วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"นพดล" ขอบคุณมิตรประเทศส่งวัคซีน-เศร้าสลดชะตากรรมชาวไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะ ฝ่ายกฏหมาย ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ผมขอขอบคุณมิตรประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์และอีกหลายประเทศที่บริจาควัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยพี่น้องคนไทย ในยามที่คนไทยทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสจากโควิด  สถานทูตต่างประเทศในไทยคงติดตามสถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและอยากจะให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งคนไทยรู้สึกขอบคุณ เราจะไม่ลืมนำ้ใจไมตรีของมิตรประเทศเหล่านี้ เพื่อนในยามยากคือเพื่อนแท้ A friend in need is a friend indeed."

"ผมรู้สึกเศร้าสลดกับชะตากรรมของพี่น้องคนไทย ที่ไม่ควรต้องเสียชีวิตข้างถนน หรือในบ้านโดยไม่ได้รับการรักษา ครอบครัว เด็กเล็กที่เสียพ่อแม่ไปต่อหน้าต่อตา คนที่หิวโหยเพราะตกงานและการปิดกิจการ พี่น้องที่ต้องกระเสือกกระสนเบียดเสียดรอฉีดวัคซีน ความทุกข์บรรยายไม่หมด ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ควรเกิดถ้ารัฐบาลมีความสามารถหาวัคซีนได้มากและประชาชนได้ฉีดเร็วกว่านี้ และความผิดพลาดล้มเหลวอีกหลายเรื่องที่ยากจะเข้าใจว่าปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร องค์ความรู้ คำแนะนำจากทั้งผู้เชี่ยวชาญและคนทั่วไปเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเร่งหาวัคซีน การตรวจเชื้อ การจัดหาเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การล็อคดาวน์  ที่น่าเห็นใจคือพี่น้องแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต้องเสียสละทำงานหนักจนใกล้จะรับไม่ไหวและที่เศร้าที่สุดคือประชาชนต้องรับผลจากความผิดพลาดล้มเหลวอย่างน่าสลดหดหู่เป็นที่สุด"

"ดร.ประเสริฐ" เสนอใช้รูปแบบหน่วยเลือกตั้ง เป็นที่ฉีดวัคซีนโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เสนอแนวคิด หนุนใช้รูปแบบหน่วยเลือกตั้งเป็นที่ฉีดวัคซีนโควิด ลดความแออัดให้ประชาชน โดยมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งกดแชร์และส่งต่อเนื้อหาเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อความดังนี้

 “หนุนใช้รูปแบบหน่วยเลือกตั้งเป็นที่ฉีดวัคซีนโควิด ลดความแออัดให้ประชาชน”

ในความเป็นจริงถ้าเราประยุกต์รูปแบบการจัดการเลือกตั้ง สส. ที่เป็นหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ ที่มีขนาดเหมาะสมทั้งบุคคลากรและประชาชน รวมถึงเหมาะแก่การควบคุมโรค มาใช้กับการจัดระบบจุดฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง จะมีประสิทธิผลและปลอดภัย มากกว่าให้ประชาชนมาแออัด ณ จุดใดจุดหนึ่ง อย่างภาพที่ สถานีกลางบางซื่อในช่วงนี้
ลองมาดูตัวเลขกันครับ การเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งประเทศ เมื่อ 24 มีนาคม 2562 จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,419,975 คน โดยผู้มีสิทธิ์ คือ ผู้มีอายุ 18ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ก็สอดคล้องกับการจัดสรรวัคซีนที่ใช้อายุ 18ปี เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในช่วงแรก และทาง กกต. ณ ตอนนั้น ก็มีแอปพลิเคชัน Smartvote ให้ประชาชนสามารถค้นหาหน่วยเลือกตั้ง และข้อมูลอื่นๆได้อย่างสะดวก ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับ “จุดฉีดวัคซีน” รวมถึง “จุดตรวจหาเชื้อ” ได้อีกด้วย
อาจมีคำถามว่า ระยะเวลาในการจัดระบบใช้เวลามากน้อยเพียงใดนั้น รัฐธรรมนูญ2550 และ รัฐธรรมนูญ2560 ระบุให้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เท่ากับว่าการบูรณาการข้อมูลและการดำเนินการในการจัดการเลือกตั้งจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กกต. กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้นและมีประสิทธิผล และเมื่อเชื่อมโยงกับระบบของทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว การจัดระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนในพื้นที่ต่างๆได้สะดวกทั่วถึง รวดเร็ว และ ปลอดภัย อย่างที่หวังไว้ จึงเป็นไปได้ครับ

"ทวี" ห่วงวิกฤตโควิด แนะรัฐงดดอกเบื้ย-พักหนี้กยศ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“บทบาท กยศ. ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19” ควรงดเว้นการฟ้องคดี-การบังคับคดี พักการชำระหนี้ งดเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม

ตามที่ กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564  เป็นการช่วยเหลือเพียงผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้คืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี ผ่อนชำระหนี้โดยให้ทำการปรับโครงสร้าง มีเงื่อนไขการขยายระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี โดยการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี บริบูรณ์   และเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดชำระ เบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น ตามลำดับ ให้เปลี่ยนเป็น เงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ โดยระหว่างที่ลูกหนี้ทำการผ่อนชำระ หากลูกหนี้สามารถชำระเงินต้นได้ครบตามสัญญาที่ตกลงไว้ในงวดสุดท้ายจะลดเบี้ยปรับให้

แต่ลูกหนี้ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในชั้นบังคับคดีและอยู่ระหว่างการขายทอดตลาดไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆลูกหนี้กลุ่มนี้มีประมาณ 1.2 ล้านราย หรือคิดเป็น 54% ของผู้กู้ทั้งหมด โดย กยศ. อ้างว่าลูกหนี้ต้องผูกพันธ์ตามคำพิพากษาแล้วจึงช่วยไม่ได้นั้น เห็นว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องได้รับสิทธิ์การช่วยเหลือเช่นกันไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และ “การบังคับหนี้นั้นเป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ยินยอมผ่อนปรนก็สามารถกระทำได้” ดังเช่น กรณีที่มีการลดหย่อนไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เป็นต้น

