วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทวี" ติง "ประยุทธ์" ให้ท้ายคุกคาม "แอมเนสตี้" สะท้อนภาวะสิทธิมนุษยชนไทยตกต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ท่าทีนายกรัฐมนตรีที่เห็นดีเห็นงามกับการคุกคาม “แอมเนสตี้” ที่เป็นองค์กรปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยและทั่วโลก ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เป็นเรื่องที่น่าห่วงและกังวลเป็นอย่างยิ่ง   

สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ กรณีที่สื่อสารมวลชนเผยแพร่ข่าวว่า  นายกรัฐมนตรี เผยกำลังตรวจสอบเบื้องหลัง "แอมเนสตี้" มองให้ร้ายประเทศไทย   

แสดงถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทยออกมาให้ท้ายและดีเห็นงาม จนส่งผลถึงการคุกคามและการไล่ล่าองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อย่าง “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” (Amnesty International Thailand) ที่มีออฟฟิศในประเทศไทย โดยอ้างว่าเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ทั้ง ๆ ที่แอมเนสตี้ทำงานส่งสริมความรู้ความเข้าใจ และการรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน    

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ลำดับที่ 55 และยังเป็นหนึ่ง ใน 48 ประเทศแรกที่เข้าร่วมรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมาได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาหลัก ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ถือเป็นการแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของทุกคน   

แอมเนสตี้ เป็นองค์กรที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรางวัลสหประชาชาติในสาขาสิทธิมนุษยชน ในปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องบุคคลและองค์กรที่ได้ทำผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมและคุ้มครองของสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในเครื่องมือสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของสหประชาชาติ    

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและกังวลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่จะตกต่ำไม่เพียงภายในประเทศไทยและในเวทีนานาชาติด้วย  

ส่วนตัวได้มีโอกาสรับเชิญแสดงความคิดเห็นตามคำเชิญของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย หลายครั้ง ล่าสุดได้ร่วมจัด เสวนาทาง Clubhouse วันที่ 13 ก.ย. 64  หัวข้อ .“จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!” ในวันดังกล่าว ผมได้ร่วมแสดงทัศนะไว้ ดังนี้ Politica[TV24] - "ทวี สอดส่อง" : จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี! https://www.politica.style/2021/11/15.html (สรุปเและเรียบเรียงโดย รสา เต่าแก้ว/ณฐพร ส่งสวัสดิ์)  

ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมาตรฐานมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความหมายกว้างขวางกว่า “สิทธิ” ตามกฎหมายรับรอง ซึ่งมีสิทธิบางประการถือเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่น และไม่มีใครสามารถพรากไปจากมนุษย์แต่ละคนได้ เช่น การบังคับสูญหาย หรือกรณีที่ผู้ยากไร้ไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอกับการยังชีพ แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดของใคร แต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ 

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

#ประชาชนประชาชาติ

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทวี สอดส่อง" : จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้แสดงความเห็นตามคำเชิญของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ภายในงานเสวนาทาง Clubhouse วันที่ 13 กันยายน 2564 หัวข้อ “จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!” (สรุปเและเรียบเรียงโดย รสา เต่าแก้ว/ณฐพร ส่งสวัสดิ์) โดยมีเนื้อหาดังนี้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ขอแสดงความดีใจกับประชาชน ที่ผลักดันมานานให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ (ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ) สมัยที่ตนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อช่วงปี 2552 – 2554 และเป็นประธานศึกษากฎหมายฉบับนี้ เราพยายามให้ยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร ให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม ในกรณีต่าง ๆ เช่น ตากใบ หรือกรือเซะ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประชาชนยังคลางแคลงใจ เราจึงตั้งคณะที่นำทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะความยุติธรรมถ้วนหน้าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

กระบวนการกฎหมายเดิมระบุว่าต้องพบศพ พบตัว หรือพบกระดูกหรือชิ้นส่วนที่พิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ แม้ว่าคุณสัณหวรรณบอกว่าร่างมีความไม่สมบูรณ์หลายประการ แต่ร่างของกระทรวงยุติธรรมมีมาตรา 6 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะขัง ลักพา หรือกระทำการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธ ซึ่งทุกคนจะปฏิเสธหมดว่าไม่ได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ของคนที่ถูกจับไปอยู่ในการคุ้มครองตามอำนาจกฎหมายของรัฐ ถือว่ากระทำผิดให้บุคคลสูญหาย เช่น กรณีบิลลี่ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวไปก็จะมีภาระการพิสูจน์ โดยหากบอกว่าไม่สูญหายก็ต้องนำตัวมาให้ได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยที่ตนเรียนโรงเรียนนายร้อย มีวิชาอาชญาวิทยา ศึกษาตั้งแต่ยุคตั้งเดิมของยุโรป ความผิดที่เป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผลการกระทำจะถูกลงโทษโดยการทรมาน เช่น กรณีกาลิเลโอ ที่บอกว่าพระอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลกอย่างที่ศาสนาบอก ตุลาการศาสนาจึงบังคับให้เปลี่ยนความคิดเห็น และถูกลงโทษจนตาบอด และเสียชีวิตในคุก การตีความกฎหมายโดยใช้ความเห็นส่วนตัวหรือมีอคติ จึงมีมาหลายร้อยปีแล้ว การบัญญัติกฎหมาย [ตามแนวทางของอาชญาวิทยา] จึงเสนอ 8 ประเด็น

