วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง( ฉบับที่…) พ.ศ. .. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ให้คณะกรรมาธิการพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ อย. ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีจากรัฐแล้ว ยังมีการจัดหารายได้เพิ่มด้วย แต่ไม่ต้องคืนคลัง ถือเป็นการผิดวินัยการเงินการคลัง อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการรับมรดก คสช.ให้การกระทำของ คสช.ในอดีตไม่ผิด
พ.ต.อ.ทวี อภิปรายว่า “ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางนี้ เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อรับรองคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 77/2559 ออกกฎเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ และตัวกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 7 ยังรับรองด้วย ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้พิจารณาคือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ขอแก้ไขกระบวนการพิจารณาคำขอ ที่การจดแจ้งเครื่องสำอาง และการกำหนดตัวบุคคล องค์กร และหน่วยงาน ในการพิจารณาเครื่องสำอางและกำหนดค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน และที่สำคัญคือมีรายได้จากการเก็บค่าขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องส่ง คืนคลัง”
“นี่เป็นกฎหมายหนึ่งที่เห็นว่าเป็นการไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ถ้าดูให้ลึกอาจเรียกว่าเป็นการเป็นการทำลายระบบวินัยการเงินการคลังก็ว่าได้ ประการสำคัญคือหากประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบดูรายงานของเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ส่งมานี้ ต้องยอมรับว่ามวลรวมของการส่งเครื่องสำอางกรณีส่งออกและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในปี 2560 มีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 80,000 ล้านบาท ในปี 2561 มูลค่ากว่า 90,000 ล้าน และในปี 2562 มูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตเดิมสามารถอยู่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของต่างประเทศ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นเป็นการรวมอำนาจไปไว้ที่อาหารและยา (อย.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นการผลักหรือเพิ่มภาระและขั้นตอนให้ยุ่งยาก จะเห็นได้ว่า อย.จะของบประมาณจากรัฐบาลในทุกปีงบประมาณ ในปี 2565 ได้ของบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ในปี 2564 ที่ผ่านมากว่า 700 ล้านบาท เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 77/2559 ตอนนั้นทาง อย.มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเพียง 19 ล้านบาทเศษ แต่ภายหลังจากมีคำสั่ง คสช.ฉบับนั้นออกมา มีการขึ้นค่าธรรมนียม เพราะไม่ต้องส่งคืนคลัง ในปี 2561 จาก 19 ล้านบาทเป็น 219 ล้านบาท, ในปี 2562 เพิ่มขึ้นมาเป็น 249 ล้านบาท และในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาเป็น 293 ล้านบาท แสดงว่าเงินส่วนนี้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมของผู้มาขอขึ้นทะเบียน หรือการส่งออกก็ตาม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือมีการให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดราคา การมายื่นคำขอว่ามีหลักเกณฑ์เท่าใด”
“มีข้อสังเกตคือในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีตัวเลขมาให้ แต่ พ.ร.บ.ฉบับต่อไป เป็น พ.ร.บ.อาหาร จะเห็นว่าการขึ้นค่าธรรมเนียมสูงมาก เช่นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผลิตอาหารจากเดิม 10,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท, ค่าธรรมเนียมส่งออก เดิม 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท และเงินที่มีรายได้ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งเข้าคลัง เมื่อนำไปใช้ ต้องเรียนว่า อย.รับเงินเดือนจากภาษีอากรของ ประชาชนแล้ว ต้องไปหารายได้ ซึ่งมีรายได้เยอะแล้วยังของบประมาณทุกปี จึงขอฝากไปยังกรรมาธิการให้พิจารณาประเด็นนี้”
“ที่สำคัญอย่างยิ่ง วันนี้ อย.มีอำนาจมากล้น ควบคุมกระบวนการทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องของเครื่องสำอาง สุขภาพของบุคคล ซึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้ว คุณก็อยากจะรวบอำนาจมา จึงเห็นว่าหน่วยงานนี้น่าจะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปอย่างเป็นระบบเสียที และที่สำคัญอย่างยิ่ง กฎหมายฉบับนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรู้สึกเสียใจที่ผู้เขียนได้เขียนออกมาว่า เราต้องการรับมรดกของ คสช. เพื่อมารับรองให้ถูก และยังมีเขียนไว้ในมาตรา 7 อีกว่า ถือให้การกระทำที่ผ่านมานั้นถูกต้อง และยังเขียนเงื่อนไขว่า ถ้า พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอางจะยกเลิก”
“จึงขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาให้รอบคอบว่ามีจำนวนมากต้องแก้ไข โดยเฉพาะการได้เงินมาแล้วไม่ส่งคืนคลัง ถือว่าเป็นการทำลายวินัยการเงินการคลังอย่างร้ายแรง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น