จากวิกฤติการผลกระทบจากโควิด 19 ที่เริ่มปลายปี 2562 และต้นปี 2563 ส่งผลต่อเนื่องติดต่อมาถึงปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่มีท่าทีจะคืนสู่ปกติ ทำให้นักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. ที่จบใหม่จะหางานทำไม่ได้ จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีข้อเสนอรัฐบาลให้พักการชำระหนี้ พักดอกเบี้ย และยกเลิกเบี้ยปรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมทั้งลูกหนี้ประมาณ 1.2 ล้านรายเศษที่ถูกฟ้องคดี-บังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดด้วย จนกว่าสถานการณ์และสภาพสังคมจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 สู่ภาวะปกติ รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุนฯ ที่ต้องการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ขาดแคลนให้ได้มีการศึกษาที่ทัดเทียม เพื่อมาพัฒนาประเทศชาติ และหลักสิทธิมนุษยชนเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพให้คนทุกคนแบบให้เปล่าเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษา สร้างคน คนสร้างชาติ”  

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นกองทุนที่รวมสินทรัพย์ 349,521 ล้านบาทเศษ ในรอบปี 2563 มีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 11,813 ล้านบาทเศษ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการระงับหนี้และหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 10,084 ล้านบาทเศษ  

จากการตรวจสอบทราบว่า กยศ. ได้ใช้จ่ายเงินกองทุนว่าจ้างสำนักทนายความฟ้องหรือ ดำเนินคดีและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ. แยกเป็น

- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี คดีละ 5,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 8,250 ล้านบาท

- ค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท

-ค่าใช้บังคับคดีนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณคดีละ 8,750 บาท รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 4,702 ล้านบาท

ผู้กู้ยืมก่อน กยศ ออกมาตรการ 22 มิถุนายน 2564  มีระยะเวลาจ่ายคืน 15 ปี โดยเริ่มจ่ายคืน 2 ปีหลังจากจบการศึกษา และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เดิมอยู่ที่ 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี แม้ กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ที่เพียง 1% ต่อปี (ตาม พ.ร.บ.กยศ. ปี 2560 สามารถคิดได้ไม่เกิน 7.5%) ลำดับการชำระหนี้ คือ ชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยตามสัญญา และชำระเงินต้นกู้ยืม ทำให้เมื่อลูกหนี้มีการค้างชำระหลายงวด เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมก่อน โดยไม่ตัดถึงเงินต้นเลย หลายงวดเข้าเมื่อลูกหนี้ไม่เห็นความคืบหน้ามีความท้อถอยจะเลิกจ่าย จะเห็นจากคำฟ้องของ กยศ. ต่อลูกหนี้ จะมีเบี้ยปรับสูงกับเงินต้น เช่น มียอดสูงถึง 500,000 - 600,000 บาท ทั้งที่ลูกหนี้ได้ชำระเงินเข้าไปในกองทุนฯ แต่เงินต้นแทบไม่ลดเลย

จากข้อมูลการบังคับคดี พบว่าได้มีการยึดทรัพย์-อายัดทรัพย์แล้ว จำนวน 59,642 คดี รวมเงินต้นที่กู้ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ  6,815 ล้านบาทเศษ  แต่กรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์และมีทรัพย์ขายทอดตลาดจริงเพียง จำนวน 2,657 คดี คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้คืนมาจริงเพียง 218 ล้านบาทเท่านั้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้ แต่กลับได้เงินคืนมาเพียงเท่านี้ เงินค่าจ้างทนายดำเนินคดีที่ว่าจ้าง เป็นเงินในกองทุน กยศ. มาจากภาษีอากรของประชาชน ถือว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” 

ตาม พรบ. กยศ. พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ได้แก้ไขยกเลิก พรบ. กยศ. พ.ศ.2541 เดิม พบว่า เปลี่ยนแปลงหลักคิดและปรัชญาที่ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแต่เดิม “มุ่งเชิงพาณิชย์และธุรกิจมากขึ้น” อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 เป็น ร้อยละ 7.5 ได้ให้ อำนาจนายจ้างดำเนินการหักเงินเดือนจากลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ.ได้เมื่อกองทุนได้แจ้งไป ให้อำนาจ กยศ. เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ได้ และกองทุน กยศ. มี “บุริมสิทธิ” คือ หลังจากหักไปจ่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แล้ว ต้องจ่ายหนี้ กยศ. ก่อน เจ้าหนี้รายอื่น เป็นต้น

พรรคการประชาชาติ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่....) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.กยศ. พ.ศ.2561 (เมื่อ สิงหาคม 2563) ตามร่างที่แนบมา เสนอแก้ไข การกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ย  ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ไม่มีเบี้ยปรับ ผู้ไม่มีเงินชำระสามารถทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาคณะหรือสาขาที่รัฐ(กระทรวงศึกษา)กำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทนและไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระดังกล่าวคืน กรณีผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยม ให้แปลงหนี้เพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเป็นทุนการศึกษาแทนและไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอื่น ที่ศาลได้พิพากษาก่อน พรบ. ใช้บังคับ จะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุน และเมื่อปรับปรุงแล้วให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมถึงผู้ค้ำประกันด้วย เพื่อความยุติธรรมด้านการศึกษา ที่การศึกษาเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้การพัฒนาความรู้ บุคลิกภาพและความสำนึกอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างบริบูรณ์












วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"พานทองแท้" HBD "ทักษิณ" ขอคุณพ่อกลับไทย

วันนี้ (26 ก.ค. 64) นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ ระบุว่า