1) กฎหมายต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ต้องคุ้มครองประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชน

2) อาชญากรรมต้องเป็นภัยต่อสังคม ไม่ใช่ต่อความรู้สึกหรือความมั่นคงของคนใดคนหนึ่ง

3) การป้องกันอาชญากรรมสำคัญกว่าการลงโทษอาชญากร กฎหมายจึงต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

4) การกล่าวหาทางลับ การทรมาน ทารุณกรรม และประหารชีวิต ควรยกเลิก

5)!การลงโทษมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งผู้ประกอบอาชญากรรม และป้องกันการล้างแค้น

6) การกำหนดโทษจำคุก ถือว่าเหมาะสม แต่ก็ต้องเหมาะกับผู้ถูกลงโทษ สำคัญที่สุดคือเรือนจำต้องถูกสุขลักษณะ น่าอยู่ ไม่ใช่เอามาเป็นสถานที่ทรมาน

7)การลงโทษ ถ้ารุนแรงเกินไป อย่างกรณีการซ้อมทรมาน หวังจะได้สิ่งหนึ่งก็จะไปเกิดอีกสิ่งหนึ่งแทน เช่น การฆ่าคนเพื่อจะหาว่าใครลักทรัพย์

8)การบัญญัติกฎหมาย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกระทำโดยคนที่มาจากประชาชนที่ปราดเปรื่อง ปัจจุบันมีการก้าวล่วงให้องค์กรตุลาการมาบัญญัติกฎหมายแทน

กฎหมายฉบับนี้ เราควรต้องส่งเสริม ผลักดัน อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อย จะถูกมองว่ามีความด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ จึงจะถูกละเมิด ดังนั้นถ้าผลักดันให้ผ่านจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก

หลายท่านมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมองแค่ตำรวจ แต่ต้องแยกว่า กระบวนยุติธรรมจะมีทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ มีผู้บังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายพิเศษโดยกอ.รมน. ทหารบังคับใช้กฎหมายได้ทั้งหมด คนดังกล่าวเราไม่ได้ฝึกปรือ เราพยายามจัดโครงสร้างของตำรวจ เราจัดโครงสร้างคนทั้งประเทศเป็นแบบทหาร แต่การบั งคับใช้กฎหมายของตำรวจต่างกับทหาร 4 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง ตำรวจปฏิบัติงานตามลำพัง ใช้วิจารณญาณมาก มีการตีความตามดุลยพินิจ แต่ทหารจะให้ทำตามคำสั่ง ถ้าได้กฎหมายนี้ต้องพัฒนาและฝึกอบรมตำรวจสายตรวจและสายสืบ เพราะเป็นส่วนที่ต้องเผชิญเหตุ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งแบบทหาร อาจจะทำให้กระทำการเกินกว่าเหตุได้ สอง ตำรวจเป็นโครงสร้างแบบล่างขึ้นบน สาม ตำรวจเป็นคณะเล็ก และสี่ ตำรวจมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลา ดังนั้นตำรวจอาจจะเป็นจำเลยเกินไป จึงออกมาในภาพที่เห็น ปีที่แล้วก็ยังมีคดีของจอร์จ ฟรอยด์ แต่เราก็ไม่ควรให้เกิดเหตุแบบนี้ กระดูกสันหลังของตำรวจคือสายตรวจ ส่วนเส้นเลือดคือสายสืบและตำรวจสืบสวน คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนา กลับไปเน้นการสร้างโครงสร้างของลำดับยศสูง ๆ กฎหมายจะดีไม่ดี อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ดังนั้นคนใช้กฎหมายนี้ต้องมีใจสัตย์ซื่อ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 นี้ กฎหมายแรกคือหารแก้กฎหมายอาญา สองคือพ.ร.บ.ครู ซึ่งมีปัญหาเยอะ กลัวว่าจะพูดจนถึงค่ำก่อนจะมาถึงกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ ต้องขอบคุณคุณพรเพ็ญที่ยกคณะมาที่พรรคประชาชาติ พูดเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เราอาจจะมองระบบของเมืองนอกให้ได้ตามหลักสากล แต่ต้องยอมรับว่าระบบในรัฐประหารช่วงหลัง ๆ กิจการตำรวจที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมถูกใช้จับกุม คุมขัง สอบสวน เพื่อข่มขู่ลงโทษ ไม่ให้บุคคลนั้น ๆ ไปสร้างความไม่สบายใจให้คนบางคน ตำรวจจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนายกที่คุมตำรวจอยู่ เมื่อนายกแจ้งความเองเรื่องหมิ่นประมาท ใครจะกล้าไม่จับ เรื่องนี้คิดว่าไม่เหมาะสม ถ้าจะนายกจะดำเนินคดีก็ควรใช้ศาล แต่กลับไปใช้ตำรวจที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ประชาชนจึงมองว่าตำรวจรับใช้ผู้มีอำนาจ

ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน อาจจะไม่เพียงพอ ควรขยายกรรมาธิการให้มากขึ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผู้ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนในการทำกฎหมายฉบับนี้ ตนเองถือว่ากฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ผ่านมาในกรณีเหล่านี้ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการสูญหาย แต่คณะทำงานประชุมกันว่าต้องหาตัว หาศพให้ได้ก่อน การลอยนวลพ้นผิดจึงมีอยู่ กฎหมายไทยจำนวนมากต้องจึงปฏิรูป โดยเฉพาะกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

อาชญากรรมไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด แต่ยังหมายถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกระบวนการยุติธรรม หากกฎหมายนั้นทำให้คนบางกลุ่มมีความสุข แต่ทำให้คนส่วนมากเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชน รัฐบาลหาเวลามานาน กลัวเข้าตัวผู้ออกกฎหมาย แต่ตอนนี้เป็นเสียงเรียกร้องของคนทั้งประเทศ”

"ทวี" ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการร้านอาหารรามคำแหง ห่วงราคาสินค้าแพง กังวลรัฐบริหารผิดพลาด ซ้ำเติมวิกฤต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ รองเลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธานภาคประชาชาติกรุงเทพฯและภาคกลาง นางวรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ และ นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อพบปะกับผู้ประกอบการร้านอาหารและพ่อค้าแม่ค้า ย่านหน้ารามฯ ซ.รามคำแหง 59-61 และศูนย์อาหาร 59มินิพลาซ่า ที่มีมาตรฐานฮาลาล สะอาด ถูกสุขลักษณะอนามัย



พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า การมาพบกับผู้ประกอบการย่านการค้ารามคำแหง ที่เป็นกลุ่ม SME ผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้าย่านรามคำแหง ที่ย่านรามคำแหงเป็นชุมชนที่มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก ได้รับเสียงสะท้อนด้านปัญหาเศรษฐกิจในช่วงปิดกิจการ และพอเริ่มเปิดดำเนินการให้ประกอบอาชีพได้ ที่พบคือสินค้าทุกชนิดราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ราคาอาหารไม่สามารถขึ้นได้เพราะชุมชนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามีรายได้น้อย และจึงพบปัญหาว่าทางรัฐบีบเก็บภาษีทำให้เดือดร้อนเพิ่มขึ้น


สินค้าของชุมชนได้มาจากชนบทที่ราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าวและยางพารามีราคาถูก แต่ราคาปุ๋ยเคมีแพงมากเกือบเท่าตัว จึงมีความกังวล เกรงว่ารัฐจะปิดการประกอบกิจการ ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจจะปิดกั้นการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในประเทศอีกหากเกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการได้เสนอปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของผู้ประกอบการคนไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การมาพบกับผู้ประกอบการย่านการค้ารามคำแหงในวันนี้ ได้สะท้อนปัญหาว่า ขณะนี้ประชาชนเรียกร้องความช่วยเหลือในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของผู้ประกอบการคนไทย สิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงที่สุดคือกลัวต้องถูกล็อกดาวน์อีกรอบหนึ่ง ซึ่งขนาดนี้ก็ประสบปัญหาในการทำธุรกิจอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสินค้าอาหารที่ราคาสูงขึ้นมากเช่น น้ำมันพืช ผักสดต่าง ๆ และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าการเกษตรก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นมาก ลูกค้าย่านรามคำแหงกว่า 70% เป็นนักศึกษาที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคายางที่ตกต่ำทำให้จำนวนนักศึกษาลดลงมาก หอพักจึงว่างเป็นจำนวนมาก และกำลังซื้อมีน้อย ราคาอาหารหน้ารามฯจึงไม่สามารถขึ้นราคาได้ เพราะผู้บริโภคที่เป็นนักเรียนนักศึกษายังไม่มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยยังถูกเรียกเก็บภาษีจากการเข้าโครงการคนละครึ่งของรัฐ โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ในการยื่นภาษีที่ถูกต้อง ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจึงถูกเรียกเก็บภาษีสูงเกินจริง กลายเป็นภาระของผู้ค้ารายย่อย รัฐบาลควรแก้ไขโดยการละเว้นภาษีในวิกฤตนี้



#ประชาชนประชาชาติ

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ประภัสร์" เตือนรัฐ ประชาชนจับตาผลประโยชน์ที่ดินรถไฟ-หัวลำโพง

นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา เรื่อง 'ยุทธการฮุบที่ดินรถไฟหัวลำโพง นโยบายธุรกิจการเมืองเอื้อเจ้าสัว?' จัดโดย สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ว่า รัฐบาลชุดนี้ตำหนิเด็ก ๆ ที่มาชูสามนิ้ว ว่าไม่รู้จักประวัติศาสตร์ไม่รู้จักกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน  ขอถามว่าในสิ่งที่ท่านแสดงออกเรื่องเกี่ยวกับรถไฟเป็นตัวอย่างที่ดีใช่หรือไม่  ท่านกรุณาดูตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ทำคืออะไร ตนคิดว่าการปิดหัวลำโพง เป็นการสร้างความลำบากให้กับประชาชน และสร้างภาระให้กับค่าใช้จ่ายเขาอีกมหาศาล ทำให้เสียเวลา นี่หรือคือสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเป็นหน้าที่ต้องดูแลสารทุกข์สุกดิบประชาชน 

