วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"วัฒนรักษ์" ห่วงเกษตรกร-สินค้าการเกษตรตกต่ำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช ประธานคณะกรรมการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือเกษตรกรจริงจังได้หรือยัง ?

#สินค้าการเกษตรตกต่ำ ส่งออกมีปัญหา ตลาดในประเทศทรุดหนัก ร้านอาหาร โรงแรม ตลาดต่าง ๆ แทบจะไม่มีการซื้อขาย เศรษฐกิจติดลบสูงสุดในรอบ 20 ปี ประชาชนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ยิ่ง #ล็อกดาวน์ ยิ่งทำสินค้าเกษตรระบายไม่ทัน ราคาตกต่ำ แรงงานขาดแคลน สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ควรเข้าใจ คือ

1. เศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออก การท่องเที่ยว หากปัจจัยเหล่านี้ไม่มี จะยิ่งทำให้เครื่องจักรการเงินหยุดทุกตัว ส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้ผล ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ขยายตลาดเก่า เปิดตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเดิม ทำไม่ได้จริงตามลมปาก เพราะมีแต่ทยอยกันปิดทุกตลาด ทุกร้านค้า รัฐบาลควรส่งเสริมการค้า Online เพราะเป็นตลาดของยุค Now Normal ยกเว้นภาษี 3 ปี ผลักดันสินค้าไทยส่งออกต่างประเทศให้มากที่สุด

อะไรคือปัญหา? ผู้นำไม่เข้าใจ ผู้นำไม่รับฟัง ผู้นำไม่สนใจ หรือว่าเป็นทั้ง 3 ปัญหา แบบนี้ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร ?

#ผนงรจตกม

"ยิ่งลักษณ์" ห่วงชาวนา-ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ซ้ำเติมวิกฤต

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แม้ประเทศไทยของเราได้ชื่อว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะกินดีอยู่ดีค่ะ ชาวนาเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่ราคารับซื้อกลับลดลงอย่างหนัก ขณะที่ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ข้าวเจ้านาปรังฤดูใหม่กำลังจะทะลักออกสู่ตลาดจำนวนมากมายหลายสิบล้านตัน แต่ราคาข้าวแทบทุกชนิดได้ร่วงลงไปก่อนหน้าแล้ว เช่น ข้าวเปลือกเจ้าแห้ง (ความชื้น15%) ราคาเหลือเพียงตันละ 7-8 พันบาท ดิฉันเป็นห่วงมากค่ะ ว่าราคาข้าวปีนี้จะตกตํ่ามากกว่าปีก่อน ซ้ำเติมชีวิตพี่น้องชาวนาไทยจากเดิมที่เดือดร้อน ไม่มีกินมีใช้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้วให้ยากจนลงไปอีก 

วันนี้รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาให้กับชาวนา มองไม่รอบด้าน และไม่ทันต่อสถานการณ์ มีแต่มาตรการเดิม ๆ จนทำให้วิกฤติราคาข้าวบานปลาย ดิฉันมีความเห็นว่า รัฐบาลควรจะหาแนวทางแก้ไขเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันทีค่ะ เช่น การออกมาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิต อย่างเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าเช่านา เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการเข้าไปดูแลด้านราคาให้กับชาวนา ขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหาการขนส่ง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพราะเมื่อส่งออกได้มากขึ้น ราคาข้าวก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยชาวนาในทางอ้อม เพราะการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคือการช่วยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมทั้งประเทศค่ะ 

ดิฉันเสียดายโอกาสในการปรับโครงสร้างเกษตรทั้งระบบที่ได้เริ่มวางรากฐานไว้เมื่อครั้งที่ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่น การทำเกษตรโซนนิ่ง การลดการผลิตข้าวคุณภาพต่ำ และการปลูกพืชอื่น หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว การพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ไปจนถึงมาตรการลดต้นทุนโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตร การขยายตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาส และมอบอนาคตที่ดีให้กับอาชีพชาวนา ให้สมกับคำว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ จะได้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งค่ะ