"คุณพ่อทักษิณ 72 vs. พี่โทนี่ 27 วันนี้วันครบรอบวันเกิด 72 ปี คุณพ่อทักษิณของผม หรือ คุณพี่โทนี่ของพี่น้องเพื่อนฝูงครับ ย้อนหลังไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว คุณพ่อผมในวัย 27 ปี ขณะเรียนปริญญาโทอยู่ต่างประเทศ อาจารย์และเพื่อนฝูงตลอดจนเพื่อนร่วมงานที่ร้าน KFC ไม่สามารถออกเสียงเรียกชื่อทักษิณได้สะดวก จึงพร้อมใจกันตั้งชื่อให้ใหม่ อันเป็นที่มาของชื่อ “โทนี่” ในทุกวันนี้

ในวันที่อายุ 72 ปี คุณพ่อทักษิณของผมยังมีหัวใจวัยรุ่น ไม่แพ้พี่โทนี่ที่เคยทำงานร้าน KFC ในต่างแดน ไฟแห่งการเรียนรู้ของพี่โทนี่ยังโชติช่วงพร้อมที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ นอก Comfort Zone ที่ตัวเองรู้มาก่อนอยู่ทุกเมื่อ และยังมีความกระตือรือร้นที่จะได้พูดคุยกับคนรุ่นหนุ่มสาว และคนที่เปี่ยมความสามารถใหม่ ๆ ไม่ต่างอะไรกับพี่โทนี่ในวัยเรียนรู้เลย

ที่สำคัญคือคุณพ่อผม ยังคงเป็นคนเดิมที่รักครอบครัว รักเพื่อน และรักประเทศไทย อยากให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้า ผ่านพ้นวิกฤตและอุปสรรคต่าง ๆ ที่คอยถ่วงความเจริญ ถ่วงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาวไทย ดังที่เราประสบปัญหากันอยู่ทุกวันนี้

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงของอายุ มันไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข แต่คุณพ่อทักษิณในวัย 72 ปี มีความอ่อนโยนและเข้าใจความคิดเห็นของคนหลากหลายมากขึ้น ยอมหยุดพักปล่อยเวลาให้ทอดผ่าน ปล่อยวางในสิ่งต่าง ๆ ใจเย็นรอให้สังคมตกผลึก แล้วจึงค่อยร่วมเสนอแนะทางออกของปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไป

ในท้ายที่สุดนี้ ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้คุณพ่อทักษิณ มีสุขภาพแข็งแรง มีพลังในการคิด, ช่วยเหลือ, แนะนำ และเป็นอีกหนึ่งความหวังให้กับคนไทยต่อไป

ที่สำคัญที่สุด ขอจงอำนวยพร ให้คุณพ่อได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบกับครอบครัวที่เมืองไทย ในเร็ววันนี้ครับ"

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"เคเค-สรพันธ์" ติงรัฐ "คนเป็นก็ยังต้องรอ-คนตายก็ยังต้องรออีก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ (เคเค) ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตบางแค เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ https://www.facebook.com/KKsuperFriend โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

คนเป็นก็ยังต้องรอ คนตายก็ยังต้องรออีก?

ผมขอเสนอรัฐบาล เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพ ควรต้องรีบพิจารณาจัดหาสถานที่สร้างเมรุ เพื่อรองรับศพพี่น้องคนไทยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจจากโควิด19 เช่น ที่ราชพัสดุที่อยู่ในการดูเเลของกองทัพ

คนไทยรอวัคซีนก็ว่าแย่แล้ว รอเตียงยิ่งแย่กว่า ยังต้องให้รอเมรุเผาอีกหรือครับ?

เห็นใจประชาชนบ้างครับ



วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"ปิติพงศ์" เร่งรัฐแก้วิกฤตโควิด

ผู่สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากสถานการณ์แพร่ระบาด #โควิด19 ล่าสุด วันนี้ รายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 13,655 ราย โดยแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ผ่านมาได้เพียง 3 สัปดาห์ นับจาก 120 วันที่รัฐบาลจะประกาศเปิดประเทศ ภายใต้คำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกัน ผมย้ำมาตลอดว่า รัฐบาลต้องมีการบริหารจัดการภาวะวิกฤต (Crisis management) และควรเร่งดำเนินการก่อนที่ปัญหาต่างๆจะลุกลามไปมากกว่านี้ เพราะปัญหานี้มันเกินกำลังของรัฐบาลไปแล้ว เกินกำลังของ ศบค.ไปแล้ว 

จากที่จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งไม่หยุด ผมย้ำกับตนเองเสมอว่า "เราจะต้องรอด" เมื่อลืมตาตื่นมาทุกครั้ง ผมหมั่นเตือนตนเองและคนรอบข้างเสมอ และ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าหวังพึ่งแต่รัฐบาล อย่างน้อยผมก็คิดว่า พวกเราต้องไม่ทำให้บุคลาการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบกภาระเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ครับ

ขอให้ทุกท่านปลอดภัยครับ

"วัฒนรักษ์" อัดรัฐ รอ 5 ต. "ติด-ตรวจ-เตียง-ตังค์-ตาย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ไม่ได้อยากแจ้งยอด #ผู้ติดเชื้อโควิด และ #ผู้เสียชีวิตจากโควิด แต่หากตัวเลข #โควิด19 เป็น New High ขึ้นทุกวันแบบนี้ประชาชนจะอยู่อย่างไร? รัฐบาลเคยสนใจไหมครับ ?

หรือรัฐบาลประเทศไทยมีแค่ 5 ต. ?