นายประภัสร์ กล่าวว่าเห็นมีข่าวทางหน้าสื่อบอกว่า อาจจะต้องไปขอคณะกรรมการผังเมืองเปลี่ยนสีพื้นที่เป็นกรณีพิเศษ เพราะถ้าขอเปลี่ยนธรรมดาต้องใช้เวลาต้องมีการทำประชาพิจารณ์ สอบถาม ทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่เรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนไม่ทราบว่าจำเป็นเร่งด่วนเรื่องอะไร เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงก็ยังไม่เข้ามาถึงข้างใน 

“อยากจะขอเตือนว่ารัฐ จะทำอะไรควรนึกถึงประชาชนให้มาก และช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งเข้ามาทุกที ตนคิดว่ารัฐบาลคงไม่อยากทำอะไร ที่ให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เห็นกับพี่น้องประชาชน  อย่าลืมว่าทุกวันนี้โลกไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่คนไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เพราะถ้าคุณจะทำอะไรแค่คุณอ้าปากเขาก็เห็นลิ้นไก่แล้ว” นายประภัสร์ กล่าว

นายประภัสร์ กล่าวว่า "การที่รัฐมนตรีคมนาคมบอกว่าให้การรถไฟ ไปเสนอมาว่าควรจะมีทางออกอย่างไร  ขอถามว่าการรถไฟจะเสนออะไรที่ไม่ตรงกับใจท่านได้หรือไม่และถึงวันนั้นคนที่ถูกด่าคนแรกก็คือการรถไฟ โดยอ้างว่าการรถไฟเสนอมา จึงอยากฝากถึงผู้บริหารการรถไฟด้วยว่า การรถไฟจ้างท่านมาให้มาดูแลผลประโยชน์ ของการรถไฟและอย่าลืมว่าท่านรับเงินเดือนของการรถไฟ และอยากจะฝากไปถึงผู้ที่อยากจะลงทุนว่าท่านเคยคิดบ้างหรือไม่ว่า ท่านจะเปิดธุรกิจไปกี่แห่งแล้ว"

"ทวี" เตือนรัฐ ไม่นำข้อมูลเท็จเข้าระบบทะเบียนราษฎร-บัตรประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“งานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน” เป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนชาวไทยทุกคน รัฐต้องป้องกันไม่นำข้อมูลเท็จเข้าระบบทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีเรื่องมีราวเกี่ยวกับ ทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 เรื่องสำคัญ คือ

1.) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน ของกรมการปกครอง คือ มาตรา 10... (3) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย

ในกรณีตามมาตรา 10 (3) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองพยาน ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อมีคำสั่งให้กรมการปกครองดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานการทะเบียนราษฎร โดยให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ

2.) รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการปรับปรุงการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนจากภาครัฐและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมาธิการการปกครองพิจารณาเสร็จแล้ว ที่เสนอแนวทางการพัฒนางานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก

โดยส่วนตัวเห็นว่า งานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสมบัติของคนไทยทุกคนที่นำข้อมูลทุกคนที่เป็นประชาชาติไทย แม้มีความแตกต่างหลากหลายต้องเข้าสู่ระบบอย่างเสมอภาคและเสมอหน้ากัน ดังนั้นข้อมูลที่เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนต้องไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือปลอมเข้าสู่ระบบเพราะถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยทุกคน

งานทะเบียนราษฎรเป็นบริการของรัฐในการรับจดแจ้งและรับรองสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐ มีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2460 ในยุคแรกจะมีพื้นฐานข้อมูลมาจากการสำมะโนประชากร ใน พ.ศ. 2499 มีการตรา พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรฉบับแรก เอกสารที่ใช้คือ ทะเบียนบ้าน ในการจัดเก็บข้อลงทะเบียนของราษฎรจะใช้การจัดทำด้วยระบบเอกสาร ทำให้เกิดความล่าช้า เกิดความผิดพลาด และเกิดการทุจริตได้ง่าย จนกระทั่งมาถึง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 จึงยกเลิกทะเบียนบ้านและใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ใช้เวลาในการปรับปรุง แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มจัดสร้าง แล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาระยะเวลากว่า 30 ปี ปัจจุบันข้อมูลที่ผลิตจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตร มรณบัตร บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกประเภท สถิติจำนวนประชากร จำนวนคนเกิด จำนวนคนตาย เป็นเอกสาร และข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทั้งสังคมไทยตลอดจนเอกสารใบสำคัญทางด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้ยืนยันในต่างประเทศ ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากคนไทยที่ต้องใช้เอกสารดังกล่าวในต่างประเทศ ประชาชนสามารถขอคัดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษได้ ทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และต่างประเทศ มีค่าธรรมเนียม 10 บาท