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

คอนราดฯ-สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาหลักรัฐธรรมนูญในปี2021 :ความท้าทายและแนวโน้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิคอนราด-อเดนาวร์ (KAS) นำโดย Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราดประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) โดย ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ จัดงานเสวนาวิชาการแบบออนไลน์ ในประเด็น "หลักรัฐธรรมนูญในปี2021 : ความท้าทายและแนวโน้ม” เพื่อหาคำตอบว่าอะไรคือความท้าทายและแนวโน้มของรัฐธรรมนูญในอนาคต? โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 220 คน 



ทั้งนี้ ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ในนามสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าว เชิญชวนทุกท่านให้มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมิติของภาพกว้าง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีแค่มิติของการแก้ระบบการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติอื่นๆที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการเลือกตั้งท้องถิ่น การยึดโยงกับประชาชน และบทบาทของรัฐธรรมนูญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นพลเมืองประชาธิปไตย 

ทางด้าน ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมแสดงทัศนะ โดยระบุว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะต้องมีหลักนิติรัฐ และต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญนิยม บทบาทรัฐธรรมนูญในต่างประเทศนั้น รัฐธรรมนูญมีทั้งการตรวจสอบถ่วงดุลย์อำนาจและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าเราจะเข้าใจรัฐธรรมนูญต้องรู้หลักรัฐธรรมนูญนิยมก่อน รัฐธรรมนูญต้องทำเพื่อประชาชน และออกแบบองค์กรต่างๆเพื่อให้ใช้อำนาจแทนประชาชน

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย ว่า อยากให้มองรัฐธรรมนูญทั้งส่วนของเนื้อหาและกระบวนการ เวลาเราพูดถึงรัฐธรรมนูญ หลายคนมองว่ารัฐธรรมนูญไทยอายุสั้น เฉลี่ยฉบับละ 4 ปีครึ่ง ขณะที่ทั้งโลกรัฐธรรมนูญมีอายุเฉลี่ย 17 ปี รัฐธรรมนูญยิ่งมีส่วนร่วมกับประชาชนมากเท่าไหร่ รัฐธรรมนูญนั้นจะยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้น และรัฐธรรมนูญจะอายุยืนยาวขึ้น รัฐธรรมนูญที่ดี จะต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาของประเทศนั้นๆได้

ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า "พลเมือง" ไม่จำกัดกรอบแค่เรื่องของรัฐธรรมนูญ หรือการเป็นพลเมืองไทยหรือพลเมือง 4.0 แต่เราต้องไปให้ถึง GLOBAL CITIZEN หรือ พลเมืองโลก ที่ไม่มีพรมแดน และไม่ใช่แค่ความคิดเชิงรัฐธรรมนูญที่มองพลเมืองเป็นแค่ปลายทาง เพราะพลเมืองเกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐต้องเชื่อในการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน อันนี้ถึงตอบโจทย์ของประเทศ ตัวอย่างในพื้นที่เช่น กรณีหมอกควันไฟป่าเคยใช้การออกกฎหมายหรืออิงกับกฎของส่วนกลางกลับไม่ได้ผล แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นเรื่องการบริหารจัดการร่วมกันของคนในพื้นที่ กลับแก้ปัญหาได้ดีขึ้น นี่พิสูจน์ได้ว่าพลเมืองไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ประชาชนต้องเห็นว่าปัญหาเกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง จึงจะนำมาสู่การออกแบบรัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือในการแก้ปัญหา

