วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"เพื่อไทย" เร่งรัฐ ขอความชัดเจนเปิดประเทศ

"เพื่อไทย" เร่งรัฐ ขอความชัดเจนเปิดประเทศเมื่อฉีดวัคซีนให้คนไทยได้กี่เปอร์เซนต์ ชี้เปิดประเทศเร็วเกินอาจนำประเทศสู่หายนะ มากกว่าชัยชนะ หวั่นต้องปิดประเทศอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการ Think คิดเพื่อไทย พร้อมด้วยนายกวีวงศ์ อยู่วิจิตร ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางนา พระโขนง นายวรรณะ เดชา ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางนา พรรคเพื่อไทย  นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ และคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกันแจกข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ตลอดจนหน้ากากอนามัย ให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่วัดบางนาใน กว่า 300 ราย โดยมีการจัดระบบการเข้าคิวแบบเว้นระยะห่างตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

นายคณาพจน์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านขายของชำ ตลอดจนร้านขายอาหารริมทาง ต่างได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไม่มีแผนในการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนและทั่วถึง ทำให้ลูกค้าลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รายได้น้อยลง ตลอดจนบางร้านถึงกับต้องปิดกิจการ เพราะทนรับกับค่าใช้จ่ายไม่ไหว  ทั้งค่าจ้างแรงงาน และค่าเช่า  จึงอยากให้ภาครัฐมีแผนการรองรับที่ชัดเจน และออกมาตรการเยียวยาที่เข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบรายย่อยให้มากกว่านี้ 

ด้านนางสาวชยิกา กล่าวว่า การที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งเป้าเรื่องการฉีดวัคซีน เป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่ขอตั้งคำถามด้วยความเป็นห่วงถึงแผนวัคซีน 120 วัน และขอความชัดเจนว่า ช่วงเวลาในการเปิดประเทศจะเปิดเมื่อฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่กี่เปอร์เซนต์ของประชากร เพราะที่ผ่านมาเป้าอาจจะชัด แต่ยังไม่เห็นแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐบาล หากเปิดประเทศเร็วเกินไปเกรงว่าจะเป็นการนำประเทศไปสู่หายนะ มากกว่าชัยชนะของประชาชน ซึ่งเราเห็นบทเรียนมาจากหลายๆ ประเทศแล้วที่ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เร็วเกินไป ในจังหวะที่ภูมิคุ้มกันของคนในประเทศยังไม่มากพอ เป็นเหตุให้ต้องกลับไปปิดประเทศอีก ซึ่งจะกลายเป็นการซ้ำเติมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผลกระทบทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

"สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้คนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกและผู้ที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเห็นได้จากการลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านที่มารับแจกข้าวสารอาหารแห้งในวันนี้พบว่า ประชาชนกว่า 300 คนนั้น มีเพียงแค่ 10 คนเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก จึงอยากเตือนรัฐบาลว่าความเชื่อมั่นของประชาชนไม่ได้เกิดจากการตั้งเป้าเพื่อขายฝันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตั้งเป้าแล้วทำให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย" นางสาวชยิกากล่าว

"ดร.ปิติพงศ์" แนะรัฐบริหารงบประมาณ ต้องมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (FAIR Party) โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ https://www.facebook.com/dr.pitipong โดยมีเนื้อหาดังนี้

เรื่องของงบประมาณแผ่นดิน จากที่ได้ติดตามการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มาโดยตลอดนั้น ผมเห็นว่าการใช้เงินงบประมาณของประเทศ มันมีนัยยะที่สำคัญอยู่ 2 อย่างเสมอ เพื่อต้องสร้าง Maximum Profit หมายความว่า เราต้องใช้เงินเพื่อประโยชน์สูงสุด

อย่างแรก คือ ประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นเรื่องสำคัญของการใช้เงิน เพราะถ้าเราใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เราลงเงินไปเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ 

อย่างที่สอง คือ ประสิทธิผล (Effective) เพราะงบประมาณเรามีจำกัด งบประมาณเราจะไปใช้พร่ำเพรื่อกับเรื่องที่ไม่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ได้ เพราะการคำนึงถึงงบประมาณสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของการใช้งบเม็ดเงินนั้นลงไปในการลงทุน

เรื่องที่จะมีคำถามทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดิน มักจะพูดถึงว่าเงินไปใช้อะไร? เอาไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ? เอาไปใช้แก้ไขปัญหาต่างๆทั้งหมด? แต่รัฐบาลไม่เคยพูดถึงเอาเงินมาคืนอย่างไร? ประเด็นที่รัฐบาลต้องชี้แจง รัฐบาลควรต้องชี้แจงและบอกประชาชนให้ทราบ 

