ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจที่โตต่ำลากยาวสะท้อนความจริงของเศรษฐกิจไทยว่ามีปัญหาลงลึกถึงโครงสร้าง การหลุดจากประเทศรายได้ปานกลางจะไม่เกิดขึ้น หากไม่แก้ที่ฐาน ซึ่งมี 7 ด้านเสมือนจิ๊กซอว์ 7 ตัวที่ต้องต่อให้ลงล็อคกัน
1. โครงสร้างประชากร : โครงสร้างประชากรที่เกิดน้อย และแก่ลงเรื่อยๆแบบนี้กำลังเป็นปัญหา การเพิ่มอัตราการเกิด ขยายฐานแรงงาน เป็นสิ่งจำเป็น ช่วยทั้งด้าน Supply คือด้านการผลิต เติมแรงงานอายุน้อยทักษะสูงกว่าเข้าแทนที่ และด้าน Demand เพิ่มประชากรทำให้กำลังซื้อในประเทศใหญ่ขึ้น ลดผลกระทบเมื่อต่างประเทศมีปัญหา อีกเรื่องคือระบบประกันสังคมและสวัสดิการ หากวัยกลางคนลด แต่ต้องส่งเงินเพื่อเลี้ยงคนรุ่นก่อนหน้าที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แรงงานรุ่นใหม่เกิดไม่ทัน ระบบมันจะยืนอยู่ไม่ได้ ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือโครงสร้างประชากร
2. โครงสร้างแรงงาน : 60% ของแรงงานไทยอยู่ภาคการเกษตร ซึ่งผลิต GDP ได้แค่ 8% เป็นตัวเลขที่น่ากังวล แรงงานซึ่งน้อยลงแก่ลงและยังไปอยู่ในส่วนที่สร้างเงินได้น้อย ภาพใหญ่ต้องสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเคลื่อนสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้น้ำหนักภาคอุตสาหรรมมากกว่า เพราะมีช่องว่างการพัฒนาที่สูงกว่า จากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี กระทรวงแรงงานต้องมองตนเองเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ มองทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ทำตัวเป็นกระทรวงสวัสดิการ
3. โครงสร้างการศึกษา : ต้องผูกกับตลาดแรงงาน ต้องตอบคำถามใหญ่ก่อนว่า เราต้องการแรงงานแบบไหน แล้วเอาการศึกษาเป็นเครื่องมือในการผลิตคนด้านนั้น การศึกษาต้องมองให้เป็น Education Platform ไม่ใช่มองเป็นเชิงกายภาพ (โรงเรียน) ความรู้และนวัตกรรมเปลี่ยนทุกวัน การเอาคนรุ่นเก่าสอนทักษะล้าสมัยใส่โปรแกรมเดิมๆให้คนรุ่นหลัง ไม่ใช่ทิศทางที่ดี ควรเริ่มลดความสำคัญระบบปริญญาที่สร้างแรงงานทักษะเดี่ยว และเริ่มเพิ่มความสำคัญระบบ Certificate เพื่อสร้างแรงงานหลากทักษะที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ได้ตรงกว่า
4. โครงสร้างอุตสาหกรรม : ธุรกิจหัวหอกที่ขับเคลื่อนประเทศทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมโบราณ ตกยุค แต่กลับถูกปกป้องและผูกขาดด้วยระบบใบอนุญาตโดยภาครัฐ เมื่อการแข่งขันไม่เกิด การลงทุนเพื่อพัฒนาก็ไม่เกิด นวัตกรรมมักเกิดจากผู้เล่นรายใหม่มากกว่ารายเก่า แต่การผูกขาดรายเก่าเป็นอุปสรรคต่อรายใหม่ การปลดล็อคให้เกิดการแข่งขันจึงสำคัญ เพราะรายเก่าต้องปรับตัว รายใหม่คิดต้นนวัตกรรมใหม่เพื่อแข่งกับเจ้าตลาด
5. โครงสร้างธุรกิจ : ไทยมีสัดส่วนเอกชนนอกระบบสูงมาก ส่งผลให้มีแรงงานนอกระบบสูงถึง 53% นั่นหมายถึงฐานภาษีที่หายไป รายได้รัฐจึงโตไม่ทันรายจ่าย นับวันยิ่งห่างขึ้นทุกที Gig economy และฟรีแลนซ์ที่จะเพิ่มขึ้น ยิ่งขยายช่องว่างตรงนี้หากอยู่นอกระบบภาษี การดึงแรงงานเข้าระบบผ่านแรงจูงใจด้านภาษีและสวัสดิการต้องเร่งทำ
6. โครงสร้างงบประมาณ : ขนาดราชการที่ใหญ่ เทอะทะ ไม่เคยเป็นสิ่งดี ทั้งด้านงบประมาณ ความคล่องตัว และประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าเอกชนมาก ต้อง Outsource หน่วยงานและภารกิจต่างๆของภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน สร้างภาคเอกชนในหน้าที่ของราชการขึ้นมาเพื่อลดขนาดรัฐ และใช้การร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐให้มาก
7. โครงสร้างพื้นฐาน : ทั้งด้านกายภาพและดิจิทัล ด้านกายภาพการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานออกสู่หัวเมืองหลักนั้นมีผลตอบแทนสูงมาก โดยเฉพาะในแง่ของความเจริญ โครงสร้างด้านดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสำคัญไม่น้อยกว่าการเข้าถึงระบบการศึกษาพื้นฐาน สิทธิการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตฟรีควรถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายให้ทุกรัฐบาลต้องทำ การลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถูก ง่าย และเร็วที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น