ผศ.ชาญณวุฒิ ไชยรักษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ว่า จากวิกฤติโควิด ทำให้เราเห็นถึงบทบาทของราชการส่วนภูมิภาคในการบริหารสถานการณ์แบบ Area based (เชิงพื้นที่)มากขึ้น เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญมีส่วนส่งเสริมบทบาทของภาคประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายมากขึ้น อย่างที่ต่างประเทศมี Social enterprise รวมถึงการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในมิติการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็ว เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับการออกแบบนโยบายของพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญตั่งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้พรรคการเมืองต่างปรับใช้นโยบายประชานิยมตามแบบพรรคไทยรักไทย แต่ไม่ใช่ทุกพรรคที่มีนโยบายประชานิยมแล้วจะถูกใจประชาชน แม้ว่า พลเอกประยุทธ์จะเคยวิพากษ์วิจารณ์โครงการประชานิยมของรัฐบาลก่อนรัฐประหาร แต่หลังรัฐประหาร พรรคพลังประชารัฐ กลับมีนโยบายประชานิยมเสียเอง เพื่อให้สังคมยอมรับ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนจะต้องส่งเสริมการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ต้องแก้ปัญหาสวัสดิการของประชาชน รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจด้วย

ขณะที่ ผศ.เชิงชาญ จงสมชัย จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เชิญชวนให้ทุกคนมองมิติของการแก้รัฐธรรมนูญ ในส่วนของความหมายของการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมที่แท้จริง พร้อมย้ำว่ารัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมจากประชาชนจะช่วยให้แก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศได้



วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"ทวี" ยื่น ป.ป.ช. สอบประยุทธ์-ออกพรก.นิรโทษกรรม ทำคนผิดลอยนวล

วันที่ 10 สิงหาคม. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ ร่วมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีออกข้อกำหนดตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 29 ควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อและล่าสุดศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครอง

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวว่า ในพระราชกำหนดนิรโทษกรรม สิ่งที่สำคัญที่เราพบขณะนี้ ก็คือจะไปกระทบประชาชนที่ตาย และเสียชีวิตจากโควิด เนื่องจากเราพิสูจน์ให้เห็นว่าการเสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ของพลเอกประยุทธ์ ทางอาญาปล่อยให้มีความบกพร่อง และเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเลย ซึ่งในรัฐธรรมนูญเราเขียนไว้ว่า บุคคลถ้าถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพถูกการกระทำทางอาญา ซึ่งตอนนี้เราถือว่าเป็นทางอาญา เนื่องจากฝ่ายค้านได้ยื่นร้องให้ดำเนินคดีกับประยุทธ์ โดยเฉพาะในรอบที่ 3 คณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ หรือการสั่งไม่ให้วันสงกรานต์เป็นวันหยุดหรือล็อคดาวน์ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 10 วัน มีฟันหลอวันที่ 16 วันเดียว เป็นเหตุให้มีการตายและเสียชีวิตจากเดิม 1,000 คนมา 6,000 คน ซึ่งโดยกฎหมาย รัฐบาลถ้ามีใจกับประชาชนต้องเยียวยาผู้ตายผู้บาดเจ็บ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ การที่เขานิรโทษกรรม ก็คือเขาจะหลีกเลี่ยงข้อนี้ ซึ่งอันนี้ คือ ผลกระทบกับประชาชนอย่างร้ายแรง แล้วรัฐบาลรู้สึกไม่ใส่ใจต่อการเสียชีวิตของประชาชนที่เกิดจากความบกพร่องในเรื่องการป้องกันโรคร้ายแรงในเรื่องการรักษา และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ไม่เยียวยาแล้วยังไม่พอ การกำลังจะออกพระราชกำหนด หรือกฎหมายที่จะนิรโทษกรรมตัวเอง ทำให้ประชาชนที่ต้องเสียชีวิตและคนจำนวนมากที่จะได้มีโอกาสการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านการเงินหรือด้านจิตใจ ไม่ได้รับการกระทำเช่นนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากครับ

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"ชัชชาติ" ชี้ วัฒนธรรมองค์กรเดิม ไม่ตอบโจทย์อนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคเพื่อไทย ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