หากรัฐบาลกู้เงินมา ต้องอธิบายได้ว่าจะหาเงินมาคืนอย่างไร? จะจัดการรายจ่ายที่เป็นดอกเบี้ยอย่างไร? ตลอด 7 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยย้ำตรงนี้ เน้นการกล่าวถึงแต่การใช้จ่ายเงินอย่างเดียว 

นอกจากประโยชน์ที่ได้รับ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้เงินต้องคุ้มค่าแล้ว ของบางอย่างอาจจะมีความคุ้มค่าในการลงทุนแต่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการบางอย่างรัฐบาลต้องทำ เป็นการคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแต่ไม่คุ้มค่าการลงทุน เช่น เรื่องวัคซีน รัฐบาลต้องบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินเรื่องวัคซีนมาใช้ให้เกิดคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าคุ้มค่าการลงทุน เพราะว่าเราจ่ายเงินไป แต่มันได้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกลับมา 

เมื่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่กลับมา สิ่งที่จะได้ คือ 1. ประชาชนมีความเชื่อมั่น 2. เศรษฐกิจของเราสามารถเริ่มต้นใหม่ (Restart) ต่อไปได้ และ 3. เศรษฐกิจของเราที่กำลังก้าวได้ สามารถขยับก้าวต่อไปได้เลย ซึ่งทั้งหมด คือเรื่องงบประมาณแผ่นดิน และวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรต้องบอกประชาชนครับ

ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ  

หัวหน้า พรรคเป็นธรรม FAIR Party

#เป็นธรรม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทวี สอดส่อง: สร้างหนี้สาธารณะ: “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม หนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหลานต้องรับกรรม”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

สร้างหนี้สาธารณะ: “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม หนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหลานต้องรับกรรม”

ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของไทยเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดขนาดของเศรษฐกิจ โดยปัจจุบัน GDP ของไทยเท่ากับ 15.60 ล้านล้านบาท แต่ไทยมีหนี้สาธารณะ จำนวน 8.56 ล้านล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 54.28% ต่อ GDP หรือเฉลี่ยแล้วคนไทยทุกคนเป็นหนี้ประมาณ 130,000 บาทเศษ (ยอดหนี้สาธารณะ/จำนวนประชากรไทย) ในปี 2565 มีหนี้สาธารณะที่ครบกำหนดต้องชำระคืนเจ้าหนี้ จำนวน 529,918 ล้านบาท แต่รัฐบาลหารายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้ จึงต้องกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าดังกล่าว แต่ก็จ่ายได้เพียง 293,464 ล้านบาท โดยแยกเป็นการจ่ายคืนเงินต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาทและต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ 193,464 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจบริหารประเทศทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. หรือนายกรัฐมนตรี  กว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีการกู้เพิ่มจาก 5.69 ล้านล้านบาท ในปี 2557(วันที่ 30 กันยายน 2557) เป็น 8.56 ล้านล้านบาท (ถึงเดือนเมษายน 2564 ) ที่เป็นการกู้เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลจากที่รัฐจัดเก็บรายได้ไม่พอกับรายจ่ายรัฐบาลตาม พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2558-2564  กับการกู้หนี้ใหม่ ตาม พรก.กู้เงิน ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้าน จากข้อมูลพบว่าช่วงหนึ่งปีระหว่างเดือนมีนาคม 2563 - เมษายน 2564  มีการกู้หนี้เพิ่มจำนวน 1,574,703 ล้านบาท หรือกู้หนี้เพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 100,000 กว่าล้านบาท

รัฐบาลไม่มีแนวทางการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนนอกเสียจากการกู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายคืนหนี้เงินกู้ก้อนเก่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือเพื่อการนำไปลงทุน ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เจริญเติบโตขึ้น กับการลดลงของ GDP ประมาณ 100,000 ล้านบาทตามลำดับย่อมทำให้รัฐบาลไม่สามารถหารายได้มาชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าวได้และจะส่งผลให้หนี้เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนฯว่าเงินกู้มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 2.95% ซึ่งดอกเบี้ยเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่นำไปสู่การล้มละลายได้

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564  รัฐบาลได้ออก พรก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมอีกจำนวน 5 แสนล้านบาท มีระยะเวลากู้เงินได้ถึง 30 กันยายน 2565 นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 อีกจำนวน  7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากรัฐบาลกู้เงินครบเต็มจำนวนที่ตั้งไว้ จะรวมเป็นการกู้หนี้เพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้ที่กู้ไว้เดิม (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) จะทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะรวมเป็นจำนวน 9.76 ล้านล้านบาท ในขณะที่ GDP ของประเทศกลับไม่โตขึ้นเลย ดังนั้น หากคำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP พบว่าอาจเพิ่มสูงถึง  62.58% ซึ่งเกินกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายที่กำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 60% 

จากการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่พัฒนาและมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหมือนอารยะประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีฐานทรัพยากรที่ดี เพราะระบบการเมืองมีปัญหา เป็นระบบรัฐราชการที่มีทหารนำ ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีการผูกขาดและสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทั้งนี้ จากการศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยควบคู่กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ตามผลการศึกษาของ Varieties of Democracy Institute หรือ  V-Dem ซึ่งได้ศึกษาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ในโลก ผลการประเมินของ V-Dem พบว่าประเทศไทยได้คะแนนลดต่ำลงเหลือเพียง 15 จาก 100 คะแนน ในปี 2019 ทั้งนี้ ไทยเคยได้ 32 คะแนนจาก 100 คะแนน ในปี 2009 และจากงานวิจัยนี้ ประเทศไทย เป็น 1 ใน 25 ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มระบอบเผด็จการแบบปิด ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความเป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2009 ประเทศไทยเคยอยู่ในกลุ่มที่สูงกว่าที่เรียกว่าระบอบกึ่งเผด็จการ ประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มเผด็จการแบบปิดนี้เป็นประเทศด้อยพัฒนา นับว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยกำลังจะตกต่ำถึงขีดสุดจนเป็นที่น่าอดสู อันดับคะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยตกลงไปอยู่อันดับที่ 139 จาก 179 ประเทศ นอกจากนี้ คะแนนความเป็นประชาธิปไตยของไทยถูกจัดกลุ่มต่ำลงจากประเทศกลุ่มล่าง 30% ในปี 2009 เป็นกลุ่มล่าง 20%  ในปี 2019 เทียบเคียงได้กับประเทศดัง เช่น รวันดา หรือ คาเมรูน ที่อยู่ภายใต้ระบอบกึ่งเผด็จการ หรือ พม่าก่อนการปฏิวัติครั้งล่าสุดอีกด้วย

นอกจากนี้ การศึกษางานวิจัยของ Global Corruption Barometer Asia 2020 ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในชาติ กรณีประเทศไทย พลเมืองไทย 88% มองว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ และ 47% เห็นว่านายกฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน โดย 85% ให้ความเห็นว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาคอร์รัปชันยังมีอยู่คงเดิมหรือเพิ่มขึ้น และ 73% เห็นว่าองค์กรปราบคอร์รัปชันของไทยไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นว่า 7 ปีกว่าที่ผ่านมาของพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ

ความคาดหวังที่คนไทยเคยมีต่อรัฐบาลประการหนึ่ง คือ การปราบคอร์รัปชัน เนื่องจากเป็นประเด็นที่ถูกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างในการทำรัฐประหารที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะพยายามประกาศให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นวาระเร่งด่วน แต่ผลงานกลับไม่เป็นที่ประจักษ์ อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างกว่า 65% คิดว่าคนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้ ทั้งนี้ผลการศึกษาจากต่างประเทศมักไม่สอดคล้องกับผลการวิจัยขององค์กรในประเทศที่อาจได้ผลลัพธ์ที่เข้าข้างรัฐบาล

ในด้านภาพลักษณ์ของรัฐบาลและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในยุคปัจจุบันมีสูงมาก จากรายงานการศึกษาวิจัยของ Global Corruption Barometer Asia 2020 ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในชาติ กรณีประเทศไทยดัชนีรับรู้การทุจริตคอร์รัปชันเปรียบเทียบระหว่าง 180 ประเทศในโลก หรือ Corruption Perception Index (CPI) เป็นตัวชี้วัดอันหนึ่ง พบว่าการประเมินคะแนนของไทยตกจากอันดับที่ 85 ในปี 2557 ที่มี 38 คะแนน มาอยู่ที่อันดับ 104 ในปี 2563 มีคะแนนลดลงเหลือเพียง 36 คะแนน และอยู่ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานโลก (43 คะแนน) 

การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อป้องกัน และรักษาด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19  รัฐบาลได้ใช้เงินกู้อย่างไม่เกิดประสิทธิภาพทั้งด้านการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดที่ล่าช้า ไม่หลากหลาย ด้านมาตราการป้องกันที่บกพร่อง ไม่เตรียมพร้อมในรักษาพยาบาลมีความล้มเหลวปล่อยให้มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อจำนวนมาก ที่ต้นต่อเกิดจากการบริหารงานแบบรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจนิยม   ในด้านการเยียวยา ฟื้นฟูที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและจากมาตราการของรัฐบาลที่มีความเดือดร้อนอย่างทั่วหน้าเสมอหน้ากันแต่รัฐบาลได้ตั้งกฏเกณฑ์คัดกรองประชาชน ต้องแสดงความยากลำบาก ความเป็นคนน่าสงสารหรือเป็นคนยากไร้ ที่ถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่ทุกคนต้องมีสิทธิเสมอกัน ต้องมีความเสมอภาค มีประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลทั้งที่ประชาชนทุกคนต่างได้รับผลกระทบเหมือนกัน และเงินที่ช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงินภาษีของประชาชน

กรณี เงินกู้ที่รัฐบาลนำไปลงทุน พบว่ามีการกระจุกตัวที่ใช้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของนักลงทุน ไม่มีการกระจายงบประมาณไปยังภาคส่วนอื่นของประเทศที่คนไทยทุกค้นต้องรวมกันใช้หนี้ ยังไม่สมดุล ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาค อาทิ รัฐมุ่งเน้นการแก้ปัญหาการจราจร ไม่มุ่งเน้นการบริการด้านขนส่งมวลชนที่ทำให้คนทุกคนมีความเสมอภาคในการเดินทางโดยบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ ปลอดภัยเป็นสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับ รัฐใช้เงินกู้มาบริการคนชั้นกลาง และคนร่ำรวยด้วยการสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในเมืองหลวงที่ค่าโดยสารราคาแพง ส่วนประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ได้รับความสนใจกลับไปลดขนาดทางเท้าทำให้คนเดินเท้าลำบาก ไม่คำนึงถึงคนยากไร้  รัฐเน้นสร้างสนามบิน รถไฟความเร็วสูงที่ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดสถานี เจ้าของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ยังใช้บริการรถเมล์ รัฐกลับไม่ได้ให้ความสนใจลงทุนหรือยกระดับการบริการให้กับประชาชนกลุ่มนี้เลย รถเมล์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในเมืองหลวงก็มีสภาพเก่า บางส่วนใช้งานมานานกว่า 30 ปี ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ และยังก่อมลภาวะอีกด้วย ขณะที่ประชาชนต้องการรถเมล์ที่มีคุณภาพมาตรฐานที่ดี มีความปลอดภัยทนทาน ในการเดินทางระหว่างจังหวัดผู้มีรายได้น้อยมักใช้บริการรถโดยสาร บขส. รถตู้ รถไฟ มากกว่า ซึ่งเงินกู้ที่นำไปลงทุนก็ไม่พบว่ามีการนำไปใช้เพื่อพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องหันไปใช้จักรยานยนต์ รถกระบะนั่งท้าย เป็นหนี้เป็นสิน และยังต้องเสี่ยงชีวิตต่ออุบัติเหตุอีก ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน รัฐบาลอยู่ในวงจรการสร้างหนี้สาธารณะ “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม ดอกเบี้ยเงินกู้วิ่งไม่หยุด” มองไม่เห็นอนาคตว่าจะชดใช้หนี้หมดได้เมื่อไร หรือลดลงได้เท่าไร

กล่าวโดยสรุป ตลอดระยะเวลา 7 ปีกว่าที่ผ่านมารัฐบาล พลเอกประยุทธ์ฯ หัวหน้า คสช และนายกรัฐมนตรี ได้กู้เงินสร้างหนี้สาธารณะจำนวนมาก ยิ่งในปีปัจจุบันรัฐได้กู้หนี้ในจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์แต่รัฐบาลไม่มีแนวทางจัดหารายได้มาใช้หนี้ ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจ กองทัพ สร้างรัฐราชการรวมศูนย์ด้วยการก่อหนี้ใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง วิธีการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าที่ไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ แล้วยังมีภาระดอกเบี้ยที่วิ่งไม่หยุดทำให้หนี้เพิ่มขึ้นที่เป็นมะเร็งร้ายอาจนำพาประเทศไปสู่การล้มละลายได้ การเป็นหนี้จะสร้างความทุกข์เพิ่มแก่คนไทยซึ่งมีทุกข์มากล้นอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การสร้างหนี้ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันใช้หนี้อย่างเสมอหน้า ถ้านำเงินกู้ไปใช้อย่างไม่คุ้มค่าเพื่อคนบางกลุ่ม บางพื้นที่แล้ว หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ที่ส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชัน จะเป็นการสร้างมรดกบาปแก่ลูกหลานในอนาคตมากยิ่งขึ้น


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

และเลขาธิการพรรคประชาชาติ


วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"พรรคเป็นธรรม" แพร่แถลงการณ์ ข้อคิดเห็น-ข้อเสนอแนะ การบริหารจัดการวิกฤตโควิด–19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเป็นธรรม (FAIR Party)เผยแพร่  แถลงการณ์ กรณี ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ การบริหารจัดการวิกฤตโควิด–19 ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์ “พรรคเป็นธรรม”

กรณี ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ การบริหารจัดการวิกฤตโควิด–19

