วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

“ทวี” จับตารัฐมอบสิทธิ์ที่ดินการรถไฟมักกะสัน เอื้อทุนใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


 จับตารัฐมอบสิทธิ์ "สาธารณสมบัติของแผ่นดิน" สัมปทานรถไฟเอื้อนายทุนผูกขาด !

คณะรัฐมนตรีมีมติเปิดทางให้คู่สัญญา แก้สัญญาและขยายเวลาชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่อยืดเวลาขอผ่อนจ่ายเงินจำนวน 10,671 ล้านบาท เป็นการเอื้อนายทุนหรือไม่ ?

มติ ครม. วันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 มีมติเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 

“ขอขยายระยะเวลาการชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ ที่ถึงกำหนดชำระวันที่ 24 ตุลาคม 2564 จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ (PIC) และการขยายระยะเวลาโครงการฯ” 

และครม. มีมติ “มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และคณะกรรมการกำกับดูแลฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ก็ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอ ครม…”

.

เอกชนคู่สัญญาคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (CRCC : China Railway Construction Corporation Limited สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)) ซึ่งตามสัญญาข้อ 8.1 (3) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ต้องชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ ที่ครบกำหนดชำระภายใน 2 ปีในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่ ครม. ได้เปิดโอกาสให้แก้สัญญาที่เปิดช่องทางเอื้อคู่สัญญา อ้างเหตุผลย้อนแย้งกับความจริง

.

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีเอกชนคู่สัญญา เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ในช่วงวิกฤตโควิด -19 งบการเงินของบริษัทแม่ของเอกชนคู่สัญญา คือ 

-บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ “เครือซีพี” ที่มีธุรกิจหลักด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร  (CPF รายได้ปี 63 เท่ากับ 5.95 แสนล้านบาท) ธุรกิจค้าปลีก (CPALL รายได้ 5.46 แสนล้านบาท) และธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม (TRUE รายได้ 1.43 แสนล้านบาท) ในปี 2563 รวมกัน 3 ธุรกิจหลักในเครือฯ มีรายได้กว่า 1.28 ล้านล้านบาท 

-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รายได้ 1.43 หมื่นล้านบาท, 

-บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) รายได้ 5.49 หมื่นล้านบาท

-บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) รายได้ 1.82 หมื่นล้านบาท, 

บริษัทร่วมทุนล้วนแล้วแต่มีกำไรทั้งนั้นและยังมีบริษัทรถไฟจีนที่เป็นต่างชาติร่วมด้วย กลับอาศัยช่วงวิกฤตโควิดสร้างโอกาสของตน ขอรัฐช่วยเยียวยาและขยายระยะเวลาการชำระเงิน และเมื่อดูราคาหุ้นปัจจุบันแล้วพบว่าที่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด บริษัทคู่สัญญาไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดเลย 

.

การไม่ปฏิบัติตามสัญญา และสามารถให้ปรับเปลี่ยนระยะเวลาตามสัญญา วิธีการชำระเงิน รวมทั้งการชำระค่าให้สิทธิ์ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว ถือเป็นการแก้ไขอันเป็นสาระสำคัญที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ต่อไปใครได้สัญญาลักษณะนี้ไปก็จะมาเจรจาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสำคัญเอาเปรียบประเทศชาติและประชาชนแบบนี้ได้ทุกรายเพราะขนาดเครือซีพีที่ยิ่งใหญ่ยังทำได้ ต่อไปใคร ๆ ก็ประมูลสูงให้ได้เป็นคู่สัญญาก่อน แล้วถึงเวลาก็หาเหตุหรือข้ออ้างมาขอให้รัฐเยียวยา 

.

อีกประการ กิจการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่เป็นบริษัทลูกของการรถไฟ มีมูลค่าการลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้านบาท (รัฐต้องกู้เงินเป็นหนี้สาธารณะ จำนวน 34,362 ล้านบาทเศษ) เอกชนจ่ายค่าสัมปทานเพียงจำนวน 10,671 ล้านบาทเศษ แต่รัฐต้องรับภาระหนี้ของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกจำนวน 22,558 ล้านบาทเศษ ระบบขนส่งมวลชนระบบรางเป็นระบบที่แก้ปัญหาจราจรได้ดีที่สุดมีสภาพพร้อมให้บริการประชาชนอยู่แล้วเป็นกิจการคุ้มทุนที่สามารถสร้างเป็นกิจการที่มีกำไร (ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่ดี) เอกชนที่ได้สิทธิ์สามารถดำเนินกิจการต่อหารายได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนใหม่

.

