วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทวี" นำมวลชนร่วมฌาปนกิจ "วาฤทธิ์" เยาวชน 15 ปีถูกยิงหน้า สน.ดินแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่วัดน้อยสุวรรณาราม หรือวัดคลองเก้า ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ มีการจัดพิธีฌาปนกิจ นายวาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ที่ถูกยิงบริเวณลำคอหน้าสน.ดินแดงระหว่างไปร่วมชุมนุมที่ดินแดงเมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายวาฤทธิ์ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่า 2 เดือนก่อนที่จะเสียชีวิต โดยในวันนี้ได้มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ประธานในพิธี พร้อมด้วยนายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล กลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งญาติของผู้เสียชีวิตมาร่วมภายในพิธีกว่า 500 คน โดยในพิธีได้มีการวางดอกไม้จันทน์ในศาลา จากนั้นได้เคลื่อนขบวนออกจากศาลามาวนรอบเมรุก่อนที่จะนำศพขึ้นประกอบพิธีฌาปนกิจ















วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ทวี” จับตารัฐมอบสิทธิ์ที่ดินการรถไฟมักกะสัน เอื้อทุนใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


 จับตารัฐมอบสิทธิ์ "สาธารณสมบัติของแผ่นดิน" สัมปทานรถไฟเอื้อนายทุนผูกขาด !

คณะรัฐมนตรีมีมติเปิดทางให้คู่สัญญา แก้สัญญาและขยายเวลาชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่อยืดเวลาขอผ่อนจ่ายเงินจำนวน 10,671 ล้านบาท เป็นการเอื้อนายทุนหรือไม่ ?

มติ ครม. วันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 มีมติเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 

“ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ ที่ถึงกำหนดชำระวันที่ 24 ตุลาคม 2564 จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ (PIC) และการขยายระยะเวลาโครงการฯ” 

และครม. มีมติ “มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ก็ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม…”

.

เอกชนคู่สัญญาคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (CRCC : China Railway Construction Corporation Limited สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)) ซึ่งตามสัญญาข้อ 8.1 (3) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ต้องชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ ที่ครบกำหนดชำระภายใน 2 ปีในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่ ครม. ได้เปิดโอกาสให้แก้สัญญาที่เปิดช่องทางเอื้อคู่สัญญา อ้างเหตุผลย้อนแย้งกับความจริง

.

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีเอกชนคู่สัญญา เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ในช่วงวิกฤตโควิด -19 งบการเงินของบริษัทแม่ของเอกชนคู่สัญญา คือ 

-บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ “เครือซีพี” ที่มีธุรกิจหลักด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร  (CPF รายได้ปี 63 เท่ากับ 5.95 แสนล้านบาท) ธุรกิจค้าปลีก (CPALL รายได้ 5.46 แสนล้านบาท) และธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม (TRUE รายได้ 1.43 แสนล้านบาท) ในปี 2563 รวมกัน 3 ธุรกิจหลักในเครือฯ มีรายได้กว่า 1.28 ล้านล้านบาท 

-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รายได้ 1.43 หมื่นล้านบาท, 

-บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) รายได้ 5.49 หมื่นล้านบาท

-บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) รายได้ 1.82 หมื่นล้านบาท, 

บริษัทร่วมทุนล้วนแล้วแต่มีกำไรทั้งนั้นและยังมีบริษัทรถไฟจีนที่เป็นต่างชาติร่วมด้วย กลับอาศัยช่วงวิกฤตโควิดสร้างโอกาสของตน ขอรัฐช่วยเยียวยาและขยายระยะเวลาการชำระเงิน และเมื่อดูราคาหุ้นปัจจุบันแล้วพบว่าที่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด บริษัทคู่สัญญาไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเลย 

.

การไม่ปฏิบัติตามสัญญา และสามารถให้ปรับเปลี่ยนระยะเวลาตามสัญญา วิธีการชำระเงิน รวมทั้งการชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นการแก้ไขอันเป็นสาระสำคัญที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ต่อไปใครได้สัญญาลักษณะนี้ไปก็จะมาเจรจาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญเอาเปรียบประเทศชาติและประชาชนแบบนี้ได้ทุกรายเพราะขนาดเครือซีพีที่ยิ่งใหญ่ยังทำได้ ต่อไปใคร ๆ ก็ประมูลสูงให้ได้เป็นคู่สัญญาก่อน แล้วถึงเวลาก็หาเหตุหรือข้ออ้างมาขอให้รัฐเยียวยา 

.

อีกประการ กิจการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่เป็นบริษัทลูกของการรถไฟ มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท (รัฐต้องกู้เงินเป็นหนี้สาธารณะ จำนวน 34,362 ล้านบาทเศษ) เอกชนจ่ายค่าสัมปทานเพียงจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ แต่รัฐต้องรับภาระหนี้ของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกจำนวน 22,558 ล้านบาทเศษ ระบบขนส่งมวลชนระบบรางเป็นระบบที่แก้ปัญหาจราจรได้ดีที่สุดมีสภาพพร้อมให้บริการประชาชนอยู่แล้วเป็นกิจการคุ้มทุนที่สามารถสร้างเป็นกิจการที่มีกำไร (ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่ดี) เอกชนที่ได้สิทธิ์สามารถดำเนินกิจการต่อหารายได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนใหม่

.

รัฐบาลควรเยียวยาการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเกิดประโยชน์มากกว่าเอื้อนายทุน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 145,554 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 64.82 และยังมีทรัพย์สินอื่นอีก ที่ยังไม่ได้นำมาคิดรวม ที่เป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” เป็นสัมปทานผูกขาด โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ เป็นที่ดินการรถไฟที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ทรงออก พ.ร.บ. “เลิกทาส ร.ศ. 124” เอกชนคู่สัญญาได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 50 ปี การรถไฟฯ  ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นเงินประมาณ 51,000 ล้านบาท คิดเป็นค่าเช่าพื้นที่ 150 ไร่ 50 ปี  (ยังมีสิทธิ์เช่าต่ออีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปีได้) ประมาณปีละ 1,020 ล้านบาท ที่ราคาค่าเช่าที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริงมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินย่าน เซ็นทรัล ลาดพร้าว การรถไฟ ฯได้ค่าเช่าที่ดิน 48 ไร่ สัญญาเช่า  20 ปี เป็นเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าใช้อัตราค่าเช่าที่เท่ากับเซ็นทรัล ลาดพร้าว เช่า ราคาที่ดินมักกะสันควรมีผลประโยชน์ตอบแทน ประมาณ 164,062ล้านบาทเศษ 

.

คู่สัญญาเป็นกิจการร่วมทุนที่เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คำเปรียบเปรยที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ยังเป็นจริงในสังคมไทยเสมอ  “ช่วงวิกฤตโควิด ตลาดหุ้นไทยได้เติบโตขึ้นมามาก โดยช่วงก่อนโควิดมีผู้เปิดบัญชีลงทุนเพียง 1.8 ล้านบัญชี ช่วงโควิดเพิ่มเป็น 5 ล้านบัญชี (ประมาณ 2 ล้านราย มีรายชื่อซ้ำกันอยู่ด้วย) จากที่เคยมีมูลค่าการซื้อขาย 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มมาเป็นเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อวัน จากมูลค่าตลาดเดิม 12 ล้านล้านบาท ตอนนี้เพิ่มเป็นเกือบ 20 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของทั้งประเทศประมาณ 16 ล้านล้านบาทเสียอีก บริษัทผู้รับสัมปทานรัฐ ที่เรียกว่า “เสือนอนกิน” ไม่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทที่ต้องจ่ายตามสัญญาเป็นเงินของแผ่นดิน เป็นเงินจำนวนมากสำหรับประชาชสที่กำลังถูกกดทับด้วยหนี้มหาศาล ทั้งหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 78% เป็น 90% ต่อ GDP และหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงถึง 9.16 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 42.5% เป็น 57% ต่อ GDP ระหว่างปี 2557 - 2564 และการก่อหนี้สาธารณะประชาชนเข้าใจว่าจะต้องกู้เงินเพื่อมาเยียวยาประชาชนทั่วไป แต่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้เงินลักษณะ  “คนรวยต้องมาก่อน” และมุ่งมั่นที่จะ “อุ้มและเอื้อคนรวย” ทั้งที่ประชาชนจะอดตาย ถ้าเป็นรัฐบาลที่ดีจะไม่ทำ

.

สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้ คือต้องเยียวยาฟื้นฟูให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพราะในช่วงวิกฤตโควิด-19 การรถไฟต้องมีการลดขบวนเที่ยวลงหรือถึงขั้นต้องหยุดการเดินรถ ทำตามนโยบายของรัฐเพื่อลดการแพร่เชื้อโรค ทำให้ขาดรายได้จำนวนมาก และการรถไฟถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้มากที่สุด  อย่าลืมว่า “ประชาชนไม่ได้อยู่เพื่อรับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ต้องอยู่เพื่อรับใช้ประชาชน”

.















วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทวี" แนะ กยศ. ยกเลิกเบี้ยปรับ-งดดอกเบี้ย-พักชำระหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” กยศ. กับ การไร้วินัยการเงินการคลัง !

ควรควบรวม กยศ. กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


สื่อมวลชนได้เสนอข่าวกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อย่างต่อเนื่อง อาทิ  

- “สาวอึ้ง ติดหนี้ กยศ. ไม่จ่าย 1.7 หมื่น โดนยึดบ้านไม้หลังงาม 2” (เนชั่น)

- ““กรมบังคับคดี” แจงสาวแพร่เป็นหนี้ กยศ.1.7 หมื่นบาท แต่ถูกยึดบ้าน 2 ล้าน เหตุไม่ทำตามคำพิพากษา ซ้ำไม่เคยมาไกล่เกลี่ย” (ผู้จัดการ)

- “ผ่อนจนตายก็ไม่หมด! ลูกหนี้'กยศ.'จ่ายค่างวดนับปี‘เงินต้น’ไม่ลด-‘เบี้ยปรับ’เดินรายวัน” (สำนักข่าวอิศรา)

- “อดีตลูกหนี้ กยศ. ร้องโดน‘เบี้ยปรับ’เกือบเท่าเงินต้น-กลัวถูกยึดบ้าน กู้สหกรณ์ฯปิดยอด” (สำนักข่าวอิศรา)

- “กยศ. เอาจริง! เตรียมทำประวัติผู้กู้ยืม สกัดเบี้ยวหนี้” (มติชน)

- “กยศ. เล็งเปิดระบบเครดิตบูโร ใครเบี้ยวจ่ายหนี้ ลูกหลานกู้เรียนไม่ได้” (ประชาชาติ)

- “เบี้ยวหนี้ กยศ. ห้ามเป็น ข้าราชการสภา ขวางพวกชักดาบเรียนสถาบันพระปกเกล้า

การเมือง” (ข่าวสด)

- “กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดชำระสูงสุด 30 ปี หักเงินลูกหนี้ ลดเหลือ 10 บาทต่อเดือน” (มติชน)

- “เจออีกราย! ลูกหนี้ กยศ.โดน ‘เบี้ยปรับ'โหด ท่วม‘เงินต้น’-ผ่อนหนี้ไม่ไหวขอ ‘ลดค่างวด’” (สำนักข่าวอิศรา)

- ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน ? (สำนักข่าวอิศรา)

- “ทวี สอดส่อง” เปิดบทบาท “กยศ.”ในสถานการณ์วิกฤตโควิด (สยามรัฐ) 

- “สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด” (สำนักข่าวอิศรา)

ฯลฯ

.

มีกรณีศึกษา ลูกหนี้ กยศ. คนหนึ่งที่ต้องชำระคืน กยศ. เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 480,421.86 บาท นั้น แบ่งเป็นหนี้เงินต้น 216,758.52 บาท หนี้ดอกเบี้ย 33,084.35 บาท และมีเบี้ยปรับสูงถึง 230,578. 99 บาท ซึ่งมากกว่าเงินต้น และที่ผ่านมาลูกหนี้ กยศ. รายดังกล่าว ไปผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมให้กับ กยศ. ตั้งแต่ พ.ย.2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 34 งวด รวมเป็นเงิน 170,000 บาท แต่เงินที่ลูกหนี้ กยศ. รายนี้ ชำระให้ กยศ. นั้น ไม่ได้นำไปตัดเงินต้นแม้แต่บาทเดียว (สำนักข่าวอิศรา)

.

ทั้งนี้ทาง กยศ. เองก็ได้มีการชี้แจง ตามหนังสือ กยศ. ที่ กค 5116/2254 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่ทาง กยศ. ได้ส่งหนังสือชี้แจงถึงบรรณาธิการ สำนักข่าวอิศรา “..สาเหตุที่กองทุนกำหนดเงื่อนไขผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระจะต้องเสียเบี้ยปรับนั้น เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตรงเวลาเท่านั้น..”

.

พร้อมให้ข้อมูลว่า “โดยตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุน จำนวนทั้งสิ้น 5,975,487 ราย ทั้งที่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 823,281 ราย ผู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,476,988 ราย ผู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,610,135 ราย ผู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 65,083 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564)”

.

“เบี้ยปรับสูง” ไม่ได้สร้างวินัยทางการเงิน ขัดต่อเจตนารมณ์การจัดตั้งกองทุน !

.

เหตุผลของ กยศ. “เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืม” ขัดแย้งต่อผลการศึกษาและวิเคราะห์โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฏร ว่า  “...การกำหนดอัตราเบี้ยปรับโดยอ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชน...อาจไม่เหมาะสมและควรพิจารณาทบทวนให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้กู้ยืมเงิน โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกองทุนประกอบด้วย”  ซึ่งการคิดอัตราเบี้ยปรับสูง ไม่ใช่เรื่องช่วยสร้างวินัยทางการเงินดังที่ กยศ.อ้าง และผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน ซึ่ง ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีบทความกล่าวถึงปัญหาในการชำระหนี้ กยศ. ได้แสดงความเห็นว่า “...กรณีลูกหนี้ กยศ. ไม่จ่ายหนี้ ดอกเบี้ยปรับแพงมาก 18% จึงเกิดกรณีลูกหนี้ กยศ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดมากกว่าเงินต้น...ปัญหาหนี้ กยศ. เหมือนภูเขาน้ำแข็ง มองจากภายนอกอาจจะเห็นว่าสาเหตุของการผิดชำระหนี้ของประชาชนกว่า 2 ล้านคนตามที่ กยศ. ระบุไว้จะมาจากความยากจน การขาดวินัยทางการเงิน และทัศนคติที่ว่าหนี้ กยศ. ไม่จำเป็นจะต้องชำระคืน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ คำตอบที่ได้รับจะต่างกันชนิดที่เรียกว่าหนังคนละม้วน เพราะแท้ที่จริงแล้วต้นเหตุ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้นี้ในหลายมิติ” 

.

จากการวิเคราะห์งบการเงินของ กยศ. พบว่ามีรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม และรายได้เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืมคิดเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก เงินที่ลูกหนี้ที่จ่ายคืนให้กลับทาง กยศ. การตัดชำระหนี้ คือ  ตัด “เบี้ยปรับ -> ดอกเบี้ย -> และเงินต้น” แม้ในขณะนี้ทาง กยศ. จะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของลำดับการตัดชำระหนี้ และรูปแบบการชำระหนี้ให้กับผู้ที่ยังไม่ถูกฟ้อง เป็นชำระไปตัด “เงินต้น->ดอกเบี้ย->และเบี้ยปรับ” แต่สำหรับผู้ที่ถูกฟ้องแล้ว จำนวนกว่า 1.2 ล้านรายเศษนั้น ลำดับการตัดชำระหนี้และรูปแบบการชำระหนี้ก็ยังเป็นแบบเดิม ที่ถือว่า “โหด” สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กลับลูกหนี้กลุ่มนี้

.

จากงบการเงินของ กยศ. ในช่วงปี 2557 - 2563  จะพบว่ารายได้ของ กยศ. มาจาก “ดอกเบี้ยฯ” และ “เบี้ยปรับฯ” มากจริงๆ (ข้อมูลตามตาราง 1)          


- ปี 2557 ดอกเบี้ยฯ 2,374.22 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 400.16 ล้านบาท

- ปี 2558 ดอกเบี้ยฯ 2,272.74 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,868.95 ล้านบาท

- ปี 2559 ดอกเบี้ยฯ 2,897.06 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 3,115.99 ล้านบาท

- ปี 2560 ดอกเบี้ยฯ 3,855.44 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,400.60 ล้านบาท

- ปี 2561 ดอกเบี้ยฯ 3,758.87 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,338.55 ล้านบาท

- ปี 2562 ดอกเบี้ยฯ 4,074.07 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ 2,564.52 ล้านบาท

- ปี 2563 ดอกเบี้ยฯ 3,302.44 ล้านบาท เบี้ยปรับฯ2,520.15 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า กยศ. มีรายได้จาก เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืมเป็นจำนวนเงินที่สูงมากปี 2557-2563 รวมเป็นจำนวนกว่า 16,203 ล้านบาทเศษ เฉลี่ยปีละ 2,315  ล้านบาทเศษ โดยในปี 2558 และ 2559 กยศ. มีรายได้จากเบี้ยปรับฯ สูงกว่ารายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเสียอีก

.

การใช้จ่ายเงินของ กยศ. ส่อไปทาง “ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง”

นอกจากการคิดเบี้ยปรับกับผู้กู้ยืมที่สูงผิดปกติแล้ว ทาง กยศ. ยังมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่สูงมาก พบว่า กยศ. ได้นำเงินไปจ่ายให้สำนักกฎหมายหรือทนายความในการติดตามทวงหนี้กับลูกหนี้ ในการดำเนินคดี คดีละประมาณ 5,500 บาท ชั้นบังคับคดี คดีละประมาณ 8,750 บาท และค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท ดังนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2563 ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เฉลี่ยปีละ 1,255 ล้านบาทเศษ โดยในปี พ.ศ.2562  มีรายจ่ายในส่วนนี้สูงมากถึง 1,667 ล้านบาทเศษ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาจากเงินภาษีอากรของประชาชน ที่ถูกนำไปใช้จ่ายในการทวงหนี้ ตามหนี้ประชาชน มีใครเคยตรวจสอบหรือไม่ว่า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้หรือไม่ ? (ข้อมูลตามตาราง 2)   

- ปี 2557 ค่าบริหารจัดการฯ 719.95 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 8.33 ล้านบาท รวม 728.28 ล้านบาท

- ปี 2558 ค่าบริหารจัดการฯ 931.16 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 40.91 ล้านบาท รวม 972.07 ล้านบาท

- ปี 2559 ค่าบริหารจัดการฯ 1,382.59 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 37.53 ล้านบาท รวม 1,420.12 ล้านบาท

- ปี 2560 ค่าบริหารจัดการฯ 1,363.62 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 156.47 ล้านบาท รวม 1,520.09 ล้านบาท

- ปี 2561 ค่าบริหารจัดการฯ 1,077.27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 470.97 ล้านบาท รวม 1,548.24 ล้านบาท

- ปี 2562 ค่าบริหารจัดการฯ 913.14 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 754.61 ล้านบาท รวม 1,667.75 ล้านบาท

- ปี 2563 ค่าบริหารจัดการฯ 292.49 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายฯ 639.37 ล้านบาท รวม 931.86 ล้านบาท

.

ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีคิดเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ กยศ. มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสม ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 ทำให้เงินกองทุน กยศ. และเงินสมทบจาก ADB ลดลงเป็นจำนวนเงิน 121,243 ล้านบาทเศษ คือ (ข้อมูลตามตาราง 3)   

- เงินกองทุน 468,673,515,000.- บาท

- เงินสมทบจาก ADB 100,000,000.- บาท

- รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสม 121,243,024,984.31 บาท

- รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน 347,530,490,015.69 บาท

.

กยศ.ส่อไปทางไร้วินัยการเงินการคลัง อย่างไร ?

.

เนื่องจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ไม่ได้บัญญัติการใช้เงินจากกองทุนเป็นค่าบริหารจัดการในการดำเนินคดี และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไว้ การจ่ายเงินดังกล่าวจำนวนเฉลี่ยปีละ 1,255 ล้านบาทเศษที่ได้มาจากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยของลูกหนี้ กยศ. ที่ประสบปัญหามีความทุกข์อย่างแสนสาหัสและถือว่าเป็นเงินแผ่นดินนำไปจ่ายให้กับใคร ? เป็นการเอื้อประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลหรือไม่ ? และส่อไปทางไม่รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุน เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา 

.

การดำเนินการของ กยศ. ไม่เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ข้อ 26 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 13 -14 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 28-29 ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พิจารณาส่งเสริมมาตรการเข้าถึงการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  และกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนการสอนได้ในทุกช่วงชั้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน 

.

ส่วนตัวเห็นว่า ทาง กยศ. มีแนวทางอื่น ๆ ได้หลายแนวทางและหากมีความจำเป็นจะฟ้องร้องดำเนินคดี ก็ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการให้ ตาม พรบ.องค์กรอัยการฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (5) ได้ วิธีการนี้จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความให้ดำเนินคดีนับพันล้านบาท 

.

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดวิกฤติโควิด-19 จึงเสนอให้ กยศ. ควรยกเลิกเบี้ยปรับ งดดอกเบี้ย และควรพักชำระหนี้ เงินต้นให้กับลูกหนี้ กยศ. ประมาณ 5-7 ปี และขอเสนอให้ควรควบรวม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กับ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" ตามพระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยนำร่าง พรบ. ทั้ง 2 ฉบับ มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักการสิทธิมนุษยชนที่รัฐต้องส่งเสริมสิทธิพื้นฐานในเรื่องการกระจายโอกาสทางการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำของผู้ด้อยโอกาสและผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในสังคมไทย ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

.

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

.

#ทวีสอดส่อง #กยศ #กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา #กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทวี สอดส่อง" ชี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสิ่งแปลกปลอม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากงานอภิปรายสาธารณะ วาระครบรอบ 48 ปี 14 ตุลา: การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตย โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า ประชาธิปไตย คือการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาน มีสิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาค เราต้องเอาความจริงมาพูดกันว่า สังคมประชาธิปไตยมีมาก่อนรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีใหม่ อย่างสหรัฐฯ ใช้รัฐธรรมนูญเดิม 232 ปี อิตาลี 70 ปี ฯลฯ ดูในเอเชีย เช่น จีน 60 กว่าปี แม้จะมีการแก้ไข 5 ครั้ง ดังนั้น การเป็นสังคมประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่การมีรัฐธรรมนูญ แต่บริบท-วิถีชีวิตในสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย

14 ตุลามีการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด มีการเสียชีวิต 77 ศพ และบาดเจ็บ ซึ่งเยาวชนที่ออกมา มาเพื่อขับไล่เผด็จการ เพื่อมีความกินดีอยู่ดี สิ่งที่เรามองข้ามและมีคุณอนันต์ คือรัฐธรรมนูญ 2517 ที่เป็นประชาธิปไตย วีรชนเสียชีวิตไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ แต่คือ ‘ความเป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ’ น่าเสียดายที่ใช้ได้แค่ปี 17 ก็เกิดการปฏิวัติ ฉีกทิ้ง วีรชนต้องเสียชีวิตเพิ่ม เขาวางหลักประเทศระหว่างชนชั้น รัฐตั้งคณะกรรมการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญ ปี 17 เขียนไว้ว่า รัฐต้องจัดหาที่ทำกิน ให้คนที่ไม่มีที่ดิน แต่รัฐธรรมนูญ 60 คุณต้องมาแสดงความจนให้รัฐดูก่อน ที่ดินของไทยที่สามารถออกโฉนดได้ และที่มีชื่ออยู่คือ 13 ล้านคน ส่วน 5-10 ไร่ มีแค่ 1 แสนกว่าคน แสดงว่า กระจุกตัว

รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ยังไม่ได้ร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดจึงยังไม่เกิด แต่ความจริงเราร่างมาแล้ว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และทำลายบุคคลฝ่ายตรงข้าม รากเหง้าของรัฐธรรมนูญนั้นกว่าจะได้มา การรัฐประการปี 2490 เมื่อดูตัวบุคคลที่ทำการรัฐประหาร มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม, จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร คือเรื่องเดียวกันที่ให้รัฐธรรมนูญคือเรื่องสูงสุดของคนตัวเล็กตัวน้อย เกือบ 30 ปี สถาบันการเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ ‘กองทัพ’ และ ‘ระบบราชการ’ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ไม่เช่นนั้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ จะไม่เกิด

เราควรเอาจิตวิญญาณผู้เสียชีวิต เอารัฐธรรมนูญ ปี 17 มาใช้จะดีที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 เขียนให้สิทธิ แต่มียกเว้น และไทยใช้ข้อยกเว้นเป็นสำคัญ มีที่ไหน การชุมนุมโดยปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

กฎหมายประชาธิปไตย จะไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อผู้ใช้ใช้เพื่อทำลาย จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไม่ย้อนกลับมาทำสังคมให้เป็นประชาธิปไตย กฎหมายต้านการอุ้มหายทำอย่างไรจะให้ลากไปถึงยุคพระศรีอริยเมตไตรยได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกันขอให้เอาเลือดเนื้อ อุดมการณ์ เอารัฐธรรมนูญปี 17 มาอ่าน แล้วจะเห็นคุณค่าว่า วันมหาวิปโยค เราได้รัฐธรรมนูญมาใช้แค่ 3 ปี

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวถึงความเป็นไปได้ของการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วยว่า เรามีรัฐอิสระ ซึ่งปกติภาษารัฐธรรมนูญ ต้องไม่คลุมเครือ คนสามารถอ่านเข้าใจ ถ้าผู้มีอำนาจต้องการอยู่ต่อ ก็ต้องแจกผลประโยชน์ให้กับคนมีตำแหน่ง การคัดเลือกคนเป็น ป.ป.ช. หรือ กรรมการสิทธิฯ กฎหมายเขียนกันเองทั้งหมด

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสิ่งแปลกปลอม มากกว่านั้นมี ‘รัฐประหารเงียบ’ คือ ส.ว. 250 และมาตรา 279 ที่ให้คำสั่งของหัวหน้า คสช. ยังคงอยู่ และใช้เป็นนิรันดร์ ซึ่งยังตกค้างอีกหลาย 400-500 ฉบับ สิ่งนี้ผมมองเป็นอาชญากร คือผู้บงการร่างกฎหมาย และผู้บังคับใช้ เพราะกฎหมายที่ออกทำให้คนกลุ่มหนึ่งมีความสุข แต่ทำให้คนทั้งประเทศมีความทุกข์ กฎหมายที่ออกกลายเป็นสมบัติของผู้มีอำนาจ ตีความเข้าข้างตัวเอง คำตอบมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีการเขียนกำชับความเป็นรัฐมนตรี ไว้หลายชั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงประชาชน จึงไม่รับผิดชอบ บ้านเมืองเข้าสู่ยุคที่มาตรฐานความเป็นธรรม คนกลุ่มหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด คนอีกกลุ่มทำอะไรก็ผิด แม้มีกฎหมายคุ้มครองก็ผิด บังคับเต็มที่และรวดเร็ว ที่เลวร้ายสุดคือ ตำแหน่งนายกฯ ที่คุม ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ แค่เดินไปแจ้งความปิดปาก ตำรวจก็สั่งฟ้องหมด ทั้งที่เป็นคดีหมิ่นประมาท ทั้งที่ควรจะส่งศาล มนุษย์ไม่สามารถสู้กับกาลเวลาได้ แต่สังคมไม่สามารถสู้กับสยุคสมัยได้ ท่านกำลังทำร้ายเด็ก ที่อีกไม่กี่ปีเขาจะกลายเป็น ซีอีโอ (CEO) 6 ตุลา ไปบอกว่า ม.ธรรมศาสตร์ เป็นที่ซ่องสุม ก่อการร้าย ปลุกระดมข้าราชการ ประชาชนให้สังหารนิสิต นักศึกษาอย่างบ้าคลั่ง อยากถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ห้องใต้ดินที่เก็บอาวุธในธรรมศาสตร์ มีหรือไม่ สังคมปล่อยเรื่องนี้ทิ้งไว้ สิ่งที่เป็นมะเร็งร้าย คือการปล่อยให้คนผิดลอยนวล ขืนเรายังปล่อยให้มีวัฒนธรรมนี้ รัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเศษกระดาษของผู้มีอำนาจ นักศึกษา ออกแถลงการณ์ภายหลังเหตุการณ์ เพราะตำรวจรับใช้เผด็จการให้ไปเข่นฆ่าประชาชน ทุกวันนี้ก็ยังใช้ตำรวจทหาร เพราะเราไม่ได้ดำเนินการผู้กระทำความผิดวันนั้น มาถึงวันนี้ ผมก็ยังเห็นด้วยว่า แก้รัฐธรรมนูญไม่พอ ต้องไล่ผู้นำเหมือน 14 ตุลาคม” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าว



วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทวี สอดส่อง" เชิญชวนประชาชน ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

28 พฤศจิกายน 2564 เลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง คือจุดเริ่มต้นที่ "ประชาชนมีสิทธิ์กำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง"

การเกิดรัฐประหารปี 2557 ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และต่อเนื่องด้วยการสืบทอดอำนาจของ คสช.ถึงปัจจุบัน ถือว่า คสช.และรัฐบาลได้ยึดอำนาจการปกครองท้องถิ่นไปด้วยและได้รวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ราชการส่วนกลางและภูมิภาคที่ตนเองสามารถควบคุมสั่งการได้ ทำให้การปกครองท้องถิ่นของไทยถอยหลังเข้าคลอง ไร้อำนาจและเหลือเพียงแต่รูปแบบเท่านั้น โดยหนึ่งในหลายๆ คำสั่งที่ คสช.กระทำกับ อปท. คือ การไม่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั่นเอง ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่น จึงเป็นก้าวแรกที่ประชาชนในท้องถิ่นจะได้รับอำนาจคืนมาจาก คสช. และรัฐบาล

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ค่อนประเทศ รับสมัคร 11-15 ตุลาคม 2564 และการเลือกตั้งได้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 แม้จะล่าช้าไป แต่ก็ยังคงมีความสำคัญที่พี่น้องประชาชนต้องไปใช้สิทธิ์อย่างพร้อมเพรียง เพื่อให้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจาก คสช.ได้เห็นถึงความตื่นตัวและความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนในการปกครองตนเอง อบต. เป็นกุญแจสำคัญในแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เข้าถึงชาวบ้านที่สุด กระจายอำนาจทั้งการบริหาร การตัดสินใจ ทั้งคนและงบประมาณ และการแก้ปัญหาที่เรียกว่า “การแก้ปัญหาโดยคนรู้ดีไม่ใช่คนหวังดี” ที่ใช้ฐานท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนที่รู้ปัญหาความต้องการของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างดี

การขจัดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านคุณภาพชีวิต สิทธิ์ โอกาส อำนาจ ศักดิ์ศรี และเชิงพื้นที่ อบต. ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสนองตอบความต้องการของประชาชนได้แท้จริง เป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประชาชนจากที่เคยถูกกำหนดโดยรัฐราชการ เป็น “ประชาชนมีสิทธิ์กำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง” สามารถส่งเสริมอำนาจทั้งของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพเป็นชุมชนเข้มแข็งและมีความยั่งยืนตามหลักการประชาธิปไตยนั่นเอง


พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เลขาธิการพรรคประชาชาติ



“ดร.เผ่าภูมิ” แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 7 ด้าน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจที่โตต่ำลากยาวสะท้อนความจริงของเศรษฐกิจไทยว่ามีปัญหาลงลึกถึงโครงสร้าง การหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางจะไม่เกิดขึ้น หากไม่แก้ที่ฐาน ซึ่งมี 7 ด้านเสมือนจิ๊กซอว์ 7 ตัวที่ต้องต่อให้ลงล็อคกัน


1. โครงสร้างประชากร : โครงสร้างประชากรที่เกิดน้อย และแก่ลงเรื่อยๆแบบนี้กำลังเป็นปัญหา การเพิ่มอัตราการเกิด ขยายฐานแรงงาน เป็นสิ่งจำเป็น ช่วยทั้งด้าน Supply คือด้านการผลิต เติมแรงงานอายุน้อยทักษะสูงกว่าเข้าแทนที่ และด้าน Demand เพิ่มประชากรทำให้กำลังซื้อในประเทศใหญ่ขึ้น ลดผลกระทบเมื่อต่างประเทศมีปัญหา อีกเรื่องคือระบบประกันสังคมและสวัสดิการ หากวัยกลางคนลด แต่ต้องส่งเงินเพื่อเลี้ยงคนรุ่นก่อนหน้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แรงงานรุ่นใหม่เกิดไม่ทัน ระบบมันจะยืนอยู่ไม่ได้ ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือโครงสร้างประชากร


2. โครงสร้างแรงงาน : 60% ของแรงงานไทยอยู่ภาคการเกษตร ซึ่งผลิต GDP ได้แค่ 8% เป็นตัวเลขที่น่ากังวล แรงงานซึ่งน้อยลงแก่ลงและยังไปอยู่ในส่วนที่สร้างเงินได้น้อย ภาพใหญ่ต้องสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเคลื่อนสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้น้ำหนักภาคอุตสาหรรมมากกว่า เพราะมีช่องว่างการพัฒนาที่สูงกว่า จากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี กระทรวงแรงงานต้องมองตนเองเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ มองทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทำตัวเป็นกระทรวงสวัสดิการ


3. โครงสร้างการศึกษา : ต้องผูกกับตลาดแรงงาน ต้องตอบคำถามใหญ่ก่อนว่า เราต้องการแรงงานแบบไหน แล้วเอาการศึกษาเป็นเครื่องมือในการผลิตคนด้านนั้น การศึกษาต้องมองให้เป็น Education Platform ไม่ใช่มองเป็นเชิงกายภาพ (โรงเรียน) ความรู้และนวัตกรรมเปลี่ยนทุกวัน การเอาคนรุ่นเก่าสอนทักษะล้าสมัยใส่โปรแกรมเดิมๆให้คนรุ่นหลัง ไม่ใช่ทิศทางที่ดี ควรเริ่มลดความสำคัญระบบปริญญาที่สร้างแรงงานทักษะเดี่ยว และเริ่มเพิ่มความสำคัญระบบ Certificate เพื่อสร้างแรงงานหลากทักษะที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ได้ตรงกว่า


4. โครงสร้างอุตสาหกรรม : ธุรกิจหัวหอกที่ขับเคลื่อนประเทศทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมโบราณ ตกยุค แต่กลับถูกปกป้องและผูกขาดด้วยระบบใบอนุญาตโดยภาครัฐ เมื่อการแข่งขันไม่เกิด การลงทุนเพื่อพัฒนาก็ไม่เกิด นวัตกรรมมักเกิดจากผู้เล่นรายใหม่มากกว่ารายเก่า แต่การผูกขาดรายเก่าเป็นอุปสรรคต่อรายใหม่ การปลดล็อคให้เกิดการแข่งขันจึงสำคัญ เพราะรายเก่าต้องปรับตัว รายใหม่คิดต้นนวัตกรรมใหม่เพื่อแข่งกับเจ้าตลาด

 

5. โครงสร้างธุรกิจ : ไทยมีสัดส่วนเอกชนนอกระบบสูงมาก ส่งผลให้มีแรงงานนอกระบบสูงถึง 53% นั่นหมายถึงฐานภาษีที่หายไป รายได้รัฐจึงโตไม่ทันรายจ่าย นับวันยิ่งห่างขึ้นทุกที Gig economy และฟรีแลนซ์ที่จะเพิ่มขึ้น ยิ่งขยายช่องว่างตรงนี้หากอยู่นอกระบบภาษี การดึงแรงงานเข้าระบบผ่านแรงจูงใจด้านภาษีและสวัสดิการต้องเร่งทำ


6. โครงสร้างงบประมาณ  : ขนาดราชการที่ใหญ่ เทอะทะ ไม่เคยเป็นสิ่งดี ทั้งด้านงบประมาณ ความคล่องตัว และประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าเอกชนมาก ต้อง Outsource หน่วยงานและภารกิจต่างๆของภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน สร้างภาคเอกชนในหน้าที่ของราชการขึ้นมาเพื่อลดขนาดรัฐ และใช้การร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐให้มาก  


7. โครงสร้างพื้นฐาน : ทั้งด้านกายภาพและดิจิทัล ด้านกายภาพการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานออกสู่หัวเมืองหลักนั้นมีผลตอบแทนสูงมาก โดยเฉพาะในแง่ของความเจริญ โครงสร้างด้านดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสำคัญไม่น้อยกว่าการเข้าถึงระบบการศึกษาพื้นฐาน สิทธิการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรีควรถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายให้ทุกรัฐบาลต้องทำ การลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถูก ง่าย และเร็วที่สุด

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"ทวี สอดส่อง" นำฝ่ายค้านลงพื้นที่อ่างทอง ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ฝ่ายค้าน ลงเรือแจกสิ่งของยังชีพ ให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ชาวบ้านปลื้ม ส.ส.ชายแดนใต้มาไกลถึงอ่างทอง “ทวี สอดส่อง” ชี้รัฐบาลประมาทปล่อยให้เขื่อนระเบิดจนน้ำท่วมชาวบ้านเดือดร้อน 

วันนี้ 9 ตุลาคม 2564 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.และหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นำ ส.ส.พรรคประชาชาติจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี, นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส, นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา นางสาวธนภร โสมทองเเดง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทยและพร้อมด้วยตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ตำบลจระเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ โดยระดับน้ำสูงถึง 2-3 เมตร ท่วมมาเกือบสัปดาห์แล้ว ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง รถไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ จึงต้องพายเรือเข้าไป มวลน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สิ่งของในบ้านได้รับความเสียหาย รวมทั้งพืชผลการเกษตรเสียหายอย่างหนัก บางหลังน้ำท่วมมิดหลังคา แต่บางหลังยังสามารถใช้ชีวิตอยู่บริเวณชั้นสองของบ้านได้ ชาวบ้านบอกกับ ส.ส.ฝ่ายค้านว่ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่รู้สึกดีใจที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านมาเยี่ยมถึงบ้าน และรู้สึกดีใจมากเมื่อทราบว่ามี ส.ส.พรรคประชาชาติที่มาไกลจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาให้กำลังใจถึงจังหวัดอ่างทองด้วย สะท้อนถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทยในสังพหุวัฒนธรรม ที่เราต้องช่วยเหลือกันในยามลำบากแม้รัฐบาลจะไม่เหลียวแลก็ตาม 

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบภัย อยากมาให้กำลังใจแก่พี่น้อง ความจริงเท่าที่ได้รับฟังมาอาจเป็นการเฉลียวใจหรือความประมาทของรัฐบาลที่ปล่อยให้เขื่อนชำรุดทรุดโทรมจนเกิดระบิดขึ้นและส่งผลให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียในทรัพย์สิน ความสูญเสียโอกาสทางอาชีพ และสำคัญอย่างยิ่ง กว่าจะฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพปกติก็คงใช้เวลาอีกนาน ในฐานะของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นอกจากมาให้กำลังใจแล้วก็จะมารับฟังปัญหาเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูเยียวยา หรือการพัฒนา ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมลักษณะนี้ทราบมาว่าไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นความประมาทของรัฐบาล ที่ปล่อยปะให้ขันเขื่อนกันแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างไว้ประมาณ 40 ปี สภาพชำรุดไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมถูกแรงดันน้ำเกิดระเบิดพังจนเกิดน้ำทั่วมถือเป็นอุทกภัยใหญ่ใหญ่ของตำบลจรเข้ร้อง สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนทุกหย่อมหญ้า”

