วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

"ชัชชาติ" แนะปรับกลยุทธ์องค์กร ฝ่าวิกฤต COVID-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

กลยุทธ์ (Strategy) เป็นสิ่งสำคัญที่เรามักจะพูดถึงเป็นเรื่องแรกๆในการบริหารงาน บางทีอาจจะเพราะว่ามันฟังดูเท่และเหมือนเป็นมืออาชีพ ผมเองตอนทำงานแรกๆก็มั่วๆไปเพราะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า กลยุทธ์ จนกระทั่งได้มาอ่านหนังสือ Good Strategy Bad Strategy ที่เขียนโดย Richard Rumelt

หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี 2012 คนเขียนคือ Richard Rumelt เป็นอาจารย์ที่ UCLA และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์องค์กร

Rumelt เขาศึกษากลยุทธ์ที่แย่และดีในหลายๆองค์กร ซึ่งเขาพบว่ากลยุทธ์ที่แย่มักจะมีลักษณะอย่างน้อยหนึ่งในสี่ข้อนี้

- ฟุ้ง (Fluff) มีแต่คำพูดสวยหรู สร้างภาพ แต่ไม่มีสาระ

- ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทายหรือปัญหาที่แท้จริง

- เข้าใจผิดว่าเป้าหมายคือกลยุทธ์ กลยุทธ์ที่แย่หลายๆอันเป็นเพียงแค่ความปรารถนามากกว่าแผนการทำงานจริงๆ เช่น จะทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่มีแผนว่าจะทำอย่างไร

- เป้าหมายของกลยุทธ์คลาดเคลื่อน เป้าหมายไม่พูดถึงเรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของความท้าทาย 

Rumelt อธิบายถึงแก่น (Kernel) ของการพัฒนากลยุทธ์ที่ดี ไว้ง่ายๆสามขั้นตอนคือ

1. Diagnosis วิเคราะห์สถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร อะไรคือความท้าทาย อุปสรรค ที่แท้จริง

2. A Guiding Policy นโยบายหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายนั้น

3. A Set of Coherent Actions แผนการทำงานที่สอดคล้องกันทุกหน่วยงานเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย Guiding Policy

กลยุทธ์ที่แย่มักจะเกิดจากความผิดพลาดในสามขั้นตอนนี้ เช่น ไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ไม่กล้าพูดถึงปัญหาหลัก นโยบายหลักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของแต่ละหน่วยงาน

ถ้าลองยกตัวอย่างกรณีการระบาดครั้งใหม่ของโควิด 19 ในส่วนของกลยุทธ์ย่อยในการควบคุมจุดเริ่มของการระบาด จากมุมมองของประชาชนคนหนึ่ง

Diagnosis การวิเคราะห์: การระบาดส่วนหนึ่งเริ่มจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบข้ามแดน การเปิดบ่อนการพนัน เมื่อผิดกฎหมายก็ไม่สามารถควบคุมเรื่องการคัดกรอง การเว้นระยะห่าง รวมถึงการพยายามปกปิดข้อมูล ทำให้การระบาดแพร่กระจายมากขึ้น

Guiding Policy นโยบายหลัก: ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วม

Coherent Actions: ทำแผนปฎิบัติการร่วมกันทุกหน่วย จริงจังในการปฏิบัติ ไม่ลูบหน้าปะจมูก ลงโทษผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่ปล่อยปละละเลย ให้รางวัลในการชี้เบาะแส

แต่ถ้าเราเริ่มต้นการวิเคราะห์ว่า ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ไม่มีบ่อน ไม่มีการลักลอบข้ามชายแดน ไม่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง สุดท้าย กลยุทธ์ก็จะไปเน้นไปที่การควบคุมคนที่ทำถูกกฎหมายแทน เพราะทำได้ง่ายกว่า สั่งปิด สั่งเปิด ได้ง่ายกว่า แต่ปัญหาและความท้าทายจริงๆไม่ได้รับการแก้ไข

ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกท่านในการร่วมกันต้านภัยโควิดครั้งนี้ครับ สำหรับประชาชนทั่วๆไป กลยุทธ์ที่เราทำได้คงจะเป็น การดูแลตนเองและครอบครัวให้ดีที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น