รัฐบาลควรเยียวยาการรถไฟแห่งประเทศไทย จะเกิดประโยชน์มากกว่าเอื้อนายทุน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 145,554 ล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 64.82 และยังมีทรัพย์สินอื่นอีก ที่ยังไม่ได้นำมาคิดรวม ที่เป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” เป็นสัมปทานผูกขาด โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ เป็นที่ดินการรถไฟที่ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ทรงออก พ.ร.บ. “เลิกทาส ร.ศ. 124” เอกชนคู่สัญญาได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 50 ปี การรถไฟฯ  ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการ เป็นเงินประมาณ 51,000 ล้านบาท คิดเป็นค่าเช่าพื้นที่ 150 ไร่ 50 ปี  (ยังมีสิทธิ์เช่าต่ออีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปีได้) ประมาณปีละ 1,020 ล้านบาท ที่ราคาค่าเช่าที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริงมากเมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินย่าน เซ็นทรัล ลาดพร้าว การรถไฟ ฯได้ค่าเช่าที่ดิน 48 ไร่ สัญญาเช่า  20 ปี เป็นเงินประมาณ 21,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าใช้อัตราค่าเช่าที่เท่ากับเซ็นทรัล ลาดพร้าว เช่า ราคาที่ดินมักกะสันควรมีผลประโยชน์ตอบแทน ประมาณ 164,062ล้านบาทเศษ 

.

คู่สัญญาเป็นกิจการร่วมทุนที่เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คำเปรียบเปรยที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ยังเป็นจริงในสังคมไทยเสมอ  “ช่วงวิกฤตโควิด ตลาดหุ้นไทยได้เติบโตขึ้นมามาก โดยช่วงก่อนโควิดมีผู้เปิดบัญชีลงทุนเพียง 1.8 ล้านบัญชี ช่วงโควิดเพิ่มเป็น 5 ล้านบัญชี (ประมาณ 2 ล้านราย มีรายชื่อซ้ำกันอยู่ด้วย) จากที่เคยมีมูลค่าการซื้อขาย 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มมาเป็นเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อวัน จากมูลค่าตลาดเดิม 12 ล้านล้านบาท ตอนนี้เพิ่มเป็นเกือบ 20 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของทั้งประเทศประมาณ 16 ล้านล้านบาทเสียอีก บริษัทผู้รับสัมปทานรัฐ ที่เรียกว่า “เสือนอนกิน” ไม่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญเงินจำนวน 10,671 ล้านบาทที่ต้องจ่ายตามสัญญาเป็นเงินของแผ่นดิน เป็นเงินจำนวนมากสำหรับประชาชสที่กำลังถูกกดทับด้วยหนี้มหาศาล ทั้งหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 78% เป็น 90% ต่อ GDP และหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงถึง 9.16 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 42.5% เป็น 57% ต่อ GDP ระหว่างปี 2557 - 2564 และการก่อหนี้สาธารณะประชาชนเข้าใจว่าจะต้องกู้เงินเพื่อมาเยียวยาประชาชนทั่วไป แต่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้เงินลักษณะ  “คนรวยต้องมาก่อน” และมุ่งมั่นที่จะ “อุ้มและเอื้อคนรวย” ทั้งที่ประชาชนจะอดตาย ถ้าเป็นรัฐบาลที่ดีจะไม่ทำ

.

สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้ คือต้องเยียวยาฟื้นฟูให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเพราะในช่วงวิกฤตโควิด-19 การรถไฟต้องมีการลดขบวนเที่ยวลงหรือถึงขั้นต้องหยุดการเดินรถ ทำตามนโยบายของรัฐเพื่อลดการแพร่เชื้อโรค ทำให้ขาดรายได้จำนวนมาก และการรถไฟถือเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้มากที่สุด  อย่าลืมว่า “ประชาชนไม่ได้อยู่เพื่อรับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลต่างหากที่ต้องอยู่เพื่อรับใช้ประชาชน”

.















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น