1. รอติด

2. รอตรวจ

3. รอเตียง

4. รอตังค์

5. รอตาย

#โควิด19 #รอรล่ม

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"ปิติพงศ์" สอน "ประยุทธ์" ต้องไม่ตัดแค่งบฯเรือดำน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

 จากข่าวที่มีการตัดงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำของ “กองทัพเรือ” เพื่อเอาเงินงบประมาณมาใช้เรื่องการแก้วิกฤตโควิด-19 ข้อสังเกตคือ “กองทัพบก” กับ “กองทัพอากาศ” ไม่ร่วมด้วยหรือ? หรือจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกองทัพเรือเพียงลำพังเท่านั้น? 

.

“กองทัพบก” กับ ”กองทัพอากาศ” ได้รับรู้ภัย และปัญหาวิกฤตโควิด19 แล้วยินยอมตัดงบประมาณของส่วนตัวเองมาบ้างหรือไม่? คำถามนี้ต้องย้อนกลับไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็คือพลเอกประยุทธ์ ว่าพลเอกประยุทธ์ตั้งใจตัดงบประมาณเฉพาะเรือดำน้ำของกองทัพเรือ แล้วงบประมาณของกองทัพบก-กองทัพอากาศ มีหลายเรื่อง เช่น การจัดซื้อรถถังก็ยังมีอยู่ การจัดซื้อเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ใช่หรือไม่?

.

ณ วันนี้ รัฐบาลควรจะต้องหยุดเอางบประมาณ มาจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และเอาเงินทั้งหมดมาช่วยบริหารจัดการแก้ไขปัญหา เยียวยาวิกฤตโควิด19 ให้ประชาชนอย่างครบวงจร 

.

รัฐบาลล็อกดาวน์กรุงเทพฯ แล้วรัฐบาลจะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลอย่างไร? 

.

ผมขอพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลครับ อย่างน้อยก็ควรเมตตาประชาชนบ้าง 

.

รัฐบาลควรเข้าใจและเห็นใจประชาชนบ้างครับ

.

ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ

หัวหน้าพรรคเป็นธรรม

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"ปิติพงศ์" แนะรัฐเผยความจริง ประสิทธิภาพวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ https://twitter.com/dr_pitipong โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

งบประมาณที่รัฐบาลจะเอาไปช่วยเรื่องโควิดแบบครบวงจรแบบทุกมิติไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเรื่องวัคซีน ที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นครับ

หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักต่อการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลมาดำเนินการแก้ปัญหาโควิด-19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ออก พ.ร.ก.กู้เงินมาแล้ว 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลอ้างว่าเพียงพอต่อการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติขณะนี้ โดยหากเทียบราคาการซื้อวัคซีนให้คนไทยทั้ง 70 ล้านคน คนละ 2 โดส เท่ากับจะใช้วัคซีน 140 ล้านโดส ถ้าสมมุติคิดเป็นโดส ราคาโดสละ 2,000 บาท 2 โดสก็ประมาณ 4,000 บาท คูณ 70 ล้านคน รัฐบาลจะใช้เงิน 280,000 ล้านบาทเท่านั้น เงินยังเหลืออีกตั้งเยอะ ทำไมถึงไม่ทำแบบนี้ครับ ว่าแต่เงินหายไปไหนแล้วครับ? รัฐบาลช่วยอธิบายให้ประชาชนฟังหน่อย เพราะประชาชนอยากรู้ 

นายกฯฉีดวัคซีนครบ 2 แล้ว จึงมีความเสี่ยงต่ำที่จะติดโควิด แต่นายกฯก็ยังกักตัวเองเลย แต่คนไทยหลายคนทุกคนไม่โชคดีอย่างนายกฯที่มีวัคซีนฉีด ไม่ได้โชคดีอย่างนายกที่กักตัวแล้วจะไม่เป็น ไม่ป่วย แต่ในขณะเดียวกันจะมีคนไทยที่โชคไม่ดีตอนนี้เริ่มติดเชื้อเพิ่มขึ้นหมื่นกว่าคนต่อวัน ซึ่งโชคไม่ดีเหมือนนายกฯ ที่เลวร้ายอย่างที่สุด คือ อาจจะโชคไม่ดีที่เสียชีวิตจากการติดโควิด ซึ่งรัฐบาลควรต้องชี้แจงข้อเท็จจริง และบอกความจริงกับประชาชนถึงประสิทธิภาพของวัคซีน 

ประเด็นที่สำคัญ วันนี้ นายกฯกลับมาทำงานแล้วต้องเจอคำถามหลายคำถาม นายกฯกลับมาทำงานแล้วต้องบอกให้ประชาชนทราบว่าเงินงบประมาณแผ่นดินที่อ้างว่าจะเอาไปช่วยเรื่องโควิดแบบครบวงจรแบบทุกมิตินั้นอยู่ที่ไหน? คำถามนี้เป็นคำถามที่ค้างคาใจสังคม และรอฟังคำตอบจากนายกฯบ้างว่า ท่านมีปัญหาอะไร? 

เตือนรัฐบาลว่า การที่รัฐบาลไม่ชี้แจงและปล่อยให้สังคมคลางแคลงใจอยู่ตลอดเป็นการไม่ส่งผลดี ผมถึงเรียกร้องอยู่เสมอว่ารัฐบาลควรต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชนครับ อย่าเอากฎหมายไปปิดปากประชาชน มันเป็นไปไม่ได้เมื่อคุณจะใช้กฎหมายปิดปากไม่ให้ประชาชนคิดประชาชนพูด 

จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า การทำลักษณะนี้เหมือนกับว่ารัฐบาลจงใจให้มีโควิดอยู่จะได้ไม่ต้องมีม็อบ? หรือรัฐบาลจงใจให้ตัวเองมีอำนาจต่อมีความชอบธรรมในการบริหารอำนาจต่อโดยอ้างว่ามีม็อบและปัญหาโควิดหรือปัญหาประเทศยังแก้ไขไม่ได้ ถึงเป็นที่มาอย่างที่นายกฯบอกว่าจะไม่ถอย 