ในการนำคอมพิวเตอร์มาพัฒนาระบบงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก คัดลอกทะเบียนบ้านทั่วประเทศ 50 ล้านรายการ (20 ล้านฉบับ) ถ่ายสำเนาเอกสารทุกใบส่งมาบันทึกและประมวลผลใช้เวลากว่า 3 ปี (ปี พ.ศ. 2527 - 2530) จากนั้นต้องทำการพิมพ์สำเนาแจกทุกหลังคาเรือนเพื่อตรวจสอบยืนยัน แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2531 มีการแก้ไข ปรับปรุงฐานข้อมูลตลอดมา ทำให้ระบบการทะเบียนของประเทศไทยได้รับรางวัลระดับโลกในปี พ.ศ. 2533 (Computer World Smithsonian Awards 1990) และได้เริ่มเปิดให้บริการประชาชนด้วยคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ในปี พ.ศ. 2539 จนครบถ้วนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2547 และขยายงานบริการไปยังสถานทูต/สถานกงสุลไทยในต่างประเทศอีก 95 แห่งใน 67 ประเทศ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการประชาชนจากการจัดทำด้วยระบบเอกสาร มาเป็นแบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ทำให้การบริการมีความสะดวก รวดเร็ว ประชาชนมีความพึงพอใจมากขึ้น (ข้อมูลการร้องเรียน) โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตลดลงอย่างชัดเจน ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้เปิดให้ส่วนราชการต่างๆ เชื่อมโยงฐานข้อมูล เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการกงสุล กระทรวงสาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ระบบทะเบียนราษฎรทั้งหมดถูกออกแบบพัฒนาเพื่อการบริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญเพื่อป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบสำนักทะเบียนกลาง แต่การที่จะให้มีการแก้ไขระบบเพื่อนำข้อมูลพยานที่เป็นการสร้างข้อมูลเท็จเข้าระบบ เป็นการทำลายความมั่นคงของระบบที่สร้างกันมากว่า 30 ปี 

หากให้นำข้อมูลเป็นเท็จนำเข้าระบบได้และกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะเกิดผลกระทบกับระบบการทะเบียนของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนี้

1. การแก้ไขซอฟต์แวร์งานบริการให้รองรับการสร้างข้อมูลเท็จเข้าไปในระบบ ลดเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์เพื่อเปิดช่องให้นำเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าไปในระบบได้ เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทุจริตงานทะเบียนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากระบบเดิมต้องยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ และเอกสารสำคัญทางทะเบียน ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญที่กรมการปกครองพยายามหาทางป้องกันมาตลอดระยะเวลานาน

2. ในการสร้างเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าไปในระบบ จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ลดความถูกต้องของข้อมูล ลดระดับการรักษาความปลอดภัยของระบบงานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน และสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

3. การนำเข้าเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบงานทะเบียนราษฎร จะทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น/ต่างประเทศ มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 กำหนดระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

4. ส่วนราชการที่เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร 277 หน่วยงาน และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานอีก 76 หน่วยงาน โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นดัชนี จะได้รับข้อมูลเท็จไปด้วย ยังไม่นับรวมภาคธุรกิจเอกชนอีกกว่า 463 องค์กรที่ตรวจสอบสถานะของบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card กับกรมการปกครองอีกด้วย

ปัจจุบันระบบการยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้อยู่ ณ สำนักทะเบียนอำเภอ เทศบาล เขต และต่างประเทศ จะตรวจสอบลักษณะลายนิ้วมือกับข้อมูลลายนิ้วของผู้บัตรประจำตัวประชาชนที่มีสถานะเคลื่อนไหว (active) ทั้งหมด ดังนั้น หากมีการใช้รายการบุคคลขอผู้อื่นมาขอมีบัตร ระบบจะตรวจพบว่าเคยมีบัตรประจำตัวประชาชนในรายการบุคคลอื่นมาก่อนแล้วจะแสดงข้อมูลภาพถ่ายบุคคลที่ทำบัตรเปรียบเทียบที่ตรวจความถูกต้องได้แม่นยำ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ใช้เวลาในการปรับปรุง แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มจัดสร้าง แล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาระยะเวลากว่า 30 ปี ปัจจุบันข้อมูลที่ผลิตจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตร มรณบัตร บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกประเภท สถิติจำนวนประชากร จำนวนคนเกิด จำนวนคนตาย เป็นเอกสาร และข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทั้งสังคมไทยตลอดจนเอกสารใบสำคัญทางด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวปาะชาขนที่ใช้ยืนยันในต่างประเทศ (English Version) ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากคนไทยที่ต้องใช้เอกสารดังกล่าวในต่างประเทศ ประชาชนสามารถขอคัดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษได้ ทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และต่างประเทศ

อนึ่ง ในกรณีจะเพิ่มในเลขประจำตัวของประชาชนในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร มีทำได้ 3 กรณี ได้แก่ 1. แจ้งเกิดเกินกำหนด (กำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 2) 2. เพิ่มชื่อจากหลักฐานทะเบียนบ้านเดิม (คนตกหล่นกำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3 หรือ 4) และ 3. เพิ่มชื่อบุคคลตกหล่นจากทะเบียนบ้าน และกรณีได้สัญชาติไทย (กำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 5 หรือ 😎 และกระบวนการตรวจสอบการสวมตัวรายการบุคคลอื่นทำบัตรประจำตัวประชาชน นายวิเชียร ชิดชนกนารถ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ท่านได้กรุณาให้ความรู้และข้อมูลถึงขั้นตอน ที่ปรากฎตามกราฟิก 1-4 ที่แนบมา จึงขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

