ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงมาตราเยียวยาของรัฐบาล ดังนี้
เอาใหม่นะครับรัฐบาล ค่อยๆ คิดตามนะครับ ตนเข้าใจความพยายามรัฐบาลที่จะเยียวยาในลักษณะ “มาตรการคงการจ้างงาน” เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ไม่ให้คนตกงานไปมากกว่านี้ ความตั้งใจตรงนี้ถูกต้องนะครับ
แต่วิธีการที่เลือกทำ มันไม่ได้นำไปสู่จุดนั้น
มาตรการคงการจ้างงาน ต้องทำอย่างนี้ครับ รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้าง 50% โดยต้องจ่ายตรงไปที่ “นายจ้าง” และนายจ้างต้องเอาไปจ่าย “ลูกจ้าง” (ห้ามเอาไปใช้อย่างอื่น) และนายจ้างต้อง “รักษาระดับการจ้างงาน” ให้อยู่ที่ 90% ของระดับเดิม จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือ และต้องจ่ายเป็นก้อนเดียวไม่แยกจ่ายนายจ้างกับลูกจ้าง จำนวนเงินและระยะเวลาต้องมากพอให้นายจ้างยอมที่จะไม่ปลดคนงาน
ตรงนี้จะช่วยที่ว่า รัฐบาลช่วยจ่ายค่าจ้างให้นายจ้างในช่วงที่ไม่มีรายได้ ทำให้นายจ้างไม่ต้องไล่ลูกจ้างออกไป และลูกจ้างก็ไม่ตกงาน ยังได้รับเงินเดือน ยังมีงานทำอยู่ ประเทศสามารถรักษาระดับการจ้างงานได้ win-win ทุกฝ่าย
กลับมาดูสิ่งที่รัฐบาลทำ
1. รัฐจ่ายตรงไปที่ลูกจ้าง 50% (ไม่เกิน 7,500 บาท) + 2,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน (แบบให้เปล่า)
2. รัฐจ่ายตรงไปที่นายจ้าง 3,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน เป็นเวลา 1 เดือน (แบบให้เปล่า ปลดคนงานได้ตามใจชอบ)
นั่นหมายถึง ลูกจ้างได้รับเงินก้อนหนึ่ง นายจ้างได้รับอีกก้อนหนึ่ง โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้ผูกกัน ต่างคนต่างได้รับเงิน และทั้งคู่ก็ไม่ได้ผูกกับการจ้างงาน นั่นคือ แจกเงินให้เปล่าตามปกติ แค่นั้น...จบ ไม่ได้ช่วยรักษาระดับการจ้างงานตามที่ตั้งใจเลย
สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ รับเงินเสร็จ ปลดคนงาน ตกงานกันเหมือนเดิม
ถ้าคิดแค่การแจกเงิน ก็คงบรรลุเป้าหมาย แต่เงินจำนวนเดียวกันนี้ เราสามารถใช้รักษาระดับการจ้างงานของประเทศไปด้วยได้นะครับ ถ้าเราเข้าใจกลไกของมัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น