Sunk Cost Fallacy: อย่ายึดติดกับต้นทุนที่เสียไปแล้ว

ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) มีพูดถึงกับดักอันหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจเรื่องในอนาคตผิด คือ Sunk Cost Fallacy หรือ การตัดสินใจผิดจากต้นทุนจม 

Sunk Cost Fallacy คือ การที่เราตัดสินใจเรื่องของอนาคตโดยไปยึดติด เสียดายกับต้นทุนที่เราเสียไปแล้ว (ต้นทุนจม) และเรียกคืนมาไม่ได้แล้ว (และไม่ได้มีผลกับอนาคตเลย) เช่น

การที่เราตัดสินใจซื้อตั๋วหนัง 100 บาท เข้าไปดูหนัง พอดูไปได้ครึ่งเรื่อง หนังมันแย่มากๆ ไม่สนุกเลย เสียเวลาดู เรามีทางเลือกสองทาง คือ 

1. ออกจากโรงหนัง แล้วใช้เวลาที่เหลือไปทำสิ่งที่มีประโยชน์กว่า

2. ทนดูหนังจนจบ เพราะเสียดายค่าตั๋ว 100 บาทที่จ่ายไปแล้ว

การเลือกทางที่สอง อาจเรียกได้ว่าเป็น Sunk Cost Fallacy เพราะเงิน 100 บาทที่จ่ายไป เราไม่มีทางได้คืน แต่เรายอมเสียเวลาไปอีก 1 ชม.เพราะเราเสียดายเงินที่จ่ายไปแล้ว 

ในชีวิตประจำวันหรือในธุรกิจ เราจะเจอกับดักนี้อยู่ตลอด เช่น รู้ว่าไปต่อกับแฟนไม่ได้แล้วแต่ก็ไม่ตัดใจ เพราะเสียดายเวลาที่ผ่านมา หรือลงทุนทำธุรกิจแล้วไม่สำเร็จ ก็ยังถมเงินลงไปต่อเพราะเสียดายเงินที่ลงทุนไปแล้ว หรือติดดอยหุ้น เพราะซื้อมาราคาแพง ไม่กล้าขายเสียดายต้นทุน ทั้งๆที่ราคาหุ้นในอนาคต ขึ้นกับผลการดำเนินงานของบริษัท ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราซื้อมาราคาเท่าไรเลย

นอกจากตัวต้นทุนที่เป็นเงินแล้ว ต้นทุนอีกอันที่ทำให้เราติดกับดักนี้คือ ความภูมิใจ ความเชื่อ ความมั่นใจ ที่ทำให้เราไม่ยอมรับว่าเราตัดสินใจผิดไป และลงทุนซ้ำกับสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว เพราะไม่อยากเสียหน้า ไม่อยากยอมรับว่าเราตัดสินใจพลาดไป และสิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ work แล้ว เหมือนกับการไปดูหนัง นอกจากฝืนทนดูจบจบแล้ว ออกมายังบอกว่าหนังสนุกมากและซื้อตั๋วดูภาค 2 เพราะไม่อยากเสียหน้ายอมรับว่าเราคิดผิดตั้งแต่ตอนแรก

เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆที่มีความเก่าแก่หลายบริษัททั่วโลก สู้กับ Startup ที่มาใหม่ไม่ได้ เพราะบริษัทใหญ่ๆเหล่านี้มี Sunk Cost ในรูปแบบของ Business Model เดิม วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมๆที่ยังมีความภูมิใจอยู่ แต่มันไม่สามารถตอบโจทย์ของอนาคตได้แล้ว

ในการรับมือกับโควิดก็เช่นเดียวกัน อย่าไปยึดติดกับ Sunk Cost ที่ผ่านไปแล้ว สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว สิ่งที่เราคิดว่าดีแล้วในอดีต ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว 

ต้องยอมรับความจริง เรียนรู้จากปัญหาที่เกิด และ กำหนด Strategy ใหม่ทั้งด้านวัคซีน การตรวจเชิงรุก การดูแลผู้ป่วย การเยียวยา ให้เหมาะสมกับอนาคตครับ