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า “ปัญหาต้องเจอกับอุทกภัย และปัญหาน้ำแล้ง ที่ประชาชนพบกับความเสียหายซ้ำซากเช่นนี้พี่น้องประชาชน ที่ต้องประสบเหตุต้องมีการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดกับพี่น้องประชาชน เราต้องใช้เงินเพื่อให้พี่น้องประชาชนกลับมาดำรงชีพได้เช่นเดิม การเพาะปลูกที่ต้องเริ่มใหม่ การซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ  แต่สิ่งที่เราสูญเสียไปมากว่าเงินงบประมาณคือเวลา เราใช้เวลามาเท่าใดแล้วกับการที่ต้องยอมรับการบริหารจัดการน้ำ ที่มีปัญหายังเกิดซ้ำซากอยู่ ทั้งที่รัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมากในปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งงบที่เรียกว่างบประมาณแผนงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เฉลี่ยประมาณ 6 หมื่นล้านในทุก ๆ ปี ขาดประสิทธิภาพและไร้ทิศทางเพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ผมเองก็เป็นคนจังหวัดอ่างทอง บ้านเกิดอยู่อำเภอแสวงหา ในฐานะที่เราเป็นพี่น้องบ้านเดียวกัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้ นอกจากน้ำใจที่พวกเรามาแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะได้คือข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องและจะได้นำไปขับเคลื่อนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป”











วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564

"คุณปลื้ม" แนะรัฐเร่งเปิดเรียน "ประถม"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณปลื้ม-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล โพสต์ข้อความแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขไม่มีคำตอบให้กับประชาชน ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาว่าเหตุใดไม่ยอมเปิดสถานศึกษาทั้งทั้งที่คนซึ่งอยู่ในวัยอายุตั้งแต่ 5 ปีถึง 12 ปีนั้นไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการอะไรเลยจากการติดเชื้อโควิด

ทุกครั้งที่สื่อถามก็มักจะมีคำตอบอ้อมๆว่าไม่ต้องห่วงกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการซึ่งจะดูแลความปลอดภัยให้กับเด็กๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นความที่ไม่มีคำตอบและไม่มีความกล้าหาญที่จะยอมระบุให้ชัดเจนไปว่าโรงเรียนนั้นควรจะเปิดได้เลย สื่อดันไปสนใจเรื่องของการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีถึง 18 ปีทั้งทั้งที่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ผู้ปกครองนั้นถามอยู่

ผู้ปกครองและเด็กซึ่งเรียนออนไลน์อยู่ทุกวี่ทุกวันในวันนี้ต้องการให้รัฐบาลเปิดโรงเรียนแต่รัฐบาลไม่ยอมเปิดโรงเรียนและพยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่การฉีดวัคซีนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองหรือเด็กๆเรียกร้องเป็นอันดับที่ 1 ทำไมไม่ยอมเปิดสถานศึกษาทั้งๆที่สามารถเปิดได้ส่วนวัคซีนถ้าจะนำเข้ามาฉีดก็เป็นสิ่งที่ทำได้ควบคู่กันไป

แต่สำหรับเด็กประถม ณ เวลานี้ก็ไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กวัย 3-11 ปีในประเทศ เเละเอาจริงเเล้วเด็กซึ่งอยู่ในวัยประถมศึกษาก็มิจำเป็นต้องฉีด โรคนี้เป็นโรคซึ่งมีผลกระทบเป็นหลักสำหรับคนชราหรือคนที่มีร่างกายที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรืออ้วนมากเป็นพิเศษ  ถ้าเป็นเด็กซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรค 7 ประเภทและอายุ 18 ปีลงมาต่อให้ติดเชื้อโอกาสที่จะมีอาการขั้นรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอยู่ที่เพียงแค่ 0.003% นี่คือตัวเลขที่แท้จริงในประเทศไทยที่ศบค.ไม่ยอมรับและไม่ยอมประกาศให้ผู้ปกครองเข้าใจ

รัฐใช้วิธีบริหารด้วยการขี่ความกลัวต่อเนื่อง ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการด้านวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงและตัวเลขในโลกแห่งความเป็นจริงว่าเด็กนั้นโอกาสที่จะเป็นอะไรจากโควิด19 นั้นน้อยมาก น้อยเกินคำบรรยายต่อให้ติดเชื้อ

ความขี้ขลาดของผู้ซึ่งถืออำนาจรัฐในบ้านในเมืองเราในวันนี้ทำให้เด็กต้องถูกปล้นการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเวลามา 5 เดือนเต็ม ส่วนมากสุขภาพร่างกายแทนที่จะแข็งแรงขึ้นเพราะได้ออกกำลังกายทุกวัน สุขภาพจิตจะสมบูรณ์เพราะได้พบปะกับเพื่อนๆเเล้วได้มีกิจกรรมในสังคมของเขาตามปกติ เด็กกลับอาจจะมีปัญหาย่ำแย่มากขึ้นในทุกด้าน

เด็กจะอ้วนฉุมากขึ้นจากการล็อกดาวน์เด็กจะมีอาการเฉื่อยชาและจะมีร่างกายที่มีดัชนีมวลกายสูงขึ้น ความขี้เกียจครอบงำพฤติกรรมในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นด้วยความเคยชินที่ไม่ต้องออกไปทำอะไรนอกบ้านทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะก่อเป็นปัญหาต่อสุขภาพตามมาทั้งนั้น

สภาพจิตวิทยาที่ย่ำแย่จากการเรียนออนไลน์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนทำให้เด็กจำนวนมากทั้งในระดับประถมและมัธยมนั้นเสียหายอย่างหนัก ความโง่เขลาของผู้หลักผู้ใหญ่ในศบค./สธและรัฐบาลในเวลานี้เป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้เเละเป็นสิ่งที่กำลังทำให้เยาวชนทั้งเจนเนเรขั่นมีความรู้น้อยลงเพราะการขาดการศึกษา

ทั้งหมดนี้สะท้อนความคิดไม่เป็น ขาดความรู้ เอาตัวรอดด้วยการใช้วาทกรรม 'อ้างว่าปกป้องเด็ก' มาบังหน้า

เพราะฉะนั้นขอเรียกร้องอีกครั้ง: เปิดโรงเรียน- คืนชีวิตให้ลูกหลานเราทุกคน