยู่ในอำนาจ ]
นับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาเมื่อ 89 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งแล้วเขียนใหม่นับครั้งไม่ถ้วน กลายเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำและผู้ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนทั้งหลายใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรและรักษาอำนาจให้อยู่ในมือของพวกตน ไม่ใช่เป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ ไม่ได้มีไว้สำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ได้เป็นหลักประกันว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็เพียงบางฉบับที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็อยู่ได้ไม่นาน
การรำลึกถึงวันรัฐธรรมนูญในช่วงสิบกว่าปีมานี้ไม่อาจเป็นไปด้วยความภาคภูมิใจแต่อย่างใด หากเป็นการใช้เวลาทบทวนปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศที่สะท้อนให้เห็นจากความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ กับการที่ต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่มีความหมายเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และทำอย่างไรที่เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐธรรมนูญนั้นจะไม่ถูกฉีกตามอำเภอใจของชนชั้นนำอีกต่อไป
วันรัฐธรรมนูญปีนี้ หลายๆ ฝ่ายในสังคมไทยน่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันมากขึ้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาหนักหนาสาหัสและหากประเทศไทยจะก้าวพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้ จำเป็นที่จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญกันเสียใหม่
ซึ่งก็มีความพยายามจากพรรคการเมืองและประชาชนในการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา
การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่มีปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1.ที่มาและองค์ประกอบของ ส.ส.ร.
กับ 2. การกำหนดว่า ส.ส.ร. สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้มากน้อยเพียงใด
พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. หลายคน ดูจะไม่ต้องการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ต้องการให้บางส่วนมาจากการสรรหาแต่งตั้ง ซึ่งก็หมายความว่าตั้งใจจะกำกับการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความเห็นของพวกตน ไม่ยินยอมให้ประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญดังที่หลายฝ่ายอยากจะให้เกิดขึ้น
ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ไม่ได้ห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่งไว้ เพียงแต่กำหนดว่าการแก้หมวดใดมาตราใดหรือเรื่องใดจะต้องมีการลงประชามติ แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับประกาศชัดเจนว่าห้ามแก้บางหมวดบางมาตราไว้ตั้งแต่ต้น
การที่พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.จำนวนไม่น้อยมีท่าทีเช่นนี้ ทำให้ไม่อาจคาดหวังได้เลยว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่ จะเป็นไปตามความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ยิ่งดูจากผู้ที่พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภาส่งมาเป็นกรรมาธิการด้วยแล้ว ยิ่งต้องตั้งคำถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ต้องการจะให้แก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงเกมซื้อเวลาให้พลเอกประยุทธ์และพวกอยู่ในอำนาจไปนานๆ เท่านั้น
เมื่อไม่อาจคาดหวังอะไรจากการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ นักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและเรียกร้องทางการเมืองในประเด็นต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป อาจจะมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังทำอยู่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาของบ้านเมืองที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเกิดการหันหลังให้กับกระบวนการทางรัฐสภาและรัฐสภาก็จะไม่อยู่ในจุดที่เป็นเวทีหรือที่ๆ จะช่วยหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งของประเทศอีกต่อไป
รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกรัฐสภาจึงจำเป็นต้องทบทวนหาทางทำให้รัฐสภาและการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นเวทีและทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งของประเทศที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกที
#วันรัฐธรรมนูญ
#แก้รัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น