วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

"วัฒนรักษ์" แนะรัฐรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะแก้ไขปัญหาการแผ่ระบาดโควิด-19 รอบที่ 2 ล่าช้า และยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนนั้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจของไทยให้แย่ลงไปกว่าเดิม เพราะรัฐบาลขาดความชัดเจน ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจต่อรัฐบาลและยังมองไม่เห็นถึงเส้นเวลา (Timeline) ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากเป็นแบบนี้ใครจะกล้าใช้จ่าย ดังนั้น รัฐบาลจึงควรวางแผนอย่างเป็นระบบ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ควรที่จะเชื่อตามที่นักวิชาการหลายท่านที่ได้เคยเสนอไว้ว่าให้ Lock Down ระยะเวลาสั้นๆ และมีนโยบายการเยียวยาที่ชัดเจน เพราะการทำแบบนี้ชาวบ้านเรียกว่า “เจ็บแต่จบ” ในขณะที่ฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยคือ SMEs แต่ปัจจุบัน SMEs ต่างไปกันไม่รอด แล้วแบบนี้เราจะสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างไร ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 15.9 ล้านล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) แต่ในขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะไม่มีเลย ประกอบกับที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่สามารถที่จะสร้างความมั่นใจให้คนไทยออกมาเที่ยวหรือจับจ่ายใช้สอยได้เลย

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเริ่มต้นจากการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ดี เพราะหากแย่ไปกว่านี้ก็ยากที่จะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ แถมยังจะส่งผลให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ อีกว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด เพราะความสามารถในการเป็นผู้นำ (นายกรัฐมนตรี) คือตัวกำหนดระดับศักยภาพในการประสบความสำเร็จของประเทศ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรที่จะทำความเข้าใจในทฤษฎี “กฎแห่งเพดาน” ซึ่ง ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ทำการศึกษาทฤษฎีดังกล่าวแล้ว และขอเสนอแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปปรับปรุงและพัฒนาดังนี้ 

1. การมอบหมายงาน: การรวบอำนาจโดยให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องนั้น มักจะส่งผลทำให้ประเทศชาติล้มเหลว เพราะผู้บริหารที่ดีควรบริหารบุคคลากรได้อย่างถูกต้อง โดยมอบหมายงานให้ถูกคน ซึ่งการบริหารประเทศนั้นไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยคนเพียงกลุ่มเดียว แต่ควรที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แม้กระทั่งผู้ที่เห็นต่าง หรือฝ่ายตรงข้าม 

2. การแสดงความมั่นใจ: ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง เพราะผู้นำควรมีบุคลิกภาพและการแสดงออกที่ดี ซึ่งหากเราเป็นคนที่มีอุปนิสัยใจร้อนก็ควรต้องฝึกหัดนั่งสมาธิเพื่อฝึกฝนการเก็บอารมณ์และความรู้สึก 

3. มุ่งความสนใจไปที่ภาพรวม: อย่าแก้ไขงานราชการเฉพาะหน้าแบบวันต่อวัน เพราะประเทศชาติจะไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหนเลย แต่เราต้องรู้จักการคิดแบบกลยุทธ์ (Strategic Thinking) ผู้นำต้องมี Vision and Strategy ร้อยละ 10 และอีก 90 คือการบริหาร ซึ่งผู้บริหารที่ดีควรที่จะมีวิสัยทัศน์ที่ดีและกว้างไกล มีกระบวนการความคิดที่เป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางในการบริหารประเทศว่าควรจะเดินต่อไปอย่างไรและวิธีไหน 

4. การให้ข้อมูลป้อนกลับที่เป็นประโยชน์: ผู้นำควรจะต้องมีความกล้าที่จะมีข้อเสนอเพื่ออธิบายและแนะนำทีมงาน ให้เข้าใจถึงขีดความสามารถการบริหารงานของรัฐมนตรีทุกคน โดยกล้าที่จะปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ขาดความสามารถเพราะทุกนาทีมีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก

การพัฒนาประเทศจะสำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เพียงผู้เดียว แต่ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีและคณะทำงานของรัฐบาลทั้งหมดว่าจะมีศักยภาพในการทำงานขนาดไหน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ เราควรที่จะสนับสนุนคนที่มีภาวะเป็นผู้นำและมีความรู้ในเรื่องต่างๆ มากกว่าการเอาพวกของตัวเองมาบริหาร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งในทุกๆ เรื่อง แต่ควรที่จะสรรหาคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ มาแนะนำ ดังคำนิยามความหมายผู้นำที่ดีของ John C. Maxwell ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำว่า “ถ้าคุณพัฒนาตัวเอง คุณจะประสบผลสำเร็จเพียงคนเดียว ถ้าคุณพัฒนาทีม องค์ของคุณจะเติบโต แต่ถ้าคุณพัฒนาผู้นำ องค์กรของคุณจะเติบโตแบบก้าวกระโดด” สุดท้ายนี้ก็คงขึ้นอยู่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกทิศทางในการบริหารประเทศอย่างไร จะเลือกที่จะพัฒนาประเทศอย่างจริงใจ หรือจะเก็บเฉพาะพวกพ้องเอาไว้ใช้งาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น