สำหรับ รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการปรับปรุงการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนจากภาครัฐ ของคณะกรรมาธิการการปกครองฯ นับว่ามีประโยชน์มาก รวมถึงข้อเสนอแนวทางในการปรับปรุงงานทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนในการให้บริการประชาชน ที่สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาแบบเอนกประสงค์ในการติดต่อภาครัฐ เอกชน เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลงการใช้เอกสาร การใช้สิทธิของประชาชนด้านต่างๆ 

ส่วนในกรณี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ส่วนตัวได้อภิปรายและมีมติไม่เห็นด้วยกับที่จะให้ศาลมีคำสั่งให้กรมการปกครองดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่กฎหมายทะเบียนราษฎรและกฎหมายบัตรประชาชนบัญญัติไว้เป็นความผิดมีโทษจำคุกทางอาญา ซึ่งการคุ้มครองพยาน สามารถกำหนดมาตรการอื่นๆได้หลายอย่าง ด้วยบัญญัติกฎหมายให้เจ้าพนักงานคุ้มครองพยานมีอำนาจดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพยาน และถือว่าชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องแก้ไขทะเบียนราษฎรจากความจริงเป็นความเท็จเหมือนเอกสารทางราชการปลอม อันเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดกฎหมาย และเอกสารทะเบียนจะขาดความเชื่อถือกระทบต่อความมั่นคงของสังคม ที่สำคัญเป็นการใช้อำนาจที่มิชอบ และยากแก่การควบคุมการแอบแผงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของการใช้อำนาจรัฐ...เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อสังคม แนวความคิดที่จะออกเอกสารปลอม ในโลกประชาธิปไตยถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งชาติ สวนทางกับพัฒนาการของสังคม ซึ่งจะเป็นการทำลายสังคมและประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อย่างรู้เท่าไม่ถึงการ

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

#ทวีสอดส่อง #ประชุมสภา #ประชาชนประชาชาติ












วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ฐาคณิษฐ์" ติงทำเนียบฯ แจกไอโฟนไม่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ รองเลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธานภาคประชาชาติกรุงเทพฯและภาคกลาง กล่าวถึงกรณีการเตรียมซื้อโทรศัพท์ iPhone12 แจกให้กับข้าราชการในทำเนียบรัฐบาล ว่า สังคมตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่? โดยส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ข้าราชการในทำเนียบรัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องโทรศัพท์ iPhone 12 และสามารถใช้โทรศัพท์รุ่นอื่นที่มีราคาต่ำกว่าทดแทนได้ ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มาก รวมถึงหากมีการจัดซื้อโดยผูกบริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศ จะยิ่งทำให้เครื่องโทรศัพท์มีราคาถูกลงได้อีก ทั้งนี้หากทุกหน่วยงานมีการจัดซื้อตามแบบทำเนียบรัฐบาล จะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปเท่าไหร่ โดยที่โทรศัพท์รุ่นอื่นสามารถใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"วรลักษณ์ ศรีสอาด" รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณจูฟะห์-วรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยทั่วโลกได้มีการใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวด้วย 

แม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว แต่ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงถือเป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่สังคม ปัญหาความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ไม่ได้ลดน้อยลง นอกจากนี้ยังเห็นการสะท้อนความรุนแรงทางเพศ ผ่านสื่อต่าง ๆ ในสังคมมาโดยตลอด เช่น ในฉากละครตบ-จูบ หรือ ฉากความรุนแรงทางเพศ จนเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ 

จูฟะห์ เห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราจะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติเพื่อแก้ปัญหา ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพราะความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงอยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรี โดยเห็นว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาสำคัญสมควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้หญิง เด็ก และเยาวชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และทุกครอบครัวด้วย จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังค่ะ

จูฟะห์ - วรลักษณ์ ศรีสอาด

"ทวี" ติง ร่างฯ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง( ฉบับที่…) พ.ศ. .. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ให้คณะกรรมาธิการพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ อย. ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีจากรัฐแล้ว ยังมีการจัดหารายได้เพิ่มด้วย แต่ไม่ต้องคืนคลัง ถือเป็นการผิดวินัยการเงินการคลัง อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการรับมรดก คสช.ให้การกระทำของ คสช.ในอดีตไม่ผิด


พ.ต.อ.ทวี อภิปรายว่า “ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางนี้ เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อรับรองคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 77/2559 ออกกฎเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ และตัวกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 7 ยังรับรองด้วย ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้พิจารณาคือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ขอแก้ไขกระบวนการพิจารณาคำขอ ที่การจดแจ้งเครื่องสำอาง และการกำหนดตัวบุคคล องค์กร และหน่วยงาน ในการพิจารณาเครื่องสำอางและกำหนดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน และที่สำคัญคือมีรายได้จากการเก็บค่าขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องส่ง คืนคลัง”