ข้อคิดเห็นของพรรคเป็นธรรม

1. นับตั้งแต่ วิกฤต โควิด-19 ที่ลามระบาดไปทั่วโลกและส่งผลกระทบถึงประเทศไทยอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน “พรรคเป็นธรรม” มีความเห็นว่า รัฐบาลขาดวิสัยทัศน์ และการปฏิบัติการที่ล้มเหลว เนื่องจากรัฐบาล มุ่งแต่นโยบายเชิงรับ ด้วยการควบคุม และป้องกันเท่านั้น  ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการธุรกิจระดับรายย่อย และผู้มีรายได้ลักษณะหาเช้ากินค่ำ

การเยียวยาของรัฐบาล ก็เป็นการดำเนินการก่อหนี้ และแจกเงิน โดยขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เกิดการหมุนเวียนอย่างทั่วถึง รวมทั้งขาดความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภาระหนี้สินของประเทศ ก็จะตกถึงประชาชนทุกคนเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน

นอกจากนั้น การออก พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยอ้างถึงสภาวะการณ์การควบคุมด้านสาธารณสุข เพื่อหวังให้มีความเคร่งครัดเด็ดขาด แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ แม้ประชาชนทั่วประเทศให้ความร่วมมือ ตั้งการ์ดอย่างรัดกุม และยอมเจ็บตัว ลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่การแพร่ระบาดกลุ่มใหญ่ กลับเกิดจากภาครัฐ และอภิสิทธิ์ชน กลุ่มย่อย ซึ่งในที่สุด ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการลุกลามใดๆทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึง “ความไม่เป็นธรรม” และการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนพิเศษ

ทั้งหมดนี้ คือความล้มเหลวในเรื่องวิสัยทัศน์การบริหารจัดการ เชิงรับ และรุก ต่อวาระวิกฤติการสาธารณสุขของประเทศ รวมทั้งยังสะท้อนให้เห็นการเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ชน ที่มุ่งเข้มงวดต่อประชาชนระดับ “คนธรรมดา”

แต่ผ่อนคลายกับประชาชนเฉพาะกลุ่มระดับ “คนพิเศษ”

2. เมื่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2564 รัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์จึงไม่สามารถจัดหา

วัคซีนได้ทันท่วงที ในเชิงปริมาณ และคุณภาพ 

เนื่องจากความประมาท ชะล่าใจ และไม่มีความ

สามารถในการมองการณ์ไกล ในการปฏิบัติการ

เชิงรุก ที่จะต้องสั่งซื้อ และจัดหาวัคซีนให้พร้อมไว้ก่อน

โดยเร็ว เพื่อรองรับกับเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งผลที่เกิดขึ้น 

จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐบาลบริหารภาวะวิกฤติแบบรายวัน และไม่เคยมีแผนล่วงหน้า รองรับในเชิงรุกใดๆทั้งสิ้น

ยิ่งภายใต้สภาวะวิกฤติ และการขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล กรณีความไม่พอเพียงของวัคซีน ความไม่แน่นอนเรื่องระยะเวลา ความสับสน และวิธีการเข้าถึง และวิธีการกระจายวัคซีน ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ให้ทั่วถึงประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ก็เริ่มส่งผลให้ผู้บริหาร และประชาชนในระดับจังหวัด และท้องถิ่นต่างๆเริ่มมีความคิด ความต้องการในการเข้าถึงวัคซีนให้เร็วที่สุด และในที่สุด จะมีสภาพเสมือนการแก่งแย่ง การเสนอผลประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งยิ่งจะส่งผลต่อ “ความไม่เป็นธรรม” ในสังคมให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งกันเองของประชาชนในแต่ละจังหวัด

การสื่อสารของรัฐบาล ก็มีความสับสน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขาดเอกภาพระหว่างหน่วยงานและมีลักษณะเสมือนการเล่นการเมืองกันเอง ของภาครัฐ หน่วยงานราชการ และภาคการเมือง บนความทุกข์ ของประชาชนทั้งประเทศ 

นอกจากนั้น ความด้อยประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ใช้ เช่น แอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในข้อมูลข่าวสารใดๆทั้งสิ้น ที่มาจากรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ความไม่มั่นใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ จนเสมือนประเทศนี้ ไม่มีรัฐบาลที่เชื่อใจได้อีกแล้ว  ทำให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตนเองตามอัตภาพ

ทั้งหมดนี้คือความล้มเหลวในการบริหารราชการ และการสื่อสารของรัฐบาล ที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามวิกฤติได้เลยโดยแท้จริง

ข้อเสนอแนะของพรรคเป็นธรรม

“พรรคเป็นธรรม” มีความคิดเห็นในการบริหาร

จัดการ  ภาวะวิกฤติ โควิด-19 ดังนี้

1. รัฐบาลต้องตั้งสติและพิจารณาให้รอบคอบว่า  

จะมีความสามารถในการจัดหาวัคซีนยี่ห้อใด  

จำนวนเท่าใด ภายในระยะเวลาใด นับจากนี้ จนถึงสิ้นปี เพื่อการกระจายให้ทั่วถึงประชาชนทั้งประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

