ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
อย่าทำให้ “ถนนข้าวสารเป็นเมืองซอมบี้” โดยไม่จำเป็น
วันเค้าท์ดาวน์เข้าสู่ปี 2564 ควรจะเป็นวันที่กิจการในย่านถนนข้าวสารทำกำไรสูงสุดของปี แต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทุกร้านในข้าวสารปิดกิจการแทบจะ 100% ผู้ประกอบการที่นี่บอกว่าวันนั้นคือวันเค้าท์ดาวน์ชีวิตของเขาและลูกน้องในร้าน เพราะเงินก้อนสุดท้ายที่เขามีถูกจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงานในร้านเป็นเดือนสุดท้าย และกำลังจะหมดไปในสิ้นเดือนมกราคมนี้
นี่คือเสียงจากเจ้าของกิจการที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในถนนข้าวสาร มีพนักงานกว่า 50 ชีวิต เจ้าของร้านเล่าว่าเขาอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนเลยที่ทำให้ถนนข้าวสารร้าง ทุกวันที่ตื่นลืมตาข้าวสารจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินเบียดเสียดจนเป็นภาพที่คุ้นเคย แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐวันนี้ถนนข้าวสารร้างเป็นเมืองซอมบี้ และคนในถนนข้าวสารตอนนี้หายใจรวยรินมองไม่เห็นว่าอาชีพและรายได้ของพวกเขาจะกลับมาตอนไหน ไม่ต่างจากซอมบี้ที่ตายทั้งเป็น
เจ้าของกิจการท่านนี้สะท้อนได้น่าสนใจว่า ในวันที่ประเทศไทยสามารถควบคุมจนมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ทำไมรัฐกลับไม่ยอมให้กิจการเหล่านี้เปิดได้ตามปกติ หรือบวกกับมีนโยบายที่จูงใจให้มากพอให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ในวันที่ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์กลับยังคงมีมาตรการห้ามผู้ประกอบกิจการที่เข้มข้น ทำให้ในวันที่กิจการมีโอกาสจะทำเงิน เพื่ออย่างน้อยเก็บสำรองในยามฉุกเฉิน แต่รัฐกลับตัดโอกาสเหล่านั้นไป และเหตุการณ์ฉุกเฉินก็เกิดขึ้นจริงเมื่อโควิด-19รอบใหม่กลับมาอีกครั้ง พวกเขาจึงไม่มีเงินที่มากเพียงพอมาต่อลมหายใจให้กับกิจการ
ผมเดินผ่านร้านของเขาก็เห็นด้วยว่าถนนข้าวสารได้กลายเป็นเมืองร้างแล้ว ใต้ร้านมีแค่แสงไฟสลัว ๆ มีกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มนั่งทานข้าว สีเสื้อที่ใส่บ่งบอกชัดว่าเป็นพนักงานขับรถส่งอาหารจากแอปพลิเคชั่นเจ้าดัง ถามจนได้ความถึงรู้ว่าปกติเป็นพนักงานของร้านเหล้าแห่งนี้ ที่วันนี้ต้องประกอบอาชีพเสริม และเมื่อถามว่ารายได้เป็นอย่างไรเพราะยิ่งเมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ก็ย่อมต้องสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น แต่คำตอบคือโควิดครั้งนี้รายได้จากการส่งอาหารหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง
สาเหตุก็อาจมาจากทั้งคนตกงานเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนคนที่หันมาทำอาชีพขับรถส่งอาหารเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่สั่งอาหารน้อยลงเพราะเงินมีน้อยลงจนไม่สามารถสั่งอาหารจากแอปที่มีราคาสูงกว่าร้านอาหารข้างทาง และหันไปซื้ออาหารจากร้านที่เข้าโครงการคนละครึ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คงจะจริงเพราะผมนั่งอยู่ในร้านอยู่นาน แต่น้อง ๆ ก็ยังไม่ลุกไปไหน เพราะยังไม่มีออเดอร์สั่งอาหารเข้ามาสักที
ส่วนรายได้หลักที่มาจากการเป็นพนักงานร้าน เจ้าของร้านก็ให้คำตอบไม่ได้ว่าเดือนหน้าเขาจะมีเงินจ่ายเด็ก ๆ พนักงานเหล่านี้หรือไม่ และเมื่อหวังเงินจากประกันสังคมก็ยังไม่มีความแน่ชัด เพราะโควิดรอบใหม่นี้รัฐไม่ได้สั่งให้ร้านปิดกิจการ แต่ให้เปิดขายอาหารได้ถึง 3 ทุ่ม (แต่ร้านของเขาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ขายอาหาร และปกติมีลูกค้าจำนวนมากในเวลาเที่ยงคืน) ทำให้เมื่อรัฐไม่ได้สั่งให้ปิดร้านจึงไม่รู้ว่าประกันสังคมจะรับผิดชอบในส่วนนี้หรือไม่
ผมคิดว่าพื้นที่อย่างข้าวสารซึ่งปรกติจะมีคนมาตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงดึก การให้ปิดตั้งแต่สามทุ่มจึงทำให้คนเที่ยวน้อยจนร้านค้าต่าง ๆ อยู่ไม่ได้และต้องปิดกันจนหมดเหมือนเป็นเมืองร้าง ทางแก้ง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องไปจำกัดเวลา แต่ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เช่น จัดระยะห่าง ใส่หน้ากาก วัดอุณหภูมิ ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือก็พอ รัฐต้องช่วยเสริมความมั่นใจให้คนกล้าไปเที่ยวหรือใช้บริการในพื้นที่นี้
ส่วนการเยียวยานั้น รัฐควรถือว่าทั้งผู้ประกอบการและพนักงานลูกจ้างในพื้นที่เหล่านี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการของรัฐ พวกเขาจึงควรได้รับความช่วยเหลือในการรักษาคนงานไว้ ด้วยการที่รัฐแบ่งเบาภาระร่วมจ่ายเงินเดือนค่าจ้าง แต่เมื่อไม่มีมาตรการแบบนี้ รัฐก็ควรช่วยเหลือผู้ที่ต้องหยุดงานตกงานให้มากกว่าที่ให้ผ่านโครงการประเภท “เราชนะ” ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาเสียไป ซ้ำรัฐยังต้องให้พวกเขาต้องไปเสี่ยงโชคเอาด้วย
ยังมีพื้นที่แบบถนนข้าวสารอีกมากมายหลายแห่งในอีกหลายจังหวัด รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ซึ่งเหมือนปล่อยให้พวกเขาตายกันไปตามยถากรรมจากมาตรการของรัฐเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น