“นี่เป็นกฎหมายหนึ่งที่เห็นว่าเป็นการไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ถ้าดูให้ลึกอาจเรียกว่าเป็นการเป็นการทำลายระบบวินัยการเงินการคลังก็ว่าได้ ประการสำคัญคือหากประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบดูรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ส่งมานี้ ต้องยอมรับว่ามวลรวมของการส่งเครื่องสำอางกรณีส่งออกและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในปี 2560 มีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 80,000 ล้านบาท ในปี 2561 มูลค่ากว่า 90,000 ล้าน และในปี 2562 มูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตเดิมสามารถอยู่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของต่างประเทศ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นเป็นการรวมอำนาจไปไว้ที่อาหารและยา (อย.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นการผลักหรือเพิ่มภาระและขั้นตอนให้ยุ่งยาก จะเห็นได้ว่า อย.จะของบประมาณจากรัฐบาลในทุกปีงบประมาณ ในปี 2565 ได้ของบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ในปี 2564 ที่ผ่านมากว่า 700 ล้านบาท เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 77/2559 ตอนนั้นทาง อย.มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเพียง 19 ล้านบาทเศษ แต่ภายหลังจากมีคำสั่ง คสช.ฉบับนั้นออกมา มีการขึ้นค่าธรรมนียม เพราะไม่ต้องส่งคืนคลัง ในปี 2561 จาก 19 ล้านบาทเป็น 219 ล้านบาท, ในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาเป็น 249 ล้านบาท และในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาเป็น 293 ล้านบาท แสดงว่าเงินส่วนนี้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมของผู้มาขอขึ้นทะเบียน หรือการส่งออกก็ตาม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือมีการให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดราคา การมายื่นคำขอว่ามีหลักเกณฑ์เท่าใด”


“มีข้อสังเกตคือในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีตัวเลขมาให้ แต่ พ.ร.บ.ฉบับต่อไป เป็น พ.ร.บ.อาหาร จะเห็นว่าการขึ้นค่าธรรมเนียมสูงมาก เช่นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตอาหารจากเดิม 10,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท, ค่าธรรมเนียมส่งออก เดิม 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท และเงินที่มีรายได้ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งเข้าคลัง เมื่อนำไปใช้ ต้องเรียนว่า อย.รับเงินเดือนจากภาษีอากรของ ประชาชนแล้ว ต้องไปหารายได้ ซึ่งมีรายได้เยอะแล้วยังของบประมาณทุกปี จึงขอฝากไปยังกรรมาธิการให้พิจารณาประเด็นนี้”


“ที่สำคัญอย่างยิ่ง วันนี้ อย.มีอำนาจมากล้น ควบคุมกระบวนการทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องของเครื่องสำอาง สุขภาพของบุคคล ซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้ว คุณก็อยากจะรวบอำนาจมา จึงเห็นว่าหน่วยงานนี้น่าจะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปอย่างเป็นระบบเสียที และที่สำคัญอย่างยิ่ง กฎหมายฉบับนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรู้สึกเสียใจที่ผู้เขียนได้เขียนออกมาว่า เราต้องการรับมรดกของ คสช. เพื่อมารับรองให้ถูก และยังมีเขียนไว้ในมาตรา 7 อีกว่า ถือให้การกระทำที่ผ่านมานั้นถูกต้อง และยังเขียนเงื่อนไขว่า ถ้า พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอางจะยกเลิก”


“จึงขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาให้รอบคอบว่ามีจำนวนมากต้องแก้ไข โดยเฉพาะการได้เงินมาแล้วไม่ส่งคืนคลัง ถือว่าเป็นการทำลายวินัยการเงินการคลังอย่างร้ายแรง” 


วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พรรคประชาชาติ ลงพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วยผู้ประสบอัคคีภัยประเวศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางวรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ พร้อมคณะทำงานประชาชาติกรุงเทพ รุดช่วย และมอบปัจจัยเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบอัคคีภัย ในซอยชุมชนสุเหร่าบึงหนองบอน อ่อนนุช 70 แยก 7 สำหรับเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 02.17น. วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา บ้านเรือนประชาชนเสียหายหลายหลังและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยมี นางอุบล นภากร ประธานชุมชนสุเหล่าบึงหนองบอน และนายสมภพ จันทร์พุ่ม คณะกรรมการชุมชน รายงานสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำตรวจเยี่ยมสถานที่เกิดเหตุ

นางวรลักษณ์ ศรีสอาด กล่าวในฐานะตัวแทน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ว่า ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยตั้งแต่วันที่เกิดเหตุในซอยชุมชนสุเหร่าบึงหนองบอน อ่อนนุช 70 แยก 7 ส่วนการช่วยเหลือในวันนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดี ขอมอบกำลังใจให้กับผู้ประสบอัคคีภัยทุกคน ทั้งนี้ ทีมงานพรรคประชาชาติทุกคนพร้อมให้กำลังใจและความช่วยเหลือ หวังว่าทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี 












วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทวี" ลงพื้นที่กรุงเทพฯ พบประชาชน-รับฟังปัญหาชาวประเวศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นางวรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ นายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ นางอุบล นภากร ประธานชุมชนสุเหล่าบึงหนองบอน และคณะอนุสตรีมัสยิดรามคำแหง 53 พร้อมคณะ ลงพื้นที่ช่วยเหลือบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 300 ชุด ให้กับประชาชนในพื้นที่ชุมชนรอบมัสยิดนูรุ้ลอิบาดะห์ (หนองบอน) เขตประเวศ กรุงเทพฯ 




พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า วันนี้ต้องขอขอบพระคุณท่านอิหม่ามกับคณะที่ให้การต้อนรับในนามที่มาก็มาในนามของพรรคประชาชาติประชาชาติหมายถึงประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศพี่เราเป็นพี่น้องกันพรรคประชาชาติเราได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับเราจะธรรมนูญปีหกศูนย์ที่เห็นว่าควรจะมีพรรคการเมืองขึ้นมาสักพรรคนึงเพื่อจะเป็นหลักและเป็นเสาหลักให้ประเทศ ที่จะทำให้ประชาชนในประเทศเราได้มีความสันติสุขมีความเจริญรุ่งเรืองโดยคิดว่ามิติทางการเมืองยังมีความจำเป็นที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ พรรคประชาชาติ ปัจจุบัน ก็มีท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค มีผม พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการพรรค สถานะของสมาชิกในสภาปัจจุบัน เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ทั้งหมด 7 คน โดย 6 คนเป็นส.ส.เขต ที่อยู่ในพื้นที่ปัตตานี 2 คนยะลา 2 คนและนราธิวาส 2 คนเราได้หกคนจาก 11 เขตในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว




พรรคเราก็มุ่งหมายว่าจะเป็นพรรคของคนทั้งประเทศแต่ในการประชุมพรรคการเกิดพรรคเราใช้พื้นที่ปัตตานี ว่าเป็นพื้นที่ในการเปิดตัวพรรคในการประชุมใหญ่เนื่องจากว่าในมุมคิดก็คืออยากให้มองว่าคือจริงๆเราไม่ได้ย้อนไปหาอดีตแต่ว่าอดีตมันจะเป็นบทเรียนคือปัตตานีในอดีตเนี่ยมีความเจริญรุ่งเรืองแล้วถ้าพูดถึงประเทศไทยก็คือว่าถือว่าถ้าเป็นรูปขวานก็เป็นด้ามขวานเราอยากจะทำให้เห็นว่าศักยภาพของมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่เนี่ยมีความรู้มีความแข็งแรงและคิดว่าจะเป็นพลังที่จะนำมาแก้ปัญหาของประเทศอันนี้ที่จะเรียนแล้วพรรคก็พัฒนามาเรื่อยเรื่อยวันนี้ก็ที่มาพบกับพี่น้อง ในชุมชนพรรคเรามีจุดยืน ก็เหมือนเป็นพรรคที่มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว เราคิดว่าคนที่ดีที่สุดคือคนที่ดี แต่ครอบครัวถ้าครอบครัวเข้มแข็งชุมชนเข้มแข็งแล้วเราจะทำให้ประเทศชาติเข้มแข็ง เราจึงพยายามมองในจุดนั้น ส่วนหนึ่งก็คือ เราจะทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนของเรา ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างหลากหลายพรรคก็เลยไปประชาธิปไตย เชิงข้อมูลวัฒนธรรม คือ เราต้องอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย แล้วก็ต้องใช้ความหลากหลายความเชื่ออุดมการณ์หรืออัตลักษณ์ที่แตกต่างกันมาสร้างความเข้มแข็ง เหมือนประเทศต่าง ๆ เวลาที่เขาจะกำหนดนโยบาย เมื่อเขาจะกำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญเชิงวัฒนธรรม

ในวันนี้ต้องขอขอบคุณทางท่านอิหม่ามกับคณะที่ให้การต้อนรับเรา ทราบว่าในช่วงของโควิดเหมือนเราหยุดการทำมาหากินของคนทั้งหมดและประเทศไทย เรามีความเหลื่อมล้ำคนบางกลุ่มก็จะได้ประโยชน์จากโควิดซึ่งมีน้อยมากแต่คนทั้งประเทศส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ เราก็อยากจะเหมือนมีหลักการมีน้ำใจหรือมีความมาแบ่งปัน เพื่อให้กับชุมชนและโดยเฉพาะก็อยากจะเป็นสะพานเชื่อมให้กับชุมชนหรือประชาชนว่า อย่างน้อยพวกเราก็ยังมีตัวแทนของพรรคประชาชาติอยู่ในพื้นที่และก็จะเป็นช่องทางการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดีของชุมชนไปยังระดับการเมืองระดับใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พร้อมคณะ ยังได้ลงพื้นที่สำรวจ และเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง โดยได้ให้ความช่วยเหลือและประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น พร้อมร่วมรับฟังปัญหาภายในชุมชน อาทิ ปัญหาน้ำเสียที่มาจากหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงปัญหาของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในชุมชน ทั้งเรื่องถนนและเส้นทางสัญจรที่ชำรุด เพื่อประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป