วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทวี สอดส่อง" หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ชี้รากเหง้าปัญหาชาติคือรัฐประหาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาร่วมประชุม วันนี้ (วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564) ในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...ซึ่ง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้อภิปรายสนับสนุนรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยชี้ว่ารากเหง้าของปัญหามาจากการรัฐประหาร และเห็นควรตรวจสอบงบลับของกองทัพด้วย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อภิปรายว่า “ขอบคุณตัวแทนภาคประชาชนที่ได้นำเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าสามารถที่จะปะผุรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ในระดับเบื้องต้น เพื่อทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดมาจากการรัฐประหารโดยผู้ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้รัฐธรรมนูญทั้งหมดด้อยเรื่องสิทธิเสรีภาพ เราจำเป็นที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะเชื่อว่าในวันข้างหน้าจะสามารถที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง”

“การมีรัฐธรรมนูญเพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับแล้ว แต่สังคมยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราได้เพียงรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่ได้ประชาธิปไตย และในรัฐธรรมนูญทั้งหมดนั้น มีฉบับปี 2560 ที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด ผมเป็นคณะกรรมการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายคณะ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาแห่งนี้มีความคิดร่วมกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ การมีรัฐธรรมนูญกับสังคมเป็นประชาธิปไตยนั้น แม้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ก็มีความสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เกิดขึ้นเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา คือเมื่อ 232 ปี รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ 200 กว่าปี รัฐธรรมนูญเยอรมัน 70 กว่าปี สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งไม่ได้ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมา 5 ครั้ง และแก้ครั้งสุดท้ายเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นี่เป็นข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า” 

“วันนี้ เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ได้มาที่รัฐสภาแห่งนี้ เพื่อมาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า 14 ตุลาคม 2516 ในขณะนั้นนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนกว่า 500,000 คนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยให้กลับมาสู่ประเทศไทย และข้อมูลในธรรมศาสตร์ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น 77 คน บาดเจ็บ 875 คน สิ่งที่ผู้พลีชีพเหล่านั้นได้มาคือ รัฐธรรมนูญปี 2517 สิ่งสำคัญที่เป็นมรดกล้ำค่า อยู่ในมาตรา 1 คือ ‘ห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์’ นี่คือไม่ต้องการให้ผู้กระทำผิดลอยนวล และสำคัญอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญปี 2517 ได้วางหลักสำคัญคือคนเท่ากับคน สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียมกัน ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ได้เพียงแค่ 2 ปี เกิดเหตุการณ์ในปี 2519 ล้อมปราบนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นทุ่งสังหาร เนื่องจากเป็นที่อยู่ของคอมมิวนิสต์ ญวน และมีอุโมงค์ จึงมีการล้อมปราบ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ เราพบว่าสิ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหา คือการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2519 เมื่อดูบุคคลที่ทำรัฐประหาร เช่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 11 ปี, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 7 ปี, และจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 8 ปี รวมกว่า 20 ปี รากเหง้าของปัญหาคือผู้กระทำผิดลอยนวล คือกองทัพได้เข้ามายึดอำนาจ”

“เห็นด้วยกับผู้เสนอที่ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบกองทัพขึ้นมา เพราะกองทัพ ถือเป็นสุญญากาศ แค่งบประมาณของกองทัพ เช่นงบบุคลากร กองทัพบกของบประมาณไว้กว่า 5 หมื่นล้าน หรืองบทั้งหมดไม่ถึง 1 แสนล้าน แต่ปรากฏว่าเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจเงินของกองทัพ มีงบประมาณ 170,000 ล้าน และโดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) งบประมาณปี 2561-2563 นำงบไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น เมื่อ สตง.ไปตรวจแล้วพบว่า มีเงินประมาณ 6 พันล้าน และปีสุดท้าย 5,800 ล้าน เป็นงบราชการลับและเป็นงบความมั่นคง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องตรวจสอบกองทัพ เพราะในภาวะวิกฤตโควิด-19 ประชาชนคือนักรบที่จะต้องผจญกับกองทัพของโควิด-19 แต่กองทัพกลับใช้งบประมาณมากมาย ผมต้องการให้กองทัพเป็นทหารอาชีพเพื่อมาทำหน้าที่ปกครองป้องกันประเทศ ดังนั้นในข้อเสนอของกรรมาธิการจึงเห็นว่าในมาตรา 121 ที่ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบงบประมาณของกองทัพจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น” 

“นอกจากนี้ในการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ ที่คณะได้เสนอมา เชื่อว่าคณะกรรมการทั้งหมดมีความเห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจมาก โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิ์สมาชิกที่เป็นหัวหน้าพรรคและผู้บริหาร ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้เลย ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังเขียนว่าสามารถยุบพรรคการเมืองได้และสามารถตัดสิทธิ์สมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับไปออกกฎหมายพรรคการเมือง ที่ให้สามารถตัดสิทธิ์สมาชิกที่ถูกยุบพรรคได้ ลักษณะเช่นนี้เป็นการขยายอำนาจ ความจริงให้ดูแค่กฏหมายขัดกันหรือองค์กรขัดกันเท่านั้น ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรทำตัวเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ความจริงแล้วในอดีตที่ผ่านมาคนที่จะตีความรัฐธรรมนูญต้องเป็นรัฐสภาเพราะเป็นผู้ออกกฏหมาย จะรู้เจตนารมณ์ของกฎหมายดี” 

“เห็นด้วยที่ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งคณะกรรมการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญทุกคนเห็นประเด็นนี้เหมือนกันหมด เพราะยิ่งมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ยิ่งทำให้คนมีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ในเชิงคอรัปชั่น เชิงนโยบาย ทำให้ประชาชนมีความยากไร้ยิ่งขึ้น เราดูจากความยากจนยิ่งมากขึ้น จึงขอสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน และเห็นด้วยที่ควรจะรับไว้พิจารณาในวาระ 1 จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น