ผมไม่อยากให้นายกฯคิดอย่างนี้เลยครับ

เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตา-กระสุนยาง ใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องเปลี่ยนวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันนี้ เวลา 14.00 น. เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก ปรับลดงบกองทัพมาใช้จัดการปัญหาโควิด และเปลี่ยนวัคซีนซิโนแวคมาใช้วัคซีนอื่นที่มีคุณภาพแทน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมปลดแอก เริ่มเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปทำเนียบรัฐบาล เดิมจะใช้เส้นทางถนนราชดำเนินกลาง สะพานมัฆวานฯ และมิสกวัน ก่อนปรับเส้นทางไปทางถนนนครสวรรค์ แทนขณะที่บริเวณแยกผ่านฟ้า ตำรวจเสริมรถฉีดน้ำแรงดันสูงสแตนบาย และรถขยายเสียง มีการใช้แก๊สน้ำตา การฉีดน้ำแรงดันสูง และยิงกระสุนยางเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่จะยุติการชุมนุมเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา / Photo: Wanchai Chaothai , Siriprapa Ninnlavatanakul (Siri Nin)















"ทวี" ค้านรัฐจัดซื้อเรือดำน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

รัฐบาลจงใจ มุ่งมั่นจะซื้อเรือดำน้ำ โดยไม่แยแสต่อความหายนะของประชาชนที่ประสบวิกฤติภัยทั่วหน้า

.

โครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำเป็นโครงการไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในลักษณะรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  จึงได้โอนงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำแก้ปัญหาโควิด-19 ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 กองทัพเรือจึงเสนอตั้งงบประมาณจ่ายเงินงวดแรกในปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้การดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ และระหว่างพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณปี 2564 วาระ 2 มีการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อยังมีต่อเนื่องและเกิดการทักท้วงของพรรคฝ่ายค้านกับกระแสความไม่พอใจของประชาชที่ขยายตัวรุนแรง จึงทำให้กองทัพเรือเลื่อนการจัดซื้อในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ออกไปอีก

.

ในปีงบประมาณ 2565 มีการตั้งงบประมาณผูกพันซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ รวมทั้งสิ้นจำนวน 22,500 ล้านบาท และงบประมาณสิ่งปลูกสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ โรงซ่อมเรือดำน้ำ คลังเก็บขีปนาวุธเรือดำน้ำ และการซื้อเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 ที่รุนแรงกว่าเดิม ประชาชนทั้งประเทศกำลังประสบชะตากรรมติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความด้อยประสิทธิภาพและความผิดพลาดของรัฐบาล กรรมาธิการฯงบประมาณในส่วนที่เป็นฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ มีความเห็นรวมกันว่าควรชะลอหรือเลื่อนการจัดหาเรือดำน้ำไปก่อน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะหยุดและสภาพเศรษฐกิจที่เป็นความทุกข์ยากของประชาชนจะกลับคืนมาสู่ปกติ 

.

ข้ออ้างของรัฐบาลและกลาโหม ที่ว่าต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลนั้นเป็นข้ออ้างที่เป็นนามธรรม และเห็นว่าควรนำงบประมาณไปใช้ด้าน “ความอยู่รอดเป็นชีวิตของคนไทยมีความสำคัญกว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำ” ซึ่งการรักษาผลประโยชน์ของชาติมีหลากหลายมิติ ทั้งด้านความมั่นคง ด้านนโยบายต่างประเทศ ถ้าการสื่อสารกับต่างประเทศเป็นไปด้วยดีก็ไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อในตอนนี้ ยุทธวิถีในการใช้เรือดำน้ำส่วนใหญ่ใช้สำหรับการรุกไปยังประเทศอื่น หรือประเทศอื่นรุกรานเรา ขณะนี้มีเรือดำน้ำก็ไร้ประโยชน์ ความอยู่รอดของคนไทยคือความอยู่รอดของชาติ ชาติคือประชาชน สถานการณ์ขณะนี้เราต้องอยู่รอดจากการโจมตีของโควิด-19 ที่ประชาชนทุกคน หมอ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นนักรบด่านหน้าที่ถูกโจมตีโดยเชื้อโรค ที่ประชาชนร้องไห้รอรถมารับไปโรงพยาบาล ขณะที่นอนรอเพื่อขอตรวจโควิด ขณะที่วัดเมรุแตกจากการเผาศพประชาชน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ประชาชนรอดจากความทุกข์ทรมาน ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าเมื่อไรจะผ่านพ้นวิกฤติภัยรายแรงไปได้

.

ตลอด 7 ปีที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจ ได้ใช้งบประมาณอย่างมหาศาลกับกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายที่กองทัพเรือมีอยู่ในปัจจุบันก็มีความเหมาะสมเพียงพอที่จะคุ้มครองน่านน้ำและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศไทยให้ปลอดภัยได้ หากกองทัพเรือยังยืนยันที่จะทำการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ก็จะเป็นการสร้างหนี้สินให้กับประชาชนที่จะต้องแบกรับภาระไปอีกหลายสิบปี ทั้งนี้ เงินงบประมาณที่กองทัพเรือขออนุมัตินั้นเป็นเพียงการจัดซื้อเรือดำน้ำเท่านั้น ยังไม่รวมถึงค่าอาวุธยุทโธปกรณ์ประจำเรือ ค่าซ่อมบำรุง ค่าฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานจริง ที่จะต้องขออนุมัติงบประมาณเป็นงบประจำของกองทัพเรืออีกมหาศาล  ตัวอย่าง เรือรบหลวงจักรีนฤเบศรที่จอดอยู่นานราว 20 ปี ขณะนี้คือภาระอันหนักอึ้งของกองทัพเรือที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้งานเป็นที่ทราบดี หรืออากาศยานของกองทัพเรือที่ซื้อมาไว้เพื่อปราบเรือดำน้ำที่มีการซุบซิบกันว่าได้นำไปใช้เป็นเครื่องบินประจำให้ผู้บังคับบัญชาใช้เดินทางเป็นส่วนใหญ่ หรือจรวดอาวุธนำวิถีทั้งหลายที่ซื้อมาเก็บไว้ราคานับร้อยล้านบาท ขณะนี้ก็กำลังเสื่อมสภาพไม่มีโอกาสได้ใช้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ล้วนมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

.

การจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำที่ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาผูกพัน ขอให้ยกเลิกหรือเลื่อนไปก่อนและนำงบประมาณทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง มาทุ่มเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์โควิด-19 นำมาฉีดให้กับประชาชนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด รวมทั้งดำเนินการเยียวยาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนในระบบถ้วนหน้าที่ประชาชนมีสิทธิเสมอกัน พร้อมทั้งจัดหา แอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) มาอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มประชาชนที่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อจะได้คัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากประชาชนปกติที่ไม่ติดเชื้อโดยเร็วที่สุดจะได้ลดอัตราการแพร่เชื้อ รวมทั้งช่วยบำบัดทุกข์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสาธารณสุขของรัฐที่ต้องระดมงบประมาณและทรัพยากรของชาติทุกอย่างเพื่อการป้องกัน การรักษาพยาบาล การเยียวยาและการฟื้นฟูประชาชนและประเทศชาติ

.

ขอย้ำว่า ประชาชนเจ้าของประเทศกำลังลำบากแสนสาหัสและกำลังต้องการความช่วยเหลือ เยาวชนเด็กไทยกำลังประสบชะตากรรมเรื่องการศึกษา ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร 

.

ในฐานะที่กองทัพเรือเป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยมาตลอด จึงอยากให้กองทัพเรือตัดสินใจชะลอแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ไว้ก่อนจนกว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะปกติและเศรษฐกิจของประเทศชาติและประชาชนมีความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่

.

การตัดสินใจของกองทัพเรือจะเป็นความหวังของประชาชน ขอให้ครองใจประชาชนคนไทยให้ได้เพื่อ “ความอยู่รอดเป็นชีวิตของคนไทยทุกคน”

.

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

และเลขาธิการพรรคประชาชาติ

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"ธกร เลาหพงศ์ชนะ" เสนอรัฐแชร์ข้อมูล เตียงว่างออนไลน์

"ธกร" แนะรัฐจัดศูนย์พักคอยในมัสยิดรองรับผู้ติดเชื้อที่นับถือศาสนาอิสลาม ชงไอเดียรัฐแชร์ข้อมูลเตียงว่างออนไลน์ พร้อมส่งชุดตรวจโควิดถึงบ้านลดเสี่ยงลดตายก่อนได้เตียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธกร เลาหพงศ์ชนะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตประเวศ-สวนหลวง พรรคเพื่อไทย  ลงพื้นที่ติดตามปัญหา พร้อมแจกข้าวกล่อง และน้ำดื่ม ณ จุดตรวจโควิด วัดยาง เขตสวนหลวง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน โดยพบว่าประชาชนเข้าคิวรอตรวจโควิด-19 จำนวนมาก พร้อมสะท้อนปัญหาความยุ่งยากของระบบรัฐราชการ ได้แก่ จุดตรวจไม่เพียงพอ ประชาชนรอคิวแออัด โดยในพื้นที่ กทม. 6 เขต แจกคิวตรวจได้เพียงวันละ 4,700 ราย และศูนย์พักคอยทั้งหมด 17 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 2,560 ราย ซึ่งเต็มเกือบทั้งหมด ตลอดจนขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จนถึงการได้เตียงเพื่อรักษาตัว หากพบเชื้อ 1 ราย ใช้เวลาดำเนินการ บางรายเสียชีวิตก่อนได้เตียง นับเป็นการบริหารจัดการที่ซ้ำเติมชีวิตประชาชน 

นายธกร กล่าวเสริมอีกว่า อยากเสนอให้รัฐดำเนินการดังนี้  

(1) หากประชาชนคนใดสงสัยว่าติดเชื้อให้ติดต่อเขตเพื่อให้ส่งชุดตรวจโควิด-19 (Rapid Antigen Test) พร้อมคำแนะนำให้ถึงบ้านผ่านทางไปรษณีย์ 

(2) ทำระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนการทำงานของแต่ละเขตและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล “เตียงว่างและการจองเตียง” หากเตียงในเขตนั้นๆไม่ว่างก็จะสามารถหาที่เขตอื่นได้  ลดภาระการเดินทางตระเวนหาเตียง และลดจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนได้เตียง 

(3) พิจารณาประเด็นละเอียดอ่อนด้านศาสนา โดยในเขตพื้นที่สวนหลวงที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่เมื่อติดเชื้อกลับได้รับคำแนะนำให้ไปศูนย์พักคอย หรือ โรงพยาบาลสนามวัด อยากให้รัฐบาลสนับสนุนศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามในมัสยิด หรือสถานที่ทางศาสนาอื่นๆ ตามพื้นฐานประชาชนสอดคล้องกับท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

"หน่วยงานทหารจัดเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีสรรพกำลังและอุปกรณ์พร้อม ควรออกมาช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนในเวลาที่เหมาะสม เช่น การใช้พื้นที่ของหน่วยงานเพื่อจัดตั้ง ศูนย์พักคอย และ โรงพยาบาลสนาม หรือรถจัดส่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับความสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น อย่าให้การบริหารงานแบบรัฐราชการทำให้การล็อกดาวน์ต้องสูญเปล่า หากประเทศชาติและประชาชนจะเจ็บแล้วต้องจบ" นายธกร กล่าว

“ดร.เผ่าภูมิ” สวนมาตรการเยียวยา ไม่ช่วยรักษาการจ้างงาน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงมาตราเยียวยาของรัฐบาล ดังนี้


