วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

"ทวี" เตือนรัฐ ไม่นำข้อมูลเท็จเข้าระบบทะเบียนราษฎร-บัตรประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“งานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน” เป็นสมบัติร่วมกันของประชาชนชาวไทยทุกคน รัฐต้องป้องกันไม่นำข้อมูลเท็จเข้าระบบทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้มีเรื่องมีราวเกี่ยวกับ ทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 เรื่องสำคัญ คือ

1.) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน ของกรมการปกครอง คือ มาตรา 10... (3) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย

ในกรณีตามมาตรา 10 (3) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคุ้มครองพยาน ซึ่งได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อมีคำสั่งให้กรมการปกครองดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานการทะเบียนราษฎร โดยให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ

2.) รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการปรับปรุงการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนจากภาครัฐและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมาธิการการปกครองพิจารณาเสร็จแล้ว ที่เสนอแนวทางการพัฒนางานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก

โดยส่วนตัวเห็นว่า งานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสมบัติของคนไทยทุกคนที่นำข้อมูลทุกคนที่เป็นประชาชาติไทย แม้มีความแตกต่างหลากหลายต้องเข้าสู่ระบบอย่างเสมอภาคและเสมอหน้ากัน ดังนั้นข้อมูลที่เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนต้องไม่เป็นข้อมูลเท็จหรือปลอมเข้าสู่ระบบเพราะถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยทุกคน

งานทะเบียนราษฎรเป็นบริการของรัฐในการรับจดแจ้งและรับรองสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐ มีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2460 ในยุคแรกจะมีพื้นฐานข้อมูลมาจากการสำมะโนประชากร ใน พ.ศ. 2499 มีการตรา พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรฉบับแรก เอกสารที่ใช้คือ ทะเบียนบ้าน ในการจัดเก็บข้อลงทะเบียนของราษฎรจะใช้การจัดทำด้วยระบบเอกสาร ทำให้เกิดความล่าช้า เกิดความผิดพลาด และเกิดการทุจริตได้ง่าย จนกระทั่งมาถึง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 จึงยกเลิกทะเบียนบ้านและใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ใช้เวลาในการปรับปรุง แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มจัดสร้าง แล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาระยะเวลากว่า 30 ปี ปัจจุบันข้อมูลที่ผลิตจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตร มรณบัตร บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกประเภท สถิติจำนวนประชากร จำนวนคนเกิด จำนวนคนตาย เป็นเอกสาร และข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทั้งสังคมไทยตลอดจนเอกสารใบสำคัญทางด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้ยืนยันในต่างประเทศ ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากคนไทยที่ต้องใช้เอกสารดังกล่าวในต่างประเทศ ประชาชนสามารถขอคัดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษได้ ทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และต่างประเทศ มีค่าธรรมเนียม 10 บาท

ในการนำคอมพิวเตอร์มาพัฒนาระบบงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก คัดลอกทะเบียนบ้านทั่วประเทศ 50 ล้านรายการ (20 ล้านฉบับ) ถ่ายสำเนาเอกสารทุกใบส่งมาบันทึกและประมวลผลใช้เวลากว่า 3 ปี (ปี พ.ศ. 2527 - 2530) จากนั้นต้องทำการพิมพ์สำเนาแจกทุกหลังคาเรือนเพื่อตรวจสอบยืนยัน แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2531 มีการแก้ไข ปรับปรุงฐานข้อมูลตลอดมา ทำให้ระบบการทะเบียนของประเทศไทยได้รับรางวัลระดับโลกในปี พ.ศ. 2533 (Computer World Smithsonian Awards 1990) และได้เริ่มเปิดให้บริการประชาชนด้วยคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ในปี พ.ศ. 2539 จนครบถ้วนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2547 และขยายงานบริการไปยังสถานทูต/สถานกงสุลไทยในต่างประเทศอีก 95 แห่งใน 67 ประเทศ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการประชาชนจากการจัดทำด้วยระบบเอกสาร มาเป็นแบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ทำให้การบริการมีความสะดวก รวดเร็ว ประชาชนมีความพึงพอใจมากขึ้น (ข้อมูลการร้องเรียน) โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตลดลงอย่างชัดเจน ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้เปิดให้ส่วนราชการต่างๆ เชื่อมโยงฐานข้อมูล เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการกงสุล กระทรวงสาธารณสุข กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น ระบบทะเบียนราษฎรทั้งหมดถูกออกแบบพัฒนาเพื่อการบริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญเพื่อป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของระเบียบสำนักทะเบียนกลาง แต่การที่จะให้มีการแก้ไขระบบเพื่อนำข้อมูลพยานที่เป็นการสร้างข้อมูลเท็จเข้าระบบ เป็นการทำลายความมั่นคงของระบบที่สร้างกันมากว่า 30 ปี 

หากให้นำข้อมูลเป็นเท็จนำเข้าระบบได้และกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะเกิดผลกระทบกับระบบการทะเบียนของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนี้

1. การแก้ไขซอฟต์แวร์งานบริการให้รองรับการสร้างข้อมูลเท็จเข้าไปในระบบ ลดเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์เพื่อเปิดช่องให้นำเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าไปในระบบได้ เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทุจริตงานทะเบียนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากระบบเดิมต้องยืนยันตัวตนด้วยภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ และเอกสารสำคัญทางทะเบียน ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญที่กรมการปกครองพยายามหาทางป้องกันมาตลอดระยะเวลานาน

2. ในการสร้างเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าไปในระบบ จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ลดความถูกต้องของข้อมูล ลดระดับการรักษาความปลอดภัยของระบบงานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน และสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

3. การนำเข้าเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบงานทะเบียนราษฎร จะทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนอำเภอ/ท้องถิ่น/ต่างประเทศ มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 กำหนดระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

4. ส่วนราชการที่เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร 277 หน่วยงาน และมีการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานอีก 76 หน่วยงาน โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นดัชนี จะได้รับข้อมูลเท็จไปด้วย ยังไม่นับรวมภาคธุรกิจเอกชนอีกกว่า 463 องค์กรที่ตรวจสอบสถานะของบัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card กับกรมการปกครองอีกด้วย

ปัจจุบันระบบการยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้อยู่ ณ สำนักทะเบียนอำเภอ เทศบาล เขต และต่างประเทศ จะตรวจสอบลักษณะลายนิ้วมือกับข้อมูลลายนิ้วของผู้บัตรประจำตัวประชาชนที่มีสถานะเคลื่อนไหว (active) ทั้งหมด ดังนั้น หากมีการใช้รายการบุคคลขอผู้อื่นมาขอมีบัตร ระบบจะตรวจพบว่าเคยมีบัตรประจำตัวประชาชนในรายการบุคคลอื่นมาก่อนแล้วจะแสดงข้อมูลภาพถ่ายบุคคลที่ทำบัตรเปรียบเทียบที่ตรวจความถูกต้องได้แม่นยำ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ใช้เวลาในการปรับปรุง แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ตั้งแต่เริ่มจัดสร้าง แล้วเสร็จ ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมาระยะเวลากว่า 30 ปี ปัจจุบันข้อมูลที่ผลิตจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน สูติบัตร มรณบัตร บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกประเภท สถิติจำนวนประชากร จำนวนคนเกิด จำนวนคนตาย เป็นเอกสาร และข้อมูลที่ได้รับการยอมรับทั้งสังคมไทยตลอดจนเอกสารใบสำคัญทางด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวปาะชาขนที่ใช้ยืนยันในต่างประเทศ (English Version) ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากคนไทยที่ต้องใช้เอกสารดังกล่าวในต่างประเทศ ประชาชนสามารถขอคัดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษได้ ทุกสำนักทะเบียนทั่วประเทศ และต่างประเทศ

อนึ่ง ในกรณีจะเพิ่มในเลขประจำตัวของประชาชนในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร มีทำได้ 3 กรณี ได้แก่ 1. แจ้งเกิดเกินกำหนด (กำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 2) 2. เพิ่มชื่อจากหลักฐานทะเบียนบ้านเดิม (คนตกหล่นกำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3 หรือ 4) และ 3. เพิ่มชื่อบุคคลตกหล่นจากทะเบียนบ้าน และกรณีได้สัญชาติไทย (กำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 5 หรือ 😎 และกระบวนการตรวจสอบการสวมตัวรายการบุคคลอื่นทำบัตรประจำตัวประชาชน นายวิเชียร ชิดชนกนารถ อดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ท่านได้กรุณาให้ความรู้และข้อมูลถึงขั้นตอน ที่ปรากฎตามกราฟิก 1-4 ที่แนบมา จึงขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

สำหรับ รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการปรับปรุงการให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนจากภาครัฐ ของคณะกรรมาธิการการปกครองฯ นับว่ามีประโยชน์มาก รวมถึงข้อเสนอแนวทางในการปรับปรุงงานทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนในการให้บริการประชาชน ที่สามารถใช้บัตรประจำตัวประชาแบบเอนกประสงค์ในการติดต่อภาครัฐ เอกชน เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลงการใช้เอกสาร การใช้สิทธิของประชาชนด้านต่างๆ 

ส่วนในกรณี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ส่วนตัวได้อภิปรายและมีมติไม่เห็นด้วยกับที่จะให้ศาลมีคำสั่งให้กรมการปกครองดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่กฎหมายทะเบียนราษฎรและกฎหมายบัตรประชาชนบัญญัติไว้เป็นความผิดมีโทษจำคุกทางอาญา ซึ่งการคุ้มครองพยาน สามารถกำหนดมาตรการอื่นๆได้หลายอย่าง ด้วยบัญญัติกฎหมายให้เจ้าพนักงานคุ้มครองพยานมีอำนาจดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพยาน และถือว่าชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องแก้ไขทะเบียนราษฎรจากความจริงเป็นความเท็จเหมือนเอกสารทางราชการปลอม อันเป็นการส่งเสริมให้ทำผิดกฎหมาย และเอกสารทะเบียนจะขาดความเชื่อถือกระทบต่อความมั่นคงของสังคม ที่สำคัญเป็นการใช้อำนาจที่มิชอบ และยากแก่การควบคุมการแอบแผงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของการใช้อำนาจรัฐ...เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนต่อสังคม แนวความคิดที่จะออกเอกสารปลอม ในโลกประชาธิปไตยถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งชาติ สวนทางกับพัฒนาการของสังคม ซึ่งจะเป็นการทำลายสังคมและประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ อย่างรู้เท่าไม่ถึงการ

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

เลขาธิการพรรคประชาชาติ

#ทวีสอดส่อง #ประชุมสภา #ประชาชนประชาชาติ












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น