2. รัฐบาลต้องมี “แผนแม่บทการกระจายการฉีดวัคซีน” จากผลการพิจารณาในข้อที่ 1 เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งในด้านความพอเพียง และประสิทธิภาพของวัคซีน โดยเฉพาะความแน่นอนของเวลาที่จะได้รับการฉีดวัคซีน 

3. รัฐบาลต้องมีทีมงานด้านการสื่อสารในการชี้แจง สื่อสารแบบ 2 ทาง กับประชาชนทุกระดับ ทุกพื้นที่ เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลของ “แผนแม่บทการกระจายการฉีดวัคซีน” ตามข้อ 2 เป็นไปโดยมีเอกภาพ และมีประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง

4. รัฐบาลต้องมี “แผนแม่บทการกระจายอำนาจ งบประมาณ ทรัพยากร และความรับผิดชอบลงสู่ระดับ จังหวัดและท้องถิ่น” โดยเร็ว เพื่อลดการรวมศูนย์อำนาจ การผูกขาด และผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อประเทศ และประชาชนในภาพรวม

5. รัฐบาลต้องมี “แผนแม่บทในการติดตามประเมินผลกระทบ” จากการฉีดวัคซีน เพื่อนำมาปรับปรุง และพัฒนาในปีต่อๆไป

“พรรคเป็นธรรม” เป็นพรรคใหม่ ที่กำเนิดขึ้นมาภายใต้บริบทการเมืองใหม่ที่ประชาชนต้องการ  “ประชาธิปไตยที่เป็นธรรม” และมีนโยบายในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านสาธารณสุข “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” 

ให้กับทุกคน ทุกพื้นที่ อย่าง “เป็นธรรม”

#เป็นธรรม ด้วย “ประชาธิปไตย”

สังคมไทย จะต้อง “เป็นธรรม” 

#ประชาธิปไตย ที่ “เป็นธรรม”








วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"รองโฆษกพรรคประชาชาติ" ห่วงเกษตรกร เผชิญวิกฤตไวรัส "โควิด19-ลัมปีสกิน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

รัฐบาลบริหารวัคซีนไม่พอกับจำนวนประชาชน แบบนี้เขาเรียก “บริหาร” ประเทศหรือครับ? ไม่ทราบว่ารัฐบาลบริหารบ้านเมืองกันอย่างไร ปล่อยให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศต้องประสบเคราะห์กรรม ลำบากยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัส เรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วย "คนรากหญ้า" หลายคนนอนรอความตาย วัคซีนที่ไม่เพียงพอ จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยยังคงขาดแคลน ทั้งไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง 

นอกจากนี้ ผมยังได้สนทนากับพี่น้องเกษตรกร หลายคนแจ้งมาว่า เมื่อก่อนหวังพึ่งการเลี้ยงและจำหน่ายโค-กระบือ เป็นรายได้เสริม แต่ปัจจุบันเมื่อผลผลิตทางการเกษตร อย่าง ข้าว อ้อย ปาล์ม ยางพารา ราคาตกต่ำ รัฐบาลกลับปล่อยให้ไวรัส "ลัมปีสกิน" ระบาด โคกระบือเป็นโรคผิวหนังมีลักษณะเป็นตุ่มหนองมีหนอนชอนไช ล้มตายบ้างก็มี รัฐบาลจะดูแลพี่น้องชาวเกษตรกรอย่างไรครับ? อะไรคือความหวังให้ประชาชนบ้าง ในเมื่อหลายอย่างหวังพึ่งพาไม่ได้แล้ว 

ประชาชนจะมีความหวังอะไร "เหลือ" ให้เขาเป็นกำลังใจในการประทังชีวิตอีกหรือครับ?


วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"มนตรี บุญจรัส" ต้อนรับ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" เยี่ยมชมไทยกรีนอะโกรฟาร์ม

คุณมนตรี บุญจรัส ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษพร้อมด้วย คุณมณฑา บุญจรัส ผู้บริหารบริษัทไทยกรีนอะโกร จำกัด ให้การต้อนรับ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ เข้าเยี่ยม “ไทยกรีนอะโกรฟาร์ม”  ที่ ต.รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง มีพื้นที่รวมกว่า 70ไร่ พร้อมชมการสาธิตการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ระบบการจัดการเกษตรแปลงใหญ่แบบผสมผสาน และโรงเรือนเพาะเห็ด โดยเป็นการสนับสนุนการทำเกษตรแบบยั่งยืนและปลอดภัย โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมีที่เป็นพิษให้แก่เกษตรกร มุ่งหวังให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทองและพื้นที่โดยรอบเป็นเมืองเกษตรและแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยไร้สารพิษ รวมถึงมีการแนะนำจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทยเพื่อเกษตรกรไทย และสอนเทคนิคการเพาะเห็ดแบบปลอดสารพิษให้กับเกษตรกรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง

นายมนตรี บุญจรัส ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด กล่าวว่า หลังจากนโยบายภาครัฐที่เน้นการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น สินค้าที่บริษัทผลิตและจำหน่ายมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ กลุ่มจุลินทรีย์ที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช กลุ่มที่ 2 เป็นสารปรับปรุงบำรุงดินและหินแร่ภูเขาไฟจากธรรมชาติ โดยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 กลุ่ม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศมากขึ้น ส่งเสริมการทำสินค้าที่มาจากจุลินทรีย์เพราะมีความปลอดภัยมากกว่าสารเคมีกำจัดโรคและศัตรูพืช จึงมุ่งเน้นการเกษตรปลอดสารพิษที่เน้นเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

ทั้งนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้ร่วมโครงการ “ร่วมแบ่งปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19” กับบริษัทไทยกรีนอะโกร จำกัด บริจาคอาหาร น้ำดื่มบรรจุขวด แอลกอฮอล์ล้างมือ ฟักทองจากเกษตรกรชาวเหนือ และสมทบทุนสนับสนุนให้กับโรงพยาบาลอ่างทอง, สถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าวัดตาลเจ็ดช่อ และสถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว จังหวัดอ่างทอง อีกด้วย


















"ฐิติมา" หนุนสร้างถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม-เขาหินซ้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณฐิติมา ฉายแสง อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ดิฉันรู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับทราบข่าว กรมทางหลวงทุ่มงบประมาณ 2.3 พันล้าน เพื่อสร้างถนนจากฉะเชิงเทรา ไปพนมสารคาม และเขาหินซ้อน โดยมีความคืบหน้าโครงการดังกล่าวกว่า 60% 

ถนนสายดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อการขนส่ง และช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ที่นับวันจะมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้น

“ท่ามกลางความดีใจ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้” อยากให้กรมทางหลวงช่วยพิจารณาอย่างจริงจังเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนค่ะ เพราะเท่าที่ดิฉันได้ติดตามข่าวอยู่เสมอๆพบว่าบริเวณหน้าทางเข้าวัดจุกเฉอ-วัดสมานรัตนาราม มักเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินบ่อยครั้งโดยเฉพาะช่วงฝนตกเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกครั้งเลย 

จึงขอฝากกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างจริงจังด้วยค่ะ

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"ทวี" เดินหน้าลงพื้นที่อ่างทอง บริจาคอาหาร-แอลกอฮอล์ช่วยวิกฤตโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ความอยู่รอดเป็นชีวิตดีมีความสำคัญกว่ายุทธศาสตร์ชาติ(คสช.)”

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ผมฯ พร้อมคณะ ไปเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์พยาบาลและบุคลากรโรงพยาบาลอ่างทอง, สถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าวัดตาลเจ็ดช่อ จังหวัดอ่างทอง ที่มีเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 3 ปี ในการดูแลประมาณ 150 คน และสถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว จังหวัดอ่างทอง ที่มีเด็กในการดูแลเด็กเล็กและเด็กกำพร้า ประมาณ 2,000 คนเศษ พร้อมมอบข้าวสาร น้ำดื่มบรรจุขวด แอลกอฮอล์ล้างมือ ฟักทองจากเกษตรกรชาวเหนือ และสมทบทุนสนับสนุน

กรณี เด็กเล็กและเด็กกำพร้าที่วัดตาลเจ็ดช่อและวัดสระแก้ว ส่วนใหญ่มาจากถิ่นทุรกันดารนอกพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ที่มาอาศัยอยู่ที่สถานที่รับเลี้ยงเด็กภายในวัด ภายใต้การดูแลของเจ้าอาวาส ทางวัดจะเป็นผู้สนับสนุนทุนทรัพย์จากปัจจัยของชาวบ้านต่างๆ รวบรวมเพื่อเป็นการศึกษาของเด็ก ผลกระทบจากวิกฤติโควิด -19 ทำให้จำนวนผู้มาทำบุญทุกวัดจะน้อยลง การช่วยเหลือเด็กทั้ง 2 วัด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด ทั้งที่พัฒนาเด็กมีความสำคัญมากโดยเฉพาะเด็กเล็กมีงานวิจัยพบว่าการลงทุนสําหรับช่วงอายุ 0-6 ปีจะได้รับผลตอบแทนสูงสุด จะได้ผลกลับคืนมาถึง 7 เท่า ดังนั้น เด็กต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบเต็มทันทีโดยไม่ปล่อยให้เกิดสภาวะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วแต่ยังเป็นเด็กอยู่


คำกล่าวที่ว่า “ชีวิตคนต้องมีค่ามากกว่าวัตถุ” เพราะคนหรือมนุษย์มีจิตใจ จิตวิญญาณ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเป็นผู้สร้างวัตถุ ในยามประเทศเกิดวิกฤติที่เชื้อโรคโควิต-19 โจมตีผู้ที่เป็นมนุษย์ทุกคนไม่มียกเว้นและไม่ปราณี รัฐบาลที่ดีต้องมุ่งมั่นรักษาทุกชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยต้องเป็นเป้าประสงค์ร่วมกันของรัฐบาลและคนในสังคม แต่การจัดงบประมาณปี 2565 ของรัฐบาลยึดตามยุทธศาสตร์ชาติ(คสช) ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำ พบว่าได้ให้ความสำคัญชีวิตคนไทยน้อยกว่าวัตถุ สิ่งก่อสร้าง และอาวุธที่จัดซื้อให้กองทัพ ทั้งที่ประชาชนทุกคนมีคุณค่า มีความสำคัญ รัฐตีค่าประชาชนเป็นวัตถุ หรือเป็นเพียงสัตว์เศรษฐกิจที่รัฐเป็นผู้สงเคราะห์เท่านั้นไม่มีสิทธิ์เสมอกัน ความเป็นจริงรัฐบาลและรัฐราชการเป็นลูกหนี้และลูกจ้างของประชาชน เงินงบประมาณที่มาใช้จ่ายล้วนมาจากหยาดเหงื่อของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางรวมถึงทุ่มเทงบประมาณเพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตของประชาชนทุกคนให้อยู่รอดเป็นชีวิตที่ดีจึงมีความสำคัญกว่ายุทธศาสตร์ชาติ  (คสช.) 









วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"รองโฆษกพรรคประชาชาติ" ค้านแนวคิด ใส่เครื่องแบบเรียนออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ให้เด็กนักเรียน ใส่เครื่องแบบ เรียนออนไลน์ ไม่ทราบว่า “ใช้อะไรคิด?” พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชาวบ้านร้านตลาด...อดตาย แทบไม่มีจะกิน ยังจะคิดออกกฎระเบียบให้มีแต่เรื่องสิ้นเปลือง เสียเงิน ยุ่งยาก....

ในฐานะคนมีลูก..กำลังเรียน ลูกผมจะฉลาดกว่าเดิมไหม?

เห็นใจชาวบ้าน คิดเพื่อประชาชน บ้างเถอะครับ

"ฐิติมา" เร่งกระทรวงศึกษาฯ ฉีดวัคซีน​นักเรียน-ครู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณฐิติมา ฉายแสง อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

#ฝากถึงรมต.ศึกษา​ 

#ขอวัคซีน​ Pfizer และ Moderna 

#ให้นักเรียนและครู

จากข้อมูลการฉีดวัคซีน​โควิด-19​ ที่ทั้งล่าช้าและคุณภาพ​ของวัคซีน​ที่ยังสับสน​ ที่แล้วรัฐบาล​เดินหน้าฉีดให้กับบุคลากร​ทางการแพทย์​ที่อายุ 18-59 ปี​ ด้วยวัคซีน ​Sinovac​ ส่วนผู้สูงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและมีความเสี่ยง 7 โรค​ ขณะนี้ให้ใช้ AstraZeneca เป็นหลัก​ เราก็ยังสับสนว่าจะได้ฉีดในวันที่ 7 มิ.ย. 64 นี้มั้ย​ 

แต่มีคนกลุ่มใหญ่ๆเลยคือนักเรียนวัยตั้งแต่ 5-17 ปี​ และกลุ่มคุณครูอายุไม่เกิน 60 ปีค่ะ​ ทั้ง 2 กลุ่มนี้อยู่ในระบบการศึกษา​ ตามข้อมูล​ปี 2563​ มีนักเรียนประมาณ 7.7 ล้านคน​ และครูอีก 7 แสนคน​ ทั้งสองกลุ่มนี้ควรจะรีบได้รับวัคซีน​ที่ปลอดภัย​กับเขา​ เพื่อที่จะกลับไปเรียนในโรงเรียนให้เร็วที่สุด​ และวัคซีน​ที่ดีและเหมาะสำหรับเด็กนักเรียนต้องเป็น​ Pfizer หรือ Moderna เท่านั้น​ เพราะมีการทดลองและวิจัยในเด็กแล้วว่าปลอดภัย​ที่สุด​  

อยากจะฝากถึงท่านรัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงศึกษา​ธิการ ตรีนุช​ เทียนทอง​ รัฐมนตรี​ที่ทั้งเก่งและฉลาด​ ท่านต้องสู้เพื่อนักเรียนและครูนะคะโอกาสในการแสดงผลงานมาถึงแล้วค่ะ