เอาใหม่นะครับรัฐบาล ค่อยๆ คิดตามนะครับ ตนเข้าใจความพยายามรัฐบาลที่จะเยียวยาในลักษณะ “มาตรการคงการจ้างงาน” เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ไม่ให้คนตกงานไปมากกว่านี้ ความตั้งใจตรงนี้ถูกต้องนะครับ 


แต่วิธีการที่เลือกทำ มันไม่ได้นำไปสู่จุดนั้น


มาตรการคงการจ้างงาน ต้องทำอย่างนี้ครับ รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้าง 50% โดยต้องจ่ายตรงไปที่ “นายจ้าง” และนายจ้างต้องเอาไปจ่าย “ลูกจ้าง” (ห้ามเอาไปใช้อย่างอื่น) และนายจ้างต้อง “รักษาระดับการจ้างงาน” ให้อยู่ที่ 90% ของระดับเดิม จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ และต้องจ่ายเป็นก้อนเดียวไม่แยกจ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง จำนวนเงินและระยะเวลาต้องมากพอให้นายจ้างยอมที่จะไม่ปลดคนงาน


ตรงนี้จะช่วยที่ว่า รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้างให้นายจ้างในช่วงที่ไม่มีรายได้ ทำให้นายจ้างไม่ต้องไล่ลูกจ้างออกไป และลูกจ้างก็ไม่ตกงาน ยังได้รับเงินเดือน ยังมีงานทำอยู่ ประเทศสามารถรักษาระดับการจ้างงานได้ win-win ทุกฝ่าย


กลับมาดูสิ่งที่รัฐบาลทำ

1. รัฐจ่ายตรงไปที่ลูกจ้าง 50% (ไม่เกิน 7,500 บาท) + 2,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน (แบบให้เปล่า)

2. รัฐจ่ายตรงไปที่นายจ้าง 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน เป็นเวลา 1 เดือน (แบบให้เปล่า ปลดคนงานได้ตามใจชอบ)


นั่นหมายถึง ลูกจ้างได้รับเงินก้อนหนึ่ง นายจ้างได้รับอีกก้อนหนึ่ง โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้ผูกกัน ต่างคนต่างได้รับเงิน และทั้งคู่ก็ไม่ได้ผูกกับการจ้างงาน นั่นคือ แจกเงินให้เปล่าตามปกติ แค่นั้น...จบ ไม่ได้ช่วยรักษาระดับการจ้างงานตามที่ตั้งใจเลย


สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ รับเงินเสร็จ ปลดคนงาน ตกงานกันเหมือนเดิม


ถ้าคิดแค่การแจกเงิน ก็คงบรรลุเป้าหมาย แต่เงินจำนวนเดียวกันนี้ เราสามารถใช้รักษาระดับการจ้างงานของประเทศไปด้วยได้นะครับ ถ้าเราเข้าใจกลไกของมัน

"ดร.ปิติพงศ์" แนะรัฐ ต้องเยียวยาทุกคนที่ถูกล็อกดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ https://twitter.com/dr_pitipong โดยมีเนื้อหาดังนี้

ต้องเยียวยาทุกคนที่ถูกล็อกดาวน์

ผ่านไปครบสัปดาห์ที่ 2 นับจาก 120 วันที่รัฐบาลจะประกาศเปิดประเทศ ขณะนี้ จำนวนยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 14 วัน 

ผมขอเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ควรนำงบประมาณซื้อวัคซีนกระจายให้กับประชาชนทุกคน มากกว่าที่รัฐบาลจะผลักภาระให้กับประชาชนเป็นคนไปเสียค่าวัคซีน รัฐบาลควรจะต้องหาทำทุกวิถีทางที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของสังคมให้ได้ และรัฐบาลควรตั้งวอร์รูมทำงาน 24 ชั่วโมง ทำงานแข่งกับเวลา เพราะเวลาจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนจากการไม่ได้วัคซีน รัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายชั่วโมง ไม่ใช่รายวัน ไม่ใช่การนั่งประชุมแบบปกติ

การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ควรจะแจกจ่ายวัคซีนจังหวัดละ 1 ล้านโดส เป็นอย่างน้อย โดยแจกให้กับ “ส่วนหน้า” ก่อน ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข กระจายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ ไม่ต้องให้พวกเขาเหล่านั้นไปนั่งลงทะเบียน จะให้ลงทะเบียนทำไม? มันไม่ใช่เป็นเรื่องการชิงโชค เพราะทุกคนต้องฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่า “ต้องเยียวยาคนที่ถูกล็อกดาวน์” 

ผมย้ำเพราะคนไม่มีกำลัง คนหมดความหวัง คนสิ้นความหวัง คนไร้ทุกอย่าง รัฐบาลต้องสร้างความหวังดึงให้เขากลับเข้ามา ผมไม่อยากเห็นภาพเหมือนอินเดียที่คนนอนตายกันเกลื่อน คนนอนรอความหวังจากโรงพยาบาลต่างๆ และท้ายที่สุด สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือการนำร่างผู้เสียชีวิตเข้าไปฌาปนกิจโดยที่ไม่มีญาติ มันทำให้สังคมไม่เป็นสังคม เป็นสังคมหดหู่ ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ใคร แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ 

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องป้องกันอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องวัคซีนอย่างเดียว ตอนนี้มันเลยขั้นที่จะพูดเรื่องวัคซีนอย่างเดียวแล้ว มันเลยไปหมดแล้ว รัฐบาลต้องเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทางด้าน Crisis management เพราะการบริหารแบบระบบราชการรวมศูนย์ในปัจจุบันก็ล้มเหลวเต็มที่แล้ว ณ วันนี้ระบบราชการไทยพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า ระบบรัฐราชการไทย โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขประเทศไทยกำลังถึงจุดสิ้นสุด แล้วกำลังจะเป็นโซ่ที่ไปซัดทอดถึงระบบอื่นๆนอกเหนือจากระบบสาธารณสุข เมื่อสาธารณสุขทำไม่ได้ วิกฤตอื่นๆตามมา อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ประชาชนจะรับไม่ได้หากต้องอยู่ในสภาวะที่เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

การบริหารในเชิงวิกฤตรัฐบาลต้องเร่งแก้ครับ


วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"ดร.ปิติพงศ์" เร่งรัฐแก้ปัญหา ผลกระทบล็อกดาวน์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผมเป็นห่วงผลกระทบที่ตามมาจากการล็อกดาวน์

.

ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ที่ 2 นับจาก 120 วันที่รัฐบาลจะประกาศเปิดประเทศ ขณะนี้ จำนวนยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 14 วัน 

สถานการณ์วันนี้เป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลจะต้องพึงตระหนัก ข้อเสนอนี้ ไม่ใช่มีเจตนาในการไล่ นายกฯประยุทธ์ เพราะวันนี้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ใช่เรื่องการไล่ นายกฯประยุทธ์ หรือไล่รัฐบาล แต่ปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบันนี้ คือการที่ต้องทำทุกวิถีทางให้รัฐบาลที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้ศักยภาพตัวเองให้เต็มที่ในการที่จะมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นมากกว่าการไล่รัฐบาลออกไป 

ณ วันนี้ รัฐบาลจะต้องพึงตระหนักให้ถึงว่าการบริหารประเทศในช่วงนี้จะต้องเป็นการบริหารจัดการภาวะวิกฤต (Crisis management) ไม่ใช่บริหารตามนัยยะปกติ รัฐบาลต้องหาคนที่มีความรู้ทางด้านการจัดการภาวะวิกฤตเข้ามาชี้แนะในการแก้ไขปัญหา ตัวข้อมูลฐานข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะต้องถูกมาวิเคราะห์เพื่อจะหาเหตุของวิกฤตให้ได้ เพื่อได้นำหาหนทางแก้ไข

การกระทำที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตหลังจากที่รัฐบาลล็อกดาวน์ สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเตรียม คือ 1. ต้อง Maximum Profit ในการ กระทำทุกการกระทำ 2. ต้องเกิด Efficiency และ 3. ต้องเกิด Effective ถ้ารัฐบาลไม่นำ 3 คำนี้มาใช้ในการบริหาร การปิดประเทศ หรือการล็อกดาวน์จะไม่มีประโยชน์

วันนี้ ต้องคิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของรัฐบาลอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งระบบ เพียงแต่รัฐบาลเป็นคนถือธงนำในการแก้ไขปัญหา สังคมไทยจะต้องไม่คิดว่าเป็นปัญหาเฉพาะของรัฐบาลและรอให้รัฐบาลแก้ไข ต้องเป็นเรื่องของความทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะทุกคนได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ทั้งสิ้น แล้วเชื่อมั่นว่าวิกฤติครั้งนี้จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้าสังคมยังเกิดการแบ่งแยก และที่สำคัญคือการรัฐบาลไม่มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารประเทศ ไม่มีความรู้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาในเชิงวิกฤตหรืออะไรต่างๆทั้งหมด นั่นย่อมทำให้เป็นวิกฤตที่สำคัญซ้อนวิกฤตจนอาจกลายเป็นไฟลามทุ่ง เพราะฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องทั้งหมดอย่าให้ผลักภาระอันนี้ให้รัฐบาลอย่างเดียว

ผมเสนอแนะว่าคนที่มีศักยภาพในสังคม หากรัฐบาลรู้ หากรัฐบาลเข้าใจ รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้วิกฤติปัญหาครั้งนี้ ไม่ใช่ปิดความช่วยเหลือและคิดว่าตัวเองทำได้แต่เพียงคนเดียว ศบค.ต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีศักยภาพในสังคม เข้ามามีส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหา อย่าคิดว่า ศบค.คนเดียวเป็นซุปเปอร์แมนแก้ปัญหานี้ได้ เพราะปัญหานี้มันเกินกำลังของรัฐบาลไปแล้ว เกินกำลังของ ศบค.ไปแล้ว เช่น รัฐบาลควรจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการบริหารแก้ไขวิกฤตของพื้นที่นั้นเอง 

2. ผู้มีศักยภาพ เช่น นักธุรกิจนักลงทุน 20 เศรษฐีหรืออะไรต่างๆ คนที่มีศักยภาพทั้งหลาย ถ้ารัฐบาลบอกรัฐบาลไม่มีสตางค์ไม่มีทุนไม่มีอะไรสักอย่าง รัฐบาลต้องช่วยขอความร่วมมือคนเหล่านั้นให้เขามาช่วยเหลือสังคม เพราะมันเป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคมที่กระทบกันหมด 

การที่นายกฯปิดตัวเอง การที่ ครม.หนีหาย โดยการอ้างว่าติดโควิดแล้วปิดตัวเองไม่รับผิดชอบเลยเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องอย่างมาก เพราะความรับผิดชอบมันไม่หาย ความรับผิดชอบของนายกฯยังอยู่ ต่อให้นายกฯบอกว่านายกฯจะไม่อยู่ แต่ความรับผิดชอบนายกฯต้องทำเพราะรัฐบาลมีหน้าที่อยู่ ถ้ารัฐบาลไม่คิดจะทำหน้าที่นี้ รัฐบาลต้องหาและตั้งคนอื่นเข้ามาทำแทน ไม่ใช่บอกว่าเพราะติดโควิดเลยไม่อยู่ เลยไม่ทำอะไร ผมต้องการเสนอให้คนทุกคนในสังคมต้องช่วยกันช่วยแก้ปัญหานี้


ประมวลภาพ "เยาวราช" ล็อกดาวน์วันแรก

ประมวลภาพ บรรยากาศบริเวณเยาวราช ย่านการค้าขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ที่วันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) เริ่มบังคับใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  รวมทั้งพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม ภายหลังจากข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27 ) ในข้อ 2 การห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามข้อ 4 ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพ ฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา