วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทวี สอดส่อง" : จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้แสดงความเห็นตามคำเชิญของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ภายในงานเสวนาทาง Clubhouse วันที่ 13 กันยายน 2564 หัวข้อ “จับตา 15 กันยานี้! พ.ร.บ. อุ้มต้องไม่หาย กฎหมายต้องมี!” (สรุปเและเรียบเรียงโดย รสา เต่าแก้ว/ณฐพร ส่งสวัสดิ์) โดยมีเนื้อหาดังนี้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ขอแสดงความดีใจกับประชาชน ที่ผลักดันมานานให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ (ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ) สมัยที่ตนเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อช่วงปี 2552 – 2554 และเป็นประธานศึกษากฎหมายฉบับนี้ เราพยายามให้ยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร ให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม ในกรณีต่าง ๆ เช่น ตากใบ หรือกรือเซะ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประชาชนยังคลางแคลงใจ เราจึงตั้งคณะที่นำทุกภาคส่วนเข้ามา เพราะความยุติธรรมถ้วนหน้าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

กระบวนการกฎหมายเดิมระบุว่าต้องพบศพ พบตัว หรือพบกระดูกหรือชิ้นส่วนที่พิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้ แม้ว่าคุณสัณหวรรณบอกว่าร่างมีความไม่สมบูรณ์หลายประการ แต่ร่างของกระทรวงยุติธรรมมีมาตรา 6 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะขัง ลักพา หรือกระทำการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพทางร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธ ซึ่งทุกคนจะปฏิเสธหมดว่าไม่ได้กระทำ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ของคนที่ถูกจับไปอยู่ในการคุ้มครองตามอำนาจกฎหมายของรัฐ ถือว่ากระทำผิดให้บุคคลสูญหาย เช่น กรณีบิลลี่ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวไปก็จะมีภาระการพิสูจน์ โดยหากบอกว่าไม่สูญหายก็ต้องนำตัวมาให้ได้

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยที่ตนเรียนโรงเรียนนายร้อย มีวิชาอาชญาวิทยา ศึกษาตั้งแต่ยุคตั้งเดิมของยุโรป ความผิดที่เป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผลการกระทำจะถูกลงโทษโดยการทรมาน เช่น กรณีกาลิเลโอ ที่บอกว่าพระอาทิตย์ไม่ได้หมุนรอบโลกอย่างที่ศาสนาบอก ตุลาการศาสนาจึงบังคับให้เปลี่ยนความคิดเห็น และถูกลงโทษจนตาบอด และเสียชีวิตในคุก การตีความกฎหมายโดยใช้ความเห็นส่วนตัวหรือมีอคติ จึงมีมาหลายร้อยปีแล้ว การบัญญัติกฎหมาย [ตามแนวทางของอาชญาวิทยา] จึงเสนอ 8 ประเด็น

1) กฎหมายต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ต้องคุ้มครองประชาชน และเป็นที่พึ่งของประชาชน

2) อาชญากรรมต้องเป็นภัยต่อสังคม ไม่ใช่ต่อความรู้สึกหรือความมั่นคงของคนใดคนหนึ่ง

3) การป้องกันอาชญากรรมสำคัญกว่าการลงโทษอาชญากร กฎหมายจึงต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

4) การกล่าวหาทางลับ การทรมาน ทารุณกรรม และประหารชีวิต ควรยกเลิก

5)!การลงโทษมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งผู้ประกอบอาชญากรรม และป้องกันการล้างแค้น

6) การกำหนดโทษจำคุก ถือว่าเหมาะสม แต่ก็ต้องเหมาะกับผู้ถูกลงโทษ สำคัญที่สุดคือเรือนจำต้องถูกสุขลักษณะ น่าอยู่ ไม่ใช่เอามาเป็นสถานที่ทรมาน

7)การลงโทษ ถ้ารุนแรงเกินไป อย่างกรณีการซ้อมทรมาน หวังจะได้สิ่งหนึ่งก็จะไปเกิดอีกสิ่งหนึ่งแทน เช่น การฆ่าคนเพื่อจะหาว่าใครลักทรัพย์

8)การบัญญัติกฎหมาย เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องกระทำโดยคนที่มาจากประชาชนที่ปราดเปรื่อง ปัจจุบันมีการก้าวล่วงให้องค์กรตุลาการมาบัญญัติกฎหมายแทน

กฎหมายฉบับนี้ เราควรต้องส่งเสริม ผลักดัน อย่างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อย จะถูกมองว่ามีความด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ จึงจะถูกละเมิด ดังนั้นถ้าผลักดันให้ผ่านจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมาก

หลายท่านมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะมองแค่ตำรวจ แต่ต้องแยกว่า กระบวนยุติธรรมจะมีทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ มีผู้บังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายพิเศษโดยกอ.รมน. ทหารบังคับใช้กฎหมายได้ทั้งหมด คนดังกล่าวเราไม่ได้ฝึกปรือ เราพยายามจัดโครงสร้างของตำรวจ เราจัดโครงสร้างคนทั้งประเทศเป็นแบบทหาร แต่การบั งคับใช้กฎหมายของตำรวจต่างกับทหาร 4 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง ตำรวจปฏิบัติงานตามลำพัง ใช้วิจารณญาณมาก มีการตีความตามดุลยพินิจ แต่ทหารจะให้ทำตามคำสั่ง ถ้าได้กฎหมายนี้ต้องพัฒนาและฝึกอบรมตำรวจสายตรวจและสายสืบ เพราะเป็นส่วนที่ต้องเผชิญเหตุ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งแบบทหาร อาจจะทำให้กระทำการเกินกว่าเหตุได้ สอง ตำรวจเป็นโครงสร้างแบบล่างขึ้นบน สาม ตำรวจเป็นคณะเล็ก และสี่ ตำรวจมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลา ดังนั้นตำรวจอาจจะเป็นจำเลยเกินไป จึงออกมาในภาพที่เห็น ปีที่แล้วก็ยังมีคดีของจอร์จ ฟรอยด์ แต่เราก็ไม่ควรให้เกิดเหตุแบบนี้ กระดูกสันหลังของตำรวจคือสายตรวจ ส่วนเส้นเลือดคือสายสืบและตำรวจสืบสวน คนเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนา กลับไปเน้นการสร้างโครงสร้างของลำดับยศสูง ๆ กฎหมายจะดีไม่ดี อยู่ที่ผู้บังคับใช้ ดังนั้นคนใช้กฎหมายนี้ต้องมีใจสัตย์ซื่อ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 นี้ กฎหมายแรกคือหารแก้กฎหมายอาญา สองคือพ.ร.บ.ครู ซึ่งมีปัญหาเยอะ กลัวว่าจะพูดจนถึงค่ำก่อนจะมาถึงกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้ ต้องขอบคุณคุณพรเพ็ญที่ยกคณะมาที่พรรคประชาชาติ พูดเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เราอาจจะมองระบบของเมืองนอกให้ได้ตามหลักสากล แต่ต้องยอมรับว่าระบบในรัฐประหารช่วงหลัง ๆ กิจการตำรวจที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมถูกใช้จับกุม คุมขัง สอบสวน เพื่อข่มขู่ลงโทษ ไม่ให้บุคคลนั้น ๆ ไปสร้างความไม่สบายใจให้คนบางคน ตำรวจจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะนายกที่คุมตำรวจอยู่ เมื่อนายกแจ้งความเองเรื่องหมิ่นประมาท ใครจะกล้าไม่จับ เรื่องนี้คิดว่าไม่เหมาะสม ถ้าจะนายกจะดำเนินคดีก็ควรใช้ศาล แต่กลับไปใช้ตำรวจที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ประชาชนจึงมองว่าตำรวจรับใช้ผู้มีอำนาจ

ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการ 25 คน อาจจะไม่เพียงพอ ควรขยายกรรมาธิการให้มากขึ้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ผู้ได้รับผลกระทบควรได้มีส่วนในการทำกฎหมายฉบับนี้ ตนเองถือว่ากฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต้องมีเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ผ่านมาในกรณีเหล่านี้ เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นการสูญหาย แต่คณะทำงานประชุมกันว่าต้องหาตัว หาศพให้ได้ก่อน การลอยนวลพ้นผิดจึงมีอยู่ กฎหมายไทยจำนวนมากต้องจึงปฏิรูป โดยเฉพาะกฎหมายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

อาชญากรรมไม่ใช่แค่ผู้กระทำผิด แต่ยังหมายถึงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และบุคคลในกระบวนการยุติธรรม หากกฎหมายนั้นทำให้คนบางกลุ่มมีความสุข แต่ทำให้คนส่วนมากเข้าไม่ถึงความเป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชน รัฐบาลหาเวลามานาน กลัวเข้าตัวผู้ออกกฎหมาย แต่ตอนนี้เป็นเสียงเรียกร้องของคนทั้งประเทศ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น